ไม่พบผลการค้นหา
นายกฯ แจงสภาฯ อภิปรายทั่วไปปมปัญหาของแพง-อหิวาต์แอฟริกาในสุกร ยืนยันรัฐบาลช่วยประชาชนลดภาระจากมาตรการต่างๆ ชี้ส่งออกปี 64 มาก ซัดอย่าฉวยซักฟอก ด้าน 'ศิริกัญญา' ก้าวไกล ชำแหละแผนฟื้นฟู ศก. จวกเตะถ่วง ศก.

เวลาประมาณ 19.15 น. วันที่ 17 ก.พ. 2565 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาเรื่องด่วน ญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี ตามที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กับคณะ ส.ส. 173 คนเป็นผู้เสนอ

โดย พล.อ.ประยุทธ์ ชี้แจงคำอภิปรายของ วิสุทธิ์ ไชยณรุณ ส.ส.พะเยา พรรคเพื่อไทย โดยระบุว่า ขอขอบคุณในคำอธิบาย แต่บางครั้งก็ดูๆ แล้วรู้สึกงจะเกินมาตรา 152 ไปสักนิดนึง ตนยินดีรับข้อมูลอันเป็นประโยชน์ที่จะรับไปดำเนินการแก้ไขให้สามารถดำเนินการให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น 

จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ได้ชี้แจงกรณีโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร หรือ ASF ระบาด ส่งผลให้เนื้อหมูแพงนั้น ว่ามุ่งช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบ ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันให้สมาคมผู้เลี้ยงสุกรทุกขนาด ทั้งเล็ก-กลาง-ใหญ่ เข้าถึงมาตรการช่วยเหลือของรัฐ และได้ให้ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เข้าไปดูแล ส่วนที่จะรั่วไหล หรือใครได้ประโยชน์ไป ก็ต้องตรวจสอบให้ชัดเจน และในวันนี้ก็ได้ตรวจค้นการกักตุนเนื้อหมูไปถึง 6,536 แห่ง พบการกระทำผิด 15 แห่ง และได้อายัดเนื้อหมูไว้กว่า 2 ล้านกิโลกรัม

ในประเด็นสินค้าราคาสูงนั้น นายกฯ ได้ระบุว่า ปัญหาสินค้าแพงที่เกิดจากเงินเฟ้อเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก เราไม่ได้อยู่ประเทศเดียวในโลก สถานการณ์โควิด-19 ก็ทำให้ราคาสินค้าและบริการของทั้งโลกสูงขึ้นมากที่สุดนับแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยได้รับการชื่นชมว่ารับมือกับสถานการณ์โควิด-19 ได้ดีกว่าประเทศส่วนใหญ่ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อของไทยยังถือว่าต่ำกว่าเมื่อเทียบกับหลายประเทศ ซึ่งขณะนี้ตั้งเป้าไว้ที่ไม่เกิน 3% คำพูดของพรรคร่วมฝ่ายค้านด้วยข้อมูลข้างเดียว ถือว่าไม่เป็นธรรมต่อรัฐบาล ไม่ว่าใครเป็นรัฐบาลก็เจอปัญหานี้เช่นกัน ทุกฝ่ายควรช่วยกันสร้างความเข้าใจ และให้กำลังใจกัน 

"รัฐบาลช่วยลดภาระให้กับประชาชนได้มากถึงมากที่สุด จากมาตรการช่วยเหลือต่างๆ ที่ได้ออกไปแล้ว และได้ช่วยบรรเทาผลเสียหายที่เกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชนได้ หากรัฐบาลไม่ได้มีมาตรการช่วยเหลือลงไป อย่างที่ท่านกล่าวหาว่าเราเป็นประชานิยม ประชาลนเขาอยู่ไม่ได้ มาตรการเหล่านี้คือเพื่อความอยู่รอด" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว 

แจงกู้เงินรักษาวิกฤตโควิด โชว์พลิกวิกฤตส่งออกเพิ่มปี 64 ทุกรายการ

สำหรับกรณีการกู้เงินนั้น นายกฯ ระบุว่า ทั่วโลกล้วนกู้เงินมาเพื่อรักษาเศรษฐกิจในช่วงวิกฤตโควิด-19 ถือเป็นการใช้เงินที่มีขนาดใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์โลก ขณะที่ราคาสินค้าในประเทศอื่นๆ ก็ปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน อาทิ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ โดยราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกนั้นสูงขึ้นถึง 60% แต่ด้วยมาตรการของรัฐบาล คนไทยจ่ายราคาน้ำมันดีเซลแพงขึ้น 20% ซึ่งต่ำกว่าหลายๆ ประเทศ เช่นเดียวกับคนอังกฤษที่จ่ายค่าไฟฟ้าแพงเพิ่มขึ้นเท่าตัว คนไทยจ่ายค่าไฟฟ้าเท่าเดิมในปี 2564 โดยในการนี้ รัฐบาลพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ด้วยการเพิ่มปริมาณการส่งออกสินค้าเกษตร มูลค่าการส่งออกก็เพิ่มขึ้นในปี 2564 ทุกรายการ และยังได้มีการเจรจากับหลายๆ ประเทศ แต่ละแห่งก็พร้อมสนับสนุน 

ส่วนประเด็นราคาน้ำมันที่สูงขึ้น นายกฯ กล่าวว่า ต้องดูว่าที่มาของน้ำมันมาจากไหนบ้าง ทำไมราคาจึงแพง ต้องลงรายละเอียดให้ พูดเฉพาะราคาอย่างเดียว มันไปต่อไม่ได้ รัฐบาลมีมติลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน เพื่อตรึงราคาจายปลีกน้ำมันดีเซลให้ไม่เกิน 30 บาท/ลิตร ถ้าไม่มีมาตรการอะไรเลย คนไทยอาจได้รับผลกระทบมากกว่านี้ 

"รัฐบาลจำเป็นต้องหามาตรการ ทั้งระยะสั้นระยะยาว และยั่งยืน ไว้ก่อนล่วงหน้า อะไรที่ทำได้ ทำก่อนทันที แต่ถ้าจะให้เป็นที่พอใจของบรรดาท่านที่กล่าวมาเมื่อสักครู่นี้ ผมว่ายากนะ ถึงแม้ว่าท่านจะเป็นรัฐบาล ท่านก็ยาก ที่จะทำตามที่เสนอมาเมื่อสักครู่นี้ เอาล่ะ เมื่อท่านเป็นรัฐบาลแล้วก็ท่านก็ทำแล้วกัน วันนี้ผมเป็นรัฐบาลผมก็ทำให้ได้มากที่สุดแล้วกัน" นายกฯ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ ยังระบุว่า "ประชาชนเป็นผู้ไว้ใจให้เราเข้ามา บางอย่างต้องคิดไปด้วยกัน อะไรไม่ดีก็เตือนก็บอก อย่างวันนี้อภิปรายทั่วไป มาตรา 152 ให้ผมมาฟังก็ฟัง อะไรที่ผมต้องแก้ก็จะกลับไปแก้ อะไรไม่ดีก็ตรวจสอบ ไม่ใช่วาระที่มาอภิปรายไม่ไว้วางใจ"

ประยุทธ์ สภา อภิปรายทั่วไป ประชุมสภา 1E1E2426F.jpegประยุทธ์ยกมือ


ศิริกัญญา ก้าวไกล อภิปรายทั่วไป สภา B4-EFDDAD185689.jpeg

'ก้าวไกล' เชือดแผนฟื้นฟู ศก. แฉ 'ประยุทธ์' เตะถ่วงตั้ง กสทช. ชุดใหม่ หนุนดีลควบรวม 'ทรู-ดีแทค'

ด้าน ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายประเด็นแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยระบุว่า รัฐบาลมีงบฟื้นฟูเศรษฐกิจ (ไม่รวมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ) เพียง 7 หมื่น 7 พันล้านบาทเท่านั้น แทบจะเป็นงบฟื้นฟูที่ต่ำสุดตั้งแต่ที่เคยมีวิกฤตเศรษฐกิจมา ทั้งที่วิกฤตครั้งนี้สาหัสกว่าทุกครั้ง ซึ่งตนมองว่าฟื้นฟูไม่ได้จริงเพราะเศรษฐกิจภูมิภาคยังไม่ฟื้นกลับมา แต่กลับติดหล่มจมเหวลึก ครั้งแรกที่รัฐบาลนำเสนอแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ ด้วยการวาดฝันเต็มไปด้วยคำที่สวยหรู แต่สุดท้ายกลับไม่มีมาตรการเหล่านี้อยู่ในแผนฟื้นฟู จริงดูแล้วไม่น่าจะพลิกฟื้นอะไรได้เลย เศรษฐกิจไทยในยุคหลังโควิด-19 ดูไม่มีอนาคต ไม่ใช่แค่การย่ำอยู่กับที่ แต่เป็นการเดินถอยหลัง ประเทศอื่นใช้ช่วงเวลานี้ อัดฉีดเงินลงทุน สร้างเศรษฐกิจหลังโควิด-19 กันอย่างเต็มที่ ขณะที่รัฐบาลไทยยังไม่เห็นศักยภาพในการทำเช่นนั้นได้ 

ศิริกัญญา กล่าวถึงกรณีเมื่อสองวันที่ผ่านมา ครม. มีมติลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันลง 3 บาท เพื่อแก้ไขกองทุนน้ำมันที่ถังแตกอยู่ 16,000 ล้านบาท แต่โดยส่วนตัวตนไม่เคยเสนอให้ลดภาษีสรรพสามิต ก็รู้ว่ารถไม่ได้ เนื่องจากงบประมาณปี 2565 ถูกตั้งไว้อย่างตึงเปรี๊ยะ 1 บาทที่ภาษีเก็บลดลง เท่ากับ 1 บาทที่งบประมาณต้องลดลงไปด้วย ประเมินว่ารัฐจะเสียรายได้รวม 17,100 ล้านบาท เท่ากับเงินกู้ชดเชยยังขาดอยู่ 7 แสนล้านบาท ถ้าจัดเก็บรายได้ไม่ต่ำกว่าที่ประมาณการเอาไว้ ต้องตัดรายจ่ายอะไรออกบ้าง กองทุนน้ำมันควรทำหน้าที่ของตนเองคือการรักษาเสถียรภาพของราคาน้ำมัน โดยการเก็บภาษีเมื่อน้ำมันราคาถูก แล้วชดเชยเมื่อราคาน้ำมันแพง ไม่ใช่เก็บภาษีจากน้ำมันตัวหนึ่ง ไปอุดหนุนน้ำมันอีกตัวให้ราคาถูกตลอดเวลา 

อีกประเด็นคือ ซูเปอร์ดีลโทรคมนาคมควบรวม ทรู-ดีแทค ซึ่งหากสำเร็จแล้วก็น่าจะกระทบกับค่าครองชีพของประชาชนโดยตรง บอร์ด กสทช. ชุดปัจจุบันนี้ ที่อยู่มานานกว่า 8 ปี ได้แก้ประกาศเพื่อริบอำนาจตัวเองในการให้อนุญาตควบรวม กล่าวคือบอร์ด กสทช. ชุดนี้ แก้ประกาศเรื่องการควบรวมกิจการในปี 2561 ว่า ต่อไปนี้ไม่ต้องขออนุญาต กสทช. ให้ควบรวมแล้วรายงานให้ กสทช. ทราบ หากเกิดผลกระทบต่อสภาวะการแข่งขัน กสทช.จึงค่อยออกมาตรการหลังการควบรวม และ กสทช. ดูไม่มีทีท่าจะแก้ไขประกาศนี้แต่อย่างใด ขณะที่กระบวนการสรรหา กสทช. ชุดใหม่โดยวุฒิสภาเสร็จสิ้นไปแล้วตั้งแต่วันที่ 20 ธ.ค. 2564 ผ่านมาแล้วเกือบ 2 เดือน มีกระแสข่าวว่าชื่อค้างอยู่ที่นายกฯ ไม่ยอมทูลเกล้าฯ ให้ลงพระปรมาภิไธยแต่งตั้ง หากเป็นจริงแล้วนายกฯ รออะไร จะรอให้ กสทช. ชุดนี้ ดูแลการควบรวม ให้เสร็จก่อนหรือไม่ 

"ประชาชนจะต้องทนกับสภาพนี้ไปอีกนานแค่ เมื่อไหร่ท่านจะยอมรับว่าท่านไม่เหลือความชอบธรรม ไม่เหลือความนิยมใดๆ ที่จะปกครองประเทศนี้ต่อไปได้ เมื่อไหร่ท่านจะยอมลงจากอำนาจเพื่อเปิดทางให้ประชาชนได้เลือกผู้นำที่พวกเขาต้องการ และมีความชอบธรรมเต็มเข้ามาบริหารแผ่นดินดี นี่น่าจะเป็นคำถามที่ดิฉันขอถามแทนในประชาชน" ศิริกัญญา ทิ้งท้าย

นิพนธ์ สภา FB0097BD7A23.jpeg

รมช.มหาดไทย แจงสภาฯ ไม่ประวิงเวลา เพิกถอนที่ดินเขากระโดง

นิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย ชี้แจงในการประชุมสภา วาระการอภิปรายทั่วไป เพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยไม่ลงมติ ว่า ตั้งแต่ปี 2544 - 2564 กรมที่ดินมี โฉนดที่ดิน 35 ล้านแปลง เนื้อที่ดินประมาณ 101 ล้านไร่ , โฉนดตราจอง 4.4หมื่นแปลง เนื้อที่ดิน 1.2แสนไร่, มีตราจอง 3.5หมื่นแปลง เนื้อที่ดิน 1.1แสนไร่, มี น.ส.3ก. 2.9ล้านแปลง เนื้อที่ดิน 13ล้านไร่, น.ส.3 จำนวน 1ล้านแปลง เนื้อที่ดิน 9ล้านไร่ และ ใบจอง จำนวน 1.5 แสนแปลง เนื้อที่ดิน 1.5ล้านไร่ รวมทั้งสิ้น 39 ล้านแปลง เนื้อที่ดิน 126ล้านไร่ กรมที่ดินพยายามกระจายการถือครองที่ดินไปยังส่วนต่างๆ อาจมีการเปลี่ยนมือบ้าง แต่กรมที่ดินพยายามดำเนินการออกเอกสารสิทธิให้ประชาชน 

ส่วนที่อภิปรายคือ กรณีที่ดินเทือกเขาบูโด เดิมประชาชนมีปัญหากับกรมอุทยาน เป็นพื้นที่ที่ไม่ชัดเจน แต่หลังจากการแบ่งเขตชัดเจนในส่วนพื้นที่ของรัฐ, ประชาชนครอบครอง กรมที่ดิน ได้ดำเนินการตามมติคณะกรรมการยุติศาสตร์ภาคใต้ มีมติ เมื่อปี 2557 เดินสำรวจพื้นที่บูโด-สุไหงปาดี สามารถออกโฉนดให้ประชาชนได้รวมทั้งสิ้น 9.4หมื่นแปลง รวมเนื้อที่ 1.68แสนไร่ ทั้งนี้การเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินให้ประชาชนทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 14ล้านแปลง เนื้อที่ดิน 70 ล้านไร่ และยังเร่งรัดการออกโฉนดที่ดินให้ประชาชนต่อเนื่อง รวมถึง3จังหวัดพื้นที่ชายแดนภาคใต้

นิพนธ์ ชี้แจงถึงประเด็นการรถไฟแห่งประเทศไทยขอให้กรมที่ดินเพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 3466 และ 8564 ต.อิสาณ อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ ตามคำพิพากษาของศาลฎีกา ด้วยว่า กรมที่ดินได้ปฏิบัติตามคำพิพากษา ปัจจุบันการตรวจสอบที่ดินของการรถไฟ เนื้อที่ 5,083 ไร่ และการเพิกถอนสิทธิที่ดินทุกแปลงที่ออกทับที่ของการรถไฟฯ นั้น กรมที่ดินมีหนังสือ 12 พฤศจิกายน 2564 กรมที่ดินได้เชิญการรถไฟฯ ร่วมรังวัดที่ดิน แต่การรถไฟฯ มีหนังสือ 9 ธันวาคม 2564 ให้กรมที่ดินเพิกถอนตามแนวแผนที่ที่ใช้อ้างอิงในศาล ทั้งนี้แผนที่ที่อ้างนั้น ไม่สามารถยืนยันกับการรังวัดได้ และไม่เกี่ยวกับกรมที่ดิน เนื่องจากผูกพันกับคู่ความ 

“กรมที่ดินยืนยันว่า ตามแผนที่ที่ปรากฎนั้น เนื้อที่ที่ดินมี 4,745 ไร่ 1 งานเท่านั้น ขาดอีกกว่า 200 ไร่ ที่การรถไฟฯ ได้แจ้งว่ามีเนื้อที่ดิน 5,083 ไร่ ดังนั้นส่วนต่าง 200 ไร่ต้องได้รับความร่วมมือจากการรถไฟ เพื่อร่วมชี้แนวเขต แต่ขณะนี้ทราบว่า การรถไฟฯ ได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครอง เมื่อ 23 ธันวาคม 2564 เมื่อใช้สิทธิทางศาล แต่กรมที่ดินไม่ได้รับหมาย หรือสำเนาคำฟ้อง หากได้รับแล้ว จะทำคำชี้แจงไปศาลปกครอง เชื่อว่าจะนำไปสู่การทำแผนที่ร่วมกัน และทำให้เป็นไปตามขั้นตอนของศาล” นายนิพนธ์ ชี้แจง

ทั้งนี้ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ ใช้สิทธิพาดพิง พร้อมอภิปรายว่า การรถไฟฯ ฟ้องประชาชน จนศาลฏีกาตัดสิน และที่ดินแปลงอื่นๆ อีก 800 โฉนด จึงไปฟ้องที่ศาลปกครอง แทนศาลยุติธรรม ทั้งที่ตัดสินเป็นแนวบรรทัดฐานแล้ว หรือเป็นเพราะต้องฟ้องโดยระบุชื่อในโฉนด เช่น รัฐมนตรีหรือญาติของรัฐมนตรีหรือไม่ ทำให้ฟ้องกับกรมที่ดิน โดยมีคำวินิจฉัยของเขตอำนาจศาลชัดเจนว่าเป็นเขตอำนาจของศาลใด ส่วนกรมที่ดินไม่ยอมเพิกถอนอาจเป็นข้ออ้างที่เป็นมุมมองทางกฎหมายต่างกัน เพราะแนวเขต 4,000 ไร่ถูกพิพากษาถึงที่สุดแล้ว และเป็นที่ดินทั้งแปลง ไม่ใช่รายโฉนด

สุรเชษฐ์ ก้าวไกล อภิปรายทั่วไป -0EB6-48AB-9478-1CA06566648C.jpeg

'สุรเชษฐ์' แจงปมค่าเดินทางแพง ชูตั๋วร่วม-ค่าโดยสารร่วม จี้รัฐหนุนระบบขนส่งฯ

ต่อมา สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายในประเด็น 'ค่าเดินทางแพง' โดยไล่เรียงค่าเดินทางในรูปแบบต่างๆ ที่มีราคาแพง ตั้งแต่น้ำมันแพง ค่าทางด่วนแพง เพราะคิดเป็นท่อนๆ โดยไม่ได้เอาประชาชนเป็นตัวตั้ง ค่าขนส่งสาธารณะแพง แม้กระทั่งรถเมล์ที่เป็นขนส่งมวลชนพื้นฐานที่สุด ก็มีราคาแพงขึ้นแต่คุณภาพการบริการยังเหมือนเดิม การจราจรก็มีปัญหา เดินทางลำบาก หากยกตัวอย่างเป็นเจ้าหน้าที่สภา ที่มีเงินเดือน 15,000 บาท จะต้องเสียค่าเดินทาง 168 บาทต่อวัน (56% ของค่าแรงขั้นต่ำ) คิดเป็น 22.24% ของเงินเดือน แถมยังเสียเวลาชีวิต 3-4 ชั่วโมงต่อวัน คาดการณ์เวลาลำบาก แม้จะมีรถยนต์ส่วนตัว ก็ยังมีภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่หนักเกินคนเงินเดือน 15,000 จะรับได้ ยังไม่รวมต้นทุนแฝงอีกมาก 

โดยพรรคก้าวไกลได้เสนอนโยบายขนส่งสาธารณะเพื่อทุกคน โดยให้รัฐอุดหนุนระบบขนส่งสาธารณะ เพื่อให้มีคุณภาพดี ราคาถูก และเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ทุกคนสามารถใช้ได้ ไม่ว่าจะมีรถหรือไม่มีรถก็ตาม เมื่อคนมีรถหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะด้วย ก็จะเป็นผลดีเพราะทำให้ถนนโล่ง แต่การอุดหนุนก็ควรเป็นระบบและสมเหตุสมผล ไม่ใช่อย่างที่รัฐบาลกำลังทำอยู่ โดยหากเทียบมูลค่ากันและปัจจัยต่างๆ ร่วมกันแล้ว จะเห็นได้ว่าขนส่งสาธารณะที่ควรอุดหนุนมากที่สุดในเวลานี้คือรถเมล์ ไม่ใช่รถไฟฟ้า พร้อมกันนั้นได้เสนอแนวคิด 'ตั๋วร่วม' เพื่อให้รถไฟฟ้าทุกสายใช้ราคาร่วมกัน

สุรเชษฐ์ ยังระบุว่า เทคโนโลยีไม่ใช่ปัญหา แต่ต้องกล้าชนกับขาใหญ่ หากรถไฟฟ้าสายสีเขียวไม่ร่วมด้วยก็แทบจะไร้ประโยชน์ อีกข้อเสนอหนึ่งคือ 'ค่าโดยสารร่วม' สำหรับผู้ที่ใช้ทั้งรถเมล์และรถไฟฟ้า โดยไม่ต้องเสียค่าแรกเข้าซ้ำ และพยายามตรึงราคาไว้ไม่เกิน 8-45 บาท 

นอกจากนี้ สุรเชษฐ์ ยังกล่าวถึงสัปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งกำลังจะเสียไปโดยไม่ชอบธรรม โดยต้นตอของปัญหาอยู่ที่การใช้ระบบใหญ่ลากออกไปยาวเกินความจำเป็น ด้วยความจุ 50,000 คนลากออกไปสองทิศทาง แต่ไม่รู้ว่าจะมีคนใช้ถึง 50,000 คนหรือไม่ อีกทั้งส่วนต่อขยาย 1 ที่ กทม. อุดหนุนไม่ไหวอยู่แล้ว แต่ยังเพิ่มส่วนต่อขยาย 2 อีก พร้อมกันนั้นก็ใช้มาตรา 44 ไปตกลงกันอย่างลับๆ รวมถึงรายละเอียด เช่น รายได้-ค่าใช้จ่ายต่อปีที่ไม่ยอมเปิดเผย เนื่องจากเมื่อเอาคำสั่ง คสช. และ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ มาเทียบกันแล้ว ข้อความที่หายไปคือ มาตรา 6 (5) ว่าด้วยความโปร่งใสตรวจสอบได้ ที่หายไปด้วยมาตรา 44 ดังนั้น จึงไม่สามารถเชื่อใจได้ พร้อมทิ้งท้ายว่า รัฐบาลควรเลิกเตะถ่วงปัญหา ผลักดันตั๋วร่วมและค่าโดยสารร่วม เพื่อแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างเป็นระบบ