ไม่พบผลการค้นหา
วิจัยพบหญิงมีโอกาสรอดชีวิตจากหัวใจหยุดเต้นกะทันหันต่ำกว่าชาย เหตุคนพบเห็นเหตุการณ์ไม่กล้าช่วยปั๊มหัวใจ เพราะลังเลสัมผัสหน้าอกสตรี ทั้งยังกลัวทำให้ผู้หญิงเจ็บ

สำนักข่าวเอพีรายงานว่า นักวิจัยในสหรัฐฯพบว่า ผู้หญิงที่ได้รับการปั๊มหัวใจ หรือซีพีอาร์ เมื่อมีอาการหัวใจหยุดทำงานในที่สาธารณะ มีแค่ร้อยละ 39 ขณะผู้ชายมีสัดส่วนร้อยละ 45 และผู้ชายมีโอกาสสูงกว่าผู้หญิงร้อยละ 23 ที่จะรอดชีวิตด้วยวิธีช่วยเหลือนี้

ออเดรย์ บลูเวอร์ นักวิจัยของมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย หัวหน้าทีมวิจัย บอกกับที่ประชุมสมาคมโรคหัวใจอเมริกัน ที่เมืองอานาไฮม์ มลรัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อวันอาทิตย์ ว่า ผู้คนทั่วไปคิดกันว่า การวางมือลงกลางหน้าอกของผู้หญิง กดสลับ-ผ่อนอย่างแรงและเร็ว เป็นเรื่องยาก บางคนเกรงจะทำให้ผู้หญิงเจ็บ

ผลงานวิจัยชิ้นนี้ ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร American College of Cardiology เก็บข้อมูลตัวอย่างเกือบ 20,000 กรณีทั่วสหรัฐอเมริกา นับเป็นครั้งแรกที่ศึกษาว่า ชายกับหญิงได้รับการช่วยเหลือโดยวิธีซีพีอาร์ แตกต่างกันอย่างไร และเจ้าหน้าที่กู้ชีพปฏิบัติต่างกันอย่างไรระหว่างผู้ป่วยชายกับผู้ป่วยหญิง

นายแพทย์เบนจามิน เอเบลลา จากสถาบันเดียวกัน บอกว่า เจ้าหน้าที่กู้ชีพบางส่วนไม่สะดวกใจที่จะคลายเสื้อผ้าของผู้ป่วยหญิง หรือสัมผัสถูกหน้าอกของผู้ป่วยหญิง แต่ตามทฤษฎีแล้ว ทั้งสองอย่างนี้ไม่จำเป็นเลย ผู้ช่วยเหลือเพียงแต่สัมผัสที่กระดูกสันอก ซึ่งอยู่กลางระหว่างเต้านม

ภาวะหัวใจหยุดกะทันหันเกิดจากปัญหาจังหวะการเต้น แต่ละปีชาวอเมริกันที่ประสบภาวะเช่นนี้นอกอาณาบริเวณโรงพยาบาลมีกว่า 350,000 คน ราวร้อยละ 90 ของจำนวนนี้เสียชีวิต แต่ซีพีอาร์สามารถเพิ่มอัตราการรอดได้ 2-3 เท่าตัว

“ในสถาการณ์หน้าสิ่วหน้าขวาน ไม่ใช่เวลาที่จะมากระดาก” คุณหมออาเบลลากล่าว

งานวิจัยแนะว่า การฝึกอบรมวิธีทำซีพีอาร์อาจต้องปรับเปลี่ยน ที่ผ่านมาเนื้อหาลำเอียงไปทางเพศชาย แม้แต่หุ่นสำหรับฝึกปั๊มหัวใจยังเป็นหุ่นของบุรุษ.

Photo: AFP (file)