ไม่พบผลการค้นหา
'ก้าวไกล' เปิด 10 นโยบายเพื่อความเสมอภาคทางเพศ ชูยกเลิกเก็บภาษีผ้าอนามัย-เพิ่มตร.หญิงทุกสน.  ‘ช่อ’ ระบายความในใจ จากอนาคตใหม่ถึงก้าวไกล ผ่านความเจ็บปวดมากกว่าสวยงาม

วันที่ 8 มี.ค. เวลา 10:30 น. ที่อาคารอนาคตใหม่ ซอยหัวหมาก 12 พรรคก้าวไกล จัดกิจกรรม “กาก้าวไกล เพศไหนก็คนเท่ากัน” เนื่องในวันสตรีสากล พร้อมแถลงข่าวเปิดตัว 10 นโยบายเพื่อความเสมอภาคทางเพศของพรรค โดย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล

พิธา กล่าวว่า 10 นโยบายเพื่อความเสมอภาคทางเพศ ซึ่งเราไล่เรียงมาทุกช่วงอายุของคนๆหนึ่ง ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งแก่ มีดังนี้ 

1.ผ้าอนามัยไม่เก็บ VAT แจกฟรีในโรงเรียน เราต้องการที่จะลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้มีประจำเดือน ด้วยการยกเลิกการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในสินค้าหมวดหมู่ผ้าอนามัยและของใช้สิ้นเปลืองสำหรับวัยเจริญพันธุ์ พร้อมนำร่องการแจกผ้าอนามัยฟรีในสถานศึกษา และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เพื่อต่อสู้กับความจนประจำเดือน (period poverty)

2.ปฏิรูปหลักสูตรเพศศึกษาและความเสมอภาคทางเพศ เพื่อให้มีความเข้าใจเรื่องสิทธิในเนื้อตัวร่างกาย การให้ความยินยอม (consent) ความหลากหลายทางเพศ เราต้องการจะสอนให้มากกว่าเรื่องของกายภาพอย่างตรงไปตรงมา เพื่อให้เข้าใจถึงความสำคัญของการป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

3.เพิ่มจำนวนตำรวจหญิงประจำทุกสถานีตำรวจ เพื่อให้เพียงพอต่อการมีพนักงานสอบสวนหญิง ด้วยเหตุผลเรื่องความละเอียดอ่อนของคดีและความปลอดภัยของเหยื่อ

4.ปรับปรุงกฎหมายต่อต้านความรุนแรงทางเพศและการล่วงละเมิดคุกคามทางเพศ ด้วยการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา และ กฎ ก.พ. เพื่อกำหนดนิยามใหม่ของการล่วงละเมิดและคุกคามทางเพศ 

5.ผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียม ด้วยการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ว่าด้วยครอบครัว ด้วยการเปลี่ยนคำในตัวบทกฎหมาย จากคำนามระบุเพศ เช่น ชาย หญิง สามี ภรรยา เป็นคำนามไม่ระบุเพศ อาทิ บุคคล คู่สมรส 

6.รับรองทุกเพศสภาพ คำนำหน้าตามความสมัครใจ เราต้องการที่จะปรับโครงสร้างรัฐและกฎหมายเพื่อให้รับรองทุกเพศสภาพ เพื่อเป็นรากฐานในการออกแบบนโยบายทุกมิติ เราต้องการคุ้มครองสิทธิการรับรองทางกฎหมาย ผ่านการรับรองสถานะความเป็นบุคคลให้ตรงกับเจตจำนงในเพศสภาพของบุคคลนั้น โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการรับรองทางเพศ สิทธิในการเปลี่ยนแปลงคำนำหน้านามให้ตรงกับเพศสภาพและความเป็นกลางทางเพศ 

7.การยุติการตั้งครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ รับยาฟรีทุกโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล พร้อมให้คำปรึกษาหลังยุติการตั้งครรภ์ เพื่อตรวจสอบและฟื้นฟูสภาพจิตใจ 

8.เพิ่มสิทธิในการลาคลอด 180 วัน ให้ผู้ปกครอง หรือ พ่อ-แม่ สามารถแบ่งกันได้ทั้งสองฝ่าย จากเดิมกำหนดไว้ที่ 98 วัน 

9.ส่งเสริมให้มีศูนย์เลี้ยงเด็กใกล้บ้าน รวมถึงห้องปั๊มนมในที่ทำงาน 

10.คัดกรองมะเร็ง 6 ชนิดฟรีถ้วนหน้า ประกอบด้วย มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งตับ

จากนั้น เป็นการกล่าวปาฐกฐาในหัวข้อ “จาก อนาคตใหม่ สู่ ก้าวไกล กับการสร้างความเปลี่ยนแปลงเพื่อความเท่าเทียมทางเพศ” โดย พรรณิการ์ วานิช โฆษกคณะก้าวหน้า 

1B97BD60-12D6-46B0-959B-84AE1AC73705-L0-001.jpg

โดย พรรณิการ์ กล่าวว่า พรรคอนาคตใหม่ เคยนำเสนอไว้ว่า ประเทศไทยที่เราอยากเห็น คือ “ประเทศไทยที่คนเท่าเทียมกัน ประเทศไทยเท่าทันโลก” ซึ่งความหมายของวรรคแรก เป็นความฝันที่เรียบง่ายที่สุด ทุกคนไม่ว่าจะเกิดมามีสีผิว เพศ เชื้อชาติ หรือ ความเชื่อแบบใด ต้องมีศักดิ์ศรีเสมอหน้า กัน เป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน แต่ฝันที่เรียบง่ายนั้นยังไม่เป็นความจริงประเทศไทยของเรา จึงเป็นภารกิจสำคัญของพรรคอนาคตใหม่

5 ปี ผ่านไป กับ 4 ปีในสภา เราผ่านอะไรมามากมาย เป็นความทรงจำที่เรียกว่า มีความเจ็บปวดมากกว่าความสวยงาม เราผ่านวันแรกในสภาฯ กับความพยายามจะให้มีรองประธานสภาฯหญิง ครั้งแรกของประเทศไทย แต่กลับถูกหัวเราะเยาะว่า มีเหตุผลอะไร ทำไมถึงต้องมีรองประธานสภาฯ หญิงคนแรก เพราะทุกอย่างเป็นไปตามโควตาของพรรคการเมือง

นอกจากนี้ เรายังผ่านวันที่ กอล์ฟ ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ส.ส. สัดส่วนความหลากหลายทางเพศของพรรคอนาคตใหม่ ถูกเรียกว่า ‘นาย’ ตอนเดินไปโหวตลงคะแนน และถูก ส.ส. โห่ใส่ เพราะทาลิปสติกสีแดงและใส่กระโปรง

เราผ่านวันที่ ส.ส. ของพรรคอนาคตใหม่ ถูกโอบเอว-โอบไหล่ ขณะถูกขอถ่ายรูปหน้าห้องประชุมสภาฯ ซึ่งควรเป็นสถานที่ที่แสดงถึงความเท่าเทียม และตระหนักถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์มากที่สุด 

เราผ่านวันที่ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ไม่สามารถผ่านทันวาระนี้ แม้จะเป็นวาระหลักที่ประชาชนเรียกร้อง เราผ่านสิ่งต่างๆมากมายที่ตอกย้ำว่า ภารกิจของพรรคอนาคตใหม่ยังไม่สำเร็จ และยังคงเป็นภารกิจของพรรคก้าวไกลที่ต้องทำให้สำเร็จ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในการเลือกตั้งครั้งที่จะมาถึง และครั้งถัดๆไป

พรรณิการ์ กล่าวด้วยว่า เป็นความเจ็บปวดในจิตใจของตน ที่พรรคการเมืองชอบพูดถึงเรื่องจำนวนผู้สมัคร ส.ส. หญิง ว่ามีในสภาฯ มากน้อยเท่าไหร่ โดยในการเลือกตั้ง 2562 มี ส.ส. หญิงเพียงร้อยละ 14 ถือว่ามีปัญหา เมื่อเทียบกับสัดส่วนของโลกที่ร้อยละ 24 นอกจากนี้ ยังพบว่า ผู้สมัครหลายคนไม่กล้าบอกว่าตนเองเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศ เนื่องจากกลัวเสียคะแนนในพื้นที่ ทำให้พรรคก้าวไกลตระหนักมากขึ้น จึงทำวงเสวนาที่ไม่ใช่เฉพาะแค่ผู้หญิง แต่เป็นการพูดเพื่อคนทุกเพศ ว่าคนทุกเพศคือคนเท่ากัน