ไม่พบผลการค้นหา
'ศิริกัญญา' ร่ายยาวชำแหละรัฐบาลเอื้อทุนผูกขาดดีลควบรวมผูกขาดทรู-ดีแทค อัด 'ประยุทธ์' เอื้อเจ้าสัวรวยสุด 50 รายแรก ทำหนี้ครัวเรือนพุ่งขึ้น 4.6 ล้านล้าน ด้าน 'รมว.ดีอีเอส' แจงรัฐบาลมีนโยบายแข่งขันเสรี ไม่เชื่อเอกชนสองรายจะฮั้วกัน

วันที่ 11 ส.ค. 2565 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ยื่นกระทู้ถามสดด้วยวาจาโดยถาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กรณีเศรษฐกิจผูกขาด โดยมี ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอีเอส) เป็นผู้ตอบแทน พล.อ.ประยุทธ์

โดยศิริกัญญา ระบุว่า ระบบผูกขาดเกิดขึ้นในเศรษฐกิจไทย ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะหลังวิกฤตโควิด สิ่งนี้จะเป็นตัวฉุดรั้งการพัฒนาประเทศ โดย 8 ปีที่ผ่านมา ภายใต้การบริหารงานของ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ส่งเสริมให้กลุ่มเจ้าสัวที่รวยสุดของประเทศ 50 รายแรก รวยขึ้น 2 ล้านล้านบาท แต่ 8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์เช่นเดียวกัน ก็ทำให้หนี้ครัวเรือนของประชาชนเพิ่มสูงขึ้นถึง 4.6 ล้านล้านบาท เท่ากับประชาชนรายได้ลด แต่หนี้เพิ่มไม่หยุด

"ถ้าความร่ำรวยของเจ้าสัวเหล่านี้ เกิดขึ้นจากความสามารถเก่งกาจจะไม่ว่าอะไรสักคำเลย แต่ความร่ำรวยที่เกิดขึ้นจากการผูกขาดโดยการเอื้อประโยชน์ของรัฐนั้น เท่ากับว่าเงินที่หายไปจากกระเป๋าประชาชนได้ถูกถ่ายเทไปเป็นความร่ำรวยของนายทุน แถมตลอดการดำรงตำแหน่งของ พล.อ.ประยุทธ์ก็มีแนวโน้มเอื้อทุนใหญ่มาโดยตลอด" ศิริกัญญากล่าว

โดยศิริกัญญายกตัวอย่างการเอื้อกลุ่มทุนใหญ่-ทุนผูกขาด ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ได้แก่

-ยืดหนี้ให้กลุ่มทุนโทรคมนาคมจ่ายค่าประมูลคลื่น 4G ดอกเบี้ย 0% เป็นเวลา 10 ปี จนรัฐเสียหาย เอกชนฟันผลประโยชน์ไป 2 หมื่นล้านบาท

-อุ้มเอกชนที่ผูกขาด Duty Free โดยแก้สัญญาสัมปทานแบบด่วนทันใจก่อนช่วยประชาชนเสียอีก ทั้งลดค่าสัมปทานและยืดอายุ จนรัฐเสียผลประโยชน์หลายพันล้านบาท

-อ้างโควิดเช่นกัน ในการยอมให้แก้ไขสัญญาสัมปทาน PPP รถไฟฟ้าความเร็วสูง 3 สนามบิน ยอมให้ผ่อนจ่ายค่าสิทธิ์บริหารจัดการ Airport Rail Link แบบดอกเบี้ยแสนถูก ให้รัฐบาลสมทบทุนเร็วขึ้นเพื่อช่วยออกค่าก่อสร้างแทนที่จะไปออกเงินตอนก่อสร้างเสร็จแล้ว

-รัฐบาลยังปล่อยให้มีการควบรวมห้างค้าปลีก-ร้านสะดวกซื้อ ทำให้เพิ่มการผูกขาดในตลาดมากขึ้น ทำให้ประชาชนหมดทางเลือก

-กรณีล่าสุด ควบรวมทรู-ดีแทค จะผูกขาดขั้นสุด ประชาชนต้องแบกรับค่าบริการ กระทบค่าครองชีพให้มากขึ้นไปอีก แต่ก็ยังมีรัฐมนตรีในรัฐบาลนี้ออกมาพูดจาสนับสนุนการควบรวมครั้งนี้ว่าเป็นสิทธิ์ของเอกชน

-ล่าสุดของล่าสุด การขออนุญาตควบรวมกิจการอินเตอร์เน็ต AIS-3BB

ศิริกัญญา ตั้งคำถามว่า ตกลงแล้วรัฐบาลชุดนี้คิดว่ามีปัญหาการผูกขาดในเศรษฐกิจหรือไม่?

แล้วรัฐบาลนี้นโยบายป้องกันการผูกขาดและส่งเสริมการค้าที่เป็นธรรมบ้างหรือไม่ถ้ามี คืออะไร เป็นอย่างไรบ้าง ท่านคิดว่าทำดีพอแล้วหรือยัง เป็นธรรมต่อ SMEs และประชาชนผู้บริโภคที่ควรจะเป็นรากฐานสำคัญในระบบเศรษฐกิจของประเทศนี้แล้วหรือยัง

ศิริกัญญาเปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติม ว่าแต่เดิมค่าบริการโทรศัพท์มือถือของคนไทยก็สูงอยู่แล้วแม้ว่าจะมีหน่วยงานกำกับดูแลอยู่ก็ตาม ตัวเลขจาก Internation Telecommunication Union (ITU) เปิดเผยว่าสำหรับแพคเกจใช้น้อย อยู่อันดับที่ 111 ส่วนแพคเกจใช้มาก อยู่อันดับที่ 87 จาก 182 ประเทศ ถ้าหากการควบรวมครั้งนี้สำเร็จก็จะยิ่งซ้ำเติมปัญหาเข้าไปอีก

เมื่อดูเฉพาะอินเตอร์เน็ต ถ้าเราอยากส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลให้เกิดขึ้นจริง ค่าบริหารก็จะต้องไม่แพง เพื่อส่งเสริมทั้งฝั่งผู้ประกอบการและผู้บริโภค แต่ปรากฏว่าเมื่อเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำ คนไทยต้องทำงาน 2 วันเพื่อจ่ายค่าอินเตอร์เน็ตรายเดือน ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ทำงาน 1 วัน หรือน้อยกว่านั้น

สำหรับผลการศึกษาการควบรวมครั้งนี้ออกมาแล้วจาก 5 หน่วยงาน ทั้งจากหน่วยงานที่ทรู-ดีแทค จ้างศึกษา มีทั้งสถาบันวิจัย สถาบันการศึกษา รวมถึงคณะอนุกรรมการของ กสทช. เอง ก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าขั้นต่ำคือ 10% แต่ถ้าการควบรวมนี้มีการฮั้วกันก็จะทำให้ค่าบริการยิ่งแพงขึ้นไปอีก โดยคณะอนุกรรมการของ กสทช. เองศึกษาแล้วพบว่าค่าบริการจะพุ่งสูงขึ้นถึง 49-200% หมายความว่าถ้าทุกวันนี้เราจ่ายค่ามือถือและอินเตอร์เน็ตอยู่ 100 บาท อาจจะต้องจ่าย 150-300 บาท แบบนี้กระทบค่าครองชีพประชาชนอย่างเต็มที่ ซ้ำเติมเงินเฟ้อที่ยังขึ้นไม่หยุดด้วย แล้วประชาชนและธุรกิจดิจิทัลเหล่านี้จะพัฒนากันต่อได้อย่างไร

ศิริกัญญากล่าวต่อว่าตนเอกทราบดีว่าเป็นหน้าที่กำกับดูแลโดย กสทช. แต่ในฐานะรัฐบาล ท่านได้ศึกษาประเมินบ้างหรือไม่ว่ามูลค่าความเสียหายของเศรษฐกิจดิจิทัลจะอยู่ที่กี่พันล้านบาท งานของประชาชนคนไทยจะหายไปกี่ตำแหน่ง และถ้าผลกระทบมากขนาดนี้ ท่านคิดว่ากฎหมาย กฎระเบียบ ประกาศ ที่มีอยู่นั้นพอหรือไม่ที่จำเยียวยาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหรือไม่

"ดังนั้น เรายังไม่มีความเชื่อใจ มั่นใจ ว่า กสทช. จะกำกับราคาได้เลย วันนี้เราหวังว่าให้ควบรวมไปก่อนแล้วค่อยไปกำกับดูแลราคาทีหลัง มันไม่ได้!"

เมื่อมีการดีลใหญ่เกิดขึ้นแบบนี้ รัฐบาลทั่วโลกก็จะมีบทบาทนำมาโดยตลอด เช่นการควบรวมบริษัทโทรคมนาคมที่แคนาดาก็เป็นรัฐบาลเองที่ส่งสัญญาณชัดเจนว่าจะไม่ยอมให้มีการควบรวมในครั้งนั้น แม้สุดท้ายบริษัทจะยอมคลายคลื่นและยอมผ่านดีลในที่สุด และมีอีกหลายกรณีที่ดีลไม่ผ่านเลยเช่นกรณีของ AT&T และ T-mobile ของสหรัฐฯ เพราะหน่วยงานกำกับดูแลเข้มแข็งมาก 

ต้องยอมรับว่าในหลายครั้ง ต้องเป็นบทบาทและนโยบายของทางรัฐบาลในการเจรจาดึงดูดนักลงทุน แก้กฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่างๆ เพื่อทำให้เกิดผู้เล่นรายใหม่เกิดขึ้น นี่คือนโยบายจากทางรัฐบาลทั้งสิ้น และทุกประเทศก็ทำกัน เช่น รัฐบาลญี่ปุ่นเป็นตัวกลางและใส่เงินในการเจรจาควบรวมบริษัทผลิตชิปภายในประเทศเมื่อเกิดวิกฤติ แต่ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เพื่อให้เกิดการผูกขาดในประเทศ แต่เพื่อความแข็งแกร่งของบริษัทที่จะไปแข่งในตลาดโลก

ดังนั้น ตนเรียกร้องให้รัฐบาลต้องมีบทบาทนำในประเด็นนี้มากขึ้น ทางเลือกที่เหลืออยู่ หากจำเป็นจะต้องหานักลงทุนรายใหม่เข้ามาแทนดีแทคที่จะถอนหรือลดการลงทุนจากภูมิภาคนี้ ก็มีอยู่ไม่กี่ทางเลือก คือ 1.ให้รัฐวิสาหกิจมาเทคโอเวอร์ เช่น NT แต่ตนไม่สนับสนุนแนวทางนี้ 2.ดึงดูดนักลงทุนจากในประเทศรายใหม่ ก็เกี่ยวข้องกับรัฐบาลโดยตรงว่าจะเปิดเสรีธุรกิจโทรคมนาคมหรือไม่

"คำถามสำคัญก็คือ รัฐบาลได้ใช้อำนาจใช้ความสามารถที่มีอยู่อย่างเต็มที่แล้วหรือยัง เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคและนำพาประเทศพ้นวิกฤตครั้งนี้ แล้วท่านจะตอบกับประชาชนอย่างไรเมื่อพวกเขามองว่าท่านไม่พยายามอย่างเต็มที่เพื่อป้องกันการควบรวมผูกขาดครั้งนี้ และเขาตั้งข้อสงสัยว่าท่านไม่ทำอะไรเลยจากการดีลควบรวมในครั้งนี้ เพราะท่านได้ประโยชน์ดีลผูกขาดนี้เช่นกัน" ศิริกัญญากล่าวทิ้งท้าย

ด้าน ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(DES) ตอบว่ารัฐบาลมีนโยบายให้มีการแข่งขันอย่างเสรีอยู่แล้ว และไม่เชื่อว่าเอกชนสองรายจะฮั้วกัน รวมทั้งรัฐบาลไม่มีอำนาจในการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกำกับดูแลกรณีควบรวมทรู-ดีแทค เพราะเป็นอำนาจของ กสทช. แต่นโยบายของรัฐบาลคือให้มีการแข่งขัน ไม่เอื้อประโยชน์ให้ใคร