ไม่พบผลการค้นหา
'เพื่อไทย ประกาศลุยโหวตวาระ 3 รับร่าง รธน.แล้วทำประชามติ ได้เวลายืนยันอำนาจสถาปนา รธน.เป็นของประชาชน ขณะที่วิป 3 ฝ่ายนัดประชุมกำหนดท่าทีวันโหวตแก้ รธน. ด้าน 'ปารีณา' ยื่นประธานรัฐสภาทบทวนดันโหวตวาระ 3 หวั่นฝืนคำวินิจฉัยศาล รธน.

วันที่ 15 มี.ค. 2564 ที่พรรคเพื่อไทย อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีการโหวตในญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระที่สาม ว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ระบุว่ารัฐสภามีอำนาจหน้าที่จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ พรรคเพื่อไทยจึงมีท่าทีและแนวทางต่อการดำเนินการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดังนี้

1. พรรคเพื่อไทย ขอประกาศเดินหน้าโหวตวาระ 3 ในวันที่ 17 มี.ค. 2564 เพราะไม่ใช่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ แต่แก้ไขเพียงมาตรา 256 มาตราเดียว จึงไม่ต้องทำประชามติก่อนแก้ไข แต่เมื่อผ่านวาระ 3 แล้ว จึงค่อยทำประชามติ การที่ประธานรัฐสภาสั่งให้เดินหน้าพิจารณาวาระ 3 ต่อไป เป็นสิทธิของสมาชิกรัฐสภาโดยชอบที่จะโหวตวาระ 3

2.คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญยกให้ประชาชนเป็นผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ ถ้าจะยินยอมให้ 84 ส.ว.ยกมือคว่ำรัฐธรรมนูญได้ เท่ากับว่าอำนาจของคน 84 คน ในกระบวนการสืบทอดอำนาจที่ไม่ยึดโยงกับประชาชน มีความหมายมากกว่าอำนาจของคน 65 ล้านคน จะยังเรียกว่าเป็นประชาธิปไตยได้หรือ ตลอดระยะเวลา 7 ปี ของรัฐประหาร 2557 ประชาชนได้เห็นเครือข่ายองคาพยพในระบอบประยุทธ์ วางแผนสืบทอดอำนาจกันอย่างเป็นกระบวนการ ถึงเวลากระชากหน้ากากและเปิดโปงความพยายามในการแช่แข็งประเทศและสืบทอดอำนาจ

3.พรรคเพื่อไทย เห็นว่า “ได้เวลาประชาชน” ที่จะออกมายืนยันว่า อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ เป็นอำนาจของประชาชน ถึงเวลา “เปลี่ยนรัฐธรรมนูญ พาประเทศพ้นวิกฤติ” จะทำการรณรงค์ เปิดเวทีสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม เพื่อการสถาปนารัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยโดยประชาชนเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง

“ฝ่ายสืบทอดอำนาจ พยายามตีความคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ตัวเองได้ประโยชน์สูงสุด ทั้งที่สาระสำคัญคืออำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นอำนาจของประชาชน จึงควรเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ทำหน้าที่สถาปนารัฐธรรมนูญฉบับประชาชนเพื่อประชาชนที่เป็นประชาธิปไตยโดยแท้จริง” อนุสรณ์ กล่าว

ภูมิธรรม อนุสรณ์ เพื่อไทย 585BC0AF-612F-45FC-B717-76D092D95ED4.jpeg

ปลุกทุกพรรคที่รับปากแก้ รธน.ผ่านร่าง รธน.

ส่วน ภูมิธรรม เวชยชัย ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ระบุว่า ทางออกตอนนี้ต้องเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิไตย ทั้งนี้การทำหน้าที่ของรัฐสภาครั้งนี้มีความชอบธรรมและเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ เราคาดหวังการทำหน้าที่ซื่อสัตย์สุจริตต่อพี่น้องประชาชนที่ได้หาเสียงไว้ เพราะพรรคการเมืองเกือบทุกพรรคล้วนให้พันธสัญญากับประชาชนทั้งสิ้นว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่เข้าสู่รัฐสภาเกิดจากการชุมนุมเรียกร้องของประชาชน ดังนั้น จึงไม่มีเหตุผลใดที่พรรคการเมืองต่างๆ จะคัดค้านขัดขวาง หรือไม่โหวตให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านไปสู่กระบวนการที่สมควรจะเป็น 

ภูมิธรรม ระบุว่า การประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญในวันที่ 17 มี.ค. จึงอยากเห็นพรรคการเมืองทุกพรรคที่เคยรับปากกับประชาชนไว้ทำหน้าที่ของตัวเองด้วยการผลักดันร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับนี้ให้เข้าสู่กระบวนการอย่างถูกต้องตามที่รับปากกับประชาชน

ภูมิธรรม เพื่อไทย AD1C5AE4-D9B3-474E-990D-5DB583DB99E1.jpeg

นัดถกวิป 3 ฝ่ายหลังศาล รธน.เผยคำวินิจฉัยกลาง ปัด รบ.เตะถ่วงแก้ รธน.

ก่อนหน้านี้ ที่รัฐสภา นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล เปิดเผยถึงแนวทางการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระที่ 3 ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า คําวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีการตีความกันไปหลายแบบ การประชุมวิปรัฐบาลวันนี้ จึงต้องรอคำวินิจฉัยกลาง เพราะคำวินิจฉัยกลาง เป็นเหมือนลายแทงนำทางว่าควรดำเนินการอย่างไรเพื่อให้ถูกต้องตามที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพราะศาลรัฐธรรมนูญผูกพันทุกองค์กร ซึ่งคาดว่าคำวินิจฉัยกลางจะแล้วเสร็จ ก่อนวันที่ 17 มี.ค. นี้ เพราะศาลก็ทราบดีถึงปัญหาและความวุ่นวายที่อาจเกิดขึ้น อีกทั้งวันที่ 16 มี.ค.นี้ ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ได้มีการนัดประชุมร่วม 3 ฝ่าย ได้แก่ วุฒิสภา ฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้าน โดยยังไม่ทราบว่าจะมีการหารือในเรื่องใด 

วิรัช ยืนยันว่า รัฐบาลไม่ได้ยื้อเวลาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะจากวันแรกที่มีการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจนถึงวันที่ 17 มี.ค.นี้ที่จะพิจารณาโหวตในวาระที่ 3 ก็ดำเนินการมาตามไทม์ไลน์ที่กำหนด ซึ่งจะเห็นได้ว่ารัฐบาลก็พยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา เพียงแต่ขณะนี้ติดปัญหาอำนาจในการโหวตของสมาชิกรัฐสภาว่าจะสามารถทำได้แค่ไหน

วุฒิสภายังไม่เคาะโหวตทางคว่ำหรือไม่

ขณะที่ คำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิสภา) กล่าวถึงการเตรียมการประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อรลงมติวาระ3 ของร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ว่า ที่ประชุมได้มีการอภิปรายความหมายของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ อย่างกว้างขวางรอบด้านและได้มีมติในเบื้องต้นว่าสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในฐานะสมาชิกรัฐสภาจะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัดในการนี้ที่ประชุมและนำความเห็นทางกฎหมายของสำนักกฎหมายสำนักเลขาธิการวุฒิสภามาประกอบการพิจารณาด้วย ทั้งนี้ เชื่อว่าทุกฝ่ายยังคงรอคำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อที่จะหารือกับฝ่ายต่างๆ หากคำวินิจฉัยกลางยังไม่ออกมา ก็ต้องยึดตามคำวินิจฉัยที่ออกมาแล้วไปก่อน ตราบใดที่ยังไม่เห็นคำวินิจฉัยกลางคำแนะนำต่อสมาชิกวุฒิสภาเป็นคำแนะนำเบื้องต้น ส่วนทิศทางการการโหวตนั้น ถือเป็นเอกสิทธิของแต่ละคน สำหรับเรื่องการโหวตคว่ำหรือจะไม่เข้าร่วมประชุมนั้น ได้มีการกถเถียงกันในที่ประชุมลับ แต่ยังไม่ได้ข้อยุติ

'ปารีณา' ท้วง 'ชวน' ทบทวนโหวตวาระ 3

ด้าน ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ เข้ายื่นหนังสือต่อ ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา โดยมี สมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้รับหนังสือ โดย ปารีณา กล่าวว่า เป็นการยื่นขอให้ทบทวนและถอนระเบียบวาระการโหวตวาระ 3 ในเรื่องการลงมติรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีคำวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญแล้วว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจของรัฐสภาและการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีการใช้ สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มาเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับก็ต้องผ่านการทำประชามติก่อน เพราะฉะนั้นก็ควรจะปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้ ส่วนตัวมองว่าหากเดินหน้าก็อาจจะเป็นปัญหาเนื่องจากอาจจะมีการฟ้องร้องกันเกิดขึ้น โดยตนเองจะร้องไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)ให้ตรวจสอบการทำหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาหลายคน โดยเฉพาะฝ่ายค้านที่จะเดินหน้าโหวตวาระที่ 3 กันซึ่งเป็นการขัดขืนคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ผิดกฎหมายและผิดจริยธรรมด้วย

ดังนั้น ตนไม่อยากให้รัฐสภาเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีต่อประชาชนที่ศาลวินิจฉัยแล้วรัฐสภาก็นำมาตีความหมายเองและเดินหน้าทำตามความต้องการของตนเองเป็นเรื่องที่ไม่ดี ส่วนหากจะมีการร้องเรียนตามมาตรา 157 หากรัฐสภาไม่พิจารณาโหวตวาระ3 ก็ให้เป็นเรื่องของกระบวนกานทางศาล แต่ส่วนตัวจะเคารพคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัดและจะดำเนินคดีกับทุกคนที่ขัดขืนคำวินิจฉัย

ส่วนความวุ่นวายที่จะเกิดขึ้นนอกสภาหากไม่ดำเนินการโหวตวาระ 3 นั้น ก็เป็นเรื่องของคนที่ไม่เคารพศาล ไม่เคารพบ้านเมือง ไม่เคารพระบบประชาธิปไตย การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องเกิดขึ้นในรัฐสภาเท่านั้นและต้องทำอย่างถูกต้องจะทำตามใจการเมืองนอกสภาไม่ได้ ส่วนจะยื่นญัตติปากเปล่าในรัฐสภาหรือไม่นั้น ขอให้รอมติจากวิปรัฐบาลก่อน 

ด้าน สมบูรณ์ กล่าวว่าจะนำหนังสือนี้ไปเรียนประธานสภาผู้แทนราษฎรให้รับทราบและพิจารณาต่อไป

ขณะที่นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานรัฐสภา นัดประชุมคณะกรรมการประสานงาน 3 ฝ่าย (วิป 3 ฝ่าย) ได้แก่ วุฒิสภา, ฝ่ายค้าน และฝ่ายร่วมรัฐบาล ในวันที่ 16 มี.ค. เวลา 10.00 น. เนื่องจากกระแสความเห็นที่แตกต่างกันในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญมีสูงมาก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง