ไม่พบผลการค้นหา
เปิดข้อสังเกตจาก กมธ.งบประมาณ ‘เก่ง วาโย’ แฉ ความไม่ปกติการใช้งบประมาณใน กรมทรัพยากรน้ำ ,รฟม. และกรมการข้าว ส่อทุจริต ฝากถึง ‘ประยุทธ์’ บอกมาเพื่อปราบโกง แต่ความจริงปล่อยปละละเลย ขู่ การอภิปรายไม่ไว้วางใจรอบนี้มีรัฐมนตรีอย่างน้อย 1 คน คว่ำกลางสภาแน่

นายแพทย์วาโย อัศวรุ่งเรือง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณ พ.ศ. 2566 เปิดเผยว่า ขณะนี้มีข้อผิดสังเกตหลายประการ ซึ่งอาจส่อถึงการทำทุจริตในหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่

1. กรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีนายวราวุธ ศิลปอาชา เป็นรัฐมนตรีว่าการ มีการโอนงบประมาณที่ได้รับจัดสรรไปในปีก่อนๆ ตั้งแต่ปี 2563 - 2565 รวม 46 รายการ เป็นเงินงบประมาณทั้งสิ้น 1,143 ล้านบาท ไปให้กับหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองบัญชาการกองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นรัฐมนตรีว่าการ โดยอ้างว่า “ทหารมีเครื่องไม้เครื่องมือที่เพียบพร้อมกว่ากรมทรัพยากรน้ำเอง” เป็นข้ออ้างที่ผิดวิสัยมาก หน่วยงานทหารจะมีอุปกรณ์เพียบพร้อมกว่ากรมทรัพยากรน้ำซึ่งมีหน้าที่เฉพาะได้ย่างไร ซึ่งต่อมายังปรากฏหลักฐานว่า ทหารกลับไม่สามารถดำเนินโครงการต่างๆ ได้แล้วเสร็จอย่างครบถ้วน โดยดำเนินการแล้วเสร็จไปได้เพียง 35 โครงการจาก 46 โครงการเท่านั้น ขัดกับข้ออ้างของหน่วยงานที่อ้างว่าทหารมีความพร้อมมากกว่า 

“นอกจากนี้ มีข้าราชการน้ำดีได้แอบกระซิบและส่งข้อมูลมาให้ว่า เมื่อทหารได้รับโอนงบประมาณดังกล่าวไปแล้ว ได้โยกย้ายถ่ายเทนำไปลงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ เนื่องจากมีกฎหมายพิเศษและสามารถจัดซื้อจัดจ้างได้ด้วยวิธีพิเศษ ซึ่งส่อไปในทางทุจริต จึงได้ขอเรียกเอกสารพยานหลักฐานดังกล่าวต่อกรมทรัพยากรน้ำในฐานะกรรมาธิการฯ เพื่อนำมาตรวจสอบต่อไป” 

2. การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กระทรวงคมนาคม ซึ่งมีนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เป็นรัฐมนตรีว่าการ มีการให้สัมปทานแก่บริษัท BEM ด้านการขายโฆษณา ทั้งบนรถไฟฟ้าและรวมถึงพื้นที่ต่างๆ ในสถานี ซึ่งสามารถหารายได้ได้อย่างมหาศาล แต่ รฟม.กลับทำสัญญาเรียกรับส่วนแบ่งจากเงินรายได้เพียง 7% เท่านั้น โดยในปี 2564 ส่วนแบ่ง 7% ปรากฏในงบการเงินเพียง 18 ล้านบาทเศษเท่านั้น เมื่อคำนวณแล้วหมายความว่า BEM มีรายได้จากการขายโฆษณาเพียง 20 กว่าล้านบาทต่อเดือนเท่านั้น ขัดกับราคาขายซึ่งปรากฏอยู่ทั่วไปในอินเตอร์เน็ต เอาเฉพาะจากบริษัท PlanB โดยเมื่อคำนวณร่วมกับจำนวนจุดต่างๆ ที่ขายได้นั้นมีส่วนต่างอย่างมากมายมหาศาล และกลับปรากฏว่า BEM ไม่ได้ดำเนินการขายโฆษณาต่างๆ ด้วยตนเอง กลับไปจ้างช่วงให้กับบริษัท BMN ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นการนำสัมปทานไปให้บุคคลอื่นต่อ ปรากฏข้อสงสัยว่า BMN อาจมีการจ่ายเงินเป็น “ราคาเหมาถูกๆ” ให้กับ BEM เพื่อให้ BEM สำแดงรายได้น้อยๆ ต่อรฟม. และให้ BEM ส่งเงินส่วนแบ่ง 7% นั้นน้อยที่สุดหรือไม่ นอกจากนี้ ยังปรากฏหลักฐานอีกว่า BEM เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ใน BMN และ“PlanB” เองก็เป็นผู้ถือหุ้นลำดับต้นๆ ใน BMN เช่นกัน และยังมีผู้ตั้งข้อสังเกตถึงความสัมพันธ์ระหว่างนายศักดิ์สยามกับ BEM ไว้อีกมาก นายแพทย์วาโยจึงขอเรียกเอกสารสัญญาทั้งหมดที่รฟม.ทำกับ BEM เพื่อนำมาตรวจสอบต่อไป

3. กรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมีนายประภัตร โพธสุธน เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการซึ่งกำกับดูแล ปรากฏข้อผิดสังเกตอย่างมาก คือ งบประมาณแต่ละปีซึ่งแต่เดิมได้รับจัดสรรอยู่ประมาณพันกว่าล้านบาท โดยในปี พ.ศ. 2565 ได้รับจัดสรรไป 2 พันล้านบาท แต่ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 กลับเพิ่มขึ้นไปถึง 15,000 ล้านบาท รวมเป็นเงินงบประมาณถึง 17,000 ล้านบาท เป็นการผิดวิสัยอย่างยิ่งของการจัดสรรงบประมาณแผ่นดิน 

“เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่า งบประมาณที่ถูกจัดสรรเพิ่มเติมมาเป็นในส่วนของ โครงการสนับสนุนลดต้นทุนการผลิตด้านการเกษตรฯ เพียงโครงการเดียว ซึ่งเป็นโครงการใหม่ โดยอาจมีความคล้ายคลึงกับ โครงการเกษตรแปลงใหญ่ เมื่อถามหาถึงบทวิเคราะห์คาดการณ์ผลประโยชน์และผลสัมฤทธิ์ กลับไม่ปรากฏคำตอบหรือพยานหลักฐานใดๆ ที่หนักแน่นเพียงพอ แต่กลับพบข้อน่ากังวลว่า โครงการดังกล่าวซึ่งมีการกระจายเงินลงไปกว่า 5,000 จุดทั่วประเทศ จุดละ 3 ล้านบาท ซึ่งหากมองผิวเผินอาจเห็นเป็นเพียงเบี้ยหัวแตก แต่ทว่า โครงการนี้ได้จัดให้มี ‘แคตตาล็อก’ ให้แต่ละจุดเลือกซื้อของจากแคตตาล็อกซึ่งถูกกำหนดไว้ก่อนแล้ว ทำให้น่าสงสัยอย่างยิ่งว่า ‘ของ’ ในแคตตาล็อกนั้นเป็นของใคร และมีเอี่ยวถึงผู้หลักผู้ใหญ่ในหน่วยงานหรือไม่ คงต้องเรียกรายละเอียดของแคตตาล็อกดังกล่าวนี้มาตรวจสอบ”

นายแพทย์วาโย ยังได้เปิดเผยต่อไปว่า มีข้าราชการน้ำดีระดับ ‘อธิบดี’ มากระซิบว่า ที่เรื่องแปลกประหลาดเช่นนี้เกิดขึ้น อาจไม่แปลกประหลาดนัก หากระดับอธิบดีกรมสนิทสนมกับระดับรองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณและรัฐมนตรีช่วยว่าการ เป็นสามเหลี่ยมแห่งความเป็นไปได้ที่อาจไม่สอดคล้องกับผลประโยชน์ของประชาชนนัก ทั้งนี้ คงต้องถามไปยังผู้ที่ชี้แจงว่าโครงการดังกล่าวมีประโยชน์จริงหรือ กล้ารับปากหรือไม่ว่า หากโครงการดังกล่าวล้มเหลว ตนจะเป็นผู้รับผิดชอบเงินภาษีของประชาชนทุกบาททุกสตางค์

“พลเอกประยุทธ์บอกตลอดว่าตนเองเข้ามาเพื่อปราบโกง แต่จากที่ผมยกตัวอย่างไปก็ค่อนข้างที่จะชัดเจนมากแล้วว่า พลเอกประยุทธ์นั้นปล่อยปละละเลย และไม่ได้เข้ามาเพื่อปราบโกงอย่างที่พูด ที่ผมค้นเจอความแปลกประหลาดและน่าสงสัยยังมีอีกมาก ผมคิดว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจในเดือนหน้านี้ พลเอกประยุทธ์และ 10 รัฐมนตรีที่จะถูกอภิปรายต้องเจอศึกหนักอย่างแน่นอน และผมค่อนข้างมั่นใจว่า จะมีรัฐมนตรีอย่างน้อย 1 คน ที่ถูกโหวตคว่ำกลางสภา” นายแพทย์วาโยกล่าวทิ้งท้าย