ไม่พบผลการค้นหา
ถือเป็นมหากาพย์กรณี ครม. ถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วนตาม มาตรา 161 รัฐธรรมนูญ 2560 มาถึงช่วงโค้งสุดท้ายของ 2 อำนาจอธิปไตยระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติ ผ่านการอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติตาม มาตรา 152 ของรัฐธรรมนูญ 2560 และฝ่ายตุลาการที่อยู่ในชั้นศาลรัฐธรรมนูญ

ซึ่งทั้งสองส่วนถือเป็นจุดโฟกัสในสังคม โดยเฉพาะการ อภิปรายในสภาที่จะมีขึ้น 18ก.ย.นี้ ไปพร้อมกับการปิดสมัยประชุมรัฐสภา จึงทำให้มีการมองว่าเป็นการ ‘มัดมือชกฝ่ายค้าน’ หรือไม่ ที่ไม่สามารถต่อระยะเวลาไปได้ โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ในฐานะ ประธานกรรมการยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ มองว่า เพียงวันเดียวก็จบอยู่แล้ว

ที่ผ่านมามีปรากฏการณ์ที่สำคัญคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นำ ครม. รับพระราชทานพระราชดำรัสพร้อมลายพระราชหัตถ์ ในโอกาสที่ ครม.เข้าเฝ้าฯถวายสัตย์ปฏิญาณ ที่ ทำเนียบฯ แต่ฝ่ายค้านยังคงเดินหน้ากระบวนการในสภาต่อไป รวมทั้งวันที่ทำพิธีฯ ก็ตรงกับวันที่ผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติส่งเรื่องกรณีถวายสัตย์ฯให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาด้วย พร้อมกับคำถามที่ว่าหลังจากนี้มีการวิพากษ์วิจารณ์จะจบลงหรือไม่

"ผมไม่อาจจะกล่าวได้ว่า​จะสามารถไปจบเรื่องอื่นได้หรือไม่​ แต่ก็เป็นเรื่องที่พวกเราคือคณะรัฐมนตรี​ทุกคนซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ​ เป็นเรื่องที่ผมทำเรื่องขอพระราชทาน​พระบรมราชานุญาต​ไป​ ท่านก็ทรงโปรดเกล้า​ฯลงมาเป็นลายลักษณ์​อักษร​ เป็นสิ่งที่คณะรัฐมนตรี​และ​รัฐมนตรี​นำไปสู่การปฏิบัติ​​" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว 27ส.ค.62

แต่สิ่งที่มีการพูดถึงเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาคือการประชุมลับ โดยตามข้อบังคับการประชุมสภาฯฉบับใหม่ ครม.จะเป็นผู้เสนอก็ได้ หรือ ส.ส.จำนวน 1 ใน 4 จะเสนอก็ได้เช่นกัน อีกส่วนคือจะเป็นการประชุมเปิดเผยหรือไม่ โดย ‘ชวน หลีกภัย’ประธานสภาผู้แทนราษฎร ก็แสดงท่าทีที่ชัดเจนว่า อยากให้ นายกฯ มาชี้แจงต่อสภา แต่ฝ่ายค้านที่พยายามมาตั้งแต่การยื่นกระทู้ถาม 3 ครั้ง ใน 3 สัปดาห์ แต่ พล.อ.ประยุทธ์ กลับติดภารกิจไม่สามารถมาตอบกระทู้ถามได้ แม้ นายกฯ จะยืนยันไม่ได้หนีสภาหรือกลัวสภาก็ตาม เพราะภารกิจถูกกำหนดไว้ล่วงหน้า แต่ในการเปิดอภิปราย 18ก.ย.นี้ พล.อ.ประยุทธ์ มีท่าทีที่จะมาฟังและชี้แจงต่อสภาด้วยตัวเอง แต่ก็เปิดช่องหากติดภารกิจก็จะต้องออกมาระหว่างการอภิปราย แต่จะกลับไปฟังต่อ

อีกสิ่งฝ่ายค้านพูดดักคอ นายกฯ คือในวันที่ 18ก.ย.นี้ ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาเรื่องคุณสมบัติประเด็น จนท.รัฐของ พล.อ.ประยุทธ์ จะทำให้ นายกฯ ใช้เป็นข้ออ้างในการไม่เข้าประชุมสภาหรือไม่ โดย พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่าไม่เกี่ยวกัน แต่ตนมีภารกิจวันละ 4-5 งาน แต่ยืนยันจะไปเข้าฟัง ในส่วนของศาลรัฐธรรมนูญก็มีทีมกฎหมายของตนไปฟังอยู่แล้ว

ทั้งนี้สิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ออกตัวอย่างมี ‘นัยสำคัญ’ ในการพูดเรื่องการถวายสัตย์ฯ ขณะลงพื้นที่ จ.พิษณุโลก เมื่อวันที่ 4ก.ย. โดยยังคงกล่าวยืนยันถึงการถวายสัตย์ฯนั้นครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ พร้อมยืนยันว่าจะไม่มีการเริ่มต้นใหม่เพราะที่ผ่านมาทำตามขั้นตอน ซึ่งตนไม่กลัวเพราะมีจิตบริสุทธิ์ ที่มาพร้อมการมองว่าการออกมากล่าวของ นายกฯ ในลักษณะนี้ มีความมั่นใจใดหรือไม่

ประยุทธ์ 173935000000.jpeg

"ผมเข้าใจระบอบประชาธิปไตย ซึ่งไม่มีผิดจากรัฐธรรมนูญ เคยอ่านรัฐธรรมนูญกันไหม เถียงกันจังเลยเรื่องไม่เป็นเรื่อง ผมก็ปฏิบัติตามทุกอย่าง เพราะรัฐธรรมนูญเป็นของปวงชนชาวไทย แล้วใครลงพระปรมาภิไธย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จบแล้วใช่ไหม ปวงชนชาวไทย และพระองค์ท่านทรงรับสั่งว่าอย่างไร มีพระปฐมบรมราชโองการ ว่าเราจะปกครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งประชาชนใช่ไหม มันสมบูรณ์แล้ว ผมถวายสัตย์สมบูรณ์ไหม ไปบอกให้ผมหน่อย อะไรกันนักกันหนาไม่เข้าใจ" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว 4ก.ย.62

ทำให้มีการตีความว่าเรื่องนี้ได้มีการลงพระปรมาภิไธยไปแล้วถือว่าจบแล้วใช่หรือไม่ โดย พล.อ.ประยุทธ์ ตอบเพียงสั้นๆว่า ก็แล้วแต่จะคิด และควรรู้ว่าอะไรเป็นอะไร เพราะเป็นวิญญูชน และการอภิปรายครั้งนี้ก็ไม่ได้เป็นการลงมติ ซึ่งตนก็จะชี้แจงเท่าที่ชี้แจงได้ และทำอย่างไรไม่ให้ก้าวล่วงไปถึงสถาบัน

สำหรับกรณีถวายสัตย์ฯเป็นเรื่องละเอียดอ่อนทำให้มีการถกเถียงว่าควรจะเป็นการประชุมลับหรือเปิดเผย โดย พล.อ.ประวิตร หนึ่งในผู้ที่มีความชัดเจน ระบุว่า จะลับหรือเปิดเผยแล้วแต่สภา ส่วนตัวเปิดเผยก็ไม่เป็นอะไร แต่คำพูดก็ต้องระมัดระวังที่จะไปเกี่ยวข้องกับสถาบัน

ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ ‘ผู้กองมนัส’ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรฯ ที่ได้ชื่อว่าเป็นมือประสานสิบทิศของพรรคพลังประชารัฐ ก็ออกมาพูดถึงการอภิปรายทั่วไปว่าเรื่องนี้อยู่ในชั้นศาล รธน.แล้ว โดยได้เตือนไปยังฝ่ายค้านว่าระวังจะเป็นการชี้นำและละเมิดอำนาจศาลได้ ต้องระวังข้อกฎหมาย แม้อำนาจฝ่ายนิติบัญญัติและตุลาการจะแยกจากกัน แต่การพูดสิ่งใดออกมาในทิศทางที่ดีหรือไม่ดีก็ต้องรับผิดชอบคำพูดตัวเองด้วย

ทั้งนี้ต้องจับตาว่าพรรคพลังประชารัฐจะมีการจัดตั้ง ‘ทีมองครักษ์พิทักษ์นายกฯ’ ในสภาครั้งนี้หรือไม่

โดย พล.อ.ประยุทธ์ ก็ได้เปิดช่องไว้ว่า เป็นเรื่องของ ส.ส. ถ้าพูดนอกประเด็นเขาก็มีสิทธิ์ เช่นเดียวกับที่ฝ่ายรัฐบาลพูดอะไรไป ฝ่ายค้านก็มีสิทธิ์ที่จะพูด ถือเป็นสิทธิเสรีภาพที่เท่าเทียมกัน ไม่สามารถไปบังคับใครได้

ประยุทธ์-แถลงนโยบายรัฐบาล-สภา

หากย้อนกลับไปเมื่อครั้งรัฐบาลแถลงนโยบายต่อรัฐสภา พรรคพลังประชารัฐก็มีการตั้งทีมองครักษ์พิทักษ์นายกฯขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่งัดข้อกับฝ่ายค้านสู้กันตามระเบียบข้อบังคับการประชุม สิ่งสำคัญในครั้งนั้น เป็นการเข้าสภาครั้งแรกของ พล.อ.ประยุทธ์ หลังเป็น นายกฯ จากการเลือกตั้ง ที่มาพบกับ ‘นักการเมืองเฟรชชี่-รุ่นลายคราม’ ในสภา ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ก็โดนรับน้องไปไม่น้อย

ทั้งนี้เรื่องราวที่เกิดขึ้น พล.อ.ประยุทธ์ จะต้องเป็นผู้ชี้แจงต่อสภา เพราะเรื่องนี้ถูกวางแล้วว่าต้องให้ นายกฯ พูดเป็นหลัก แม้แต่ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. ก็ปฏิเสธตอบเรื่องนี้ โดยโยนให้สื่อไปถามนายกฯแทน ท่ามกลางการจับตาบทบาทของ พล.อ.อภิรัชต์ ช่วงก่อนจะมีพิธีฯ 27ส.ค. นั้นเงียบหายไประยะสั้นๆ และมอบ รองผบ.ทบ. ออกงานแทน ซึ่ง พล.อ.อภิรัชต์ ได้กลับมาปรากฏกายอีกครั้ง หลังจากมีพิธีรับพระราชทานพระราชดำรัสฯผ่านพ้นไปแล้ว ในช่วงสายของ 27ส.ค.เช่นกัน ในการเดินตรวจอาคารพิพิธภัณฑ์ฯ บก.ทบ.ราชดำเนิน ท่ามกลางการตีความและกระแสข่าวต่างๆ

รวมทั้ง 'วิษณุ เครืองาม' รองนายกฯ หลีกเลี่ยงการให้สัมภาษณ์เรื่องนี้ ที่สำคัญเคยทิ้งวาทะที่ทำให้เกิดการตีความไปไกลคือ “แล้ววันหนึ่งจะรู้เองว่าทำไมไม่ควรพูด” รวมทั้ง นายกฯ เคยนำอมตะวาจาของ ‘จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์’ เมื่อปี2502 มาดัดแปลงแล้วพูดอีกครั้ง ว่า “ผมขอเป็นผู้รับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว” ที่ผ่านมาไม่นานก็เกิดพิธีรับพระราชทานพระราชดำรัสพร้อมลายพระราชหัตถ์ขึ้นมา

หากจับจุดให้ดีจะพบว่าการแสดงออกของ พล.อ.ประยุทธ์ที่ผ่านมา มีความชัดเจนและคำตอบอยู่ในตัวเองแล้ว

ท่ามกลางการตั้งข้อสังเกตต่างๆช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา

แต่ในระหว่างทางก็มีผู้ ‘เห็นทางลม’ พยายามโลว์โปร์ไฟล์และสงวนท่าทีพรรค แม้แต่ฝ่ายค้านด้วยกันเอง รวมทั้งหนึ่งในแกนนำฝ่ายค้าน ดาวรุ่งในสภา ก็ระบุว่า ทุกอย่างต้องยึดตามความเหมาะสมเป็นสำคัญเมื่อมาถึงปลายทางแล้ว

มองทะลุ ‘คำตอบสุดท้าย’ สัญญาณชัด !

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปริศนา ลายพราง
164Article
0Video
39Blog