เว็บไซต์เอบีเอส ซีบีเอสรายงานว่านักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงในบางประเทศของอาเซียนแสดงความวิตกเรื่องท่าทีของจีนที่จะมีผลกระทบต่อเรื่องความร่วมมือในน่านน้ำในภูมิภาคและความเป็นอิสระของสมาชิกอาเซียน ทั้งนี้เนื่องจากเนื้อหาล่าสุดของร่างข้อตกลงกำหนดหลักปฏิบัติในทะเลจีนใต้ระหว่างอาเซียนและจีน ( Code of Conduct in South China Sea) ที่หลุดออกมาเป็นข่าวระบุชัดว่า จีนต้องการมีอิทธิพลกำหนดขอบเขตบางอย่างให้กับอาเซียนในเรื่องทางทหาร
หลักปฏิบัติในทะเลจีนใต้ดังกล่าวที่สมาชิกกลุ่มอาเซียนและจีนกำลังยกร่างกันอยู่นั้น มีเป้าหมายให้สมาชิกให้ความร่วมมือซึ่งกันและกัน ทั้งนี้เพื่อป้องกันและบริหารจัดการความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้นระหว่างอาเซียนกับจีนในเรื่องทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความตึงเครียดเรื่อยมา และจากรายงานข่าวที่ผ่านมาก็ปรากฎว่า จีนยังคงก่อสร้างสิ่งต่างๆบนเกาะใหญ่น้อยในทะเลจีนใต้ซึ่งเป็นพื้นที่พิพาทกันอยู่
สิ่งที่นักวิเคราะห์ให้ความสนใจอย่างยิ่ง คือเรื่องที่จีนระบุว่าให้ประเทศที่รับรองหลักปฏิบัติที่ว่านี้ซ้อมรบทางทะเลร่วมกับจีนเป็นประจำ แต่หากจะซ้อมรบกับประเทศนอกภูมิภาคก็จะต้องแจ้งให้สมาชิกทราบและต้องได้รับความยินยอมจึงจะทำได้
เจย์ บาตงบากาล ผู้อำนวยการสถาบันยูพีเพื่อกิจการนาวีและกฎหมายทางทะเลบอกกับเวบข่าวเอบีเอส ซีบีเอสว่า หากอาเซียนเดินหน้าทำข้อตกลงกับจีนโดยยึดตามเอกสารที่ต่อรองกันไว้นี้จะทำให้จีนมีอำนาจในอันที่จะวีโต้การร่วมฝึกซ้อมทางทะเลของประเทศในกลุ่มอาเซียนกับประเทศนอกภูมิภาคทันที ซึ่งจะรวมไปถึงสหรัฐฯด้วย เขาชี้ว่าในสภาพเช่นนี้จีนจะได้เปรียบ ฟิลิปปินส์รวมทั้งประเทศอื่นๆในอาเซียนไม่ควรจะรับข้อเสนอเช่นนี้เพราะจะกลายเป็นการวางข้อจำกัดให้กับตัวเองทั้งในเรื่องการพัฒนาศักยภาพทหารทางทะเล และแม้แต่ในการป้องกันตัวเอง
“พวกเขาควรจะมีทางเลือก เพราะหลักปฏิบัตินี้จะส่งผลกระทบต่อความเป็นพันธมิตรระหว่างฟิลิปปินส์กับสหรัฐฯ ระหว่างไทยกับสหรัฐฯ และระหว่างประเทศอื่นๆกับสหรัฐฯ..” เขากล่าว
สำหรับฟิลิปปินส์นั้น มีข้อตกลงสองฝ่ายซึ่งยอมให้สหรัฐฯส่งทหารไปประจำในประเทศได้ แต่โฆษกทำเนียบประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ให้ข่าวกับผู้สื่อข่าวในเรื่องนี้ว่า รัฐบาลฟิลิปปินส์ไม่ขัดข้องที่จะร่วมซ้อมรบกับอาเซียนเป็นประจำโดยไม่มีสหรัฐฯรวมอยู่ด้วย “สหรัฐฯอยู่ห่างออกไปเป็นหมื่นไมล์ ถ้าเจตนาของเราคือต้องการจะสร้างความสัมพันธ์ที่แนบแน่นทางทหารในระหว่างเพื่อนบ้านด้วยกัน นั่นก็ไม่รวมไปถึงสหรัฐฯ”
ในเรื่องเนื้อหาของร่างข้อตกลงนั้น ก่อนหน้านี้ เดอะดิพโพลแมทรายงานไว้ว่า มีส่วนที่กำหนดในเรื่องความร่วมมือที่ชาติต่างๆจะต้องมีให้กัน ทั้งสมาชิกอาเซียนและจีนต่างก็มีข้อเสนอที่แตกต่างและครอบคลุมหลายด้าน มีตั้งแต่เรื่องการปกป้องสิ่งแวดล้อม การทำวิจัย การสื่อสารและเดินเรือ ความร่วมมือปราบปรามการก่อเหตุร้าย อินโดนีเซียเสนอให้รวมเอาเรื่องการป้องกันปราบปรามการลักลอบจับสัตว์น้ำและปลา การลักลอบขนหรือค้ายาและกิจกรรมผิดกฎหมายอื่นๆ ส่วนกัมพูชาเสนอให้รวมเรื่องของการเชื่อมโยงทางทะเล
จีนนั้นมีข้อเสนอถึง 6 ด้าน มีเรื่องของความร่วมมือเพื่อสงวนรักษาทรัพยากร ด้านความมั่นคง การเดินเรือ การกู้ภัย สิ่งแวดล้อมและการวิจัย เศรษฐกิจทางทะเลรวมไปถึงการสำรวจปิโตรเลียมและนิเวศน์วิทยา จีนเสนอว่าชาติต่างๆจะต้องร่วมมือกันเฉพาะในกลุ่มที่รับรองหลักปฏิบัตินี้เท่านั้นและต้องไม่ทำกับประเทศนอกกลุ่ม ซึ่งขัดกันอย่างแรงกับมาเลเซียที่เสนอว่า หลักปฏิบัตินี้จะต้องไม่ไปจำกัดสิทธิของแต่ละประเทศในอันที่จะร่วมมือกับประเทศนอกกลุ่ม
ในเรื่องของการสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกัน อินโดนีเซียมีข้อเสนอให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงติดต่อสื่อสารกันเป็นประจำ ประเทศที่จะซ้อมรบสามารถแจ้งกับประเทศอื่นได้หากต้องการ ส่วนจีนเสนอให้ทั้งกลุ่มอาเซียนซ้อมรบกับจีนเป็นประจำ ให้กองกำลังของแต่ละประเทศติดต่อกัน การติดต่ออันนี้รวมไปถึงการที่จะส่งเรือไปเยือนประเทศอื่นได้ รวมทั้งให้มีการลาดตระเวนร่วม จีนเสนอให้กำหนดว่า หากจะมีกิจกรรมทางทหารที่สำคัญใดๆสมาชิกจะต้องแจ้งให้ประเทศอื่นทราบ และจะต้องไม่ซ้อมรบร่วมกับประเทศนอกกลุ่มเว้นเสียแต่ว่าเมื่อได้แจ้งกับสมาชิกในกลุ่มแล้วได้รับความยินยอม
อย่างไรก็ตาม หลักปฏิบัติที่ว่านี้ยังไม่ได้กำหนดว่าจะใช้กลไกใดในการคลี่คลายข้อพิพาท
ส่วนไทยนั้น รายงานข่าวไม่ได้ระบุว่ามีข้อเสนอในเรื่องต่างๆอย่างใดหรือไม่ ทางด้านสหรัฐฯซึ่งปกติมีการซ้อมรบทางทะเลร่วมกับหลายประเทศรวมทั้งไทยนั้นได้แสดงท่าทีล่าสุดในเชิงปรามจีนโดยบอกว่า เป็นเรื่องสำคัญที่ชาติที่อยู่ในข้อตกลงนี้จะต้องไม่กดดันชาติอื่น และหลักปฏิบัตินี้ควรจะต้องมีข้อกำหนดที่เปิดให้มีการรับฟังข้อวิตกกังวลของคนนอกกลุ่ม ทั้งนี้ตามรายงานของเวบไซต์ฟิลสตาร์