“ในวันนี้ ผมประกาศให้สหรัฐฯ เล็งเป้าหมายไปที่เส้นเลือดหัวใจของเศรษฐกิจรัสเซีย” ไบเดนระบุจากทำเนียบขาว “เราทำการแบนการนำเข้าน้ำมันและก๊าซและพลังงานจากรัสเซียทั้งหมด มันหมายความว่าจะไม่มีการรับน้ำมันจากรัสเซียในทุกท่าเรือของสหรัฐฯ และชาวสหรัฐฯ จะเข้าจัดการกับอาวุธสงครามของปูตินอีกครั้ง”
ไบเดนยังได้ย้ำว่า มาตรการการแบนน้ำมันจากรัสเซียในครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯ จากทั้งสองพรรค อย่างไรก็ดี จากข้อมูลของหน่วยงานบริหารข้อมูลด้านพลังงานสหรัฐฯ ระบุว่า มีการส่งออกน้ำมันดิบจากรัสเซียมายังสหรัฐฯ ในปีที่แล้วเพียงแค่ 3% ในขณะที่ผลิตภัณฑ์น้ำมันและปิโตรเลียมของรัสเซีย คิดเป็นเพียงแค่ 8% จากการน้ำเข้าน้ำมันของสหรัฐฯ เท่านั้น
นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยอมรับว่า การแบนน้ำมันรัสเซียของตนในครั้งนี้อาจไม่มีพันธมิตรยุโรปเข้าร่วมด้วย เนื่องจากพลังงานจากรัสเซียที่ถูกส่งมายังยุโรปยังคงเป็น “แก่นสารสำคัญ” ของชีวิตประจำวันในยุโรป ตามที่ โอลาฟ โชลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนีระบุเอาไว้
“เรากำลังเดินหน้าไปสู่การแบนในครั้งนี้ ด้วยความเข้าใจว่าพันธมิตรยุโรปของเราและหุ้นส่วนต่างๆ อาจจะอยู่ในตำแหน่งแห่งที่ที่ไม่สามารถเข้าร่วมกับเราได้” ไบเดนระบุ ทั้งนี้ ไบเดนย้ำว่าสหรัฐฯ กำลังหารือถึงแนวทางในระยะยาวกับพันธมิตรยุโรป เพื่อลดการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียของสหภาพยุโรปในอนาคต
ก่อนหน้านี้ รัสเซียได้ออกมาขู่ยุโรปว่า หากยุโรปเดินหน้าการแบนน้ำมันรัสเซีย รัสเซียอาจพิจารณาตัดการส่งก๊าซผ่านท่อส่งก๊าซมายังยุโรป ทั้งนี้ สหภาพยุโรปนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียคิดเป็นหนึ่งในสามของการใช้งานทั้งหมดในภูมิภาค ในขณะที่สหรัฐฯ ไม่ได้พึ่งพาการนำเข้าก๊าซจากรัสเซียเลย
อย่างไรก็ดี แคโรลาย เบน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์สินค้าโภคภัณฑ์จาก Capital Economics ระบุว่า “ในแง่ของผลกระทบต่ออุปทานในตลาดจะไม่ได้เกิดขึ้นมาก (ในสหรัฐฯ)” แต่เบนชี้ว่าการแบนน้ำมันรัสเซียของสหรัฐฯ อาจส่งผลให้เกิดแรงกดดันในยุโรป โดยยุโรปจะยังคงไม่ประกาศแบนน้ำมันรัสเซียในทันทีทันใด แต่จะมีการพิจารณาในการลดการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
หลังจากการประกาศแบนน้ำมันรัสเซียของไบเดนในครั้งนี้ มาตรการดังกล่าวจะถูกเสนอเข้ารัฐสภาสหรัฐฯ เพื่อรอการโหวตลงคะแนนโดยสมาชิกสภาสหรัฐฯ อีกครั้ง ทั้งนี้ ท่าทีของสมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯ ทั้งจากพรรคเดโมแครตและรีพับลิกันสอดคล้องกันไปในทางเดียวกัน ที่จะโหวตเห็นด้วยกับการคว่ำบาตรการนำเข้าน้ำมันรัสเซีย อย่างไรก็ดี สหรัฐฯ กำลังพูดคุยกับซาอุดีอาระเบียและเวเนซูเอลาในการรื้อฟื้นความสัมพันธ์ เพื่อหาฐานพลังงานทดแทน
การประกาศคว่ำบาตรน้ำมันสหรัฐฯ ในครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากที่ โวโลดีเมอร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครนเรียกร้องให้ประชาคมโลกคว่ำบาตรการนำเข้าพลังงานจากรัสเซีย ซึ่งเป็นแหล่งเงินทุนใหญ่ของรัสเซียที่จะนำมาใช้เพื่อการรุกรานยูเครน โดยหลายฝ่ายมีความเชื่อว่า การประกาศคว่ำบาตรน้ำมันรัสเซียอาจกดดันให้รัสเซียต้องถอนตัวออกจากการรุกรานยูเครน ในขณะที่บางฝ่ายมองว่าการคว่ำบาตรจะไม่ได้ผล แต่จะยิ่งกลับทำให้รัสเซียยกระดับการใช้ความรุนแรงกับยูเครนยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ สหรัฐฯ และพันธมิตรเดินหน้าในการคว่ำบาตร วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย และคนในรอบวงอำนาจนำของรัสเซีย ตลอดจนสถาบันการเงินรัสเซีย รวมถึงความพยายามในการตัดรัสเซียออกจากระบบส่งข้อความสวิฟท์ในการโอนเงินข้ามชาติ ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างหนักต่อรัสเซียในด้านเศรษฐกิจ
ที่มา:
https://www.npr.org/2022/03/08/1085089048/biden-ban-imports-russia-oil