ไม่พบผลการค้นหา
ใจดีไปไหม ‘สุรเชษฐ์’ กังขา รัฐบาลยอมให้เบี้ยวชำระหนี้ 10,671 ล้าน พร้อมชวนจับตาขยายเวลาครั้งที่ 3 ส่อยัดไส้แก้ไขสัญญาโครงการรถไฟเร็วสูงเชื่อมต่อ 3 สนามบิน เอื้อประโยชน์ ‘ครั้งใหญ่’ ให้นายทุน

สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และรองเลขาธิการพรรคก้าวไกล แสดงความต่อกรณีที่เอกชนผู้ชนะการประมูล ไม่ยอมจ่ายเงินค่าสิทธิ์ร่วมลงทุนในแอร์พอร์ตเรลลิงก์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการรถไฟฟ้าเชื่อมต่อ 3 สนามบิน โดยมีกำหนดชำระวันที่ 24 ตุลาคม 2564 เป็นจำนวน 10,671 ล้านบาท แต่มีแนวโน้มว่าจะมีการยินยอมให้มีการขยายเวลาออกไปอีกเป็น ครั้งที่ 3

สุรเชษฐ์ ระบุว่า เป็นไปตามคาด เนื่องจากโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ‘เกิดมาเพื่อเอื้อประโยชน์ให้นายทุน’ ซึ่งความจริงแล้ว ควรมีการทำโครงการรถไฟทางคู่ 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมงและระบบขนส่งสาธารณะในเมืองให้ดีก่อน เพื่อให้มีฐานผู้ใช้มากพอแล้วจึงค่อยทำรถไฟความเร็วสูง 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่เพียงเพื่อให้โครงการคุ้มกระเป๋านายทุนที่สนิทสนมกับรัฐบาล รัฐบาลจึงต้องควักเงินภาษีของประชาชนในอนาคตไปอุดหนุนกว่า 149,650 ล้านบาท พร้อมยก ‘ที่ดินมักกะสัน’ มูลค่ามหาศาลไปประเคนเป็นของแถม ในราคาประเมินที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็นอยู่มาก อีกทั้งไม่ยอมให้ฝ่ายค้านตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเข้าไปตรวจสอบความโปร่งใส 

ล่าสุด มีข่าววงในหลุดออกมาเป็น Breaking News ว่า วันที่ 24 เมษายน 2565 ที่เป็นวันหมดอายุครั้งที่ 2 ของ MOU (Memorandum of Understanding) ในการเลี่ยงการพิจารณาโทษ หรือการจ่ายค่าปรับตามสัญญา จากการที่เอกชน ‘เบี้ยว’ ไม่จ่ายเงินค่าสิทธิ์ร่วมลงทุนในแอร์พอร์ตเรลลิงก์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ โดยมีกำหนดชำระตั้งแต่ 24 ตุลาคม 2564 เป็นจำนวน 10,671 ล้านบาท

โครงการนี้เซ็นสัญญาตั้งแต่ 24 ตุลาคม 2562 โดยให้เวลาเตรียมความพร้อมมากถึง 2 ปี ก่อนที่เอกชนจะต้องชำระเงินงวดแรกเพื่อเป็นค่าสิทธิ์ฯ แต่พอมาถึงวันนัดชำระในวันที่ 24 ตุลาคม 2564 เอกชนกลับเบี้ยว แล้วรัฐบาลก็ใจดียอมให้เบี้ยว (อ้างโน่นนี่นั่น แต่ก็คือเบี้ยว!) โดยทำ MOU ขึ้นมาเพื่อเลี่ยง ซื้อเวลาไป 3 เดือน พอครบ 3 เดือน ก็ขยายให้อีก 3 เดือน (รวมเป็น 6 เดือนแล้ว) แต่ก็ดูทีท่ายังไม่พร้อม จนมีข่าวหลุดออกมา ซึ่งตนเช็คแล้วว่าจริง จะมีการขยายไปอีก 3 เดือน รวมเป็น 9 เดือนอย่างแน่นอน

สุรเชษฐ์ ชี้ว่า หากวิเคราะห์เชิงลึกถึงเหตุผลที่แท้จริง เชื่อได้ว่าการขยายออกไปเป็นครั้งที่ 3 หรือเป็นเวลา 9 เดือน ก็อาจไม่เพียงพอ เพราะมีความพยายามจะแก้ไขสัญญา ‘ครั้งใหญ่’ ที่ทำให้เรื่องค่าสิทธิ์ (เหตุผลหลักในการขอทำ MOU) กลายเป็นประเด็นรอง เพราะประเด็นหลักกลายเป็นอยู่ที่ค่างานที่เพิ่มขึ้นจาก ‘ความทับซ้อน’ กับโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ที่วิ่งขนานแย่ง Demands กันไป แถมยังมีประเด็นความผิดพลาดในเรื่องของ ‘ลำรางสาธารณะและบึงเสือดำ’ ที่แทรกเข้ามา

“สิ่งที่ต้องจับตาคือ ‘การแก้ไขสัญญา’ ซึ่งมีแน่ แต่อาจไม่ใช่แค่เรื่องของการเยียวยาจากสถานการณ์โควิด ตามที่ได้ขอมาในการทำ MOU เพียงอย่างเดียว เรื่องค่างานส่วนทับซ้อนอาจพ่วงเข้ามากว่า 9,207 ล้านบาท (มติ กพอ. 4 สิงหาคม 2564) ซึ่งอาจส่อไปในทางเอื้อประโยชน์ให้นายทุนจากการที่รัฐต้องควักเงินจ่ายให้เอกชนเร็วขึ้น เพื่อให้เอกชนกู้เงินจากภายนอกลดลง เป็นการประหยัดค่าดอกเบี้ยให้กับเอกชน ตามสัญญาที่ได้เซ็นไปเมื่อ 24 ตุลาคม 2562 รัฐต้องควักเงินจ่ายให้เอกชนในปีที่ 6-15 ปีละ 14,965 ล้านบาท แต่ปัจจุบันกำลังอาศัย MOU มาเจรจาใหม่ อาจทำให้รัฐต้องควักเงินจ่ายให้เอกชนเร็วขึ้น เป็นปีที่ 2-8 ปีละ 18,922 ล้านบาท ซึ่งแม้ยอดรวมจะลดลง แต่เป็นการประหยัดค่าดอกเบี้ยให้กับเอกชน”

สุรเชษฐ์ ย้ำว่า คงต้องจับตาดูโครงการนี้ต่อไป เพราะประสบการณ์สอนว่า “เมื่อโครงการที่ไม่ควรเกิดได้เกิดขึ้นแล้ว มักจะสร้างภาระเพิ่มเติมให้กับประชาชนมากกว่าที่ประเมินไว้ในอดีตอยู่เสมอ” ขอให้ทุกคนร่วมกันติดตามโครงการ “เชื่อมที่ดินให้ผู้มั่งมี ด้วยภาษีประชาชน” ต่อไปด้วยใจระทึก