ไม่พบผลการค้นหา
'เพื่อไทย' ชูฉีดวัคซีนมะเร็งปากมดลูกฟรี 'ก้าวไกล' ดันเพิ่มตำรวจหญิงทุก สน. 'ไทยสร้างไทย' ดันแคมเปญ She can change - กองทุนพลังหญิง 'ประชาธิปัตย์' ประกาศดีไซน์นโยบายเพื่อ 'คุณแม่วัยใส'

ใครๆ ก็รู้ว่าวันที่ 8 มีนาคมของทุกปีเป็น ‘วันสตรีสากล’ ซึ่งในปัจจุบันสิทธิสตรีเป็นเรื่องที่สังคมให้ความสำคัญและตื่นตัวอย่างมาก โดยเฉพาะช่วงใกล้เลือกตั้งเราจะเห็นว่าหลายพรรคการเมืองต่างก็มีนโยบายที่ตอบโจทย์ผู้หญิงโดยเฉพาะ แต่ไม่ใช่ทุกพรรค


ที่มาของ ‘วันสตรีสากล’ จุดเริ่มต้นสู่ข้อเรียกร้องแบบ ‘888’

ก่อนลงลึกนโยบายแต่ละพรรค เราอาจทำความเข้าใจความเป็นมาของวันนี้ แต่เดิมที่วันสตรีสากลมีชื่อว่า ‘วันแรงงานสตรีสากล’ (International Women’s Day) โดยผู้หญิงออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมด้านแรงงาน และให้ความสำคัญกับสตรีอย่างเท่าเทียม

หากย้อนไป 8 มี.ค.ปี 1857 ณ โรงงานทอผ้าแห่งหนึ่ง ในสหรัฐอเมริกา แรงงานหญิง 119 คน เสียชีวิตจากเหตุลอบวางเพลิงเผาโรงงานทอผ้า หลังมีการชุมนุมเรียกร้องสิทธิให้เพิ่มค่าจ้างแก่แรงงานหญิง ต่อมาในปี 1907 แรงงานโรงงานทอผ้าประท้วงใหญ่อีกครั้ง เพราะถูกใช้แรงงานวันละ 16-17 ชั่วโมง ไม่มีวันหยุด ไม่มีประกันสังคม และผู้หญิงจำนวนมากเสียชีวิตจากการทำงาน ใครที่ตั้งครรภ์ก็ถูกเลิกจ้างทันที 

คลาร่า เซทคิน (Clara Zetkin) คือผู้เรียกร้องความเท่าเทียมให้กับแรงงานหญิง เป็นแอคติวิสต์สายมาร์กซิสต์ เธอสมรสและมีบุตร 2 คน หลังจากเป็นหม้ายเธอได้ใช้ชีวิตเป็นนักเคลื่อนไหวกลุ่มนักสังคมหญิงต่อต้านสงครามโลกครั้งที่ 1 และวันที่ 8 มี.ค. 1907 เป็นปีที่คลาร่าเสนอให้กำหนดวันสตรีสากล เป็นวันที่ 8 มี.ค.ของทุกปี 

ต่อมา 8 มีนาคม 1910 กลุ่มสมัชชาแรงงานสตรี 17 ประเทศ เรียกร้องให้นายจ้างมีการคุ้มครองแรงงานเด็กและสตรีมีครรภ์ รวมถึงจัดสรรเวลาที่เป็นธรรมให้แก่แรงงานหญิง แบบ 888 ได้แก่ 

  • เวลาทำงานวันละ 8 ชั่วโมง 
  • เวลาส่วนตัว 8 ชั่วโมง
  • เวลาพักผ่อน 8 ชั่วโมง 

ปี 1911 ที่ประชุมสหประชาชาติ ได้จัดกิจกรรมวันสตรีสากลในวันที่ 8 มีนาคม ในออสเตรีย เดนมาร์ก เยอรมนี และสวิตเซอร์แลนด์ มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมนี้นับล้านคน ต่อมามีหลายประเทศเข้าร่วมด้วย 

สำหรับประเทศไทยจัดงานวันสตรีสากลขึ้นเป็นครั้งแรกใน พ.ศ. 2532 โดยคณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานสตรีแห่งชาติ (กสส.) สังกัดสำนักงานปลัด สำนักนายกรัฐมนตรี 


นโยบายเพื่อผู้หญิง ของ 4 พรรคการเมือง  

ในช่วงใกล้เลือกตั้งเช่นนี้ หลายพรรคการเมืองนำเสนอนโยบายที่เกี่ยวข้องกับผู้หญิงโดยเฉพาะ มีทั้งเรื่องสิทธิของการลาคลอด, กองทุนพัฒนาเพื่อผู้หญิง หรือแม้กระทั่งการฉีดวัคซีนมะเร็งปากมดลูกฟรี ‘วอยซ์’ รวบรวมนโยบายที่น่าสนใจของแต่ละพรรคที่มีการประกาศชัดเจนว่าเป็นนโยบายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิสตรีโดยเฉพาะ

นโยบายผู้หญิง ของพรรคการเมือง

เพื่อไทย : สานต่อกองทุนสตรี-ฉีดวัคซีนมะเร็งปากมดลูกฟรี

ประเดิมด้วย ‘พรรคใหญ่’ อย่างเพื่อไทย ที่มีนโยบายเพื่อผู้หญิงโดยเฉพาะ ภายใต้ธีม "DigitALL : Innovation and technology for gender equality นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อความเท่าเทียมทางเพศ" รายละเอียดขอนโยบายประกอบด้วย 

  • ยกระดับกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ด้วยเทคโนโลยี (ต่อยอดจาก ‘กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี’ ที่ประสบความสำเร็จในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์) โดยนำเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนร่วมพัฒนาศักยภาพกองทุน เพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งทุนทั้งจากภาครัฐและเอกชน ทำให้เกิดการสร้างคน สร้างเครือข่าย เชื่อมตลาดในประเทศและต่างประเทศ เพิ่มศักยภาพการเข้าถึงนวัตกรรม และเพิ่มการปกป้องสิทธิ์ต่างๆ เพื่อผู้หญิงทุกคนได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียม และสามารถยืนหยัดด้วยตัวเองอย่างภาคภูมิ
  • ฉีดวัคซีนมะเร็งปากมดฟรีสำหรับผู้หญิงทุกคน เนื่องจากสาเหตุการเสียชีวิตของหญิงไทยเกิดจากมะเร็งปากมดลูกเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งเต้านม ‘แพทองธาร ชินวัตร’ หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ให้รายละเอียดเพิ่มเติมถึงเรื่องนี้ว่า พรรคเพื่อไทยเห็นถึงความสำคัญของสุขภาวะในเพศหญิงและมีแนวทางลดอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งปากกามดลูก ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันให้กับผู้หญิงทุกคนที่ยังไม่ติดเชื้อ HPV โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย 
  • นโยบายผ้าอนามัยฟรีถ้วนหน้า กระจายผ่าน 3 ช่องทาง อาทิ หน่วยงานภายใต้ สปสช. สำหรับผู้มีประจำเดือนนอกตลาดแรงงานที่รายได้น้อย ผู้มีประจำเดือนในวัยเรียนที่ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษา ผู้มีประจำเดือนในครอบครัวที่ยากจน คนไร้บ้าน และคนไร้สัญชาติ , ผ่านกระทรวงศึกษาธิการ-กรมราชทัณฑ์ สำหรับผู้มีประจำเดือนวัยเรียนที่อยู่ในระบบการศึกษา และผู้อยู่ในเรือนจำ , ผ่านระบบแอพพลิเคชัน สำหรับผู้มีประจำเดือนในระบบแรงงาน  

ก้าวไกล : 10 นโยบายเสมอภาคทางเพศ-เลิกภาษีผ้าอนามัย-เพิ่มตำรวจหญิง

‘พรรคก้าวไกล’ ก็ไม่น้อยหน้า มีนโยบายเพื่อความเสมอภาคทางเพศ รวมถึงมีนโยบายเกี่ยวกับ ‘ผู้หญิง’ โดยประกาศนโยบายนี้ในวันสตรีสากลเช่นเดียวกัน จำนวน 10 นโยบายดังนี้ 

  • ผ้าอนามัยไม่เก็บ VAT แจกฟรีในโรงเรียน 
  • ปฏิรูปหลักสูตรเพศศึกษาและความเสมอภาคทางเพศ ให้มีความเข้าใจเรื่องสิทธิในเนื้อตัวร่างกาย การให้ความยินยอม (consent) ความหลากหลายทางเพศ
  • เพิ่มจำนวนตำรวจหญิงประจำทุกสถานีตำรวจ 
  • ปรับปรุงกฎหมายต่อต้านความรุนแรง-การคุกคามทางเพศ แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา และ กฎ ก.พ. กำหนดนิยามใหม่ของการล่วงละเมิด-คุกคามทางเพศ 
  • ผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียม 
  • รับรองทุกเพศสภาพ คำนำหน้าตามความสมัครใจ
  • การยุติการตั้งครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ รับยาฟรีทุกโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ให้คำปรึกษาหลังยุติการตั้งครรภ์ ตรวจสอบและฟื้นฟูสภาพจิตใจ 
  • เพิ่มสิทธิลาคลอด 180 วัน ให้ผู้ปกครอง หรือ พ่อ-แม่ สามารถแบ่งกันได้ทั้งสองฝ่าย จากเดิม 98 วัน 
  • ส่งเสริมให้มีศูนย์เลี้ยงเด็กใกล้บ้าน รวมถึงห้องปั๊มนมในที่ทำงาน 
  • คัดกรองมะเร็ง 6 ชนิดฟรีถ้วนหน้า ประกอบด้วย มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งตับ

ไทยสร้างไทย : แคมเปญ She can change - กองทุนพลังหญิง

พรรคไทยสร้างไทย ก็มีนโยบายกับเขาด้วยเหมือนกัน และถือโอกาสในวันสตรีสากล ดันแคมเปญ “She can change” ชูนโยบาย "กองทุนพลังหญิง" แบบฉบับ “ไทยสร้างไทย” อาทิ

  • ตั้งกองทุนพลังหญิง 
  • ตั้งเครือข่ายออนไลน์เพื่อจับคู่งานที่เหมาะสมให้กับผู้หญิงที่ว่างงาน และมีโครงการ Upskill และ Reskill ให้แก่ผู้หญิง
  • ตั้งศูนย์ Wemen Care ต่อยอดจากศูนย์พึ่งได้ 
  • นโยบาย 30 บาท Plus ตรวจภายในฟรี ตรวจมะเร็งเต้านม ฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกฟรี
  • แจกผ้าอนามัยฟรี  ให้กับเด็กนักเรียนและผู้หญิงที่มีรายได้น้อย
  • ส่งเสริมการทำงานและบริการที่เป็นมิตรและเหมาะสมกับเพศสภาพ 
  • ตั้งกองทุนแม่เลี้ยงเดี่ยว ทั้งนี้ แม้ว่ารัฐบาลจะให้เงินอุดหนุนแก่แม่เลี้ยงเดี่ยว แต่มีเพียง 50,000 รายเท่านั้นที่ได้รับและอาศัยอยู่แค่ในจังหวัดนำร่องเพียงไม่กี่จังหวัด ซึ่งกองทุนนี้มีวัตถุประสงค์ให้แม่เลี้ยงเดี่ยว มีอาชีพ  มีรายได้เลี้ยงตนเองและลูกได้อย่างมั่นคง
  •  เพิ่มจำนวน ส.ส.ผู้หญิงในสภา อย่างน้อยร้อยละ 20 ด้วยโครงการ More WIP More Women in Politics

ประชาธิปัตย์ : ให้คุณแม่วัยใส กลับเข้าระบบการศึกษา 

ด้านพรรคการเมืองเก่าแก่ร่วมศตวรรษอย่าง ‘พรรคประชาธิปัตย์’ และมี ส.ส.นักการเมืองหญิงเป็นดาวเด่นหลายคนในพรรค มีนโยบายเกี่ยวกับคุณสุภาพสตรีเช่นกัน อาทิ

  • ดัน ‘วันสตรีสากล’ เป็น ‘วันแห่งความเท่าเทียม’ 

วทันยา บุนนาค (มาดามเดียร์) ให้เหตุผลต่อการผลักดันในครั้งนี้ว่า ต้องการสร้างโอกาสที่ทุกคนเท่ากัน และลดการเลือกปฏิบัติทุกมิติ ไม่ใช่เฉพาะเรื่องเพศ แต่หมายรวมถึง ความหลากหลายชาติพันธุ์และแรงงานต่างชาติ, ความแตกต่างทางชนชั้นในสังคม, ความแตกต่างเรื่องของวัยวุฒิและคุณวุฒิ, ผู้ป่วย ผู้พิการ ผู้ทุพพลภาพ หรือแม้กระทั่ง ความหลากหลายอุดมการณ์ทางการเมือง

  • คุณแม่วัยใสกลับเข้าระบบการศึกษา 

จิตภัสร์ ตั๊น กฤดากร อธิบายว่าเกี่ยวกับแนวคิดว่า จากสถิติปี 2564 มีเด็กที่ตั้งครรภ์กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา อยู่ที่ 47.5% ซึ่งตัวเลขเพิ่มจากปี 2563 อยู่ที่ 28% โดยมีแนวโน้มว่าเด็กกลุ่มนี้ กลับเข้าเรียนในสถานศึกษาเดิม โดยไม่ได้รับความกดดันอย่างมีนัยยะสำคัญ เพราะในช่วงเวลาเดียวกันมีความพยายามทำความเข้าใจกับครอบครัวของเด็กหรือ “คุณแม่วัยใส” ที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อม รวมถึงมีการปรับทัศนคติของครูผู้สอน ให้พร้อมที่จะรับเด็กเหล่านี้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา เพื่อให้คุณแม่วัยใสได้มีโอกาสกลับมาเรียนต่อ เพื่อเป็นอนาคตของชาติต่อไป


ย้อนประวัติศาสตร์ไทย ให้สิทธิ ‘ผู้หญิง’ ก่อนใคร

สำหรับประเทศไทย เรื่องสิทธิสตรีสามารถย้อนไปได้ไกลถึงช่วงเวลา ‘ประชาธิปไตยเบ่งบาน’ 1 ปีกว่าๆ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง (24 มิ.ย.2475) โดยคณะราษฎรได้กำหนดสิทธิเลือกตั้งของผู้หญิงด้วยในการเลือกตั้งครั้งแรก 15 พ.ย.2476 รวมทั้งการมี ‘ผู้แทนราษฎรหญิง’ ซึ่งถือเป็นเรื่องใหม่ สำหรับสังคมไทยในยุคนั้น และล้ำหน้ากว่าในหลายประเทศในโลก

ทั้งนี้ แม้แต่ประเทศโลกที่ 1 ผู้หญิงยังได้รับสิทธิเลือกตั้งช้ากว่าไทย เช่น ฝรั่งเศส ปี พ.ศ. 2487,  เบลเยี่ยม ปี พ.ศ. 2491,  กรีซ ปี พ.ศ. 2495 , สวิตเซอร์แลนด์ ปี พ.ศ. 2514 

หนังสือพิมพ์ประชาชาติในยุคนั้นได้รายงานข่าว ‘ผู้หญิง’ ที่ลงสมัครและได้รับเลือกเป็นผู้แทนฯ ในจังหวัดพระนคร โดยปรากฎชื่อ นางสาวสุวรรณ ปทุมราช แห่งตำบลสะพานผ่านฟ้า เป็นผู้หญิงคนแรกที่ลงสมัครรับเลือกตั้ง แต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง ขณะที่ นางสุทธิสารวินิจฉัย หรือแม่ผ่องศรี แห่งตำบลทับยาว (ปัจจุบันย่านนี้ติดกับเขตลาดกระบัง) ได้รับความไว้วางใจจากชาวบ้านให้เป็นผู้แทนตำบลหญิงของจังหวัดพระนคร ด้วยคะแนนที่ชนะระดับแลนด์สไลด์ในยุคนั้นถึง 275 เสียง ส่วนผู้สมัครชายอีก 2 คน นายจันทร์ แรงหิรัญ 147 เสียงและนายกรุด สกุณี ได้เพียง 19 เสียง

หากย้อนกลับไปอีกไกลกว่านั้น มีการค้นพบหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของ แคเธอรีน บาววี่ ศาสตราจารย์ด้านมานุษยวิทยา และผู้อำนวยการศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน เมดิสัน สหรัฐอเมริกา แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยให้สิทธิการเลือกตั้งชายหญิงอย่างเท่าเทียมกันแล้วอย่างน้อยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2440 ต่างกับประเทศในตะวันตกที่การได้มาซึ่งสิทธิการเลือกตั้งแก่ผู้หญิง ช้ากว่าผู้ชายอย่างน้อยราว 30-40 ปี หลังการต่อสู้ของขบวนการสตรีอย่างหนักหน่วง

หลักฐานอีกชิ้นที่ปรากฎว่ารัฐไทยให้สิทธิชายหญิงมาตั้งแต่ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง คือ พระราชบัญญัติลักษณปกครองท้องที่ ร.ศ.116 (พ.ศ. 2440) ที่ระบุให้สิทธิทั้งชายและหญิงในการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งเกิดขึ้นหลังรัชกาลที่ 5 ปฏิรูปการปกครอง

อ้างอิง