จริงๆ ก็มีส่วนเห็นด้วยอยู่ไม่น้อยนะในปาฐกถาความไม่ก้าวหน้าในสังคมไทยที่เพื่อนกล่าวในวงเหล้าและอัญเชิญมานำเสนอข้างต้นนี้ แต่ก็รู้สึกว่ามันอาจจะไม่ค่อยเป็นธรรมกับคอนเซ็ปต์ของ “พุทธศาสนา” เท่าไหร่ที่จะเอาความไม่ก้าวหน้าของสังคมไทยซึ่งมีเหตุปัจจัยอีก 500 อย่างมาโทษกรอบศีลธรรมแบบพุทธศาสนาอย่างเดียว ประกอบกับพอจะรู้มาบ้างว่าในบริบทอื่นในประเทศอื่นนั้นพุทธศาสนาก็เคยเป็น (และบางที่ก็ยังเป็นอยู่) พลังเพื่อความเปลี่ยนแปลงอันก้าวหน้าของสังคมได้ จริงๆ แล้วมันอาจจะไม่ได้ผิดที่พุทธศาสนานะ จริงๆ แล้วมันอาจจะผิดที่สังคมไทยทำอะไรก็ผิด (รึเปล่า?)
ประเด็นก็คือ พุทธศาสนาเมื่อแรกรุ่งเรืองในจักรวรรดิจีนช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 8 – 9 และต่อมาเรื่อยจนถึงยุคราชวงศ์สุดท้ายในศตวรรษที่ 17 – 20 ตอนต้นเนี่ยถูกมองว่าเป็นศาสนากบฏมากเลยนะคะ เป็นศาสนาที่มาคัดง้างกับหลักการอันไม่เท่าเทียมกันของคติความเชื่อท้องถิ่นดั้งเดิมของจีนคือ ลัทธิขงจื๊อและการบูชาบรรพชน ซึ่งสนับสนุนโครงสร้างของสังคมชนชั้นที่ตายตัว ไม่ส่งเสริมการเลื่อนชั้นทางสังคม และไม่เห็นคุณค่าของมนุษย์เพศหญิงนอกจากเอาไว้ผลิตทายาทเป็นมนุษย์เพศชายเท่านั้นเอง...
อะไรมันจะเลวร้ายขนาดน้านนนนน... เอาล่ะก่อนอื่นจะต้องอธิบายให้ฟังก่อนว่าข้อกล่าวหาที่มีต่อคติความเชื่อแบบขงจื๊อในย่อหน้าที่แล้วนั้นมันมีมูลความจริงอย่างไรร้ายแรงขนาดไหนจึงต้องว่ากันรุนแรงขนาดนี้ ลัทธิขงจื๊อถือกำเนิดขึ้นมาเมื่อประมาณ 500 ปีก่อนคริสตกาล (ประมาณร่วมสมัยกับพระพุทธเจ้านั่นแหละ) โดยปราชญ์ที่เรารู้จักกันในนามของ ขงจื๊อ (หรือสมัยนี้ชอบออกเสียงตามภาษาจีนแมนดารินว่า ขงจื่อ) มีคำสอนพื้นฐานคือสังคมมนุษย์นั้นประกอบสร้างขึ้นจากคู่ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์แบบต่างๆ โดยพื้นฐานแล้วมี 5 ประการคือ (1) ผู้ปกครอง – ผู้ถูกปกครอง (2) พ่อ – ลูก (3) พี่ชาย – น้องชาย (4) สามี – ภรรยา และ (5) เพื่อน – เพื่อน
หากทุกคนรู้จักปฏิบัติตนให้เหมาะสมตามสถานภาพและบทบาทในคู่ความสัมพันธ์ทั้งห้านี้ได้สังคมก็จะอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขไม่ต้องทะเลาะกัน ไม่ต้องรบราฆ่าฟัน หรือแย่งชิงอะไรกันให้มันวุ่นวาย ดังนั้นผู้ปกครองก็จะต้องเป็นปราชญ์ที่เชี่ยวชาญด้านการบริหารความสัมพันธ์เหล่านี้ให้อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข และจะเห็นได้ว่าคู่ความสัมพันธ์ส่วนใหญ่คือสามในห้าของคู่ความสัมพันธ์ที่สำคัญทั้งห้าประการนั้นเป็นความสัมพันธ์ภายในครอบครัว นี่ก็เพราะว่าขงจื๊อมองว่าครอบครัวเป็นหน่วยย่อยพื้นฐานที่ประกอบกันขึ้นมาเป็นสังคมขนาดใหญ่ และการปกครองรัฐอย่างผาสุกก็อาจใช้หลักการเดียวกับการปกครองครอบครัวให้ผาสุกได้ เพราะผู้ปกครองที่ดีย่อมปกครองประชาชนด้วยความรักความเมตตาและความเข้มงวดเหมือนพ่อปกครองลูกในครอบครัวที่มีความผาสุกและเจริญรุ่งเรืองนั่นเองด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้นคำสอนของขงจื๊อจึงผูกพันอยู่กับวัฒนธรรมการบูชาบรรพชนอย่างมีนัยสำคัญ การบูชาบรรพชนของจีนนั้นก็เป็นวัตรปฏิบัติที่สอดคล้องกับสภาพความเป็นสังคมเกษตรของจีนมาตั้งแต่แรกมีอารยธรรมบนลุ่มน้ำเหลืองเมื่อหลายพันปีก่อนโน้น คือความมีอารยะนั้นเริ่มจากการตัดสินใจจะพยายามอยู่กับแม่น้ำให้ได้ ไม่เร่ร่อนเลี้ยงสัตว์และลี้ภัยน้ำท่วมเหมือนพวกชนเผ่าที่อยู่ในกระโจมทั้งหลายอีก ความตั้งใจที่จะอยู่กับที่และทำการเกษตรนี้มาพร้อมกับเทคโนโลยีจำพวกแรกๆ ของมนุษยชาตินั่นคือเทคโนโลยีชลประทานนั่นเอง ได้แก่ การสร้างเขื่อน สร้างฝาย ป้องกันน้ำท่วม ขุดคลองชลประทานเพื่อเอาน้ำจากแม่น้ำไปใช้ดื่มกินและทำการเกษตรได้ครอบคลุมพื้นที่กว้างขวางขึ้น ฯลฯ
ทีนี้พออารยธรรมจีนเริ่มต้นขึ้นด้วยการเป็นสังคมเกษตร ก็หมายความว่าเป็นสังคมที่ต้องการแรงงานจำนวนมากชนิดที่คาดหวังว่ามนุษย์ทุกคนเกิดมาแล้วต้องแต่งงานและมีลูก (จะให้ดีควรมีลูกมากๆ ด้วยแต่ถ้ามีมากๆ ไม่ไหวอย่างน้อยก็ต้องให้มีลูกชายซักคน) พอมีลูกเกิดขึ้นมามากๆ แล้วก็เกิดปัญหาในการจัดการสินทรัพย์อีก จัดการไม่ดีเดี๋ยวก็จะสิ้นเนื้อประดาตัว หรือลูกหลานทะเลาะกันอยู่ไม่เป็นสุข ก็เลยมีหลักเกณฑ์อย่างชัดเจนว่าในเมื่อมนุษย์ทุกคนเกิดมาควรต้องแต่งงานมีลูกพ่อแม่ก็จะให้มรดกเฉพาะกับลูกหลานเพศชาย เพราะลูกหลานเพศหญิงเดี๋ยวก็ต้องแต่งงานออกเรือนไปอยู่บ้านสามีก็ไปใช้สินทรัพย์มรดกของครอบครัวสามีสิ
ส่วนมรดกที่ให้ลูกชายนั้นก็ห่วงกังวลกันอีกว่าเดี๋ยวมีลูกชายหลายคนเกิดทะเลาะกันขึ้นมาก็จะพากันแยกบ้านออกไปอยู่กันเองสินทรัพย์ของบรรพชนก็จะถูกแบ่งออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยแล้วก็จะกลายเป็นยากจนสิ้นไร้ไม้ตอกไปในที่สุด ก็เลยคิดระบบกงสีขึ้นมา คือทำครอบครัวให้เป็นเหมือนบริษัทแล้วก็ให้สินทรัพย์มรดกนั้นเป็นเสมือนหุ้นในบริษัท คือเอาสินทรัพย์ของครอบครัวทั้งหมดมากองรวมกันและใช้จ่ายลงทุนบริหารร่วมกันในลักษณะบริษัท ลูกหลานเพศชายทุกคนก็จะมีหุ้นอยู่ในบริษัทและได้ปันผลตามส่วนแบ่งและสถานะลำดับชั้นในครอบครัว โดยมี CEO หรือผู้บริหารที่มีอำนาจสูงสุดคือสมาชิกครอบครัวเพศชายที่มีอายุมากที่สุด และวัฒนธรรมบูชาบรรพชนนี้ก็มีขึ้นเพื่อช่วยรักษาโครงสร้างของครอบครัวขยายให้อยู่ยั้งยืนยงนั่นเอง ลูกหลานจะได้จำกันได้นับญาติกันถูกและมีความสามัคคีปรองดองเกรงใจกันไม่ถอนหุ้นแยกครัวออกไปง่ายๆ สิ้นทรัพย์ก้อนใหญ่ที่รวมกันไว้ในกงสีก็จะได้มีแต่เพิ่มพูนไม่ต้องมีการแตกแยกเป็นส่วนเล็กส่วนน้อย ครอบครัวขยายก็จะได้อยู่ด้วยกันอย่างร่มเย็นเป็นสุขให้มีคน 3-4 รุ่นอาศัยอยู่ใต้ชายคาเดียวกันตามอุดมคติครอบครัวแบบจีนยุคจารีต
แม้ว่าคำสอนของขงจื๊อจะมีมาตั้งแต่ประมาณ 500 ปีก่อนคริสตกาลแต่ว่าเพิ่งจะกลายมาเป็นโครงสร้างหลักในการปกครองจักรวรรดิจีนในสมัยราชวงศ์ฮั่น คือประมาณ 200 ปีก่อนคริสตกาลเท่านั้นทั้งนี้ก็เพราะว่าในยุคที่ขงจื๊อมีชีวิตอยู่และต่อมาอีกเกือบสามศตวรรษนั้นเป็นยุคที่ไม่มีความมั่นคงทางการเมือง มีการแตกแยกเป็นก๊กเป็นเหล่าเป็นนครรัฐต่างๆ รบพุ่งกันเกือบตลอดทั้งลุ่มน้ำเหลือง ก็เลยไม่ค่อยจะมีผู้นำทางการเมืองคนไหนเชื่อหลักการของขงจื๊อที่ค่อนข้างจะติดอยู่ในทุ่งลาเวนเดอร์เสียมาก ประมาณว่าถ้าผู้ปกครองมีคุณธรรมประชาชนก็จะมาสวามิภักดิ์เอง ไม่ต้องไปรบพุ่งกับใคร เกิดในยุครัฐศึกถ้าฟังอย่างงี้แล้วเชื่อก็คงจะไม่ได้มีอนาคตทางการเมืองที่สดใสและยืนยาวสักกี่มากน้อย
ผู้ชนะคนแรกในทางการเมืองจีนจึงเป็นคนที่ไม่เชื่อขงจื๊อเลย สั่งเผาตำราขงจื๊ออีกต่างหาก จิ๋นซีฮ่องเต้ซึ่งเป็นคนแรกที่สามารถรวบรวมดินแดนในลุ่มน้ำเหลืองเข้าด้วยกันเป็นจักรวรรดิหนึ่งเดียวและสถาปนาตนเองเป็นจักรพรรดิองค์แรกแห่งราชวงศ์ฉินได้สำเร็จนั้นเชื่อในหลักนิติธรรมเนียมคือเผด็จการที่ออกกฎหมายทุกอย่างมาสนับสนุนอำนาจตัวเอง ปูนบำเน็จให้ผู้ที่ทำตามคำสั่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ และลงโทษผู้ที่ไม่เชื่อฟังหรือต่อต้านอย่างรุนแรง ต้องรอให้จิ๋นซีฮ่องเต้ใช้ความโหดรวบรวมบ้านเมืองให้เป็นปึกแผ่นมั่นคงเสียก่อน เมื่อสิ้นรัชสมัยแล้วเหล่าขุนนางสายบุ๋นทั้งหลายจึงได้รวมหัวกันตั้งราชวงศ์ใหม่คือราชวงศ์ฮั่นซึ่งปกครองโดยหลักคำสอนของขงจื๊อและสามารถดำรงอยู่ในอำนาจต่อมาได้อีกหลายร้อยปี
คำสอนของขงจื๊อนั้นมักจะเป็นที่ชื่นชอบของผู้ปกครองในจักรวรรดิที่ได้สถาปนาอำนาจของตนอย่างมั่นคงแล้ว เพราะเหตุว่าลัทธิขงจื๊อนั้นไม่สนับสนุนการเลื่อนชั้นในสังคม คู่ความสัมพันธ์ส่วนใหญ่เป็นคู่ความสัมพันธ์ที่ไม่อาจสลับที่กันได้ คนเป็นพ่อก็ต้องเป็นพ่อเสมอไปไม่อาจแลกที่กับลูกได้ พี่ชายก็เกิดก่อนน้องชายไม่มีทางจะเปลี่ยนให้น้องชายมาเป็นพี่ชายได้ และสามีภรรยาซึ่งเป็นที่มาของคนเป็นพ่อเป็นแม่ในครอบครัวในสังคมซึ่งเพศวิถียังไม่ลื่นไหลเท่าทุกวันนี้ก็ไม่ใช่สถานภาพที่จะแลกเปลี่ยนกันได้ และแม้ในส่วนของผู้ปกครองกับผู้ถูกปกครองนั้นจะมีช่องทางของการสอบจอหงวน คือการสอบเข้ารับราชการซึ่งเป็นระบบที่เริ่มใช้ตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่นและใช้เรื่อยมาในทุกราชวงศ์จนเพิ่งประกาศเลิกใช้ในปลายราชวงศ์ชิงเมื่อต้นศตวรรษที่ 20 นี้เอง แม้ระบบการสอบจอหงวนจะอนุญาตให้ประชาชนเพศชายส่วนใหญ่เข้าสอบได้ และถ้าสอบผ่านแสดงว่ามีความรู้ทางปรัชญาขงจื๊อดีพอที่จะอ้างตัวเป็นปราชญ์และเข้าสู่ชนชั้นปกครองได้ก็ตามที
แต่โดยโครงสร้างสังคมนั้นจีนไม่เคยมีระบบการศึกษาที่รัฐจัดให้ประชาชน นั่นหมายความว่าประชาชนทุกคนที่อยากสอบจอหงวนหรืออยากให้ลูกหลานได้สอบจอหงวนจะต้องจัดการศึกษาให้ตัวเองหรือลูกหลานเอง อาจจะจ้างครูมาสอนหรือส่งลูกเข้าโรงเรียนเอกชนต่างๆ (เพราะไม่มีโรงเรียนรัฐบาล) ซึ่งก็หมายความว่าคนส่วนใหญ่ที่จะมีปัญญาทำเช่นนั้นก็ต้องเป็นคนที่มีเงิน มีโอกาส มีเครือข่ายที่จะทำให้เข้าถึงการศึกษาได้มากกว่าคนทั่วไปอยู่แล้ว สรุปก็คือท้ายที่สุดคนส่วนใหญ่ที่สอบเข้ารับราชการในระบบการสอบจอหงวนได้ก็คือลูกหลานชนชั้นนำนั่นเอง สังคมจีนยุคก่อนสมัยใหม่จึงเป็นสังคมชนชั้นที่ค่อนข้างตายตัวมาก เกิดเป็นชาวนาก็เป็นชาวนาไป เป็นช่างฝีมือปั้นหม้อตีเหล็กก็ทำมาหากินกันไปตามอัตภาพ ถ้าเกิดในตระกูลค้าขายก็ค้าขายไป ไม่ต้องมีใครมาเรียกร้องประชาธิปไตยหรืออยากเป็นผู้ปกครอง ปล่อยให้คนที่เขาเกิดมาอยู่ในชนชั้นปกครองทำหน้าที่ของเขาไปสังคมก็จะสงบสุขนั่นแหละ
จนพุทธศาสนาเข้ามาในสังคมจีน มาพร้อมกับการเข้ามามีอำนาจของราชวงศ์ที่เป็นอนารยชนจากเอเชียกลาง หรือลูกผสม อาทิ ราชวงศ์ถัง ราชวงศ์หยวน และราชวงศ์ชิง
พุทธศาสนาเข้ามาแล้วบอกว่าคนทุกคนไม่ว่าจะยากดีมีจนอยู่ชนชั้นใด ไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิง ไม่ว่าจะเด็กผู้ใหญ่หรือแก่เฒ่าชรา ล้วนมีความสามารถที่จะบรรลุธรรมได้
ดังนั้นทุกคนบวชได้และเมื่อบวชแล้วต้องเคาร��กันตามระยะเวลาที่อยู่ในผ้าเหลืองไม่พรรษาแก่กว่าก็ถือเป็นผู้ใหญ่กว่าไม่เกี่ยวกับชาติกำเนิดสมัยเป็นฆราวาส นอกจากนี้ก็เป็นเหตุผลที่ควรต้องเปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้ร่ำเรียนหนังสือด้วยเพราะจะได้อ่านคัมภีร์พระธรรมคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ ไม่ใช่ว่าเรียนหนังสือไปเพื่อสอบจอหงวนอย่างเดียว และที่หนักหนาสาหัสร้ายแรงต่อความมั่นคงของชนชั้นปกครองชาวขงจื๊อมากที่สุดคือ ในพุทธศาสนานั้นการประพฤติพรหมจรรย์ถือเป็นบุญ และการไม่แต่งงานไม่มีลูกไม่ถือเป็นบาป ไม่ตกนรก อันนี้สาหัสมากจริงๆ จะเห็นว่าเข้ามาโจมตีฐานรากของลัทธิบูชาบรรพชนอย่างรุนแรง
ดังนั้นไม่ต้องแปลกใจเลยว่าทำไมกบฏสำคัญๆ ของจีนยุคก่อนสมัยใหม่ไม่ว่าจะเป็นกบฏบัวขาว กบฏโพกผ้าเหลืองผ้าแดง กลุ่มอั้งยี่ พรรคฟ้าดิน หรือแม้กระทั่งหลวงจีนวัดเส้าหลินที่เราเห็นกันบ่อยๆ ในนิยายจีนกำลังภายในนั้นล้วนแล้วแต่เป็นกลุ่มการเมืองที่เคลื่อนไหวโดยมีแรงบันดาลใจสำคัญมาจากคำสอนในพุทธศาสนา เพราะว่าในบริบทวัฒนธรรมจีนนั้นพุทธศาสนาเป็นศาสนากบฏจริงๆ แล้วก็เป็นศาสนาที่ส่งเสริมสิทธิสตรีด้วย
นอกจากจะส่งเสริมให้ผู้หญิงได้ร่ำเรียนหนังสือและไม่บังคับให้มีลูกเยอะๆ แล้วยังเป็นศาสนาที่เปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้มามีอำนาจทางการเมือง อาทิ ในกรณีของจักรพรรดินีบูเช็กเทียนซึ่งไม่มีทางจะขึ้นมาดำรงตำแหน่งทางการเมืองสูงสุดนี้ได้เลยหากมิได้อยู่ในยุคราชวงศ์ถังซึ่งเป็นราชวงศ์ที่พุทธศาสนาเข้ามามีอิทธิพลในทางการเมืองจีนสูงมาก ก็นั่นแหละค่ะ...
เขียนมาถึงตรงนี้แล้วก็อดประหลาดใจไม่ได้ว่า... นี่เราอยู่เมืองไทยเมืองพุทธนะนี่ ทำไมไม่เคยรู้สึกในความกบฏ ในความต่อต้านสถาบันหลักของสังคม ในความสิทธิสตรีและความเท่าเทียมกันในสังคมบ้างเลยหนอ... หรือมันคนละพุทธกัน หรือเป็นเพราะเราไม่ได้ให้ลิงไปคัดลอกพระไตรปิฎกมากับพระถังซำจั๋ง?