ไม่พบผลการค้นหา
'ชลน่าน' กางแผนอภิปรายไม่ไว้วางใจ พรุ่งนี้ (26 เม.ย.) นัดประชุมฝ่ายค้านหาข้อสรุป ไม่ปฏิเสธคุย 'ธรรมนัส' ชวนกันล้ม 'ประยุทธ์' ย้ำผู้มีอำนาจยุบสภา ระวังทำการเมืองถึงทางตัน

วันที่ 25 เม.ย. 2565 ที่พรรคเพื่อไทย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และผู้นำพรรคร่วมฝ่ายค้าน สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงความพร้อมการเตรียมยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจของพรรคร่วมฝ่ายค้านว่า ได้มีการตั้งคณะทำงานจัดเตรียมข้อมูลในการอภิปราย โดยมี สุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน หรือวิปฝ่ายค้าน เป็นหัวหน้าคณะทำงาน วันพรุ่งนี้ (26 เมย.) จะมีการนัดหมายประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้านอีกครั้ง หลังจากนั้นจึงน่าจะมีข้อสรุปเรื่องเนื้อหาในการอภิปราย และตามมาสู่การระบุตัวผู้อภิปรายได้

จากนั้นจึงเข้าสู่การยื่นญัตติ เวลาที่เหมาะที่สุดคือหลังจากคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ กมธ. วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มีมติชัดเจนว่าจะส่งรายงานการพิจารณาในวันที่ 24 พ.ค. ต่อประธานรัฐสภา หมายความว่าร่าง พ.ร.ป.ทั้ง 2 ฉบับ น่าจะได้รับการบรรจุพิจารณาในที่ประชุมรัฐสภาหลังจากนั้นประมาณ 2-3 สัปดาห์ อย่างช้าคือช่วงกลางเดือน มิ.ย. ถือเป็นเงื่อนไขสำคัญในการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ

“ดูแล้วจังหวะเหมาะสมมาก เราต้องการให้ร่าง พ.ร.ป. 2 ฉบับนี้ ประกาศใช้ก่อนที่จะมีการลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ดังนั้นจังหวะคือหลังวันที่ 24 พ.ค. ก็สามารถยื่นอภิปรายฯ ได้แล้ว หลังจากการพิจารณาร่างงบประมาณ ปี 2566 เข้าสภาวันที่ 1-2 มิ.ย. ก็จะดูว่าผลของการลงมติเป็นอย่างไร เพราะก็มีผล หากรัฐสภาเอาจริงเอาจัง ไม่ต้องการให้รัฐบาลชุดนี้บริหารต่อ เขาไม่รับร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปีก็จบ รัฐบาลก็อยู่ไม่ได้แล้ว เรื่องการอภิปรายไม่ไว้วางใจก็ไม่ต้องพูดถึงแล้ว ดังนั้น หลังวันที่ 1-2 มิ.ย. เราก็จะยื่นอภิปรายฯ เป็นจังหวะพอเหมาะกับร่าง พ.ร.ป. ประเมินเร็วสุด 3 สัปดาห์ได้อภิปราย ช้าสุด 4-5 สัปดาห์”

สำหรับข้อกังวลที่ว่าอาจมีการยุบสภาก่อนจะเดินหน้าตามกรอบเวลาข้างต้นนั้นหรือไม่ นพ.ชลน่าน มองว่า ข้อนี้ยังตอบไม่ได้ ต้องขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจตัดสินใจยุบสภา หากรัฐบาลคิดสร้างทางตันทางการเมือง ประเทศจะวุ่นวายมาก หากยุบสภาแล้วเลือกตั้งไม่ได้ประเทศจะเกิดปัญหา ส่วนตนมั่นใจเพราะทราบมาว่า บุคคลภายในก็ไม่อยากให้เกิดเรื่องเช่นนั้น เพราะจะสร้างทางตัน สามารถล้มล้างการดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วไม่เกิน 8 ปี ของนายกรัฐมนตรีได้ด้วย แต่จะอยู่ยาวไปถึง 23 มี.ค. 2566 หรือไม่นั้น ซึ่งประจวบกับสภาผู้แทนราษฎรครบวาระ ส.ส.จะหมดอายุ จึงเกิดปัญหาหนัก เพราะรัฐบาลจะไม่มีสภา แม้มีวุฒิสภาทำหน้าที่แทน แต่ก็มีข้อจำกัด และจะสร้างความวุ่นวาย จึงขอบอกกับผู้มีอำนาจว่าไม่ควรคิดทำเช่นนั้น อย่างน้อยต้องเร่งรัดให้ ร่าง พ.ร.ป. ประกาศใช้ก่อน

ส่วนปัจจัยที่จะทำให้ ส.ส. ในสภา ไม่รับร่างงบประมาณ ปี 2566 จะเกิดจากการตัดสินใจ เพราะเห็นว่ารัฐบาลไปต่อไม่ได้ ซึ่งประกอบด้วย 2 ฐานะ คือ ลาออก ไม่ก็ยุบสภา แต่ ส.ส. ในสภา โดยเฉพาะในซีกรัฐบาลย่อมไม่ต้องการให้ยุบสภา ดังนั้น การตัดสินใจไม่รับร่างงบประมาณฯ ของ ส.ส. ย่อมมีสาเหตุชัดเจนเหนือการดำรงอยู่ในตำแหน่ง ส.ส. ของเขาแน่นอน ส่วนจะเป็นเหตุผลใดนั้น ต้องหารือต่อไปว่าเหตุนั้นคืออะไร 

“ในทางการเมืองเป็นไปได้หมด เพราะดูแล้วเป็นทางที่ง่ายที่สุด ในการเอานายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีออกจากตำแหน่ง แต่ก็หมายรวมถึงตัว ส.ส.เองด้วย กรณีที่จะมีการยุบสภา เลือกตั้งใหม่ คืนอำนาจให้ประชาขน มันอาจจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับประเทศก็ได้”

ขณะที่การประสานบุคคลหรือพรรคในการลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจนั้น ขณะนี้ยังไม่ได้ดำเนินการ แต่หากเห็นความจำเป็นว่าต้องมีการพูดคุยกันเพื่อบ้านเมือง ไม่ว่าจะเป็น ส.ส.ฝ่ายค้านหรือรัฐบาล ตนมองว่าเป็นวิธีการที่ไม่ได้เสียหายอะไร 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า มีความเป็นไปได้ที่จะติดต่อพูดคุยกับพรรคในขั้วของ ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พรรคเศรษฐกิจไทย เพื่อร่วมมือกันในศึกอภิปรายฯ หรือไม่นั้น นพ.ชลน่าน ไม่ได้ปฏิเสธ พร้อมบอกว่าในทางการเมืองต้องมีความพยามยามอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น ส.ส.ฝ่ายไหน เราอยากให้มาเห็นร่วมกับเราในข้อกล่าวหาที่ยื่นต่อคณะรัฐมนตรี อยากจะคุยกับ ส.ส. ทุกคนด้วยซ้ำไป แต่โดยมารยาททางการเมืองก็อาจจะทำอะไรโจ่งแจ้งไม่ได้ แต่ฝ่ายค้านจะไม่ปิดบังในเรื่องนี้