ไม่พบผลการค้นหา
สภาองค์กรของผู้บริโภค ยื่นบอร์ด กสทช. ขอยึดอุดมการณ์ยืนหยัดข้างผู้บริโภคและประชาชน พิจารณาดีลควบรวม 'ทรู-ดีแทค'

สุภิญญา กลางณรงค์ ประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ยื่นหนังสือถึง ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ขอให้ยึดอุดมการณ์ยืนหยัดข้างผู้บริโภคและประชาชน กรณีพิจารณาดีลการควบรวมกิจการระหว่าง บริษัท ทรู คอร์เปอร์เรชั่น (จํากัด) มหาชน และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอม มิวนิเคชั่น (จํากัด) มหาชน 

ในรายละเอียดของหนังสือ ระบุว่า กสทช. ในฐานะคณะกรรมการองค์กรอิสระที่ดูแลกํากับกิจการโทรคมนาคม จะต้องใช้อํานาจพิจารณาการควบรวมครั้งนี้ เนื่องจากบริษัททั้งสองเป็นบริษัทในกิจการโทรคมนาคม ที่หลังจากการควบรวมจะมีการเข้าไปถือหุ้นมากกว่า 10 % ในบริษัทลูก คือ บริษัท ทรูมูฟเอช จํากัด และ บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จํากัด ซึ่งทั้งสองบริษัทเป็นผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมที่ถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน อันขัดต่อมาตรา 21 ของพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 ประกาศสกทช. เรื่องมาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทําอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 และ ประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกํากับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2561 

ยิ่งไปกว่านั้น ยังขัดต่อแผนแม่บท กิจการโทรคมนาคม ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2562-2566 ที่มีผลผูกพันต่อ กสทช.ในทางปกครองนับตั้งแต่วันที่ประกาศ ในราชกิจจานุเบกษา เรื่องการส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม และ ตามกฎหมายของปี 2549 กําหนดว่า การเข้าซื้อหุ้นหรือถือหุ้นมากกว่าร้อยละ 10 ของผู้ได้รับใบอนุญาตรายอื่น หรือเข้าซื้อสินทรัพย์ทั้งหมดเพื่อให้มีสิทธิ์กําหนดนโยบาย ต้องได้รับอนุญาตจาก กสทช. ก่อนเท่านั้น จะกระทําก่อนไม่ได้

ดังนั้น สอบ. ในฐานะตัวแทนผู้บริโภค มีความกังวลเป็นอย่างยิ่งว่าการควบรวมกิจการโทรคมนาคมดังกล่าว จะเกิดผลกระทบต่อสังคมในทุกมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความก้าวหน้าด้านการศึกษา หากคณะกรรมการ กสทช. อนุญาตให้เกิดการควบรวมกิจการทั้งสองบริษัทนี้จะทําให้เกิดการผูกขาด และลดการแข่งขันในตลาดค่ายมือถือ และตลาดอินเตอร์เน็ตที่เป็นปัจจัยสําคัญในการพัฒนาความรู้ทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย อีกทั้งเป็นการเปิดโอกาสการเข้าถึงแหล่งความรู้จากทุกมุมโลกที่จะทําให้นักศึกษา ผู้บริโภค และประชาชนมีโอกาสพัฒนา ศักยภาพด้วยตนเอง หรือจากสถาบันการศึกษาระดับโลก 

ผลการศึกษาของคณะอนุกรรมการด้านเศรษฐศาสตร์ ของ กสทช. พบว่า การควบรวมครั้งนี้เป็นอันตรายต่อการแข่งขันในตลาดผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ต โดยค่า HHI ที่เป็นดัชนีวัดการกระจุกตัวของตลาด ที่ กสทช. ได้กําหนดไว้ว่าไม่ควรเกิน 2500 นั้น หากเกิดการควบรวมดัชนีนี้จะทะยานสูงถึง 5007 เป็นสัญญาณอันตรายต่อตลาดนี้ที่นําทรัพยากรคลื่นความถี่ของประชาชนมาบริหาร 

โดยมีการคาดการณ์ว่า ราคาค่าบริการที่ผู้บริโภคต้องจ่ายเพิ่ม จะสูงขึ้นจาก 2.07% ในระดับของการแข่งขันหลังควบรวม และจะทะยานถึง 244.5% ทําให้ผู้บริโภคขาดทางเลือกในการใช้บริการ กระทบต่อสิทธิ เสรีภาพของพลเมืองในยุคดิจิทัล รวมถึงความมั่นคงในการบริการโครงข่ายสาธารณะ เพราะการมีผู้ประกอบการน้อยรายย่อมเสี่ยงมากกว่าการมีผู้ประกอบการมากราย

จึงขอเรียกร้องให้ กสทช. ยึดมั่นต่อหน้าที่ที่มีต่อประชาชนในการ รักษาผลประโยชน์สูงสุด ตามที่กําหนดไว้ในมาตรา 60 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ด้วยการไม่อนุญาตให้เกิดการควบรวม ซึ่งหากวิเคราะห์ตาม มาตรา 21 ในพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 ประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ปี 2549 จะพบว่า ได้มีการแสดงเจตนารมณ์ทางกฎหมาย อย่างชัดเจนว่าไม่ต้องการให้มีการผูกขาด หรือลดการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคมในธุรกิจประเภทเดียวกัน