29 ก.ย. 2566 เครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่าง จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดยโสธร ร่วมกันตั้งข้อสังเกตถึงสถานการณ์ปัญหาน้ำท่วมพื้นที่การเกษตร เกิดจากชลประทานบริหารจัดการน้ำผิดพลาด ทั้ง ๆ ที่กรมอุตุนิยมวิทยาก็ประกาศเตือนแล้ว และน้ำก็ไม่น่าจะท่วม ในขณะที่ชาวบ้านลุ่มน้ำชีลงทุนทำนาปี และนาปรังรอบสอง กลับถูกน้ำท่วมพื้นที่การเกษตรจะร่วมเดือนคาดว่าต้นข้าวไม่น่าจะรอด ในขณะบางพื้นที่ต้นข้าวนาปรังรอบสองที่ปลูกไว้ทำพันธุ์ข้าวต้องเกี่ยวข้าวแย่งน้ำแม้เมล็ดข้าวจะยังไม่สุกเต็มที่
นิมิต หาระพันธ์ อายุ 64 ปี กรรมการเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่าง จังหวัดยโสธร กล่าวว่า น้ำไม่น่าจะท่วมพื้นที่การเกษตร และถนนหนทางแบบนี้ เนื่องจากทางพี่น้องเครือข่ายน้ำชีก็เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด จึงทำให้พี่น้องลงทุนทำการเกษตรหรือทำนากันอย่างเต็มที่ แต่การบริหารจัดการน้ำของระบบชลประทานก็ผิดพลาด
ซึ่งสาเหตุของปัญหานั้นเกิดจากเขื่อนกั้นแม่น้ำชี โดยเฉพาะเขื่อนยโสธร-พนมไพร ที่อยู่ภายใต้ความดูแลของชลประทานนั้นไม่สามารถที่จะบริหารจัดการน้ำได้จริง เขื่อนกักเก็บน้ำต้นทุนสูงมากเกินไปพอน้ำมามากแล้วค่อยระบายน้ำทำให้น้ำเอ่อเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรเป็นบริเวณกว้างในพื้นที่ตำบลขุมเงิน อำเภอเมืองยโสธร ตำบลสงเปือย ตำบลย่อ ตำบลกุดกุง อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร และอีกหลายพื้นที่ ตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย. 2566 ที่ผ่านมา
ชาวบ้านบางหมู่บ้านต้องลุยน้ำเกี่ยวข้าวนาปรังรอบสองแย่งกับน้ำที่เข้าท่วมพื้นที่การเกษตร ดังนั้นการแก้ไขปัญหาจะต้องฟังชาวบ้านในพื้นที่จริงเพราะเขาคือผู้ได้รับผลกระทบจากการบริหารจัดการน้ำของชลประทาน และเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชี จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดยโสธร เรียกร้องให้เป็นรูปธรรมด้วย
จันทรา จันทาทอง อายุ 48 ปี กรรมการเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่าง จังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวว่า น้ำได้เข้าท่วมพื้นที่การเกษตรตั้งแต่วันที่ 9 ก.ย. 2566 น้ำที่ไหลมาจากลำห้วย จากกุด ไม่สามารถไหลลงแม่น้ำชีได้อย่างปกติเหมือนเดิมทำให้น้ำหนุนและเอ่อเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรเป็นบริเวณกว้าง
ที่น่าแปลกใจเนื่องจากปริมาณน้ำในแม่น้ำชีก่อนหน้านั้นถือว่ายังไม่เข้าขั้นวิกฤติ จากวันที่ 9 ก.ย. 2556 ถึงวันนี้ น้ำในแม่น้ำชีกลับเอ่อท่วมพื้นที่การเกษตรอย่างรวดเร็ว น้ำจากกุด จากลำห้วยไม่สามารถไหลลงแม่น้ำชีก็ยิ่งทำให้ปัญหาน้ำท่วมพื้นที่การเกษตรจะขยายวงกว้าง
สาเหตุของปัญหาคือ เขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร ในแม่น้ำชี และการบริหารจัดการน้ำที่ผิดพลาดของชลประทาน โดยปกติแล้วในช่วงฤดูน้ำหลากน้ำจะเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรชาวบ้านจะเรียกว่า น้ำแก่ง หรือน้ำมาสะหัวข้าว ทำให้ข้าวเขียวงาม ลำต้นแข็งแรง ทำให้ดินอุดมสมบูรณ์ และจะท่วมเพียงแค่ 7-15 วัน แล้วก็ลดลง ไม่ทำให้ข้าวในนาเน่า แต่สถานการณ์ที่ผ่านมาและปัจจุบันไม่มีให้เห็นเหมือนอดีตที่ผ่านมาหลังจากมีเขื่อน
ข้อเสนอต่อรัฐบาล คือถ้ามองในเรื่องนโยบายใหญ่ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้น คือโครงการผัน น้ำโขง เลย ชี มูล มองว่าควรพอได้แล้ว อย่ามาอ้างว่าอีสานแล้งเพราะพี่น้องชาวบ้านที่อยู่ริมแม่น้ำชีได้รับผลกระทบจากท่วมมากแล้ว อยากฝากถึงรัฐบาลว่าพอได้แล้วละครับ ที่รัฐจะดำเนินโครงการผันน้ำเข้ามา หรือโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ พอได้แล้วครับ เวลาน้ำท่วมมาดูการบริหารจัดการน้ำของพวกท่านด้วยว่าบริหารจัดการน้ำกันแบบไหน ซึ่งไม่มีความสอดคล้องกับวิถีชีวิตของชาวบ้าน
ส่วนโครงการผันน้ำที่จะเอาน้ำเข้ามาเติม ผมไม่เชื่อว่าจะผันน้ำเข้ามาเติมได้ในช่วงฤดูแล้ง มันต้องผันน้ำเข้ามาช่วงฤดูฝนหรือฤดูน้ำหลาก ซึ่งตอนนี้พื้นที่ทำการเกษตรของพี่น้องชาวบ้านก็ได้ท่วมหมดแล้ว พอแล้วหยุดซ้ำเติมประชาชน
สุรเชษฐ์ โคตรบรรเทา อายุ 43 ปีเครือข่ายลำน้ำยังอำเภอโพนทอง กล่าวว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมพื้นที่ทางการเกษตรและที่อยู่อาศัยของประชาชนในเขตพื้นที่ตำบลโคกกกม่วง อำเภอโพนทอง จังหวัดร้อยเอ็ด เกิดจากการชลประทานบริหารจัดการน้ำผิดพลาด ให้ความสำคัญและดูแลเฉพาะฝั่งที่มีพนังกั้นลำน้ำยัง ที่เป็นพื้นที่ของ ตำบลนาแซง อำเภอเสลภูมิ ส่งผลกระทบให้พื้นที่ของตำบลโคกกกม่วง เกิดน้ำท่วมทุกปี ตั้งแต่ พ.ศ.2559 เป็นต้นมา แต่ชลประทานก็ไม่ดำเนินการแก้ไขเลย จึงสรุปได้ว่า เป็นการบริหารจัดการน้ำผิดพลาดและไม่เป็นธรรม และในปีนี้ลำน้ำยังซึ่งได้เอ่อท่วมพื้นที่การเกษตร ถนนและชุมชนสองรอบ ได้แก่ รอบแรกช่วงวันที่ 25 ส.ค. 2566 ท่วมประมาณหนึ่งอาทิตย์น้ำลด รอบที่สองช่วงวันที่ 3 ก.ย. 2566 ถึงปัจจุบัน แม้ว่าน้ำจะลดบ้างจากบ้านเรือนและถนนหนทางแต่พื้นที่การเกษตรยังถูกน้ำท่วมขัง ในพื้นที่ ตำบลโคกกม่วง ตำบลสว่าง ตำบลวังสามัคคี ตำบลแวง อำเภอโพนทอง และขอบเขตตำบลศรีวิไล ตำบลวังหลวง ตำบลภูเงิน ตำบลเหล่าน้อย ตำบลขวาว อำเภอเสลภูมิ ก่อนไหลลงแม่น้ำชี
ด้านสิริศักดิ์ สะดวก อายุ 43 ปี ผู้ประสานงานศูนย์พิทักษ์สิทธิการจัดการทรัพยากรชุมชนลุ่มน้ำชีตอนล่าง กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมพื้นที่การเกษตรสองฝั่งแม่น้ำชี ทั้งพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ดและยโสธรนั้น ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ไม่ใช่ว่าพึ่งเคยเกิดขึ้นแต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาแล้วหลังจากมีนโยบายการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่
ถึงแม้ว่าปีนี้เขื่อนขนาดใหญ่ที่อยู่ในลำน้ำสาขาแม่น้ำชี ก็มีปริมาณกักเก็บยังไม่ถึง 70% อย่างเช่น เขื่อนจุฬาภรณ์มีปริมาณน้ำกักเก็บในปัจจุบัน 85.45 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 52% เขื่อนอุบลรัตน์มีปริมาณน้ำกักเก็บในปัจจุบัน 1.550.61 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 64% แต่ในขณะที่ปริมาณน้ำในเขื่อนลำปาวปัจจุบันกักเก็บเกินความจุอยู่ที่ 2,050.00 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 104% และต้องระบายน้ำลงแม่น้ำชี 27.63 ล้าน ลบ.ม. เนื่องจากเขื่อนลำปาวรองรับน้ำจากพื้นที่อุดรธานีอีกเส้นทาง คือผมมองว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้ฝนไม่ตกกระจุกอยู่ที่ตัวเขื่อน แต่เป็นลักษณะฝนตกกระจาย ทำให้เขื่อนใหญ่สองเขื่อนอย่างเขื่อนจุฬาภรณ์และเขื่อนอุบลรัตน์มีปริมาณน้ำกักเก็บไม่ถึงร้อยละ 70% ในปัจจุบัน
ปรากฏการณ์ที่กล่าวข้างต้นนั้นยิ่งชี้ให้เห็นว่า น้ำในปีนี้ไม่น่าจะท่วมพื้นที่การเกษตร แต่เมื่อน้ำมีเจ้าของ ความเป็นเจ้าของยิ่งกลับบริหารจัดการน้ำผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทำให้น้ำท่วมซ้ำซาก ในลำน้ำยัง และริมฝั่งแม่น้ำชีโดยเฉพาะจังหวัดร้อยเอ็ด พื้นที่ตำบลสะอาด ตำบลดอนโอง อำเภอโพธิ์ชัย ตำบลพลับพา ตำบลพระธาตุ อำเภอเชียงขวัญ ตำบลเทอดไทย ตำบลบึงงาม อำเภอทุ่งเขาหลวง ตำบลโพนเมือง อำเภออาจสามารถ ตำบลนางาม อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด ส่วนจังหวัดยโสธร พื้นที่การเกษตรอำเภอเมืองยโสธร อำเภอคำเขื่อนแก้ว อำเภอมหาชนะชัย ก่อนแม่น้ำชีไหลไปบรรจบกับแม่น้ำมูล อำเภอวารินชำราบ และทำให้พื้นที่อำเภออื่น ๆ ของจังหวัดอุบลราชธานีได้รับผลกระทบไปด้วย
ดังนั้นปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในปัจจุบันจะพบในพื้นที่น้ำชีตอนล่าง คือ จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดยโสธร ด้วยสาเหตุปัญหาสำคัญคือ 1.)เขื่อนที่ถูกสร้างกีดขวางทางน้ำทำให้น้ำไหลไม่ปกติในลุ่มน้ำชี เช่น เขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร แม่น้ำชี ภายใต้โครงการโขง ชี มูล เดิม ก่อให้เกิดสภาพปัญหาน้ำท่วมขังอย่างยาวนานในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำชีตอนล่าง จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดยโสธร ส่งผลต่อพื้นที่ทำเลเลี้ยงสัตว์ลดน้อยลง พื้นที่การเกษตรเสียหาย กระทบต่อการดำเนินวิถีชีวิต กระทบต่อระบบนิเวศลุ่มน้ำชีและการเปลี่ยนทิศทางการไหลของน้ำที่เปลี่ยนแปลงจนเกิดความเสียหาย ปรากฏการณ์ดังกล่าวสะท้อน การตัดสินใจในการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่โดยไม่ได้ศึกษาถึงผลกระทบต่อระบบนิเวศ วิถีชีวิต เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของชุมชน จึงเป็นการทำลายภูมิปัญญาและองค์ความรู้ในการจัดการน้ำแบบดั้งเดิมของคนในพื้นที่ไป ทั้งยังส่งผลให้เกิดปัญหาตามมาอย่างต่อเนื่อง
2.)โครงสร้างของเขื่อน พอมีการสร้างเขื่อนก็จะปิดทางน้ำเดิมเพื่อเปิดเส้นทางเดินน้ำใหม่ ประกอบกับการสร้างพนังกั้นน้ำเพื่อบังคับน้ำให้ไหลไปในทิศทางเดียว จึงทำให้หลายพื้นที่ต้องเผชิญกับน้ำในพนังค์กันน้ำไม่สามารถไหลลงแม่น้ำชีได้และน้ำนอกพนังค์กั้นน้ำก็เอ่อทำให้ทิศทางการไหลของน้ำเปลี่ยนแปลงไปน้ำได้ไหลเข้าท่วมพื้นที่การเกษตร
3.)การบริหารจัดการน้ำของชลประทานผิดพลาด เนื่องจากเป็นการบริหารจัดการน้ำแบบรวมศูนย์โดยรัฐ เมื่ออำนาจการบริหารจัดการน้ำถูกรัฐควบคุมจึงทำให้การบริหารจัดการน้ำไม่ได้สัมพันธ์กับระบบนิเวศน์และธรรมชาติที่ควรจะเป็น ซึ่งต้องเข้าใจว่าโดยธรรมชาติของแม่น้ำชีหรือลำน้ำ และแม่น้ำอื่น ๆ ลุ่มน้ำทุกสายจะทำหน้าที่โดยการพร่องน้ำตามธรรมชาติในช่วงฤดูน้ำหลาก แต่พอมีการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำชี ทำให้การทำหน้าที่ตามธรรมชาติของแม่น้ำชีต้องถูกควบคุมโดยรัฐ ทั้งๆ ที่ผ่านมาถ้าการบริหารจัดการน้ำเมื่อรู้ว่าเข้าสู่ฤดูฝนหรือทราบว่าพายุจะเข้า รัฐที่ควบคุมเขื่อนแต่ละตัวจะต้องรีบพร่องน้ำต้นทุนออกจากเขื่อน เพื่อเตรียมรองรับน้ำใหม่ที่กำลังหลากมา จะเป็นการลดความเสี่ยงน้ำท่วมของพื้นที่การเกษตรของชาวบ้านลุ่มน้ำชี
4.)ถนนหนทางที่สร้างขวางลำน้ำ การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศที่จำเป็นต้องมีเทคโนโลยีสมัยใหม่เพิ่มขึ้นนั้นก็คือ รถ เมื่อรถเริ่มมากขึ้นการก่อสร้างถนนหนทางเพื่อรองรับพาหนะเหล่านี้จะต้องเพิ่มขึ้น สิ่งเหล่านี้ยังเป็นตัวกั้นไม่ให้ลำน้ำไหลผ่านได้ตามปกติ โดยหน่วยงานที่สร้างถนนเพื่อการสัญจรก็ไม่ได้เข้าใจทิศทางการไหลของน้ำ จึงไปสร้างถนนกีดขวางทางน้ำ ไม่เพิ่มชิองระบายน้ำให้ไหลเป็นปกติ
ปัญหาที่เกิดขึ้นชลประทานจะหลีกเลี่ยงที่จะโยนความรับผิดชอบไม่ได้ แต่จะต้องยอมรับว่าการบริหารจัดการน้ำผิดพลาด จากที่น้ำไม่นาจะท่วม กลับบริหารจัดการน้ำให้เกิดความผิดพลาดน้ำท่วมพื้นที่การเกษตร ฉะนั้นชลประทานต้องออกมารับผิดชอบต่อปัญหาที่เกิดขึ้น 1.ออกอธิบายถึงสถานการณ์ปัญหาการบริหารจัดการน้ำที่เกิดขึ้นและออกมาขอโทษพี่น้องเกษตรกรด้วยที่ทำให้น้ำท่วมพื้นที่การเกษตร