ไม่พบผลการค้นหา
เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศสชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีของประเทศอีกสมัย หลังจากต้องท้าชิงเก้าอี้กับ มารีน เลอ แปน ผู้ท้าชิงฝ่ายขวาอีกครั้ง นับตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งก่อนเมื่อปี 2560 ทั้งนี้ มาครงได้คว้าชัยชนะเป็นสมัยที่สองด้วยคะแนนเสียงครั้งประวัติศาสตร์กว่า 18 ล้านเสียง ส่งผลให้ประธานาธิบดีฝรั่งเศสจะยังคงรักษาเก้าอี้ของตนต่อไปได้อีก 5 ปี

มาครงกลายเป็นผู้นำฝรั่งเศสคนแรกในรอบ 20 ปี ที่ชนะการเลือกตั้งอีกครั้งติดต่อกัน ด้วยคะแนนทิ้งห่างจาก เลอ แปน ผู้ท้าชิงหญิงฝ่ายขวาที่มีนโยบายต่อต้านผู้อพยพ และมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันกับ วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ด้วยคะแนนทิ้งห่างกันอยู่ที่ 58.6% ต่อ 41.4% โดยมาครงคว้าคะแนนเสียงจากประชาชนชาวฝรั่งเศสไปทั้งสิ้น 18,779,809 เสียง ในขณะที่ เลอ แปน ได้คะแนนเสียงทั้งสิ้น 13,297,728 เสียง

“ผมทราบดีว่าประชาชนชาวฝรั่งเศสจำนวนหนึ่งที่ลงคะแนนเลือกผมในวันนี้ ไม่ใช่ทุกคนที่ให้การสนับสนุนความคิดของผม แต่เป็นไปเพื่อการหยุดยั้งความคิดของพวกขวาตกขอบ” มาครงกล่าวในที่ปราศรัยหลังจากทราบผลคะแนนอย่างไม่เป็นทางการว่าตนชนะการเลือกตั้งในสมัยที่สอง ก่อนที่มาครงจะเรียกร้องขอให้ผู้ให้การสนับสนุนตน “ใจดีและให้ความเคารพ” แก่ผู้อื่น เนื่องจากประเทศเกิดภาวะ “ความหวาดระแวงอย่างมาก และการแบ่งขั้วอย่างมาก” ในหมู่ประชาชน

“ผมไม่ใช้ผู้ท้าชิงของค่ายใดค่ายหนึ่งอีกต่อไปแล้ว แต่ผมเป็นประธานาธิบดีของพวกเราทุกคน” มาครงกล่าว พร้อมกับเสียงเชียร์และประชาชนที่กำลังโบกธงชาติฝรั่งเศสและธงสหภาพยุโรปไปพร้อมๆ กัน ทั้งนี้ ประธานาธิบดีฝรั่งเศสระบุว่า ตนสัญญาว่าจะตอบรับ “อย่างมีประสิทธิภาพ” ต่อ "ความโกรธแค้นและความไม่เห็นด้วย" ของมวลชนฝ่ายขวาที่แพ้การเลือกตั้งในครั้งนี้

อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่ามาครงจะชนะขาดจากการเลือกตั้งในครั้งนี้ แต่คะแนนของเขากลับทิ้งห่าง เลอ แปน น้อยลงกว่าการเลือกตั้งเมื่อ 5 ปีก่อนที่ตนเคยมีคะแนนนำ เลอ แปน ถึง 66% ทั้งนี้ มีประชาชนที่ไม่เดินทางมาลงคะแนนเสียงกว่า 28% โดยประชาชนหลายฝ่ายไม่พอใจต่อนโยบายของมาครงที่ถูกมองว่าเขาเป็น “ประธานาธิบดีของคนรวย”

ในทางตรงกันข้าม เลอ แปน เองพยายามสุมวาทกรรมฝ่ายขวา ด้วยการโจมตีรัฐบาลของมาครงในการจัดการกับค่าครองชีพของฝรั่งเศสที่พุ่งสูงขึ้น ตลอดจนการเสนอนโยบายแบนการสวมผ้าคลุมศีรษะของหญิงมุสลิมในฝรั่งเศส อีกทั้งเธอยังเสนอการมอบสิทธิในเรื่องงาน ที่อยู่ ผลประโยชน์ และประกันสังคมแก่คนฝรั่งเศสก่อนกลุ่มคนอื่นในประเทศ เธอยังมีแนวคิดที่ต่อต้านการรวมตัวของฝรั่งเศสเข้ากับสหภาพยุโรปอีกด้วย

ตลอดช่วงการหาเสียง มาครงโจมตี เลอ แปน กลับมาโดยตลอดว่าเธอเป็นพวก “เหยียดเชื้อชาติ” และ “ก่อให้เกิดความแตกแยก” อย่างไรก็ดี เลอ แปน ได้สร้างประวัติศาสตร์ให้กับฝ่ายขวาฝรั่งเศส ด้วยการเพิ่มคะแนนฐานเสียงของฝ่ายขวาในประเทศมากขึ้นกว่าผู้สมัครท้าชิงคนใดๆ ที่เคยมีมา เธอระบุว่าคะแนนที่เลือกเธอเมื่อวานนี้ (24 เม.ย.) เป็น “ชัยชนะอันโชติช่วงในตัวของมันเอง” ก่อนกล่าวเสริมว่า “ความคิดที่เรานำเสนอกำลังจะไปสู่จุดสูงสุดใหม่”

มาครงยังได้นำเสนอนโยบายของตนเองในช่วงโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้ง โดยระบุว่าการเลือกตนเองคือ “การต่อสู้เพื่อยุโรป” เพื่อต่อต้าน เลอ แปน ที่ต่อต้านแนวคิดการรวมตัวกันกับสหภาพยุโรป ท่ามกลางสถานการณ์สงครามยูเครนที่ฝรั่งเศสภายใต้การนำของมาครงเข้าไปมีส่วนร่วมในฐานะตัวกลางการเจรจาระหว่างยูเครนกับรัสเซีย ในขณะที่ เลอ แปน เองมีแนวโน้มจะสนับสนุนรัสเซีย ทั้งนี้ พรรคของ เลอ แปน เองเคยกู้ยืมเงินจากรัสเซียในช่วงปี 2557 มาก่อน ส่งผลให้ชาวฝรั่งเศสจำนวนมากไม่ไว้ใจเธอในการเลือกให้เธอขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกของประเทศ

ทั้งนี้ มาครงระบุว่านโยบายแรกหลังจากการรักษาเก้าอี้ประธานาธิบดีฝรั่งเศสต่ออีกสมัยได้นั้น เขาจะออกชุดมาตรการที่จะช่วยลดแรงกดดันในเรื่องค่าครองชีพของคนฝรั่งเศสที่พุ่งสูงขึ้น ก่อนช่วงฤดุร้อนที่กำลังจะจบลง และรัฐบาลฝรั่งเศสจะยังคงจำกัดราคาก๊าซและน้ำมันต่อไป


ที่มา:

https://www.theguardian.com/world/2022/apr/24/emmanuel-macron-wins-french-presidential-election-say-projected-results?CMP=Share_iOSApp_Other&fbclid=IwAR222u545iQDMbTZu-OsA1A4dso07XuK5yVL3LAWI9RbgXieil28-DkRyUc

https://www.bbc.com/news/world-europe-61209058