ไม่พบผลการค้นหา
สงครามในยูเครนที่ก่อโดยรัสเซียอาจห่างไกลในทางกายภาพกับไทย แต่ปฏิเสธได้ยากว่าไทยเองได้รับผลกระทบจากวิกฤตราคาพลังงานอยู่ไม่มากก็น้อย หลังรัสเซียรุกรานยูเครนจนถูกหลายชาติประกาศการคว่ำบาตรพลังงานและสินทรัพย์อื่นๆ ของรัสเซียตั้งแต่ช่วง ก.พ.ที่ผ่านมา

สหรัฐฯ พร้อมกันกับอีกหลายชาติประกาศคว่ำบาตรน้ำมันรัสเซียไปแล้วก่อนหน้านี้ ส่งผลให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกเกิดความปั่นป่วนมากยิ่งขึ้นไปอีก ในอีกทางหนึ่ง ชาติสมาชิกสหภาพยุโรปกำลังพิจารณาการลดการพึ่งพาน้ำมันจากรัสเซียในระยะยาว และกำลังหาทางลดการซื้อน้ำมันจากรัสเซียให้เหลือเป็นศูนย์ มาตรการดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่ออุปสงค์น้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวพุ่งสูงขึ้นไม่ช้าก็เร็วนี้อย่างแน่นอน

ราคาน้ำมันในไทยยังอยู่ในภาวะครึ่งผีครึ่งคน ในขณะที่รัสเซียยังคงถูกคว่ำบาตรพลังงานจากหลายชาติ และการคว่ำบาตรเหล่านี้จะยังคงเดินหน้าต่อไป ยังผลกระทบราคาพลังงานในตลาดโลก คำถามที่ไทยควรหันกลับมาสนใจคือ น้ำมันของรัสเซียไปอยู่ที่ไหนบ้าง และมันส่งผลต่ออุปทานน้ำมันโลกอย่างไร


สถานการณ์น้ำมันของรัสเซียหลังสงครามยูเครน

ถึงแม้หลายชาติจะประกาศคว่ำบาตรน้ำมันรัสเซียไปแล้ว และสหภาพยุโรปกำลังหาแนวทางการลดการพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย แต่รัสเซียเองยังคงมีผู้ซื้อน้ำมันจากตนอยู่อีกมาก ราคาน้ำมันโลกที่พุ่งสูงขึ้นจะทำให้รัสเซียยังคงรักษารายได้น้ำมันของตนไปได้บางส่วน ประกอบกับเงินทุนสำรองที่ยังคงมีอยู่ล้นหลาม โดยข้อกล่าวหาหลักของชาติที่สนับสนุนการคว่ำบาตรน้ำมันรัสเซีย คือ การซื้อพลังงานจากรัสเซียเป็นแหล่งเงินทุนของ วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซียในการทำสงครามที่ยูเครน

AFP - น้ำมัน ปูติน

ก่อนเกิดสงครามยูเครนเมื่อ 24 ก.พ.ที่ผ่านมา รัสเซียขายน้ำมันของตนเองกว่าครึ่งของการขุดเจาะและกลั่นในแต่ละวันที่ปริมาณ 7.85 ล้านบาร์เรลไปยังยุโรป แต่หลังจากที่ยุโรปกำลังเริ่มกระบวนการประกาศคว่ำบาตรน้ำมันรัสเซีย และลดการพึ่งพาในระยะยาว ส่งผลให้ราคาน้ำมันโลกปรับตัวพุ่งสูงขึ้นจากการปรับเปลี่ยนอุปสงค์น้ำมัน ราคาน้ำมันที่แพงขึ้นทำให้รัสเซียขายน้ำมันได้ราคาที่ดีขึ้นตามไปด้วย แต่ในระยะยาวของมาตรการลดการพึ่งพาน้ำมันรัสเซียของยุโรป รัสเซียกำลังมองหาลูกค้ารายใหม่ที่ไม่ใช่ยุโรป ตลาดของรัสเซียจึงหนีไม่พ้นเอเชีย

ประเทศส่วนใหญ่ในเอเชียยังคงเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่ยากต่อการประกาศคว่ำบาตรน้ำมันรัสเซีย เนื่องจากพลังงานเป็นส่วนหนึ่งของการหล่อเลี้ยงการผลิต และการขนส่งเพื่อพัฒนาระบบเศรษฐกิจในประเทศตน การขาดพลังงานอาจส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาล่มสลายลงได้อย่างง่ายดาย

จากรายงานของ Rystad Energy บริษัทวิจัยเอกชนเพื่อการให้คำแนะนำแก่นักลงทุนเปิดเผยว่า ถึงแม้ว่าจะมี “การลดการผลิตน้ำมันอย่างรุนแรง” ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปีนี้ แต่รายรับด้านภาษีของรัสเซีย "จะเพิ่มขึ้นอย่างมากถึง 1.8 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 6.2 ล้านล้านบาท) เนื่องจากราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น" การคาดการณ์ดังกล่าวพุ่งสูงขึ้นกว่า 45% เมื่อเทียบกับปี 2564

อย่างไรก็ดี The Washington Post รายงานจากการสำรวจเรือขนส่งน้ำมันรัสเซีย หลังสงครามยูเครนเกิดขึ้นว่า การขนส่งน้ำมันดิบของรัสเซียลดลงกว่า 20% ซึ่งคิดเป็นจำนวนเล็กน้อยจากความพยายามในการคว่ำบาตรของชาติตะวันตก Spire Global ระบุว่า เรือบรรทุกน้ำมันดิบที่ออกจากท่าเรือรัสเซียลดลงจากค่าเฉลี่ย 17 ครั้งต่อวันเป็น 13 ครั้งต่อวัน หลังจากการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 8 มี.ค.ที่ผ่านมาเท่านั้น


แล้วน้ำมันรัสเซียไปไหน?

ชาติหลักๆ ที่ประกาศคว่ำบาตรน้ำมันรัสเซียประกอบไปด้วยออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร แคนาดา และสหรัฐฯ รวมถึงบางประเทศในสมาชิก G7 ทั้งนี้ สหภาพยุโรปยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงการคว่ำบาตรน้ำมันรัสเซียได้ เนื่องจากยังคงมีประเทศสมาชิกที่ยังต่อต้านการคว่ำบาตรอย่างฮังการี อย่างไรก็ดี จากรายงานของ JP Morgan เปิดเผยว่า โรงกลั่นและบริษัทการค้ารายใหญ่ของยุโรปอย่างน้อย 26 แห่งได้ระงับการซื้อน้ำมันจากรัสเซียโดยสมัครใจ ซึ่งคิดเป็นจำนวนน้ำมันทั้งสิ้น 2.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน

น้ำมันจำนวนมากของรัสเซียยังคงถูกส่งไปขายกับอินเดียและจีน ประเทศกำลังพัฒนายักษ์ใหญ่ของเอเชีย ที่ไม่สนใจการคว่ำบาตรพลังงานรัสเซียเพื่อตอบโต้กับการรุกรานยูเครนที่ผิดกฎหมายระหว่างประเทศ การซื้อน้ำมันรัสเซียของอินเดียซึ่งครั้งหนึ่งเคยคิดเป็นปริมาณไม่ถึง 3% ของการบริโภคทั้งอินเดียได้เพิ่มสูงขึ้นมากขึ้นเรื่อยๆ โรงกลั่นของอินเดียนำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซียประมาณ 770,000 บาร์เรลต่อวันในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา เทียบกับค่าเฉลี่ยที่น้อยกว่า 50,000 บาร์เรลต่อวันในปี 2564

AFP - วลาดิเมียร์ ปูติน นเรนทรา โมดี สี จิ้นผิง

อินเดียเป็นอีกชาติหนึ่งที่งดออกเสียงการประณามรัสเซียจากการรุกรานยูเครน และอินเดียยังคงเดินหน้าซื้อน้ำมันจากรัสเซีย ยิ่งไปกว่านั้น รัสเซียยังตอบแทนอินเดียด้วยการคิดส่วนลดราคาน้ำมันให้กับทางอินเดีบกว่า 30 เหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 1,045 บาท) ต่อบาร์เรลอีกด้วย ตัวเลขการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียในรายวันของอินเดียเมื่อเดือน เม.ย. พุ่งขึ้นกว่าเดือน มี.ค.กว่า 20 เท่าตัว ทั้งนี้ อินเดียบริโภคน้ำมันในปี 2564 กว่าวันละ 4.76 ล้านบาร์เรล

ในอีกด้านหนึ่ง จีนเป็นลูกค้าน้ำมันรายใหญ่ที่สุดในเอเชียของรัสเซียอยู่แล้ว เพื่อใช้น้ำมันจากรัสเซียในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์และปิโตรเคมีที่กำลังเติบโตของตนเอง จากรายงานเปิดเผยว่า รัสเซียเป็นผู้ผลิตน้ำมันดิบรายใหญ่อันดับสองให้กับจีน โดยกรมศุลกากรจีนระบุว่า จีนมีการนำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซียกว่าวันละ 1.6 ล้านบาร์เรลในปี 2564 ถึงแม้ว่าปริมาณน้ำมันดิบจากรัสเซียที่ถูกส่งมายังจีนจะลดลงไป 4.6% ในปีก่อน แต่กลับคิดเป็นส่วนแบ่งการตลาดที่เพิ่มขึ้นเป็น 15.5% จากการนำเข้าน้ำมันดิบของจีนในปีก่อนหน้าที่ลดลง 5.1%

AFP - ปูติน น้ำมัน

อย่างไรก็ดี ตลาดน้ำมันในเอเชียของรัสเซียมีข้อจำกัดด้วยเช่นกัน เนื่องจากข้อจำกัดของท่อส่งน้ำมันที่มีอยู่ไม่มากในภูมิภาค รวมถึงเรือขนส่งน้ำมันดิบที่ต้องเดินทางไกลเพื่อขนส่งน้ำมันจากรัสเซียไปยังชาติในเอเชีย ท่อน้ำมันจากรัสเซียที่ส่งมายังอินเดียใช้เวลาหลักเดือน เทียบกับท่อที่ส่งไปยุโรปในหลักวัน จีนยังคงปิดประเทศตนเองจากการระบาดของโควิด-19 เมื่อเวลาผ่านไปนานมากกว่านี้ รัสเซียจะประสบกับปัญหาด้านภาระค่าใช้จ่ายที่พุ่งสูงขึ้น

ดาเรีย เมลนิก นักวิจัยอาวุโสของ Rystad Energy เผยว่า การผลิตน้ำมันดิบของรัสเซียในปี 2573 จะตกไปอยู่ที่ 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งจะอยู่ในจุดที่ต่ำกว่าก่อนการทำสงครามในยูเครน ผลลัพธ์ดังกล่าวส่งผลกระทบในภาคการผลิตน้ำมันของรัสเซียอย่างถาวร และไม่อาจฟื้นฟูขึ้นมาได้อีก รัสเซียจะได้ผลประโยชน์จากราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นในช่วงแรกของการคว่ำบาตร การปักหมุดลงทุนด้านพลังงานในเอเชียของรัสเซียจะใช้ระยะเวลาและโครงสร้างพื้นที่ที่มหาศาล รัสเซียกำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตพลังงานในเวลาไม่ใกล้ไม่ไกลนี้


ราคาน้ำมันโลกพุ่งไปแค่ไหน หลังรัสเซียเริ่มรุกยูเครน

ก่อนการรุกรานยูเครนโดยรัสเซียในวันที่ 24 ก.พ. ตัวชี้วัดราคาน้ำมันของ Brent Crude ระบุราคาน้ำมันอยู่ที่ 97 เหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 3,380 บาท) ต่อบาร์เรลในวันที่ 23 ก.พ. ราคาน้ำมันโลกที่สูงอยู่แล้วจากวิกฤตโควิด-19 ตลอดสองปีที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจโลกประสบกับอัตราเงินเฟ้อ กลับพุ่งสูงขึ้นกว่าเดิม 11% หลังจากรัสเซียเปิดฉากยิงถล่มและยกกองทัพรุกรานยูเครน ราคาน้ำมันโลกพุ่งสูงขึ้นไปแตะที่ 139 เหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 4,840 บาท) ต่อบาร์เรลในวันที่ 7 มี.ค. นับเป็นราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นที่สุดนับตั้งแต่ปี 2551 ซึ่งเป็นช่วงวิกฤตการเงินโลก

อย่างไรก็ดี ระหว่างวันที่ 9 ถึง 16 มี.ค. ราคาน้ำมันโลกเริ่มปรับตัวลดลงหลังจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ประกาศเพิ่มการผลิตน้ำมัน รวมถึงการที่สหรัฐฯ เข้าหารือกับอิหร่าน หลังจากความสัมพันธ์ที่ย่ำแย่กว่าหลายทศวรรษเพื่อให้เกิดการสนับสนุนราคาน้ำมันโลก โดยในวันที่ 15 มี.ค. ราคาน้ำมันโลกตามตัวชี้วัดของ Brent Crude ตกลงมาอยู่ต่ำกว่า 100 เหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 3,480 บาท) ต่อบาร์เรลอีกครั้ง ก่อนที่จะปรับตัวขึ้นอีกเล็กน้อยในอีก 3-4 วันให้หลัง

AFP - น้ำมัน

ปัจจุบันนี้ ราคาน้ำมันโลกขึ้นไปอยู่ที่ประมาณ 110 เหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 3,830 บาท) ต่อบาร์เรล ซึ่งคิดเป็นอัตราราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นมากกว่าสัปดาห์ก่อนประมาณ 15% อย่างไรก็ดี ยังคงเป็นเรื่องยากที่จะทำนายสถานการณ์ราคาน้ำมันโลกในอนาคต เนื่องจากสถานการณ์การรบพุ่งที่ยังไม่มีท่าทีจะหยุดลงในเวลาอันใกล้นี้ ถึงแม้จะมีรายงานจากองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) ที่ชี้ว่า การรบในพื้นที่ยูเครนตะวันออกอย่างดอนบาสโดยรัสเซียจะ “หยุดชะงัก” แต่ยังคงห่างไกลจากการที่จะพูดได้ว่าสงครามกำลังเข้าใกล้จุดสิ้นสุด เนื่องจากยังคงไม่มีวี่แววของการเจรจาสันติภาพที่อาจจะเกิดขึ้นระหว่างยูเครนกับรัสเซีย

ถึงแม้ว่ารัฐบาลในหลายประเทศจะประกาศมอบเงินอุดหนุนช่วยเหลือภาษีน้ำมันดีเซลและเบนซิล เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน มาตรการของรัฐบาลในหลายประเทศประเทศยังคงตอบรับกับปัญหาราคาพลังงานที่แพงขึ้นได้อยู่บ้าง แต่ประชาชนอาจจะต้องใช้น้ำมันในราคาที่แพงขึ้นไปอีกระยะใหญ่

ประเทศไทยกำลังเผชิญหน้ากับราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นเช่นเดียวกันกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก แต่ขัดกันกับรัฐบาลอื่นทั่วโลกที่รัฐบาลไทยกำลังลอยแพให้ประชาชนใช้น้ำมันในราคาที่พุ่งสูงขึ้น จากรายงานการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงเดือน ม.ค. 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยการนำเข้าน้ำมันดิบที่ 9.2 แสนบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นการนำเข้าจากรัสเซีย 1.2% ลดลงจากปี 2564 ที่การนำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซียคิดเป็น 3.3% ทำให้ในระยะยาว ไทยจะไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำมันรัสเซียโดยตรงเมื่อเปรียบเทียบกับชาติยุโรป เนื่องจากปริมาณการนำเข้าที่น้อยกว่ามาก

ดีเซล หลุด 24 บาท ถูกสุดรอบ 6 ปี

ตลาดการนำเข้าน้ำมันดิบของไทยหลักๆ ยังคงเป็นชาติตะวันออกกลางกว่าเกือบครึ่งของการนำเข้าน้ำมันทั้งหมด ซึ่งส่วนใหญ่นำเข้ามาจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดีอาระเบีย กาตาร์ คูเวต และบางประเทศในแถบตะวันออกกลาง อีกหนึ่งในสิบเป็นการนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนอย่างมาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม ในขณะที่ประมาณ 30% เป็นการนำเข้าน้ำมันจากสหรัฐฯ รัสเซีย และแองโกลา ซึ่งการนำเข้าน้ำมันของรัสเซียมายังไทยคิดเป็นเพียงแค่ตัวเลข 1.2% เท่านั้น


ตะวันออกกลางช่วยโลกและไทยจากวิกฤตสงครามยูเครนได้ไหม

ในการวิเคราะห์ตลาดน้ำมันโดยสถาบันอ็อกซ์ฟอร์ดเพื่อการศึกษาพลังงานเปิดเผยว่า รัสเซียเป็นผู้ผลิตน้ำมันดิบรายใหญ่เป็นอันดับสองของโลกในปริมาณ 14% ของผลผลิตทั้งหมดที่มีในปี 2564 ประมาณ 60% ของน้ำมันทั้งหมดที่ส่งออกมาจากรัสเซียถูกส่งไปยังยุโรป ในขณะที่ 35% ถูกส่งมายังเอเชีย จากการคาดการณ์ของสถาบันอ็อกซ์ฟอร์ดเพื่อการศึกษาพลังงานยังชี้อีกว่า ราคาน้ำมันโลกเฉลี่ยตลอดปีนี้อาจอยู่ที่ 116 เหรียญสหรัฐฯ (ประมาร 4,040 บาท) ต่อบาร์เรล

กลไกราคาน้ำมันโลกที่พุ่งสูงขึ้นกำลังเอื้อประโยชน์ให้กับรัสเซียในระยะนี้ ในขณะที่โลกและไทยต่างได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมตามการพึ่งพาน้ำมันของแต่ละชาติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กลไกราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นจะถูกกำหนดให้ลดลงได้ด้วยตัวแปรหลักอีกประการ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของตลาดน้ำมันโลกคือ น้ำมันดิบจากซาอุดีอาระเบีย

มกุฎราชกุมารซาอุดีอาระเบีย_รอยเตอร์

ซาอุดีอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นเพียงสองชาติผู้ผลิตน้ำมันดิบเจ้าใหญ่ของโลกเท่านั้น ที่จะช่วยเร่งการผลิตน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น เพื่อปรับอุปทานน้ำมันโลกให้เพิ่มสูงขึ้น จนราคาน้ำมันสามารถปรับตัวลดลงจากราคาราว 100 เหรียญสหรัฐฯ ในปัจจุบันได้ แต่ถึงอย่างไรก็ดี การเร่งการผลิตน้ำมันที่เพิ่มมากขึ้นของสองชาติตะวันออกกลางไม่ได้หมายความว่าน้ำมันจะถูกส่งโดยตรงเข้าไปยังยุโรปและส่วนอื่นๆ ของโลกได้มากขึ้นตามไปด้วย

ก่อนการรุกรานยูเครนของรัสเซีย สหรัฐฯ ได้ร้องขอให้ทั้งซาอุดีอาระเบียและสหรัฐฯอาหรับเอมิเรตส์เพิ่มการผลิตน้ำมันดิบในแต่ละวันขึ้นแต่แรกอยู่แล้ว เพื่อลดราคาน้ำมันโลกที่พุ่งสูงขึ้นจากอัตราเงินเฟ้อที่สืบเนื่องมาจากวิกฤตเศรษฐกิจ ภายใต้การระบาดของโควิด-19 โดยในการประชุมของ OPEC เมื่อ 2 มี.ค. สมาชิกทั้ง 23 ชาติตกลงที่จะผลิตน้ำมันเพิ่มวันละ 4 แสนบาร์เรลในเดือน เม.ย. อย่างไรก็ดี เอกสารการประชุมไม่มีการระบุถึงปัญหาสงครามยูเครนแต่อย่างใด ทั้งนี้ OPEC ยึดแนวนโยบายของการไม่ปรับเปลี่ยนปริมาณการผลิตน้ำมันของตนเองบนฐานของภูมิรัฐศาสตร์มาโดยตลอด

ฮาซาน อัลฮาซาน นักวิจัยด้านนโยบายตะวันออกกลางของสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการศึกษายุทธศาสตร์ในลอนดอนเปิดเผยว่า OPEC จะเปลี่ยนนโยบายการผลิตน้ำมันของตนต่อเมื่อ "พวกเขาจะปรับเพื่อตอบสนองกับการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยพื้นฐานทางตลาดเท่านั้น" อัลฮาซานระบุว่า แรงกดดันจากสหรัฐฯ ไปยัง OPEC อาจช่วยเร่งการตัดสินใจเพิ่มการผลิตน้ำมันได้ เนื่องจากความสัมพันธ์ที่มีมาอย่างยางนานระหว่างสหรัฐฯ กับพันธมิตรชาติตะวันออกกกลางแถบอ่าวเปอร์เซีย

REUTERS-เจ้าชายโมฮัมหมัด บิน ซัลมาน มกุฏราชกุมารแห่งราชวงศ์ซาอุด-เจ้าชายซาอุดีอาระเบีย-วลาดิเมียร์ ปูติน รัสเซีย-ประเทศค้าน้ำมัน.JPG

อย่างไรก็ดี ยังคงมีความซับซ้อนในความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ โดยเฉพาะรัฐบุคคลที่สามที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งในสงครามยูเครน เนื่องจากการที่ยุโรปยังคงไม่ประกาศคว่ำบาตรพลังงานจากรัสเซียอย่างสมบูรณ์ จะไม่ช่วยให้เกิดแรงจูงใจแก่ประเทศในตะวันออกกลางที่เป็นผู้ผลิตน้ำมันเจ้าใหญ่ของโลกว่าเพราะเหตุใด พวกเขาจึงยื่นหัวออกมาช่วยยุโรป

การเจรจาและการประคับประคองความสัมพันธ์ของสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปกับชาติตะวันออกกลางโดยเฉพาะซาอุดีอาระเบียยังไม่ได้รับประกันว่าจะส่งผลให้ชาติ OPEC เพิ่มการผลิตน้ำมันดิบของตนเอง เพื่อเพิ่มอุปทานในตลาดน้ำมันโลก อันจะส่งผลให้ราคาน้ำมันโลกปรับตัวลดลงได้

“แม้ว่าการเจรจาต่อรองของตะวันตกจะประสบความสำเร็จในการนำประเทศเหล่านี้เข้าร่วมด้วย แต่ความกังวลของพวกเขา (ชาติตะวันออกกลาง) ก็คือว่า สิ่งเหล่านี้อาจจะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวเท่านั้น” ซินเซีย เบียงโก ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิภาคอ่าวกล่าว

ประยุทธ์ ซาอุดีอาระเบีย 0-588A4A8E5D47.jpeg

สำหรับประเทศไทย เมื่อวันที่ 17 พ.ค. คณะรัฐมนตรีเพิ่งมีมติเห็นชอบขยายระยะเวลามาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลง 5 บาทต่อลิตร ที่จะสิ้นสุดลงในวันที่ 20 พ.ค.นี้ ไปอีก 2 เดือน (21 พ.ค.-20 ก.ค. 2565) โดยจะมีการพิจารณาต่อทุกๆ 2 เดือน ซึ่งคาดว่าจะเกิดผลกระทบต่อรายได้รัฐราว 2 หมื่นล้านบาท ในขณะที่น้ำมันเบนซินนั้น รัฐบาลจะพิจารณาช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มที่เดือดร้อนจริงๆ 

วิกฤตราคาน้ำมันโลกจะยังคงไม่คลี่คลายในระยะเวลาอันสั้น รัฐบาลในหลายประเทศยังคงเดินหน้าการลดภาษีหรือมอบเงินอุดหนุนประชาชน เพื่อตอบรับกับปัญหาราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น ท่ามกลางรัฐที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันจากตะวันออกกลาง ชาติผู้ผลิตน้ำมันอันดับต้นๆ ของโลกที่สามารถเร่งการผลิตน้ำมันของตน เพื่อตอบรับกับอุปสงค์ที่ปรับตัวสูงขึ้นจากการคว่ำบาตรน้ำมันรัสเซีย ไทยกำลังอยู่ตรงไหนในวิกฤตราคาน้ำมันโลก ประชาชนอาจมีคำตอบในใจจากผลงานการบริหารจัดการราคาพลังงานของรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แล้ว


ที่มา:

https://www.washingtonpost.com/climate-environment/2022/05/11/russia-oil-gas-china-india-ukraine/?fbclid=IwAR3bwDtgABpM9kCtdbnAgbmqKn9ocS2n5hNSZDCB717NibcYhNvnxE7zQ0M

https://www.weforum.org/agenda/2022/03/how-does-the-war-in-ukraine-affect-oil-prices/

https://www.reuters.com/business/energy/who-is-still-buying-russian-crude-oil-2022-03-21/

https://tradereport.moc.go.th/TradeThai.aspx

https://www.ndtv.com/business/5-key-oil-price-moves-since-start-of-ukraine-war-2832519

https://www.spglobal.com/commodityinsights/en/market-insights/latest-news/oil/030122-factbox-a-look-at-key-russia-china-crude-oil-ties-as-ukraine-crisis-rages

https://www.dw.com/en/could-saudi-arabia-help-reduce-dependency-on-russian-oil/a-61042100?fbclid=IwAR1QAdUwMcrwkg_g57mTtDszhuaFuUcEgDw0T18qH1FHztQmsdud9yCdIYo