เป็นคำประกาศหลังรู้ผลว่าไม่มีทางที่พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งจะมีอายุครบ 73 ปีเต็มในวันที่ 6 เม.ย.นี้ จะได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล
คำประกาศของหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์นามว่า 'อภิสิทธิ์' ที่นั่งประมุขพรรคสีฟ้ามา 14 ปี
ผ่านสมรภูมิการเลือกตั้งทั่วไปมา 3 ครั้ง แต่ทุกครั้งจบตำแหน่งผู้แพ้เป็นเพียงอันดับ 2 ได้เป็นแกนนำฝ่ายค้าน 2 ครั้ง
การเลือกตั้งทั่วไปในปี 2562 เกิดขึ้นภายใต้สถานการณ์พิเศษที่ผ่านเหตุการณ์ยึดอำนาจเมื่อปี 2557
กลไกอำนาจรัฐถูกควบคุมโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งใช้เวลาถึง 5 ปี ในการออกแบบกติกาให้รัฐธรรมนูญ ปี 2560 มีระบบเลือกตั้งสูตรจัดสรรปันส่วนผสม และ มี ส.ว.แต่งตั้งในช่วง 5 ปีแรก 250 คนมาจากการคัดสรรของ คสช. มาร่วมลงมติโหวตนายกรัฐมนตรี
พรรคการเมืองขนาดใหญ่จึงถูกลดทอนตัวเลข ส.ส.ลงอย่างไม่เคยเกิดขึ้น
ผลการเลือกตั้งไม่เป็นทางการที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้เปิดเผยเมื่อวันที่ 28 มี.ค.
พรรคพลังประชารัฐ ได้คะแนนนิยมมากที่สุด 8,433,137 เสียง
อันดับ 2 พรรคเพื่อไทย 7,920,630 เสียง
อันดับ 3 พรรคอนาคตใหม่ 6,265,950 เสียง
อันดับ 4 พรรคประชาธิปัตย์ 3,947,726 เสียง
อันดับ 5 พรรคภูมิใจไทย 3,732,883 เสียง
เมื่อผลการเลือกตั้งออกมา พรรคประชาธิปัตย์ภายใต้การนำของ 'อภิสิทธิ์' ต้องพ่ายแพ้แบบไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ฐานเสียงในกรุงเทพมหานคร ทำให้ ส.ส.ต้องสูญพันธุ์
พรรคประชาธิปัตย์ได้ ส.ส.เขตเพียง 33 ที่นั่ง เมื่อคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อจะได้เพิ่มอีก 21 รวมมี ส.ส. 54 ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร
ด้วยยอด ส.ส.ดังกล่าว ส่งผลสะเทือนถึงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และต้องอยู่ระหว่างเลือกคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ในระหว่างที่รอการประกาศผลเลือกตั้ง ส.ส. จาก กกต. ที่มีกำหนดเส้นตายภายในวันที่ 9 พ.ค. 2562
"ผมประกาศจุดยืนบอก ผมไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แปลกไหมครับ พรรคที่สถาปนาตัวเองเป็นประชาธิปไตย แทนที่จะบอกว่าดี เดือดร้อนมาก เดือดร้อนมาก แทนที่จะบอกว่า อ้าว นี่เป็นจุดยืนที่ถูกต้อง เพราะไม่เห็นด้วยกับการสืบทอดอำนาจ กลับสร้างเงื่อนไขขึ้นมาใหม่ บอกพูดแค่นี้ไม่พอ จะร่วมกับพลังประชารัฐมั้ย ผมก็บอกผมพูดชัดแล้ว อะไรที่เกี่ยวกับการสืบทอดอำนาจ อะไรที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต เราไม่ร่วม แต่ถ้าพรรคพลังประชารัฐ เขาไม่มี 2 เงื่อนไขนี้ ก็คุยกันได้"
เป็นประโยคสุดท้ายบนเวทีปราศรัยใหญ่ครั้งสุดท้ายของ 'อภิสิทธิ์' เมื่อคืนวันที่ 22 มี.ค.ก่อนเลือกตั้ง 2 วัน
ขณะเดียวกัน 'อภิสิทธิ์' ยังปราศรัยถึงจุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์ที่ยังไม่ประกาศแนวทางหลังเลือกตั้งด้วยว่า "บอกอภิสิทธิ์กั๊ก อภิสิทธิ์หมกเม็ด ผมก็ไปดูครับ ขอโทษเอ่ยชื่อพรรคอื่นบ้าง โฆษกพรรคอนาคตใหม่ เคยตอบคำถามว่า ร่วมกับพรรคพลังประชารัฐได้มั้ย โฆษกพรรคอนาคตใหม่ตอบว่า ถ้าไม่มีเรื่องพล.อ.ประยุทธ์ ไม่มีเรื่องการสืบทอดอำนาจ ก็ร่วมกันได้ แล้วทำไมพอเป็นอนาคตใหม่มันไม่กั๊กล่ะ"
ด้วยการคัดค้าน พล.อ.ประยุทธ์
ด้วยการไม่แสดงจุดยืนให้ชัดเจนว่าจะร่วมงานอุดมการณ์ทางการเมืองในขั้วใด
ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ ต้องสูญเสียฐานที่มั่นส.ส.ในภาคใต้ และกรุงเทพฯ ในหลายเขต
ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองที่ยังไม่รู้ว่า รัฐบาลชุดใหม่จะเป็นการนำของขั้วการเมืองฝ่ายใดระหว่างฝ่ายประชาธิปไตย ที่นำโดย พรรคเพื่อไทย และพรรคการเมืองพันธมิตรอีก 6 พรรค
หรือจะเป็นฝ่ายสืบทอดอำนาจให้กับ คสช. ผ่านการนำของ 'พรรคพลังประชารัฐ' ที่มีเสียง ส.ส. 118 เสียง และมีแนวร่วมอีก 1 พรรคคือ พรรครวมพลังประชาชาติไทย ทีีมี ส.ส. 5 เสียง
พรรคการเมืองขั้วตรงกลางที่ยังไม่ประกาศจุดยืนจะเลือกอยู่ฝ่ายใด จนกว่าจะทราบผลการเลือกตั้งที่ชัดเจนอย่างเป็นทางการ
ไม่ว่าจะเป็นพรรคประชาธิปัตย์ 54 เสียง พรรคภูมิใจไทย 52 เสียง พรรคชาติไทยพัฒนา 11 เสียง พรรคชาติพัฒนา 3 เสียง พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย 1 เสียง พรรคพลังท้องถิ่นไท 2 พรรคพลังชาติไทย 1 เสียง
7 พรรคที่ยังไม่ประกาศจุดยืน รวมกันมี 124 เสียง คือ เสียงชี้วัดความมีเสถียรภาพในการจัดตั้งรัฐบาลไม่น้อย เพราะหากนำ 124 เสียงไปรวมกับฝ่ายประชาธิปไตย ที่มีไม่น้อยกว่า 253 เสียง
นั่นหมายความว่าจะมีเสียงขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 375 เสียงทันที
และมีแนวโน้มที่จะยับยั้งไม่ให้ ส.ว. 250 เสียงมายกมือโหวตหนุน ‘ประยุทธ์’ เป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัยได้
ทว่าจุดยืนทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ในชั่วโมงนี้กลับยังไม่มีคำตอบ
ไม่มีคำตอบที่ชัดเจน แม้กระทั่ง 'ชวน หลีกภัย' ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ตอบคำถามสื่อโดยเลี่ยงแสดงจุดยืนของพรรคโดยตอบเพียงว่าพรรคประชาธิปัตย์จะยืนอยู่บนความสุจริต
ถามว่า มีบางคนอยากให้ไปร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ แต่นายชวน ตอบว่า "ยังไม่มีประเด็นเข้ามาพูดกัน ต้องรอให้พรรคเขาจัดการ เรื่องภายในให้เรียบร้อยเสียก่อน เพราะว่าขณะนี้ยังประกาศไม่เป็นทางการว่าใครได้ ใครไม่ได้อย่างไร ต้องรอ ทุกอย่างภายในพรรคก็ทำงานตามปกติ"
"เราต้องสร้างความชอบธรรมถูกต้องให้เกิดขึ้นภายในประเทศเลือกคนดีให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง"
นายชวน ยังทิ้งท้ายเมื่อวันที่ 25 มี.ค.ไว้ว่า "ส่วนแนวคิดจะร่วมไม่ร่วมฝ่ายใดเป็นเรื่องที่มติของพรรค อย่าเพิ่งไปฟังใครนะครับ อย่าเพิ่งไปฟังใครทั้งสิ้น ยังไม่มีประเด็นนี้ขึ้นมา"
เช่นเดียวกับ 'อภิสิทธิ์' ที่เป็นอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ไปแล้ว ตอบถึงกระแสข่าวที่พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยประสานมายังพรรคประชาธิปัตย์ ว่า "ผมว่านักการเมือง เขาก็มีโทรศัพท์พูดคุยกัน แต่ผมไม่ได้เกี่ยวข้อง"
แม้พรรคประชาธิปัตย์จะให้ 'จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์' รักษาการหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และต้องดำเนินการจัดให้มีการเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ใน 60 วัน ซึ่งจะอยู่ในห้วงเวลาเดียวกับการรอประกาศผล ส.ส.
กรรมการบริหารชุดรักษาการจึงเห็นว่าการตัดสินใจประกาศจุดยืนทางการเมืองหลังเลือกตั้งควรเป็นมติของกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่
ส่วนวันที่ 6 เม.ย. ที่จะเป็นวันครบรอบพรรคประชาธิปัตย์ 73 ปี เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าจะยังไม่มีการเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ เพราะด้วยเวลาที่กระชั้นชิด
การประกาศจุดยืนทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ไม่ว่าจะเกิดก่อนวันที่ 9 พ.ค. หรือหลัง 9 พ.ค.
ไม่ว่าจะเลือกทางใดจึงน่าจะเกิดขึ้นภายใต้การมีมติของกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่
ผลการเลือกตั้งที่พ่ายแพ้อย่างหนักของพรรคสีฟ้า ทำให้สภาพภายในพรรคประชาธิปัตย์ขณะนี้ตกอยู่ในภาวะระส่ำ แบ่ง 2 ก๊ก แต่ละก๊กต่างมีจุดยืนทางการเมืองที่แตกต่างเป็นสองขั้วไม่ไปในทางเดียวกัน
เมื่อขั้วหนึ่งสนับสนุนให้ร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นสายของ กปปส. ผ่านคำประกาศของ 'ถาวร เสนเนียม' ว่าที่ ส.ส.สงขลา
“ส่วนตัวยืนยันว่าพรรคประชาธิปัตย์ควรไปร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) เพราะเป็นพรรคที่ได้คะแนนเสียงจากประชาชนมากที่สุด"
ขณะที่อีกขั้วหนึ่งสาย ‘อภิสิทธิ์’ ประกาศตั้งแต่ก่อนเลือกตั้งขอเป็นขั้วประชาธิปไตยสุจริต ไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจของ คสช. ผ่านการผลักดันให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี
"เจตนารมณ์ของประชาชนต้องได้รับการเคารพ"
"ถ้าใครรวบรวมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรได้คือเกิน 250 เสียง แปลว่าคนเหล่านั้นได้รับการเลือกมาจากคนกว่าครึ่งของคนที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง"
"อย่าไปขัดขวางเขา"
เหล่านี้คือวาทะที่ออกจาก 'อภิสิทธิ์' เมื่อวันที่ 30 ม.ค. 62 ขณะบรรยายในหัวข้อ เยาวนชนคนหนุ่มสาวกับอนาคตประเทศไทยหลังการเลือกตั้ง : ความฝัน ความหวังและความจริง ที่ ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
เมื่อผลเลือกตั้งสะเทือนถึงการแบ่งเป็น 2 ก๊กภายในพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าผลมติของพรรคจะเลือกยืนในเส้นทางใด ย่อมมีผลต่อเสียงโหวตในรัฐสภา และยังเป็นตัวแปรชี้ขาดว่า ‘ประยุทธ์’ จะได้อยู่ยาวอีกหรือไม่!
และไม่ว่ายกต่อไป ‘ประชาธิปัตย์’ สู้! ในทิศทางใดก็ล้วนมีผลต่อทิศทางการเมืองของประเทศอยู่เสมอ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง