ไม่พบผลการค้นหา
'นายกฯ-รมว.คมนาคม' คุยนักลงทุนญี่ปุ่น โน้มน้าวลุยแลนด์บริดจ์ 'เศรษฐา' ชูจุดดี รับการขยายตัวบริโภคโลกเพิ่มทาง ขนส่งลดต้นทุน-เวลา 'สุริยะ' เปิดแผนสร้างโครงการ 4 ระยะ 2025 - 2045 ให้สัมปทานยาว 50ปี คืนทุนใน 24 ปี

วันที่ 18 ธ.ค. เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เป็นประธานการเปิดสัมมนางานภาพรวมของโครงการแลนด์บริด์จ และโอกาสทางธุรกิจ ซึ่งมีบริษัทชั้นนำของญี่ปุ่นเกือบ 30 บริษัทให้ความสนใจร่วมเข้ารับฟัง โดยมี ปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกฯ และรมว.ต่างประเทศ,สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม, นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมด้วย

นายกรัฐมนตรี กล่าวกับนักลงทุนชาวญี่ปุ่น ว่า ขอบคุณทุกคนที่เข้าร่วมงาน "Thailand Landbridge Roadshow" ในวันนี้ โครงการแลนด์บริดจ์เป็นโครงการที่รัฐบาลไทยได้ริเริ่มขึ้น จากโอกาสและศักยภาพของไทยที่จะเป็นศูนย์กลางการค้าและการขนส่งของภูมิภาค และในอนาคตอาจจะเป็นศูนย์กลางการค้าและการขนส่งอีกแห่งหนึ่งของโลก

นายกฯ ยังได้นำเสนอข้อมูลของโครงการว่า ทวีปเอเชียมีมูลค่าการส่งออกและนำเข้าสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 40% รองลงมาเป็นทวีปยุโรปที่มีมูลค่าการส่งออกและนำเข้าอยู่ที่ประมาณ 38% ซึ่งการค้าขายส่วนใหญ่จะอาศัยการขนส่งทางเรือเป็นหลัก เนื่องจากขนส่งได้ในปริมาณมากและประหยัดที่สุด และการเดินเรือสินค้าระหว่างเอเชียกับยุโรปนั้น ส่วนใหญ่จะใช้เส้นทางผ่านช่องแคบมะละกา ซึ่งช่องแคบมะละกาจัดได้ว่าเป็นเส้นทางการขนส่งสินค้าทางทะเลหลักในภูมิภาค โดยตู้สินค้าผ่านช่องแคบมะละกามีสัดส่วนร้อยละ 25 ของจำนวนตู้สินค้าที่ขนส่งทั่วโลก และการขนส่งน้ำมันผ่านช่องแคบมะละกามีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 60 ของการขนส่งน้ำมันทั่วโลก ซึ่งช่องแคบมะละกามีปริมาณการเดินเรือที่คับคั่ง และแออัดมากที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง ทำให้ปริมาณการขนถ่ายตู้สินค้า หรือตู้คอนเทนเนอร์ที่เกิดขึ้นในท่าเรือต่างๆ ที่อยู่บริเวณช่องแคบมะละกามีอยู่ประมาณ 70.4 ล้านตู้ต่อปี และจำนวนเรือที่เดินทางผ่านช่องแคบมะละกามีประมาณ 90,000 ลำต่อปี คาดการณ์ว่าในปี ค.ศ. 2030 ปริมาณเรือจะเกินกว่าความจุของช่องแคบมะละกา และจะประสบปัญหาตู้สินค้าจำเป็นต้องรอที่ท่าเรือ เพื่อรอเรือเข้ามาทำการขนถ่ายตู้สินค้า ทำให้เกิดค่าเสียโอกาส และการเพิ่มขึ้นของต้นทุนจากความล่าช้า

นายกฯ กล่าวอีกว่า ไทยได้เห็นโอกาสในการพัฒนาเส้นทางที่ช่วยบรรเทาผลกระทบ โดยใช้ทำเลที่ตั้งที่เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในใจกลางคาบสมุทรอินโดจีน ที่สามารถพัฒนาให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย ไทยจึงเชื่อว่าโครงการแลนด์บริด์จเป็นเส้นทางเลือกที่สำคัญ ที่จะรองรับการขนส่งสินค้าที่เพิ่มขึ้น โดยมีความได้เปรียบของเส้นทางที่ประหยัดกว่า เร็วกว่า และปลอดภัยกว่า เมื่อเปรียบเทียบต้นทุนและระยะเวลาสำหรับการขนส่งตู้สินค้าผ่านแลนด์บริดจ์ กับผ่านช่องแคบมะละกาแล้วนั้น พบว่า กลุ่มเป้าหมายหลักของเรือขนส่งตู้สินค้าที่จะเข้ามาใช้แลนด์บริดจ์ ได้แก่ เรือขนส่งตู้สินค้าขนาดกลาง( Feeder)ที่ขนส่งตู้สินค้าระหว่างประเทศในมหาสมุทรแปซิฟิกกับมหาสมุทรอินเดีย

ทั้งนี้ ในปัจจุบันการขนส่งตู้สินค้าจากประเทศผู้ผลิตในกลุ่มเอเชียตะวันออก อาทิ ญี่ปุ่น จีน และเกาหลีใต้ ไปยังประเทศผู้บริโภคในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียกลาง และตะวันออกกลาง ตู้สินค้าส่วนใหญ่จะถูกขนส่งมาโดยเรือขนาดใหญ่( Mainline )แล้วมาเปลี่ยนถ่ายตู้สินค้าลงเรือ (Feeder )ที่ท่าเรือในช่องแคบมะละกา เพื่อขนส่งไปยังประเทศผู้บริโภค ซึ่งในอนาคตเมื่อมีโครงการแลนด์บริดจ์ ตู้สินค้าเหล่านั้นจะเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งจากประเทศผู้ผลิตโดยใช้เรือ Feeder แล้วมาเปลี่ยนถ่ายตู้สินค้าลงเรือ Feeder อีกลำที่ แลนด์บริดจ์ ซึ่งจะสามารถประหยัดต้นทุนขนส่งได้อย่างน้อย 4% และประหยัดเวลาได้ 5 วัน

46357_0.jpg

นายกฯ กล่าวต่อว่า สำหรับสินค้าซึ่งผลิตจากประเทศผู้ผลิตในแถบทะเลจีนใต้ เช่น จีนด้านตะวันออก ไต้หวัน เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มายังประเทศผู้บริโภคในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียกลาง และตะวันออกกลาง ส่วนใหญ่จะใช้การขนส่งโดยเรือ Feeder แล้วมาถ่ายลำที่ท่าเรือในช่องแคบมะละกา ไปลงเรือ Feeder อีกลำ เพื่อขนส่งตู้สินค้าไปยังประเทศผู้บริโภค ซึ่งเมื่อมีโครงการแลนด์บริดจ์ ตู้สินค้าเหล่านั้นจะมาถ่ายลำที่แลนด์บริดจ์ ซึ่งจะสามารถประหยัดต้นทุนขนส่งได้อย่างน้อย 4% และประหยัดเวลาได้ 3 วัน

นายกฯ กล่าวอีกว่า ในกลุ่มสินค้าอีกกลุ่มหนึ่ง ที่ผลิตขึ้นในประเทศไทย ลาว กัมพูชา เมียนมา และประเทศจีนตอนใต้ สามารถขนถ่ายตู้สินค้าผ่านโครงข่ายคมนาคมทางบกของไทย ไปออกที่ แลนด์บริดจ์ ด้วยเรือ Feeder ไปยังประเทศผู้บริโภคต่าง ๆ เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ประเทศในเอเชียกลาง และประเทศในตะวันออกกลาง โดยโครงการแลนด์บริดจ์ จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายจากเดิมได้มากถึง 35% และประหยัดเวลาได้มากถึง 14 วันดังนั้น เฉลี่ยแล้วการขนส่งตู้สินค้าในทุกเส้นทางดังกล่าว ผ่านแลนด์บริดจ์ จะช่วยลดระยะเวลาการเดินทางได้ 4 วัน และลดต้นทุนได้ 15% ซึ่งจากการคาดการณ์ปริมาณตู้สินค้าทั้งหมดที่จะผ่านท่าเรือฝั่งตะวันตกของโครงการแลนด์บริดจ์ จะอยู่ที่ประมาณ 19.4 ล้านตู้ และผ่านท่าเรือฝั่งตะวันออกจะอยู่ที่ประมาณ 13.8 ล้านตู้ หากเทียบเป็นสัดส่วนกับจำนวนตู้สินค้าทั้งหมดที่ผ่านท่าเรือต่าง ๆ ในช่องแคบมะละกา จะคิดเป็นสัดส่วนเพียง 23%

46358_0.jpg

นายกฯ กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ตัวเลขดังกล่าวเป็นการประมาณการแบบขั้นต่ำ และพิจารณา การเชื่อมโยงสินค้าที่เกิดจากเรือ Feeder มาต่อเรือ Feeder เท่านั้น ยังไม่รวมโอกาสที่เรือขนาดใหญ่ หรือ Mainline จะเข้ามาเทียบท่าในโครงการแลนด์บริดจ์ในอนาคต ทั้งนี้ ในส่วนของการขนส่งน้ำมันดิบจากภูมิภาคตะวันออกกลาง พบว่าในปัจจุบันมีการขนส่งน้ำมันดิบอยู่ที่ประมาณ 19 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยที่ 56% หรือประมาณ 10.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน จะขนส่งผ่านช่องแคบมะละกา ซึ่งหากใช้ แลนด์บริดจ์เป็นจุดกระจายน้ำมันดิบในภูมิภาค จะประหยัดต้นทุนขนส่งได้อย่างน้อย 6% อีกทั้งในการลงทุนโครงการดังกล่าว นักลงทุนจะได้รับผลประโยชน์จากการพัฒนาโครงการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจในภาคบริการ ธุรกิจภาคการขนส่งและโลจิสติกส์ ธุรกิจการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคการเงินและการธนาคาร โดยผลประโยชน์จะเกิดขึ้นกับธุรกิจในภาคเกษตรกรรม และธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะอุตสาหกรรมในกลุ่ม New S-curves ที่จะได้สิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามโครงการแลนด์บริดจ์ จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยได้ในภาพรวม โดยคาดว่าจะเกิดการสร้างงานในพื้นที่จำนวนไม่น้อยกว่า 280,000 อัตรา และคาดว่า GDP ของประเทศไทยจะเติบโตถึง 5.5% ต่อปี หรือประมาณ 6.7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อมีการพัฒนาโครงการอย่างเต็มรูปแบบ

46375_0.jpg

"ผมเชื่อมั่น และเชิญชวนให้ญี่ปุ่นร่วมลงทุนในโอกาสครั้งสำคัญที่ไม่เคยมีมาก่อนในการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ระดับภูมิภาค ทั้งในเชิงพาณิชย์ และเชิงยุทธศาสตร์ที่เชื่อมโยงมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย เพื่อความเติบโตในเศรษฐกิจร่วมกัน" นายกฯ กล่าว

ด้าน สุริยะ กล่าวถึง 2 เหตุผลสำคัญ 1. ข้อได้เปรียบของที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของ Landbridge ประเทศไทยตั้งอยู่ใจกลางภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และโครงข่ายคมนาคมในไทยได้รับการพัฒนาเชื่อมโยงกับเครือข่ายการขนส่งของประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ทำให้ประเทศไทยเป็นประตูสำหรับการนำเข้าและส่งออกของประเทศต่างๆ ในภูมิภาค 2. โครงการแลนด์บริดจ์ เป็นการแก้ปัญหาความแออัดในช่องแคบมะละกา ซึ่งมีสาเหตุมาจากจำนวนเรือบรรทุกตู้สินค้าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี และเนื่องจากข้อจำกัดด้านความจุของช่องแคบ เรือจึงต้องเข้าคิวเป็นเวลานานก่อนที่จะสามารถผ่านช่องแคบ และเดินทางต่อไปยังจุดหมายปลายทาง ดังนั้น โครงการแลนด์บริดจ์ จะช่วยลดระยะทาง ลดเวลา และลดต้นทุนการขนส่ง 

สุริยะ กล่าวต่อถึงแผนการดำเนินโครงการ ได้มีการวางแผนการพัฒนาทั้งโครงการเป็น 4 ระยะ เริ่มตั้งแต่ปีค.ศ. 2025 ถึง ค.ศ.2040 รูปแบบการหาผู้มาลงทุนและดำเนินการจะเป็นการประมูลแบบนานาชาติ(International Biding) โดยมีระยะเวลาสัมปทาน 50 ปี เป็นสัญญาเดียว ส่วนกลุ่มนักลงทุนที่มาดำเนินการโครงการ ต้องเป็นกลุ่มนักลงทุนที่มีศักยภาพ ประกอบด้วย สายการเดินเรือ ผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ ผู้ประกอบการและบริหารท่าเรือ ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และนักลงทุนภาคอุตสาหกรรม โดยไทยจะออกกฏหมายใหม่ เพื่อพัฒนาโครงการและพื้นที่โดยรอบโดยเฉพาะ การอำนวยความสะดวกการจูงใจให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนและจากการศึกษาความคุ้มค่าการลงทุนโครงการดังกล่าวผู้ลงทุนจะคืนทุนใน 24 ปี โดยคิดจากรายได้ของการขนส่งสินค้าผ่านท่าเรือเท่านั้น ยังไม่รวมผลตอบแทนผลตอบแทนที่จะมาจากด้านอื่นๆไม่ว่าจะเป็นนิคมอุตสาหกรรมการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงธุรกิจอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้นักลงทุนญี่ปุ่นหลายรายคุ้นเคยในประเทศไทยโครงการนี้จะทำให้น่าลงทุนยิ่งขึ้น และการลดโชว์ในครั้งนี้ เพื่อนำเสนอศักยภาพของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางขนส่งตู้สินค้าทางทะเลของภูมิภาค และอาจเป็นศูนย์กลางแห่งหนึ่งของโลก