ไม่พบผลการค้นหา
มูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน และสภาคนพิการ ยื่นข้อเสนอต่อ สนช. ค้านร่างแก้ไข พ.ร.บ.ฉลากกินแบ่งรัฐบาล พร้อมลดอำนาจบอร์ดกองสลาก

นายธนากร คมกฤส เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน และ กลุ่มภาคีเครือข่าย เดินทางเข้ายื่นข้อเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. เพื่อคัดค้านร่างแก้ไข พ.ร.บ.สลากกินแบ่งรัฐบาล ที่กำลังเข้าสู่วาระการพิจารณาของ สนช. เกี่ยวกับการปรับปรุงบัญญัติอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการฉลากกินแบ่งรัฐบาล การเปลี่ยนสัดส่วนการจัดสรรรายได้ รวมทั้งการเพิ่มเติมบทกำหนดโทษสำหรับการขายฉลากกินแบ่งเกินราคา

นายธนากร เปิดเผยว่า ทางกลุ่มไม่ได้มีเจตนาคัดค้านการออกฉลากกินแบ่งรัฐบาลแบบใหม่ แต่ที่เป็นห่วง คือ กระบวนการออกฉลากกินแบ่งรัฐบาลแบบใหม่ ซึ่งจะต้องมีความรอบคอบคำนึงถึงผลได้ผลเสียรอบด้าน โดยเฉพาะการเพิ่มอำนาจให้บอร์ดกำหนดประเภทและรูปแบบฉลาก อาจเป็นการอำนวยความสะดวกในการใช้อำนาจ เพราะการเพิ่มอำนาจต้องควบคู่ไปกับการกลั่นกรองตรวจสอบที่มากขึ้น ซึ่งเห็นว่า การแก้ไข พ.ร.บ.ดังกล่าวไม่มีการถ่วงดุลอำนาจ รวมถึงไม่มีการรับฟังความคิดเห็น และ ไม่มีการศึกษาถึงผลกระทบ ฉะนั้นกองฉลากมีนโยบายที่จะออกรูปแบบฉลากใหม่ควรเสนอเป็นกฎหมายที่รองรับเฉพาะ ไม่ควรเพิ่มอำนาจให้บอร์ด เพื่อไปปลดล็อกให้สามารถออกฉลากได้ทุกประเภท 

อีกทั้งเรื่องของส่วนแบ่งรายได้จากการจำหน่ายฉลาก ซึ่งกำหนดให้ส่งเงินเข้ารัฐร้อยละ 23 และ ให้ค่าบริหารจัดการสูงถึงร้อยละ 17 ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงเกินไป เพราะเพิ่มขึ้นจาก พ.ร.บ. เดิมถึงร้อยละ 5 ซึ่งส่วนตัวมองว่า หากรัฐบาลควรนำส่วนต่างดังกล่าวไปเพิ่มส่วนแบ่งให้กับผู้ค้าจะเกิดประโยชน์มากกว่า และจะเป็นการช่วยแก้ปัญหาการขายฉลากเกินราคาหมดไป ฉะนั้นค่าบริการจัดการต้องลดลงเหลือแค่ร้อยละ 12 ตาม พ.ร.บ.เดิม ส่วนการเพิ่มโทษของผู้ที่ขายฉลากเกินราคานั้น ถือเป็นสิ่งที่ดี แต่รัฐบาลควรลงโทษพ่อค้าคนกลางที่นำฉลากไปขายเป็นทอดๆ มากกว่าลงโทษผู้ค้าปลายทาง เพราะจะเป็นการรังแกผู้ที่ยากลำบากได้

และเวลาเดียวกัน นายสมชาย ปัญญ์เอกวงศ์ ประธานฝ่ายส่งเสริมอาชีพและจ้างงานสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย ได้เข้ายื่นข้อเสนอแก่ สนช. 5 ข้อด้วยกัน คือ 

1.ปรับปรุงองค์ประกอบของคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลให้เกิดการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม ทั้งผู้พิการ ผู้สูงอายุ และ สตรี เพื่อให้การบริหารงานมีธรรมาภิบาล โปร่งใสตรวจสอบได้ 

2.การที่คณะกรรมการฉลากกินแบ่งรัฐบาลกำหนดประเภทและรูปแบบของสลากใหม่ ควรจัดให้มีการทำประชาพิจารณ์ทั่วประเทศ ไปจนถึงผลกระทบต่อสังคม

3.ให้ผู้พิการ ผู้สูงอายุ และ ผู้ด้อยโอกาส ที่เป็นผู้ค้าหรือตัวแทนจำหน่ายรายย่อยสามารถเข้าถึงสลากกินแบ่งรัฐบาลทุกรูปแบบ ทุกประเภท โดยไม่เลือกปฎิบัติ

4.ขอให้ยังคงมีกองทุนสลากกินแบ่งรัฐบาลเพื่อพัฒนาสังคมตามเดิม

5.ขอให้ตัดโทษจำคุกกรณีที่ผู้ค้าสลากรายย่อยขายฉลากเกินกว่าราคาที่กฎหมายกำหนด