ไม่พบผลการค้นหา
ผู้นำทั่วโลกในฟากพันธมิตรตะวันตกออกมาประกาศการคว่ำบาตรรัสเซียในด้านต่างๆ อย่างไรก็ดี ตลกร้ายของวิกฤตการรุกรานยูเครนโดยรัสเซียกลับกลายเป็นว่าหลายชาติไม่กล้าแตะตลาดน้ำมันและก๊าซของรัสเซีย ด้วยเหตุว่ารัสเซียเองเป็นผู้ผลิตน้ำมันดิบมากสุดเป็นอันดับที่สองของโลก และยังเป็นผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติเป็นอันดับแรกของโลก

จากวิกฤตยูเครนส่งผลให้ราคาน้ำมันโลกผันผวน เนื่องจากสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน ท่ามกลางการหารือกันระหว่างชาติพันธมิตรตะวันตกในการยกระดับการคว่ำบาตรน้ำมันรัสเซีย อย่างไรก็ดี ชาติสมาชิกสหภาพยุโรปกลับมีแนวโน้มที่จะไม่แตะต้องตลาดน้ำมันรัสเซีย ซึ่งเป็นอุปทานพลังงานหลักที่ยุโรปกำลังพึ่งพาอยู่กว่าหนึ่งในสาม

เมื่อราคาน้ำมันโลกสูงขึ้น ประเทศที่ส่งออกน้ำมันมากกว่าการใช้เองภายในจะพบว่าตัวเองกำลังได้เปรียบจากเม็ดเงินที่ไหลเข้ามา รัสเซียเองเป็นหนึ่งในชาติเหล่านั้นที่จะได้ประโยชน์จากราคาน้ำมันโลกที่กำลังพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ ในทางตรงกันข้าม ประเทศที่กำลังจะดำดิ่งสู่วิกฤตราคาสินค้าอุปโภคบริโภคและบริการ คือประเทศที่ไม่มีที่พึ่งพาทางพลังงานเป็นของตนเอง และปฏิเสธไม่ได้ว่า ไทยเองกำลังเป็นหนึ่งในประเทศเหล่านั้น

ราคาน้ำมันไม่ใช่เป็นเพียงแค่ราคาน้ำมันในตัวของมันเอง แต่น้ำมันยังเป็นอีกหนึ่งในต้นทุนของสิ่งต่างๆ ตั้งแต่ภาคสินค้าและบริการ การคมนาคมขนส่ง การที่ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นเท่ากับว่าราคาต้นทุนของสิ่งต่างๆ ก็พุ่งสูงขึ้นตามไปด้วย ภาวะที่จะตามมาคือระบบเศรษฐกิจจะพบกับภาวะเงินเฟ้อ ในขณะที่ประชาชนชาวไทยเองกลับมีรายได้น้อย แต่ค่าสินค้าและบริการต่างๆ กลับพุ่งสูงขึ้นเพราะต้นทุนจากราคาน้ำมัน ไทยกำลังไหลวนลงสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยท่ามกลางสงครามของรัสเซียในยูเครน


สหรัฐฯ ขึงขังแบนน้ำมันรัสเซีย แต่ยุโรปคิดหนัก

ชาติที่ออกมาเป็นตัวตั้งตัวตีในการพิจารณาการคว่ำบาตรน้ำมันรัสเซียคือสหรัฐฯ ที่พึ่งพาการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียเพียงแค่ 3% เนื่องจากสหรัฐฯ เองมีแหล่งพลังงานที่สามารถพึ่งพาตนเองได้ ในขณะที่ยุโรปเองต้องพึ่งพาน้ำมันที่นำเข้ามาจากรัสเซียกว่า 30% ตลอดจนการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียกว่าอีก 40% ทั้งนี้ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ประกาศการคว่ำบาตรการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียแล้ว เหลือเพียงแต่รอมติรับรองการคว่ำบาตรจากสมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯ ที่ทั้งสองพรรคเห็นสอดคล้องไปในทางเดียวกันกับไบเดน

ผู้นำในโลกตะวันตกกำลังถกเถียงกันอย่างหนักเพื่อหาทางออกไปสู่การคว่ำบาตรน้ำมันรัสเซีย ในขณะที่จากการพูดคุยล่าสุด โอลาฟ โชลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนีปฏิเสธแผนการคว่ำบาตรน้ำมันจากรัสเซีย เนื่องจากอุปทานพลังงานที่รัสเซียมีต่อยุโรปนั้นไม่สามารถหามาทดแทนกับยุโรปได้ “ด้วยวิธีอื่น” ในตอนนี้ ทั้งนี้ สหรัฐฯ ยอมรับว่าตนได้ประกาศการคว่ำบาตรน้ำมันรัสเซียโดยที่ไม่มีพันธมิตรยุโรปเข้าร่วมด้วย

000_324Q9GY.jpg

ยุโรปกำลังตกอยู่ภายใต้ความเสี่ยงที่ว่า ทั้งภูมิภาคอาจพบกับวิกฤตพลังงานหากสหภาพยุโรปตัดสินใจคว่ำบาตรน้ำมันรัสเซีย ซึ่งโชลซ์เรียกว่าเป็น “แก่นสำคัญ” ของการใช้ชีวิตประจำวันของชาวยุโรป ในขณะที่สหรัฐฯ เองพยายามพุดคุยกับชาติพันธมิตรยุโรปเพื่อหาทางคว่ำบาตรน้ำมันรัสเซียให้ได้ หรืออย่างน้อยที่สุด คือความพยายามในการลดการพึ่งพาพลังงานของยุโรปจากรัสเซีย

นอกจากนี้ รัสเซียยังได้ออกมาขู่ยุโรปอีกว่า หากยุโรปตัดสินใจเดินหน้าการแบนน้ำมันรัสเซีย ทางรัสเซียจะตัดการส่งก๊าซผ่านท่อส่งก๊าซของตนเองมายังยุโรป “การปฏิเสธน้ำมันจากรัสเซียจะนำไปสู่ผลลัพธ์อันพินาศต่อตลาดโลก” ซึ่งจะส่งผลให้ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นกว่าเท่าตัวไปอยู่ในราคา 300 เหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 9,950 บาท) ต่อบาร์เรล คำเตือนดังกล่าวถูกส่งตรงไปยังยุโรปโดย อเล็กซานเดอร์ โนวัก รองนายกรัฐมนตรีรัสเซีย

“มันใช้เวลาเป็นปี และมันยังเป็นราคาที่แพงมากยิ่งขึ้นกับผู้บริโภคในยุโรป พูดให้ถึงที่สุด พวกเขาจะได้รับผลกระทบอย่างหนักจากผลลัพธ์ดังกล่าว” โนวักกล่าวถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้น หากยุโรปทำการแบนน้ำมันรัสเซีย  ซึ่งจะทำให้รัสเซียตัดสินใจตัดการส่งก๊าซเข้ามายังยุโรป โดยเมื่อเดือนก่อน เยอรมนีได้ระงับการพิจารณาใบอนุญาตท่อส่งก๊าซ Nord Stream 2 ท่อส่งแก๊ซใหม่ที่จะเชื่อมต่อกับสองประเทศ โดยโนวักระบุว่า การคว่ำบาตรอาจจะกระตุ้นให้รัสเซียใช้มาตรการตอบโต้ "เรามีสิทธิ์ทุกประการในการตัดสินใจ และกำหนดการห้ามส่งก๊าซผ่านท่อส่งก๊าซ Nord Stream 1 (ที่มีอยู่)"

000_DV1073862.jpg

ปัจจัยคำขู่ในการหยุดส่งก๊าซมาให้แก่ยุโรปโดยท่อก๊าซของรัสเซีย ยิ่งทำให้ยุโรปต้องคิดหนักในเรื่องการยกระดับประกาศการคว่ำบาตรน้ำมันรัสเซีย อย่างไรก็ดี สหภาพยุโรปได้มีการประกาศการคว่ำบาตรรัสเซียไปในหลายกรณี ทั้งการคว่ำบาตร วลาดิเมีย์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย และคนรอบตัวในวงอำนาจ ตลอดจนสถาบันทางการเงินต่างๆ อย่างไรก็ดี สหภาพยุโรปยังไม่มีการประกาศการคว่ำบาตรในด้านพลังงานต่อรัสเซียแต่อย่างใด


เมื่อยุโรปเป็นลูกไก่ในกำมือน้ำมันรัสเซีย

สงครามยูเครนทำให้ราคาน้ำมันดิบโลกพุ่งสูงขึ้นสุดในรอบ 14 ปี สะท้อนภาพให้โลกเห็นว่า ยังคงไม่มีใครขึ้นมาแทนที่รัสเซียในฐานะประเทศอันดับต้นๆ ของโลกที่สามารถผลิตน้ำมันดิบออกสู่ตลาดโลกได้ นอกจากนี้ ท่ามกลางวิกฤตสงครามที่กำลังตึงเครียด ชาติผู้ผลิตน้ำมันซึ่งหมายรวมถึงชาติสมาชิก OPEC ยังคงระมัดระวังในการเพิ่มการผลิตน้ำมันด้วยเช่นกัน เนื่องจากความกลัวว่าราคาน้ำมันอาจพลิกกลับมาอย่างกระทันหัน

ในวันจันทร์ที่ผ่านมา (7 มี.ค.) ตัวชี้วัดราคาน้ำมันดิบเบรนท์ในมาตรฐานสากลพุ่งสูงขึ้นไปอยู่ที่ราคา 139 เหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 4,610 บาท) ต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นราคาที่พุ่งสูงขึ้นที่สุดนับตั้งแต่ปี 2551 โดยราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นในครั้งนี้ คิดเป็นราคาที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 60% นับตั้งแต่เริ่มต้นปี 2565 เป็นต้นมา

AFP - น้ำมัน

จากการคาดการณ์ของนักวิชาการระบุว่า หากสงครามในยูเครนยังคงยืดเยื้อออกไป ราคาน้ำมันดิบโลกอาจพุ่งสูงขึ้นถึง 150 เหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 4,975 บาท) ต่อบาร์เรล และหากสหรัฐฯ ตัดสินใจประกาศการคว่ำบาตรน้ำมันรัสเซีย ราคาของน้ำมันก็อาจจะปรับตัวเพิ่มขึ้นไปแตะที่ตัวเลข 200 เหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 6,630 บาท) ต่อบาร์เรล

ยุโรปยังคงพึ่งพาน้ำมันจากรัสเซียเป็นหลัก และถึงแม้ว่าซาอุดีอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งเป็นสองชาติผู้ผลิตน้ำมันอันดับใหญ่ที่สุดของ OPEC จะเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันของตนอย่างเต็มสมรรถภาพแล้วก็ตาม น้ำมันจำนวนดังกล่าวก็จะยังไม่พอต่ออุปทานพลังงานของยุโรป ทั้งนี้ OPEC ได้ตกลงที่จะเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมัน 400,000 บาร์เรลต่อวันในเดือนเมษายนนี้ ถึงแม้ว่าจะมีการเรียกร้องให้มีการผลิตที่เพิ่มมากขึ้นกว่าในตอนนี้ก็ตาม

และถึงแม้ว่า OPEC จะเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันของตนขึ้น ประเทศที่มีน้ำมันสำรองและการลงทุนในภาคการผลิตน้ำมันต่ำ จะไม่สามาถหลีกหนีให้ตัวเองพ้นจากวิกฤตราคาน้ำมันหลังจากสงครามในยูเครนได้เริ่มต้นขึ้นโดยฝีมือของรัสเซีย ผู้ที่ในทางตรงกันข้ามกลับเป็นประเทศที่ผลิตน้ำมันดิบได้มากเป็นอันต้นๆ ของโลก นอกจากนี้ ราคาน้ำมันโลกที่ปรับตัวเพิ่มมากขึ้นจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการบริโภคที่ปรับตัวลดลง และอาจทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจโลกท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 ย่ำแย่ลงไปอีก


คว่ำบาตรน้ำมันรัสเซียกระทบทั้งโลก

รัสเซียเป็นผู้ผลิตน้ำมันอันดับสามของโลก รองจากสหรัฐฯ และซาอุดีอาระเบีย เช่นเดียวกันกับการผลิตน้ำมันดิบของโลกที่รัสเซียอยู่ในอันดับที่สอง ทั้งนี้ รัสเซียยังคงเดินหน้าการขายน้ำมันและพลังงานให้แก่ยุโรป อย่างไรก็ดี ไบเดนระบุว่าน้ำมันคือขุมทรัพย์ของรัสเซียเพื่อเป็นทุนในการทำสงครามในยูเครน แต่ย้ำว่าสหรัฐฯ เข้าใจพันธมิตรยุโรปว่ายังคงต้องพึ่งพาน้ำมันจากรัสเซีย โดยสหรัฐฯ เองกำลังหารือกับสหภาพยุโรปเพื่อหาทางการลดการพึ่งพาน้ำมันจากรัสเซียของยุโรปในระยะยาว

จากข้อมูลขององค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) เปิดเผยว่า การส่งออกน้ำมันของรัสเซียกว่า 60% มุ่งตรงไปยังประเทศต่างๆ ในยุโรป ที่เป็นสมาชิกขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ในขณะที่น้ำมันจากรัสเซียอีก 20% ถูกส่งไปยังจีน โดยในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา น้พมันรัสเซียคิดเป็น 34% ของการนำเข้าน้ำมันโดยชาติสมาชิก OECD

AFP - น้ำมัน ปูติน

ตั้งแต่เริ่มปี 2565 เป็นต้นมา สหภาพยุโรปจ่ายเงินกว่า 190 ล้านยูโร (ประมาณ 6.9 พันล้านบาท) ต่อวันไปกับการซื้อก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย แต่เมื่อปลายสัปดาห์ก่อน สหภาพยุโรปกลับเสียเงินดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็น 610 ล้านยูโร (ประมาณ 2.2 หมื่นล้านบาท) ซ้ำร้าย ราคาพลังงานที่ยุโรปจะต้องเสียให้กับรัสเซียมีแนวโน้มที่จะพุ่งสูงมากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ ยุโรปยังต้องเสียเงินค่าน้ำมันให้กับรัสเซียกว่า 258 ล้านยูโร (ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท) ต่อวันด้วยเช่นกัน

อุปทานน้ำมันในตลาดโลกจะได้รับผลกระทบจากความผนผวนนี้ไปด้วย หลักฐานดังกล่าวปรากฏออกมาในรูปแบบของราคาน้ำมันดิบเบรนท์ในมาตรฐานสากลพุ่งสูงขึ้นไปอยู่ที่ราคา 139 เหรียญสหรัฐฯ และยังคงไม่สามารถคาดเดาได้ว่า ราคาน้ำมันโลกจะผันผวนไปอีกมากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างที่ประชาชนคนไทยต้องประสบกันอยู่

AFP - ยูเครน น้ำมัน ประท้วง

JPMorgan เปิดเผยว่า มีน้ำมันจากรัสเซียหายไปจากตลาดกว่า 4.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากการปฏิเสธการซื้อจากชาติตะวันตก ซ้ำร้ายกันกับอุปทานน้ำมันของตลาดโลกที่เพิ่มมากขึ้นตลอดช่วงก่อนการรุกรานยูเครนของรัสเซียเป็นเดิมทุน

สิ่งที่ยังไม่ได้เกิดขึ้นแต่กำลังจะเกิดขึ้นจริง คือการที่ตลาดโลกไม่สามารถสูญเสียน้ำมันจากรัสเซียแม้แต่บาร์เรลเดียว และเราอาจได้เห็นราคาน้ำมัน 300 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในอนาคต หากวิกฤตยูเครนยังคงยืดเยื้ออกไป จนทำให้ตลาดน้ำมันได้รับผลกระทบจากการคว่ำบาตรที่เพิ่มมากขึ้น

หากไม่มีมาตรการการคว่ำบาตรใดๆ ต่อนำมันและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย ราคาพลังงานอาจจะปรับตัวลดลงในอีกไม่กี่สัปดาห์หน้า แต่จากการคาดการณ์ของผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ราคาดังกล่าวก็จะไม่ได้ปรับตัวลดลงจากราคาพลังงานที่เป็นอยู่ในปัจจุบันมากนัก หากรัสเซียและยูเครนยังไม่สามารถยุติสงครามครั้งนี้เพื่อกลับเข้าสู่หนทางของสันติภาพได้


ที่มา:

https://asia.nikkei.com/Politics/Ukraine-war/Oil-soars-over-question-of-who-can-replace-Russia2

https://www.theguardian.com/business/2022/mar/07/west-impact-russia-sanctions-oil-gas

https://edition.cnn.com/2022/03/03/investing/russia-oil-sanctions-ukraine/index.html

https://www.ndtv.com/world-news/russia-ukraine-war-explained-what-would-be-the-impact-of-a-us-ban-on-russian-oil-imports-2809580

https://time.com/6151493/russia-oil-gas-embargo-sanctions-ukraine/