ไม่พบผลการค้นหา
‘ลิงซ์’ สัตว์สายพันธุ์เดียวกับแมวป่าที่กำลังเข้าข่าย ‘ใกล้สูญพันธุ์​ขั้น​วิกฤติ’ ซึ่งในประเทศแอลเบเนียมีตำนานบอกเล่าแบบปากต่อปากต่อกันมายาวนานว่า หากใครจ้องเข้าไปในดวงตาอันแหลมคมรูปทรงอัลมอนด์ของ ‘ลิงซ์บอลข่าน’ มันจะทำให้คนๆ นั้นสูญเสียการมองเห็นทันที

ทว่าดูเหมือนคติชนที่สืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคนกำลังจำต้องสูญหายไปตามกาลเวลา เนื่องจากปัจจุบันการพบเห็นลิงซ์บอลข่านกลับกลายเป็นเรื่องยากยิ่ง จนนักอนุรักษ์ต้องออกมายกธงแดงเตือนเกี่ยวกับอนาคตของพวกมัน

ตามการประมาณการณ์ของสหภาพนานาชาติว่าด้วยการอนุรักษ์ธรรมชาติ และทรัพยากรธรรมชาติ (International Union for Conservation of Nature and Natural Resource) ระบุว่า เหลือลิงซ์บอลข่านเพียงแค่ 40 ตัวเท่านั้นที่ยังเดินวนเวียนอยู่บนเทือกเขาของแอลเบเนีย และมาซิโดเนียประเทศเพื่อนบ้าน

ขณะเดียวกันเมื่อปี 2015 ที่ผ่านมา ได้มีการจัดประเภทลิงซ์บอลข่านให้อยู่กลุ่มเดียวกับสัตว์ใกล้สูญพันธุ์แล้ว

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปี 2006 เป็นต้นมา เกิดความคิดริเริ่มระดับภูมิภาคที่ต้องการช่วยกันคุ้มครองไม่ให้ลิงซ์บอลข่านสูญพันธุ์ โดยประเทศแอลเบเนีย โคโซโว มาซิโดเนีย และมอนเตเนโกร ต่างร่วมไม้ร่วมมือเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในการทำโครงการอนุรักษ์ เพื่อขยายขอบเขตการปกป้องรักษาชีวิตลิงซ์บอลข่าน พร้อมกับสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับปัญหาสัตว์ป่าหายาก โดยเฉพาะในหมู่เยาวชน 

นอกจากนั้น พวกเขาต้องต่อสู้กับการตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งถือเป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ แต่เปี่ยมด้วยสัญญาณแห่งความหวัง

000_15F337.jpg

การปรากฏตัวของลิงซ์บอลข่าน

“ภาพลิงซ์ตัวนี้ถ่ายเมื่อวันที่ 16 เมษายน เวลาตีสามห้าสิบนาที” อเล็กซานเดอร์ ทราจเซ (Aleksander Trajce) หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ ประเทศแอลเบเนีย กล่าวด้วยความตื่นเต้นระหว่างการตรวจสอบภาพถ่ายสิ่งมีชีวิตลักษณะเหมือนแมวยักษ์ หูชี้ปลายแหลม กำลังเดินอยู่ท่ามกลางหิมะในเวลากลางคืน

ทราจเซอธิบายที่มาของภาพถ่ายต่อว่า มันมาจากกล้องที่จัดสรรเฉพาะบนภูเขามูเนลล่า (Munella) ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือแอลเบเนีย

“เอกสารหลักฐานทั้งหมดแสดงให้เห็นการมีชีวิตอยู่ของลิงซ์บอลข่าน และทุกคนต่างหวังให้มันรอดชีวิต” ไดม์ เมโลวสกี้ (Dime Melovski) นักนิเวศวิทยาจากประเทศมาซิโดเนีย กล่าว


วิกฤติลิงซ์บอลข่านใกล้สูญพันธ์

ทางด้าน เอลวาน่า รามาจ (Elvana Ramaj) เจ้าหน้าที่ด้านสิ่งแวดล้อมของแอลเบเนียเผยว่า หลายปีที่ผ่านมา จำนวนลิงซ์บอลข่านลดลงมาก และถือเป็นจุดวิกฤติของการอนุรักษ์สัตว์ป่าหายาก

ทั้งๆ ที่ช่วง 1970s ในภูมิภาคมีลิงซ์บอลข่านอยู่ประมาณ 280 ตัว แต่ผลกระทบจากความวุ่นวายทางการเมือง การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ การรุกล้ำผืนป่า และการทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยล้วนส่งผลให้เกิดความเสียหาย

นอกจากประเทศแอลเบเนียจะได้รับความเดือดร้อนจากการตัดไม้ทำลายป่า ช่วงทศวรรษ 1990 แล้ว ความเลวร้ายยังทำลายพื้นที่อยู่อาศัย และพื้นที่ออกหาอาหารของลิงซ์ด้วย ดังนั้น การรุกล้ำจึงนับเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดการตาย

ในเดือนมีนาคม 2015 ลิงซ์บอลข่านแรกเกิดตัวหนึ่งถูกฆ่าตายด้วยน้ำมือของนักล่าสัตว์ในป่าภูเขามูเนลล่า ซึ่งก่อให้เกิดปฏิกิริยาต่อต้านรุนแรงไปทั่วประเทศ จนสหภาพนานาชาติว่าด้วยการอนุรักษ์ธรรมชาติฯ ต้องยกระดับการป้องกันไม่ให้ลิงซ์บอลข่านลดจำนวน หรือสูญพันธุ์

000_15F336.jpg

ลิงซ์เป็นสัญลักษณ์ประจำชาติ

ในสวนสัตว์ทางตอนเหนือของทะเลสาบชโคดรา (Shkodra) ลิงซ์บอลข่านตัวผู้ร้องโหนหวนเป็นหลักฐานแสดงให้เห็นการบาดเจ็บที่มนุษย์ทำกับสัตว์ โดยบริเวณขาซ้ายของมันเป็นแผลยาว เส้นเอ็นฉีกขาดจากการวางกับดัก และมันกำลังนอนปวกเปียกอยู่ข้างๆ กรง

“หากอยู่กลางป่ามันอาจตาย เพราะไม่สามารถหาอาหารเลี้ยงตัวเอง หรือทนต่อความหนาวเย็นได้” โซโคล โคต้า (Sokol Kota) ผู้ดูแลสัตว์อายุ 37 ปี กล่าว

นอกเหนือจากถูกเลี้ยงดูในกรงขังแล้ว ลิงซ์ยังอยู่บนเหรียญ 5 ของมาซิโดเนีย และถือเป็นสัญลักษณ์ประจำชาติ แต่อย่างที่หลายคนทราบแล้วว่า ปัจจุบันกลายเป็นเรื่องยากที่ใครจะเห็นลิงซ์บอลข่านเป็นๆ สักตัว

ธรรมชาติของลิงซ์มันมักรวมตัวกันออกล่าเฉพาะช่วงเวลาเย็น หรือกลางคืน เพื่อหาอาหารจำพวกกระรอก และกระต่าย ส่วนระหว่างวันพวกมันมักนอนหลับ หรือหลบซ่อนตัวในพื้นที่ปลอดภัยบริเวณอุทยานแห่งชาติมาฟโรโว (Mavrovo) ทางตะวันตกของประเทศมาซิโดเนีย และยอดเขามูเนลล่าขอแอลเบเนีย


เฝ้าดูความเป็นไปผ่านระบบติดตาม

ในกระบวนการคุ้มครองสัตว์ป่าจากการสูญพันธุ์ เจ้าหน้าที่อนุรักษ์จำเป็นต้องคอยเฝ้าสังเกตการณ์อยู่อย่างใกล้ชิด เพื่อทำความข้าใจทุกก้าวย่างการเคลื่อนไหว

ด้วยเหตุนี้ ส่งผลให้ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา นักวิจัยชาวแอลเบเนียต้องวางกับดักจับลิงซ์ในภูมิภาคมูเนลล่า เพื่อสวมปลอกคอที่มีระบบติดตามตัวให้กับพวกมัน โดยพวกเขาหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะสามารถเข้าไปแทรกแซง และช่วยชีวิตพวกมันได้หากจำเป็น

ทั้งนี้ เดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว ลิงซ์ตัวเมียชื่อ ‘มายา’ ที่ผ่านการติดแท็กแสดงผลลัพธ์น่าประทับใจ โดยนักวิทยาศาสตร์ชาวมาซิโดเนียสามารถยืนยันชัดว่า มายาจะให้กำเนิดลูกน้อยช่วงฤดูใบไม้ผลิหน้า