ไม่พบผลการค้นหา
ซีเอ็นเอ็นเทครายงานถึงการเข้าถึงข้อมูลบัญชีผู้ใช้ที่อาจถูกส่งต่อให้กับบุคคลที่สามผ่านการขายโฆษณาของเฟซบุ๊ก ขณะที่เฟซบุ๊กออกมาโต้ถึงการป้องกันข้อมูลผู้ใช้ว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของเฟซบุ๊ก

แม้ว่าในเชิงธุรกิจเฟซบุ๊กเป็นแพลทฟอร์มที่นำข้อมูลของบัญชีผู้ใช้งานในการสร้างรายได้ให้แก่บริษัทผ่านการเก็บข้อมูลจากบัญชีผู้ใช้และนำมันไปขายให้ผู้พัฒนาแอปพลิเคชันและผู้ลงโฆษณาต่างๆ ทั้งนี้การกระทำดังกล่าวไม่สามารถรับรองถึงความปลอดภัยได้ว่าข้อมูลของบัญชีผู้ใช้นั้นจะไม่ถูกส่งหรือขายต่อให้กับบุคคลที่สาม

เมื่อดร.อเล็กซานเดอร์ โคแกน ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์สร้างแบบสอบถามเก็บข้อมูลของผู้ใช้งานเฟซบุ๊กจำนวน 270,000 คน ซึ่งเฟซบุ๊กก็ได้ส่งข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานทั้งหมดรวมถึงข้อมูลของเพื่อนๆของผู้ทำแบบสำรวจผ่านระบบ API ให้กับระบบกรอกแบบสำรวจของดร.โคแกน ทำให้ตัวเลขของเจ้าของข้อมูลทั้งหมดน่าจะอยู่ที่ 5 ล้านคนเลยทีเดียว

หลังจากที่ดร.โคแกนได้รับข้อมูลทั้งหมดมาแล้ว เขาทำการส่งข้อมูลเหล่านี้ต่อให้กับทีมแคมเปญหาเสียงของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ระหว่างการลงสมัครเพื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯเมื่อปี 2016 ซึ่งขัดต่อนโยบายการทำงานของเฟซบุ๊กที่ต้องการจัดสรรค์ข้อมูลให้กับบุคคลที่ 2 เท่านั้น ไม่ใช่การกระจายข้อมูลทั้งหมดไปอีกทอดหนึ่งเพื่อบุคคลที่ 3 ดังเช่นกรณีนี้ 

ในเรื่องดังกล่าวแหล่งข่าวในเฟซบุ๊กออกมายอมรับกับซีเอ็นเอ็นว่า ทางเฟซบุ๊กไม่สามารถติดตามได้ว่าผู้พัฒนาแอปพลิเคชันหรือผู้ที่ซื้อโฆษณากับเฟซบุ๊กจะนำข้อมูลผู้ใช้ไปทำอะไรบ้าง ซึ่งก็เหมือนกับการขายบุหรี่ที่บอกว่าห้ามแบ่งบุหรี่ให้แก่ผู่อื่น

อย่างไรก็ตามเฟชบุ๊กออกมาโต้กล่าวว่า โคแกนได้ละเมิดกฎในการส่งต่อข้อมูลให้แก่บุคคลที่สามรวมไปถึง Cambridge Analytica ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาทางการเมืองในการทำแคมเปญการหาเสียงให้แก่โดนัลด์ ทรัมป์ในช่วงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐที่ผ่านมา ทั้งนี้ทางเฟชบุ๊กได้ตรวจสอบพบการกระทำที่ละเมิดกฎการใช้งานเฟซบุ๊กของโคแกนในปี 2015 และจัดการสั่งปิดบัญชีของ Cambridge Analytica ไปเรียบร้อยแล้วลบข้อมูลดังกล่าวไปเรียบร้อย แต่เมื่อเร็วๆ นี้เฟซบุ๊กออกมากล่าว ข้อมูลทุกอย่างนั้นไม่สามารถลบทิ้งหรือทำลายได้

ในแถลงการณ์ของเฟซบุ๊ก ที่ปรึกษาทั่วไปของเฟซบุ๊ก พอล กรีเวล กล่าวว่า "การปกป้องข้อมูลของประชาชนในทุกส่วนเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเรา แต่ข้อมูลของผู้ใช้ที่เฟซบุ๊กส่งให้กับบุคคลที่สามที่เราไม่สามารถรู้ได้ว่าเป็นใครนั้นทำให้ยากที่เฟซบุ๊กจะออกมาแก้ตัวกับการกระทำดังกล่าว"

ทั้งนี้เฟซบุ๊กกล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2014 เฟซบุ๊กพัฒนาให้ผู้ใช้สามารควบคุมหรือแบ่งปันข้อมูลของผู้ใช้ให้กับแอปพลิเคชั่นต่างๆ ในเฟซบุ๊กรวมไปถึงโฆษณา ทั้งในการที่ผู้พัฒนาแอปฯ หรือโฆษณาจะสามารถเข้าถึงข้อมูลของผู้ใช้ได้นั้น ต้องมีการสอบถามความยินยอมของผู้ใช้ก่อนเสมอ อย่างไรก็ตามมาตรการต่างๆของเฟซบุ๊กที่ออกมาก็ยังไม่สามารถรับรองความปลอดภัยในการนำข้อมูลผู้ใช้ไปให้บุคคลที่สามได้

กรีเวลกล่าวเพิ่มเติมว่า ตอนนี้เฟซบุ๊กกำลังตรวจสอบการทำงานทั้งภายในและภายนอกของฐานข้อมูล เพื่อตรวจสอบถึงความถูกต้องหลังจากที่มีการตั้งคำถามถึงความปลอดภัยของข้อมูลผู้ใช้เฟซบุ๊ก แต่อย่างไรก็ตามเฟซบุ๊กยังคงนโยบายในการปกป้องข้อมูลของผู้ใช้เป็นสำคัญ

รายงานของอี-มาร์เก็ตเทอร์กล่าวว่า ปัจจุบันในสหรัฐฯยอดผู้ใช้เฟซบุ๊กมีทั้งหมด 184 ล้านคน ซึ่งเป็นจำนวนที่ลดลง และในปีที่ผ่านมา ผู้ใช้สังคมออนไลน์ได้ยกเลิกการใช้งานเฟชบุ๊กกว่า 2.8ล้านคน และคาดว่าในปีนี้จะมีผู้เลิกใช้งานเฟซบุ๊กอีก 2 ล้านคน

อย่างไรก็ตามเรื่องราวที่เกิดขึ้นครั้งนี้สร้างความเสียหายให้กับภาพลักษณ์ขององค์กรเฟซบุ๊กอย่างมากเพราะทำให้เกิดการตั้งคำถามว่าการเข้าถึงข้อมูลผู้อื่นนั้นมีความง่ายดายเกินไปหรือไม่ เนื่องจากการรั่วไหลของข้อมูลนี้เกิดขึ้นโดยไม่ต้องมีการแฮ็กใดๆทั้งสิ้น ทำให้มูลค่าหุ้นของเฟซบุ๊กล่าสุดร่วงลงอย่างรุนแรงเกือบ 6.77% คิดเป็นมูลค่าความเสียหายราว 37,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งถือว่าตกต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2014 ตามมาด้วยกระแส #DeleteFacebook จากผู้ที่มีจุดยืนต่อต้านความเสียหายที่เกิดขึ้นจากแพลทฟอร์มออนไลน์นี้