ไม่พบผลการค้นหา
'นิด้าโพล' เผยผลสำรวจประชาชน พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ ไม่รู้จักโครงการไทยนิยมยั่งยืน ขณะที่การลงพื้นที่ของ 'ประยุทธ์' ประชาชนเชื่อเป็นการหาเสียงไม่ต่างจากนักการเมือง ด้าน 'สวนดุสิตโพล' ชี้การเคลื่อนไหวทางการเมือง มีผลต่อการจัดเลือกตั้ง

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น 'นิด้าโพล' สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง 'ไทยนิยม ยั่งยืน VS ประชานิยม' จากทุกอาชีพทั่วประเทศจำนวน 1,250 ตัวอย่าง จากการสำรวจเมื่อถามถึงการรับรู้หรือได้ยินข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 41.04 เปอร์เซ็น ระบุว่า ไม่เคยได้ยิน/ไม่รู้จัก รองลงมา 32.24 เปอร์เซ็น ระบุว่า รู้จัก โครงการไทยนิยม ยั่งยืน และ 26.72 เปอร์เซ็น ระบุว่า เคยได้ยินชื่อโครงการ แต่ไม่รู้ว่าทำเกี่ยวกับอะไร

เมื่อถามถึงความแตกต่างระหว่าง 'โครงการไทยนิยม ยั่งยืน' กับ 'นโยบายประชานิยม'พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 48.96 เปอร์เซ็น ระบุว่า ไม่แตกต่าง เพราะเป็นโครงการที่มีลักษณะและวิธีการแก้ไขปัญหาคล้ายคลึงกัน คือทำเพื่อช่วยเหลือประชาชนโดยเปลี่ยนจากนโยบายเป็นโครงการเท่านั้น ทั้งยังเป็นการช่วยเหลือประชาชนแบบเฉพาะหน้าทั้ง 2 โครงการ และไม่สามารถช่วยเหลือในระยะยาวได้จริง รองลงมา43.44 เปอร์เซ็น ระบุว่า แตกต่าง เพราะการบริหารงานและรายละเอียดของโครงการแตกต่างกัน โดยนโยบายประชานิยมเป็นการให้ความหวังกับประชาชน ดูฉาบฉวยและเกิดประโยชน์ส่วนบุคคลเท่านั้น แต่โครงการไทยนิยม ยั่งยืน เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น ส่งผลให้ประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ เป็นโครงการที่ช่วยเหลือประชาชนชนได้จริง เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม

ส่วนความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการลงพื้นที่พบปะประชาชนของนายก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นการหาเสียงในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนมีการเลือกตั้ง ปี 2562 หรือไม่ พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ 50.48 เปอร์เซ็น ระบุว่า เป็นการหาเสียง เพราะโครงการนี้เป็นนโยบายการหาเสียงอย่างชัดเจน เช่นเดียวกับนักการเมืองที่มีการลงพื้นที่บ่อย เป็นการพบปะประชาชนช่วงใกล้เลือกตั้งเพื่อหวังคะแนนนิยมจากประชาชน และลงพื้นที่บ่อยเกินไป รองลงมา 42.32 เปอร์เซ็น ระบุว่า ไม่เป็นการหาเสียง เพราะเป็นการปฏิบัติหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีอยู่แล้ว โดยมองว่ารัฐบาลทำเพื่อประชาชนจริงๆ อยากพบปะใกล้ชิดกับประชาชน 

'ดุสิตโพล' แนะ 'คนอยากเลือกตั้ง' ชุมนุมอย่างมีสติ

ในขณะที่ 'สวนดุสิตโพล' มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,130 คน จากการสำรวจเมื่อถามถึงประชาชนมีความคิดเห็นอย่างไร? กรณีการออกมาชุมนุมเคลื่อนไหวของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง พบว่า 57.56 เปอร์เซ็น ระบุว่าควรแสดงออกทางการเมืองอย่างสร้างสรรค์ รองลงมา 21.84 เปอร์เซ็น ระบุควรชุมนุมอย่างสงบ ไม่อยากให้ขัดแย้งรุนแรง ขณะที่ 20.60 เปอร์เซ็น ระบุว่าสามารถทำได้ ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพไม่ควรปิดกั้น

ทั้งนี้เมื่อถามถึงจากสถานการณ์ทางการเมืองที่มีความเคลื่อนไหวต่างๆ เกิดขึ้นในขณะนี้ ประชาชนคิดว่าจะมีผลกระทบต่อการจัดการเลือกตั้งหรือไม่ ? พบว่า35.75 เปอร์เซ็น ระบุว่า มีผลกระทบ เพราะอาจเกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ทำให้คสช.ต้องเลื่อนการจัดเลือกตั้งออกไป รองลงมา 32.92 เปอร์เซ็น ระบุไม่มีผลกระทบเพราะ อย่างไรก็ต้องจัดการเลือกตั้ง รัฐบาลและคสช. น่าจะควบคุมดูแลได้ เป็นเพียงกระแสทางการเมือง