อันวาร์กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ของชาติตะวันตก ได้ขอให้มาเลเซียประณามกลุ่มฮามาสในหลายครั้ง ระหว่างช่วงของการประชุม แต่รัฐบาลมาเลเซียของเขา “ไม่เห็นด้วย” กับทัศนคติดังกล่าวของชาติตะวันตก
“ผมบอกว่าตามนโยบายแล้ว เรามีความสัมพันธ์กับกลุ่มฮามาสมาแต่ก่อน และสิ่งนี้จะดำเนินต่อไป” อันวาร์กล่าวเมื่อวันจันทร์ (16 ต.ค.) ในการแถลงต่อรัฐสภามาเลเซีย “ด้วยเหตุนี้ เราจึงไม่เห็นด้วยกับทัศนคติกดดันของพวกเขา เนื่องจากกลุ่มฮามาสได้รับชัยชนะในฉนวนกาซาอย่างเสรีผ่านการเลือกตั้ง และชาวกาซาก็เลือกพวกเขาให้ขึ้นมาเป็นผู้นำ”
รัฐบาลต่างๆ ของชาติตะวันตกต่างประณามกลุ่มฮามาส และเรียกร้องให้ประเทศอื่นๆ ยืนหยัดเคียงข้างอิสราเอล หลังจากที่กลุ่มฮามาสก่อเหตุโจมตีอิสราเอลเมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมานี้ ซึ่งส่งผลให้มีจำนวนผู้เสียชีวิตมากที่สุดในรอบหลายทศวรรษ
เจ้าหน้าที่อิสราเอลระบุว่า ทางการอิสราเอลพบผู้เสียชีวิตมากกว่า 1,400 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพลเรือน หลังจากที่นักรบฮามาสได้เข้าโจมตี ในพื้นที่ทางตอนใต้ของอิสราเอลทางอากาศ ทางบก และทางทะเล เมื่อวันที่ 7 ต.ค. ในทางตรงกันข้าม ตามการระบุของเจ้าหน้าที่ปาเลสไตน์ การโจมตีฉนวนกาซาโดยอิสราเอลในเวลาต่อมา ได้คร่าชีวิตประชาชนปาเลสไตน์ไปแล้วอย่างน้อย 2,750 ราย และบาดเจ็บอีกเกือบ 10,000 ราย นอกจากนี้ ยังมีการคาดการณ์ว่ามีผู้คนอีก 1,000 คน ติดอยู่ใต้ซากปรักหักพังในฉนวนกาซา ที่ถูกกองทัพอิสราเอลล้อมเอาไว้
ทั้งนี้ มาเลเซีย ซึ่งประชากรประมาณ 60% นับถือศาสนาอิสลาม เป็นชาติแกนนำที่สนับสนุนสิทธิของชาวปาเลสไตน์ และไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิสราเอล โดยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว อันวาร์วิพากษ์วิจารณ์ประชาคมระหว่างประเทศว่ามีจุดยืนฝ่ายเดียว ต่อความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและฮามาส
“ประชาคมระหว่างประเทศยังคงดำเนินการฝ่ายเดียว เกี่ยวกับความโหดร้ายและการกดขี่ทุกรูปแบบต่อชาวปาเลสไตน์ การยึดที่ดินและทรัพย์สินของชาวปาเลสไตน์ ที่กระทำอย่างไม่ลดละโดยพวกไซออนิสต์ (กลุ่มยิวที่เข้ายึดดินแดนปาเลสไตน์)” อันวาร์ระบุบนแพลตฟอร์ม X “ผลจากความอยุติธรรมนี้ ทำให้ชีวิตผู้บริสุทธิ์หลายร้อยชีวิตถูกสังเวย มาเลเซียยังคงแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน กับการต่อสู้ของชาวปาเลสไตน์”
ความเห็นของนายกรัฐมนตรีมาเลเซียในครั้งนี้มีขึ้น ในขณะที่กระทรวงการต่างประเทศมาเลเซียภายใต้การนำของอันวาร์ ได้ออกแถลงการณ์ร้องขอ ให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) เรียกร้องให้มีการหยุดยิงในพื้นที่ที่เกิดความขัดแย้งดังกล่าว
“ไม่ควรมีการปฏิบัติที่ไม่สมส่วน และความหน้าซื่อใจคดอย่างโจ่งแจ้ง ในการจัดการกับระบอบการปกครองใดๆ ก็ตาม ที่มีการแบ่งแยกเชื้อชาติ และละเมิดสิทธิมนุษยชนและกฎหมายระหว่างประเทศอย่างโจ่งแจ้ง” กระทรวงการต่างประเทศมาเลเซียระบุ
เมื่อช่วงวันศุกร์ที่ผ่านมา (13 ต.ค.) มีชาวมุสลิมประมาณ 1,000 คน ออกมารวมตัวกันในกรุงกัวลาลัมเปอร์ เพื่อแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับชาวปาเลสไตน์ โดยกลุ่มผู้ชุมนุมต่างตะโกนกันว่า "ปลดปล่อยปาเลสไตน์" และ "บดขยี้ไซออนิสต์" ในขณะที่พวกเขาเผาหุ่นจำลองที่ประดับด้วยธงชาติอิสราเอล
ในอดีต ผู้นำฮามาสเคยเดินทางมาเยือนมาเลเซีย และเข้าพบปะกับผู้นำของมาเลเซีย นอกจากนี้ เมื่อปี 2556 นาจิบ ราซัก อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ได้ท้าทายการปิดล้อมฉนวนกาซาของอิสราเอล และเดินทางข้ามเข้าไปในฉนวนกาซาตามคำเชิญจากกลุ่มฮามาส ซึ่งมีวงล้อมของกองทัพอิสราเอลปิดกั้น
ที่มา: