ปัจจุบัน มีคนมากกว่า 130 คนทั่วโลกที่เผชิญกับวิกฤตด้านมนุษยธรรมและยังต้องการความช่วยเหลือ และมีความไปได้ว่าตัวเลขนี้จะสูงขึ้นอีกมาก หลังพายุไต้ฝุ่นมังคุดพัดถล่มจีน ฮ่องกง และฟิลิปปินส์ โดยผู้ที่ต้องเผชิญภัยสงคราม วิกฤตผู้ลี้ภัย หรือภัยธรรมชาติมักต้องสูญเสียคนในครอบครัว บ้านและชีวิตปกติที่เคยมี ไปหาที่พักที่ปลอดภัย เพื่อสร้างชีวิตใหม่ขึ้นมาอีกครั้ง
ความยากลำบากเหล่านั้นจะยิ่งซับซ้อนขึ้นไปอีก หากเป็นคนกลุ่มน้อยที่ถูกตีตราในสังคม อย่างกลุ่มหลากหลายทางเพศ โดยสหพันธ์วางแผนครอบครัวระหว่างประเทศ (IPPF) ระบุว่า คนหลากหลายทางเพศมักพบอุปสรรคในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่เหมาะสม เสี่ยงถูกตีตรามากขึ้น หรืออาจถูกปฏิเสธความช่วยเหลือท่ามกลางวิกฤต
IPPF กล่าวว่า สิ่งที่กลุ่ม LGBTIQ ต้องการมากที่สุดในช่วงวิกฤตด้านมนุษยธรรม 2 อย่าง คือ การคุ้มครองและเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ โดย IPPF พบว่า คลินิกที่ให้บริการแก่คนหลากหลายทางเพศในช่วงเวลาปกติ มักถูกทำลายในช่วงวิกฤต หรือคนที่ทำงานอยู่ในคลินิกเหล่านี้ก็อพยพออกจากพื้นที่ กลุ่มหลากหลายทางเพศจึงไม่ค่อยได้รับบริการด้านสุขภาพอย่างเหมาะสมนัก
รายงานจากสถาบันกุทท์มาเคอร์และศูนย์ข้อมูลและวิจัยด้านผู้หญิงเอเชียแปซิฟิก (ARROW) ทำให้องค์กรให้ความช่วยเหลือและบรรเทาทุกข์หันมาคำนึงถึงสิทธิด้านสุขภาวะทางเพศและการให้กำเนิดบุตรมากขึ้นในช่วงหลังมานี้ โดยรายงานของทั้งสององค์กรแสดงให้เห็นว่า บริการด้านสุขภาวะทางเพศและการให้กำเนิดบุตรในสถานการณ์ฉุกเฉินจะช่วยชีวิตคนได้จำนวนมาก และจะป้องกันไม่ให้สถานการณ์ยิ่งย่ำแย่ลง เช่น การยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์และการแพร่เชื้อโรค
ขณะที่การตระหนักเรื่องการให้ความช่วยเหลือด้านสุขภาวะทางเพศและการให้กำเนิดบุตรเป็นสิ่งที่ดี แต่ส่วนมากองค์กรต่างๆจะไปให้ความสำคัญกับผู้หญิงและเด็กผู้หญิงเป็นหลัก และให้ความสำคัญกับกลุ่มหลากหลายทางเพศน้อยมาก
การไม่มีคลินิกเฉพาะสำหรับกลุ่มหลากหลายทางเพศ ทำให้พวกเขารู้สึกไม่ปลอดภัยในการเข้ารับการรักษาพยาบาล เนื่องจากศูนย์บริการชั่วคราวอาจไม่ยอมรับเพศสภาพและรสนิยมทางเพศของพวกเขา และการให้บริการเหล่านี้อาจไม่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศได้
ในหลายประเทศที่กำลังเกิดวิกฤตด้านมนุษยธรรม การเป็นกลุ่มหลากหลายทางเพศถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย กลุ่มหลากหลายทางเพศจึงกังวลว่าคลินิกฉุกเฉินเหล่านี้จะเก็บข้อมูลของเขาเป็นความลับหรือไม่ ส่งผลให้หลายคนไม่กล้าไปขอรับบริการทางการแพทย์เลย
ซารา เอเคนบ์จอร์น ที่ปรึกษาด้านเพศและเยาวชนของ IPPF กล่าวว่า ขณะที่เธอทำงานอยู่ในยูกันดา ซึ่งมีกฎหมายแบนคนรักเพศเดียวกัน เธอพบว่า เมื่อเจ้าหน้าที่ในคลินิกฉุกเฉินพบคนติดเชื้อเอชไอวี พวกเขาจะต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลของรัฐ คนที่มีความหลากหลายทางเพศหลายคนจึงไม่กล้าตรวจหรือรักษา ซึ่งทำให้เชื้อเอชไอวียิ่งแพร่กระจายไป
ขณะเดียวกัน ในหลายชุมชนที่ประสบภัย ยังมีคนคิดว่ากลุ่มหลากหลายทางเพศเป็นต้นเหตุให้เกิดภัยพิบัติอย่าง ภูเขาไฟระเบิดหรือพายุพัดถล่ม อคติเหล่านี้ทำให้การเข้าถึงศูนย์อพยพและการรักษาพยาบาลของกลุ่มหลากหลายทางเพศฌป็นไปอย่างยากลำบากมาก โดยเฉพาะคนข้ามเพศ
อ็อกซ์แฟมเปิดเผยรายงานเกี่ยวกับการปฏิบัติภารกิจหลังเกิดสึนามิในปี 2004 ว่า หญิงข้ามเพศหลายคนถูกปฏิเสธไม่ให้อาศัยอยู่ในที่พักชั่วคราว เนื่องจากเพศสภาพของพวกเธอไม่ตรงกับเพศที่ระบุไว้ในบัตรประชาชน
IPPF กล่าวว่า ช่วงหลายปีที่ผ่านมา องค์กรช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจะทำงานร่วมกับองค์กรด้านความหลากหลายทางเพศท้องถิ่น เพื่อให้มั่นใจว่ากลุ่ม LGBTIQ จะได้รับความช่วยเหลืออย่างเท่าเทียมกับคนอื่น และเจ้าหน้าที่จะต้องได้รับการฝึกฝนให้ยอมรับและดูแลกลุ่ม LGBT ได้อย่างให้เกียรติ แต่การทำงานก็จะยากขึ้น หากอยู่ในพื้นที่ที่ไม่มีองค์กรที่เป็นมิตรกับกลุ่ม LGBTIQ หรือร่วมตีตรากลุ่มหลากหลายทางเพศ
เอเคนบ์จอร์น เชื่อว่า การจ้างคนที่เป็น LGBTIQ มาเป็นเจ้าหน้าที่ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยจะช่วยให้กลุ่มหลากหลายทางเพศที่กำลังเผชิญวิกฤตด้านมนุษยธรรมรู้สึกสบายใจที่จะไปรับบริการมากขึ้นขณะเดียวกันก็ต้องทำงานร่วมกับเครือข่ายในประเทศต้นทาง เพื่อให้พวกเขามีความละเอียดอ่อนในการตอบสนองความต้องการของกลุ่มหลากหลายทางเพศ เพื่อปรับปรุงสุขภาวะทางเพศในท้องถิ่นในระยะยาวด้วย
ที่มา : Asian Correspondent