ไม่พบผลการค้นหา
"อย่าไปคิดว่าประชาชนเขาไม่ฉลาดพอ ประชาชนเขากินข้าว เขาไม่ได้กินหญ้า ... สิ่งศักดิ์สิทธิ์ลงโทษ จริงๆ แล้วประชาชนเขาลงโทษ"

'วันมูหะมัดนอร์ มะทา' ด้วยวัย 78 ปี ที่ต้องฝ่าขวากหนามบนถนนการเมืองมากว่า 4 ศตวรรษ ผันตัวเองจากอาชีพครูมาเป็นผู้แทนฯ ของชาวยะลา เข้าร่วมกลุ่ม 'วาดะห์' ก่อนจะก้าวเป็นรัฐมนตรีหลายกระทรวง สู่จุดสูงสุดคือประธานรัฐสภามุสลิมคนแรกของประเทศไทย

ถึงกระนั้น ตลอดเส้นทางการเมือง เขาได้ผ่านประสบการณ์ความเจ็บช้ำและผิดหวังหลายหน ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ ฉบับ 2540 "ที่มีความเป็นประชาธิปไตยที่สุด" ถูกฉีกทิ้ง อีกทั้งภาพพจน์ของสภาฯ ในปัจจุบันเสื่อมลงไปทุกวัน เมื่อ 'งูเห่า-กล้วย' เข้าครอบงำ แต่น้ำเสียงของ 'วันนอร์' สะท้อนชัดว่า แม้จะเจ็บปวด แต่ไม่เคยหมดศรัทธาในประชาธิปไตย และประชาชน

'พรรคประชาชาติ' กำเนิดมาด้วยความศรัทธา ว่าจะสร้างการเมืองที่เป็นธรรมให้ประชาชนทุกกลุ่มได้มีสิทธิเสียงเสมอหน้ากัน

อย่างไรก็ตาม ในการต่อสู้ที่ยาวนาน แม้ 'วันมูหะมัดนอร์' ยังยอมรับว่า ในวัยเกินเกษียณ ก็ควรจะได้พักผ่อน แต่ปัญหาในชายแดนใต้ยังไม่สงบ เสียงเรียกร้องจากประชาชนขอให้อยู่ต่อไป เป็นเหตุให้เขายังไม่อาจวางมือ จนกว่าจะมีผู้เข้มแข็งพอมารับช่วงต่อภาระอันหนักนี้

#VoicePolitics สนทนากับผู้ก่อตั้งพรรคประชาชาติ ตั้งแต่จุดเริ่มต้นบนถนนการเมือง บาดแผลและความภาคภูมิใจ จนถึงอนาคตที่ไม่แน่นอน

วันมูหะมัดนอร์ มะทา ปกเฟซบุ๊ก VoicePolitics CB8A0FA.jpeg
  • ก่อนที่คุณจะเข้าสู่รัฐสภา สถานะของ ส.ส.มุสลิม ในสภาฯ เป็นอย่างไร

ตอนนั้น ส.ส.มุสลิมในสภาก็มีไม่ถึง 5 คน 2-3 คนเท่านั้น ผมเข้ามาปี 2522 ส.ส ทั้งสภาฯ มี 219 คน รู้สึกว่าที่เป็นมุสลิมจะมีไม่ถึง 5 คน  ผมติดตามสนใจการเมืองตั้งแต่สมัยยังเรียนหนังสือ ตอนนั้นมีนักการเมืองหลายคนไปบรรยายบ้าง สอนหนังสือบ้าง ที่ผมสนใจเป็นพิเศษคือท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรี ท่านก็ไปสอนเรื่องปรัชญา แต่ไม่ได้สอนคณะผม ผมเรียนอยู่คณะครุศาสตร์ ท่านไปสอนวิชาปรัชญาที่คณะสถาปัตยกรรม ก็มีเพื่อนๆ ที่เรียนมาบอกว่ามีชั่วโมง อ.คึกฤทธิ์ สอน ผมไปนั่งฟังก็ติดใจ เลยตามไปนั่งคุยกับท่านที่บ้าน ก็ได้รู้จักคุ้นเคยกัน 

ต่อมา อ.คึกฤทธิ์ ก็ตั้งพรรคการเมือง พรรคกิจสังคม ท่านได้เป็นนายกฯ ผมก็สนใจคิดว่าจะเล่นการเมือง ตอนนั้นผมเป็นอาจารย์อยู่ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ตำแหน่งสุดท้ายคือรองอธิการบดี อ.คึกฤทธิ์ ช่วงที่มีการปฏิวัติ ยุบสภา ท่านไม่สามารถจะเล่นการเมืองได้ ท่านก็ไปเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิชาไทยคดีศึกษา พร้อมกับก่อตั้งโขนธรรมศาสตร์ด้วย ผมมีโอกาสได้เชิญคณะโขนธรรมศาสตร์ไปเล่นที่สงขลา

ตอนนั้นท่าน วีระ มุสิกพงศ์ อดีตประธาน นปช. ก็เป็นหนึ่งในคณะโขนที่ไปเล่นด้วย ไปกัน 100 ชีวิต ก็ได้สนิทสนมกัน ท่านบอกว่า ถ้าเผื่อรัฐธรรมนูญร่างเสร็จเมื่อไหร่ จะมีการเลือกตั้ง ท่านอยากให้ผมช่วยดูแลผู้สมัครฯ ทางภาคใต้ ผมก็เลยมีความสนใจจะเป็นนักการเมืองตั้งแต่นั้น

วันมูหะมัดนอร์ VoicePolitics  C88D2B63FE15.jpeg
  • ภาพครั้งแรกในสภาฯ มีท่าทีระแวงระวัง ส.ส.มุสลิม บ้างหรือไม่

ไม่ถึงกับระแวงระวังมาก เพราะ ส.ส.ที่เป็นมุสลิมในยุคก่อนหน้าผม ส่วนใหญ่ก็เข้ามาเป็นพรรครัฐบาล เช่น ท่าน เจ๊ะอับดุลลาห์ หลังปูเต๊ะ ส.ส.สตูล หลายสมัย ท่านเป็นรัฐบาลตลอดในสมัยของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ถ้าผมจำไม่ผิด ท่านเคยเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นมุสลิมที่เป็นรัฐมนตรี อาจจะไม่ใช่ท่านแรกๆ แต่ก็อยู่ในระดับต้น

หลังจากนั้น ก็เริ่มมี ส.ส.มุสลิมในซีกฝ่ายค้านบ้าง ส่วนใหญ่เป็น ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ สิดดิก สารีฟ ส.ส.นราธิวาส ภายหลังสมัย ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ปี 2519 ได้จัดตั้งรัฐบาล สิดดิก สารีฟ ก็เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ถือเป็นรัฐมนตรีคนแรกของจังหวัดชายแดนภาคใต้ และรัฐมนตรีคนที่ 2 ของชายแดนภาคใต้ก็คือท่านเด่น โต๊ะมีนา มาเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขปี 2533

พี่เด่น ก็เป็น ส.ส.ปัตตานีหลายสมัย แล้วท่านก็เป็นกลุ่มเอกภาพ หรือกลุ่มวาดะห์ ซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2529 ตอนนั้นสังกัดในพรรคประชาธิปัตย์

  • ตอนนั้นความมุ่งหมายของการก่อตั้ง 'กลุ่มวาดะห์' คืออะไร

ก่อนหน้านั้น มี ส.ส มุสลิม 3-4 คน แต่อยู่คนละพรรค อยู่พรรครัฐบาลบ้าง พรรคฝ่ายค้านบ้าง ก็ไม่มีตำแหน่งหน้าที่สำคัญ และไม่สามารถผลักดันนโยบายเกี่ยวกับพี่น้องมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ เช่น ในด้านการศึกษาเรื่องความเป็นธรรมในการที่จะรักษาอัตลักษณ์ของตัวเองได้ และมักจะเป็นกลุ่มที่รัฐบาลส่วนกลางจะระแวงสงสัย

พวกเราจึงเห็นว่าถ้าแยกกันอยู่คนละพรรค คนละฝ่าย จะไม่มีพลัง ควรจะรวมสังกัดในทางเดียวกัน แม้จะคนละพรรค แต่อย่างน้อยก็ได้เป็นกลุ่มที่จะพบปะหารือกัน เพื่อกำหนดทิศทางการเมืองของนักการเมืองในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้ช่วยเหลือประชาชนได้มากยิ่งขึ้น

วันมูหะมัดนอร์ มะทา VoicePolitics  0C5-4B42B5A381E1.jpeg
  • สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ช่วงเวลานั้น มีความขัดแย้งรุนแรงเกิดขึ้นแล้วหรือไม่

ความขัดแย้งรุนแรงก็มีอยู่ประปรายโดยตลอด แต่ยังไม่มีการประกาศใช้กฎหมายพิเศษ หรือ พ.ร.บ.ว่าด้วยความมั่นคง คือกฎหมายในภาวะฉุกเฉิน แต่เรามีกฎหมายหนึ่งซึ่งประกาศใช้ในภาคใต้มาโดยตลอดคือ พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันคอมมิวนิสต์ พอเลิกคอมมิวนิสต์ ก็ใช้กฎหมาย กอ.รมน.ใช้กฎหมายพิเศษในภาคใต้มาโดยตลอด ภายหลังก็มีทั้งกฎหมายเรื่องความมั่นคง และยังมีกฎหมายในสถานการณ์ฉุกเฉินเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ตอนตั้งกลุ่มวาดะห์แรกๆ ก็ยังไม่มี แต่มีกฎหมายพิเศษแล้ว

ความจริงจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็เป็นจังหวัดหนึ่งใน 77 จังหวัดของประเทศไทย ก็ไม่น่าจะมีการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ ซึ่งบางครั้งทำให้เกิดความเดือดร้อนแก่พี่น้องประชาชน เพราะการบังคับใช้กฎหมายพิเศษทำให้เจ้าหน้าที่เพิ่มอำนาจพิเศษมากขึ้น บางครั้งก็ทำให้สิทธิเสรีภาพของชาวบ้านถูกละเมิดโดยไม่จำเป็น กลายเป็นปัญหา แทนที่จะเกิดความมั่นคง เกิดความสงบสุข อาจจะกลายเป็นความไม่สงบสุขขึ้นมาได้ เพราะเจ้าหน้าที่ไปละเมิดสิทธิของประชาชน

วันมูหะมัดนอร์ VoicePolitics  2-3AFD0F917238.jpeg
  • ฝ่ายความมั่นคงอ้างเหตุผลใดในการใช้กฎหมายพิเศษ

เขาอ้างเรื่องความสะดวกในการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็นการติดตามผู้ร้าย การล้อมจับชาวบ้าน การดำเนินการโดยไม่ขออนุญาตหมายจับ คือเอาความสะดวกของเจ้าหน้าที่เป็นที่ตั้ง มากกว่าจะมองเห็นว่าสิทธิเสรีภาพของประชาชนนั้นมีความสำคัญ เพราะประชาชนนั้นควรจะได้รับสิทธิคุ้มครองโดยกฎหมายฉบับเดียวกันทั่วประเทศ การประกาศภาวะสถานการณ์ฉุกเฉินที่จำเป็น ควรอยู่ในระยะเวลาสั้นๆ ไม่ใช่ว่าเป็น 10 ปีเหมือนกับกฎหมายฉุกเฉินที่ประกาศใช้ในภาคใต้ตอนนี้

จริงๆ แล้ว การที่จะดูแลเรื่องอาชญากรรมหรือความขัดแย้งต่างๆ ในประเทศนี้ กฎหมายทั่วไปก็ใช้ได้อยู่แล้ว เช่นกฎหมายอาญา แต่รัฐบาลเลือกใช้วิธีให้รัฐบาลสะดวก ให้พี่น้องประชาชนไม่สะดวก จึงยิ่งเพิ่มความไม่เข้าใจระหว่างกันมากยิ่งขึ้น

คดีของหะยีสุหลง อับดุลกอเดร์ โต๊ะมีนา ผู้นำทางศาสนาและการเมืองคนสำคัญของปาตานี เป็นคดีตัวอย่างที่มองเห็นว่าอำนาจของรัฐนั้น ใช้ความรุนแรง และไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมาย ทำให้ท่านหะยีสุหลงต้องเสียชีวิต ในขณะที่ถูกจับกุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ ท่านอยู่ในความควบคุม เจ้าหน้าที่ของรัฐเรียกท่านมาสอบสวน แล้วท่านก็หายไป ในที่สุดก็พบว่า ศพถูกจับไปถ่วงน้ำในทะเลสาบสงขลา ถึงแม้ว่าเจ้าหน้าที่จะไม่ยอมรับว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ แต่ก็ไม่พ้นจากความรับผิดชอบ เพราะเมื่อเจ้าหน้าที่เรียกไปสอบสวน แล้วอ้างว่าสอบสวนเสร็จแล้วปล่อยกลับมา ซึ่งถ้าปล่อยกลับมา ทำไมถึงเสียชีวิต

ชาวบ้านก็ไม่รู้ว่าเสียชีวิตในตอนไหน แต่ทุกคนก็รู้ว่าเสียชีวิตโดยกระบวนการของเจ้าหน้าที่ แต่ประชาชนก็ไม่มีหลักฐานจะทำอะไรได้ ซึ่งทำให้คดีนี้คนกระทำความผิดลอยนวล เช่นเดียวกับหลายๆ คดีที่ประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรม และเจ้าหน้าที่ก็ลอยนวลไป ซึ่งเป็นแผลลึกในหัวใจของพี่น้องประชาชน และแผลนั้นก็ขยายมาจนถึงทุกวันนี้

นี่ก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ผมในฐานะครู ก็ต้องหันมาสนใจการเมือง เพราะคิดว่าความไม่เป็นธรรมทั้งหลายนั้น สามารถแก้ได้ด้วยการเมืองที่เป็นธรรม 

พยายามต่อสู้มาโดยตลอด ถึงแม้ว่าจะไม่สำเร็จ แต่ก็ทำให้สถานการณ์ต่างๆ นั้น ไม่หนักลงไป อย่างน้อยที่สุดก็มีผู้แทนของประชาชนที่เป็นปากเป็นเสียง ต่อสู้ความอยุติธรรมทั้งหลายให้พี่น้องประชาชนได้ ผู้แทนฯ ไม่ได้มีหน้าที่ในการต่อสู้กับรัฐเพื่อความยุติธรรมเท่านั้น ผู้แทนยังมีหน้าที่ต่างๆอีกมากมาย เช่น จัดทำกฎหมายที่จะเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชน หรือจัดการศึกษา ดูแลการศึกษาในพื้นที่ ให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน เมื่อการศึกษาดีขึ้น ความสงบก็ดีขึ้นกว่าเดิมมาก เศรษฐกิจก็ดีขึ้น การพัฒนาในพื้นที่ก็ดีขึ้นมาตามลำดับ

ดังนั้น การเมืองก็มีส่วนในการพัฒนาสถานการณ์ต่างๆ อย่างน้อย การเมืองที่ดีก็สามารถทำให้ประชาชนลืมตาอ้าปาก และมีการพัฒนาในทางที่สร้างสรรค์มากยิ่งขึ้น

วันมูหะมัดนอร์ มะทา VoicePolitics  E-AE0EAFAB30BD.jpeg
หลายคดีที่ประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรม และเจ้าหน้าที่ก็ลอยนวลไป ซึ่งมันเป็นแผลลึกในหัวใจของพี่น้องประชาชน และแผลนั้นก็ขยายมาจนถึงทุกวันนี้
  • ผ่านเส้นทางการเมืองมายาวนาน มองว่าบทบาทใดที่ภาคภูมิใจที่สุด

ผมอยู่ในวงการเมืองนี้ประมาณ 43 ปี เป็นทั้ง ส.ส. ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล อยู่ในตำแหน่งฝ่ายบริหาร ตั้งแต่รัฐมนตรีช่วย รัฐมนตรีว่าการ 3 กระทรวง และที่มีความภาคภูมิใจในฐานะที่เป็น ส.ส.มุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือการที่ได้มาเป็นประมุขของฝ่ายนิติบัญญัติ คือเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานรัฐสภา ตั้งแต่ปี 2539-2543 

ตำแหน่งประธานรัฐสภานี้เป็นคนแรกของมุสลิม ในรัฐสภาไทย การเป็นประมุขฝ่ายนิติบัญญัติมุสลิมช่วยพี่น้องประชาชนและชาติบ้านเมือง ในเรื่องของภาพรวมต่างๆ ของประเทศชาติ ก็ทำให้ประเทศมุสลิมในโลกนี้ซึ่งมีประมาณ 60 กว่าประเทศ มีความเข้าใจกับประเทศไทยดีขึ้น ว่าประเทศไทยถึงแม้มุสลิมจะไม่มาก แต่ก็ให้สิทธิเสรีภาพกับประชาชนที่นับถือศาสนาอิสลาม หรือศาสนิกอื่นได้อย่างเพียงพอ ข้อกล่าวหาของฝ่ายตรงข้ามที่ว่ารัฐบาลไม่จริงใจกับชาวมุสลิมนั้น ก็ลดลงไปได้มากพอสมควร

วันมูหะมัดนอร์ VoicePolitics  E5FFEEDEF.jpeg
  • ในฐานะอดีตประธานสภาฯ ขอให้ชวนมองสภาพของสภาฯ ในปัจจุบัน ว่ามีความเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง

สภาฯ ของเราในยุคนี้ ในฐานะที่ผมเคยอยู่สภาฯ นี้มานานพอสมควร ก็น่าเสียดายที่มีพวกเราเอง ทั้งเป็นสมาชิกสภาฯ และผู้มีอำนาจจากรัฐบาล มาพยายามทำให้คุณภาพ เกียรติและศักดิ์ศรีของสภาฯ ลดลงไป การที่มาซื้อสมาชิกสภาฯ ให้เปลี่ยนพรรค เปลี่ยนพวก เปลี่ยนฝ่าย ยกมือให้ โดยมีข้อนินทาว่า มีการใช้เงินใช้ทอง หรือที่เรียกว่ามีการแจกกล้วยนั้น ไม่ควรจะมีในสภาฯ อันทรงเกียรตินี้ได้ เพราะสภาฯ นั้นถือว่าเป็นสถาบันของประชาชนสูงสุด ผู้แทนฯ ก็เลือกตั้งมาจากประชาชนเพื่อทำหน้าที่ออกกฎหมาย ควบคุมรัฐบาล แต่หากผู้แทนไม่สร้างความเชื่อถือ มีข้อครหานินทาเรื่องการซื้อเสียงขายเสียงเอง ก็เป็นการทำลายภาพพจน์ของสภาฯ 

แต่ผมเชื่อมั่นใน 40 ปีที่ผ่านมา ว่าไม่เคยมี ส.ส.คนใดที่มาขายตัว แลกเปลี่ยนอามิสสินจ้างในสภาฯ แล้วจะสามารถดำรงตำแหน่งในฐานะผู้แทนประชาชนยืนยาวได้ พูดภาษาง่ายๆ ว่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ลงโทษ พระเจ้าลงโทษ แต่จริงๆ คือประชาชนเขาลงโทษ เราอย่าไปดูถูกว่าประชาชนเขาไม่ฉลาดพอ ประชาชนเขากินข้าว เขาไม่ได้กินหญ้า 

คนที่กินกล้วยเขาคิดว่าเอาไปแจกต่อได้ ได้เงินแจกต่อ แต่ความจริงคือถ้าประชาชนเขาไม่ศรัทธา ไม่ได้กลับมาสภาฯ เรียกได้ว่า ถ้ากระแสตก ยิงด้วยกระสุน กระสุนด้านหมด เชื่อผมเถิด แต่บางคนก็ไม่เคยมีประสบการณ์ ไม่เคยเห็นอย่างนี้ ผมเคยเห็นมามากต่อมากแล้ว ทั้งที่เรียกสมัยก่อนว่า ไอ้ ส.ส.หนังหมาบ้าง ไม่มีใครเกิดมารอบสองรอบสามได้เลย ไม่หลุดรอดมาได้เลย 

เราจะเห็นว่าคนเก่าๆ เขาไม่ค่อยปฏิบัติกัน คนที่อยู่สภาฯ มานานๆ เขาถือว่าประชาชนคือเจ้าของสิทธิ เรามาเป็นผู้แทนเขาเท่านั้นเอง ทำไม เราอดอยากอย่างไร จึงต้องขายสิทธิ ขายประชาชนทั้งจังหวัดเรา ทั้งเขตเรา ทำไมเราต้องทำอย่างนั้น ลองตอบตัวเองซิ ผู้แทนฯ สมัยก่อนเงินเดือนยังน้อยนะ เงินเดือนแค่ 15,000 บาท เดี๋ยวนี้เงินเดือนแสนกว่า

ท่านทำอย่างนี้คล้ายกับว่าลืมข้าวแดงแกงร้อนของประชาชน ผมรับไม่ได้กับการกระทำแบบนี้ ในฐานะที่เป็นผู้แทนฯ เก่า เป็นรุ่นพี่ก็ได้ ผมอยากให้ประชาชนได้ช่วยกันกลั่นกรองและสั่งสอนคนที่จะเป็นผู้แทนฯ ของท่านว่าอย่าทำอย่างนี้ ด้วยการอย่าเลือกคนประเภทนี้เข้ามาในสภา

วันมูหะมัดนอร์ มะทา VoicePolitics  89A202D9.jpeg
ถ้าประชาชนเขาไม่ศรัทธา ไม่ได้กลับมาสภาฯ เรียกได้ว่า ถ้ากระแสตก ยิงด้วยกระสุน กระสุนด้านหมด
  • หลายฝ่ายมองว่าแม้จะกลั่นกรอง ส.ส.อย่างไร ในรัฐสภาก็ยังมีตัวแปรสำคัญคือ 250 ส.ว. อยู่ดี

ส่วนนี้ควรแยกพิจารณาออกเป็นอีกประเด็นหนึ่ง ความไม่สง่างามของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ที่ร่างโดยฝ่ายเผด็จการที่ต้องการสืบทอดอำนาจ คือการกำหนดให้มี ส.ว. 250 คน โดยมีผู้สืบทอดอำนาจเป็นคนแต่งตั้งเข้ามา เพื่อให้เขาได้สืบทอดอำนาจต่อไป ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญมาตรา 272 

อย่างไรก็ตาม ส.ว.ก็มีหน้าที่ในการเลือกนายกรัฐมนตรีได้แค่ 5 ปี คือได้เลือกครั้งเดียว หลังจากนั้นไม่ได้เลือก แต่การเป็น ส.ว.นั้นไม่สามารถจะลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาลได้ ไม่สามารถอนุมัติงบประมาณของประเทศโดยไม่ผ่าน ส.ส.ได้ เป็นเงื่อนไขที่สำคัญ หาก ส.ส.จำนวน 500 คน เกินกว่า 250 มาเลือกนายกรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเผด็จการ ส.ว.ก็ทำอะไรไม่ได้ 

สมมติฝ่ายประชาธิปไตย เรียกแบบนี้แล้วกัน ได้ 250 เสียง หรือมากกว่านั้น แล้วได้เป็นรัฐบาล ส.ว.จะไปเลือกคนอื่น ก็คงเลือกไม่ได้ เพราะอยู่ไม่กี่วันก็ลงมติไม่ไว้วางใจ รัฐบาลตกไป ดังนั้น เงื่อนไขนี้หากฝ่ายประชาธิปไตยเป็นกลุ่มเป็นก้อน แต่การที่ ส.ว. 250 คนยืนอยู่ ทำให้การรวมคะแนนของทางนี้เป็นไปได้ยากหน่อย เพราะทางฝ่ายนั้นเขาถือว่า ถ้าเขาได้ไม่ถึงครึ่งแต่ ส.ว. ช่วยให้ ก็ได้เป็นนายกฯ แล้วที่เหลือค่อยซื้อเอา ค่อยๆ หว่านให้เข้ามาอยู่ เพราะกฎหมายรัฐธรรมนูญไม่ได้ห้ามการเปลี่ยนพรรค เวลาโหวตจึงไม่จำเป็นต้องตามพรรค โหวตไปข้างรัฐบาล เอาตามรัฐบาลไปก่อน พอพรรคเขาขับไล่ เขาก็ย้ายไปอยู่ฝั่งรัฐบาล

เพราะฉะนั้น ความเป็นประชาธิปไตยของประเทศ ต้องเริ่มต้นด้วยรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญฉบับนี้ เรื่อง ส.ว. 250 คน โดยการคัดเลือกจากผู้มีอำนาจไว้สืบทอดอำนาจ ก็เป็นข้อหนึ่งในหลายข้อที่ยังไม่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งต้องมีการแก้ไขในโอกาสต่อไป

วันมูหะมัดนอร์ VoicePolitics  B1F94C8.jpeg
  • สำหรับรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2540 ที่ได้รับเสียงชื่นชมว่ามีความเป็นประชาธิปไตยที่สุด ส่วนตัวมองว่าคุณูปการของรัฐธรรมนูญฉบับนี้คืออะไร

ในฐานะคนที่ผ่านรัฐธรรมนูญมาหลายฉบับ ผมคิดว่ารัฐธรรมนูญฉบับ 2540 เป็นฉบับที่เป็น ประชาธิปไตยมากที่สุด เพราะไม่มีความกดดันจากฝ่ายใดๆ เกิดจากการเลือกตั้งของประชาชน และผู้ทรงคุณวุฒิต่างๆ ของประเทศนี้ เข้ามาช่วยกันร่างขึ้นมา และในช่วงแรกก็มีการไปทำประชาพิจารณ์ในเวทีต่างๆ ทั้งในมหาวิทยาลัย ไปจนถึงในต่างจังหวัดเกือบทุกจังหวัด เมื่อได้ฟังแล้วก็ย้อนกลับมาแก้ไขกันหลายรอบ จนได้รัฐธรรมนูญที่เห็นว่าเป็นประชาธิปไตย และประชาชนได้มีความพึงพอใจมากที่สุด และให้สิทธิเสรีภาพใหม่ๆ แก่ประชาชน มีองค์กรอิสระดูแลในด้านต่างๆ อยู่มากด้วยกัน 

ผมไม่เคยคิดว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะถูกฉีกทิ้ง ในความรู้สึกของผมนะ เพราะว่าใช้มาเมื่อปี 2540 ประกาศใช้มาเกือบ 10 ปี ยังไม่ถึง 10 ปีดี ทั้งที่ใช้ไปก็มีปัญหาน้อย แต่แน่นอนรัฐธรรมนูญทุกฉบับจะบอกว่าสมบูรณ์ 100% คงไม่มี แต่ข้อบกพร่องเหล่านั้นน่าจะได้รับการแก้ไขในประเด็นต่างๆ ให้ดีขึ้น ไม่ใช่ไปฉีกทิ้งล้มล้างด้วยการปฏิวัติ 

ตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา บ้านเมืองที่กำลังจะเดินหน้าไปด้วยดี ประเทศเราในตอนนั้น เรียกได้ว่าเป็นผู้นำในภูมิภาคอาเซียน ประชาธิปไตยเราก็นำ เศรษฐกิจเราก็นำ การศึกษาเราก็ไม่ด้อยกว่าชาติอื่น ความเป็นประชาธิปไตยของเราก็ดีขึ้นมาตามลำดับ จนประเทศอื่นๆ ก็ยังต้องมาดู

น่าเสียดาย เราต้องถอยหลังไปหลายก้าว เสียดายรัฐธรรมนูญซึ่งเราคิดว่าดีที่สุด เท่าที่ประเทศไทยเราเคยมี และเป็นรัฐธรรมนูญที่มาจากพี่น้องประชาชนทั้งประเทศ และผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหลาย ไม่ใช่รัฐธรรมนูญที่มีคณะปฏิวัติผู้ถืออำนาจร่างขึ้นมา เพื่อเปิดทางให้สืบทอดอำนาจต่อไป

วันมูหะมัดนอร์ มะทา VoicePolitics  B69CD108F.jpeg

แต่ผมไม่ได้พูดว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ดีที่สุดแล้ว ไม่ต้องแก้ไขอะไร ผมเห็นว่าเมื่อเราใช้ไประยะหนึ่ง ก็มีข้อบกพร่องที่ควรได้รับการแก้ไขบ้างเล็กๆน้อยๆ ก็ควรที่จะหาทางออกด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนเหล่านี้ แต่บางส่วนที่มองว่าบกพร่อง ก็ไม่ได้เกิดจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แต่เกิดจากการที่ผู้ปฏิบัติไม่ปฏิบัติให้ตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ จะมีปัญหา เราต้องแก้ 2 ทางก็คือ 

1. ถ้าเป็นปัญหาจากรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีบ้างไม่มาก ก็ควรแก้ไขรัฐธรรมนูญ

2. ถ้าเป็นเรื่องของผู้ปฏิบัติ ก็ควรจะแก้ที่ผู้ปฏิบัติให้ปฏิบัติตามกฎหมายรัฐธรรมนูญให้ชัดเจนขึ้น และถ้าไม่มีการปฏิวัติรัฐประหาร การเลือกตั้งดำเนินการไปต่อเนื่อง ผมว่าทุกอย่างจะค่อยๆ ดีขึ้นไปตามลำดับ

แน่นอนว่าคนไม่ดีเข้ามา อยู่สักพักหนึ่งก็ต้องไป เพราะประชาชนไม่เลือก แต่ถ้ารัฐธรรมนูญสืบทอดอำนาจเผด็จการ ไม่รู้จะแก้ไขยังไง เพราะเขียนช่องทางกฎหมายเพื่อให้กับผู้มีอำนาจ ร่างขึ้นมาให้มีอำนาจตลอด อย่างนี้ประชาชนก็ตกอยู่ในที่นั่งลำบาก คืออะไรไม่พอใจก็แก้ไขไม่ได้

  • ปัจจุบันนี้เริ่มมีความพยายามเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับอีกครั้ง มองว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยอย่างไร

รัฐธรรมนูญบางฉบับก็มีมุมที่ดี บางฉบับก็มีบางข้อที่ไม่ถูกต้อง ตามกาลสมัยก็ต้องได้รับการแก้ไข การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีอยู่ โดยเฉพาะปัจจุบันปี 2560 นั้นยาก เพราะเกี่ยวโยงกันทั้งหมด ตั้งแต่บทที่ 1 ไปจนถึงบทที่ 379 เกี่ยวโยงกันเกือบหมด รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีบทเฉพาะกาลเยอะที่สุด ก็ไม่รู้จะแก้ยังไง เพราะมันเกี่ยวโยงกันทั้งหมด ถ้าแก้ก็ต้องแก้เยอะ 

ดีที่สุดคือให้ประชาชนมาแก้ไข โดยเอาความดีงามของรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับที่เราร่างมา 10-20 กว่าฉบับ มาดู ก็เอาข้อดีเหล่านั้นมาใส่ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ แต่ขอให้ประชาชนเขาเป็นคนมาร่างใหม่ ซึ่งผมเห็นว่าควรต้องทำทั้งฉบับ แต่ไม่จำเป็นต้องมีมาตราเยอะ เกือบ 400 มาตราเหมือนปัจจุบันนี้ ผมว่าเอาที่จำเป็นจริงๆ เพราะรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายแม่บท แต่เดิมก็จะมี 200 กว่ามาตรา ไม่ต้องไปถึง 379 มาตรา ความจริงไม่ถึง 200 มาตราก็ยังได้เลย เอาหลักๆ ส่วนที่ย่อยก็ไปอยู่ในกฎหมายลูก ก็น่าจะเป็นประโยชน์ 

ทีนี้ ถ้าคิดจะแก้แบบใน 2 รอบที่แล้ว เรียกว่าแก้ไม่สุด ก็มีปัญหา แล้วก็ไม่รู้ว่าคนที่มาแก้คือใคร ผมคิดว่าต้องให้ประชาชนแก้ หากให้สภาฯ แก้ สภาฯ ก็มีส่วนได้ส่วนเสียของตัวเอง คนบางส่วนก็มองว่าไม่ถูกต้อง ควรมาจากคนที่มาจากประชาชนโดยตรงให้ประชาชนเลือก ไม่เกี่ยวกับสภาฯ แล้วมาลงมติขั้นสุดท้ายว่าจะเอาหรือไม่เอา ก็มีกติกาอยู่ชัดเจนว่าจะหาด้วยเสียงเท่าไหร่ ก็คงจะไม่มีปัญหา จะได้เหมือนครั้งรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ซึ่งดีที่สุด เราเคยทำมาแล้ว

  • เมื่อไม่กี่ปีก่อน คุณเคยพูดถึงการเตรียมตัววางมือจากการเมือง จนถึงตอนนี้ ความคิดนั้นยังมีอยู่หรือไม่

ความจริงเดิมผมก็มีความคิดว่า คนเราเมื่ออายุเกิน 60 ปี ควรจะให้รางวัลกับชีวิตเหมือนคนทั่วๆ ไป ได้มีโอกาสพักผ่อน ไปทำงานในส่วนที่ชอบ แต่เมื่อผมอยู่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัญหายังไม่หมด พี่น้องประชาชนก็มักจะไปขอร้องว่า ให้ทำไประยะหนึ่ง จนกว่าจะมีคนที่มีความเข้มแข็งทำงานอีกหลายๆ คน ความจริงผมไม่ใช่เป็นคนเก่งมากมายอะไรเพียงแต่ว่าอยู่นานก็มีประสบการณ์ และการทำงานด้านการบริหารประเทศ ผมคิดว่าน่าจะเป็นการเพียงพอ

แต่ช่วงที่มีการร่างรัฐธรรมนูญ 2560 ประชาชนทั้งหลายก็ไม่พึงพอใจต่อการร่างรัฐธรรมนูญ ต่อการปกครองด้วยระบบที่ยึดอำนาจ ปล้นอำนาจจากประชาชนมา ก็อยากให้มีพรรคการเมืองที่มาต่อสู้เรื่องนี้ ทางพี่น้องจังหวัดชายแดนภาคใต้และมุสลิมอีกหลายคน ก็พยายามผลักดันการเมืองที่เป็นอัตลักษณ์ของชนกลุ่มน้อยต่างๆ จึงได้ตั้งพรรคประชาชาติขึ้นมา

ผมเป็นคนที่มีความอาวุโสมากที่สุด เขาจึงขอร้องให้รับตำแหน่งหัวหน้าพรรคไปก่อน แล้วคิดว่าในระยะเวลาหนึ่ง ผมก็คงต้องทำหน้าที่เพื่อจะผลักดันให้พรรคประชาชาติกลายเป็นพรรคที่จะรักษาประชาธิปไตย และให้สิทธิเสรีภาพกับพี่น้องประชาชนที่เป็นคนกลุ่มน้อยของประเทศนี้ ไม่ว่าจะเป็นชาติพันธุ์ใดๆ อยู่มุมใดของประเทศ สมควรที่จะได้รับสิทธิเช่นเดียวกับประชาชนกลุ่มใหญ่ของประเทศ 

วันมูหะมัดนอร์ _DSC4446.jpg

หากว่าทำเรื่องนี้ไปสำเร็จ และมีคนรับช่วงต่อไป ผมก็จะค่อยๆ ถอยไป แต่ผมก็โชคดีที่พระเจ้าให้ผมมีสุขภาพที่ดี 78 ปี ก็ยังโลดแล่นเดินทางไปไหนมาไหนได้ อยากจะยึดคำพูดของผู้อาวุโสทางการเมืองคนหนึ่งซึ่งผมรู้จักดี คือ ดร.มหาเธร์ มูฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย 2 สมัย ท่านบอกว่า สุขภาพไม่สำคัญ ถ้าเรายังแข็งแรงอยู่ แปลว่าพระเจ้าต้องการให้เราทำงานเพื่อประชาชนอยู่ แต่ถ้าเราหยุดพักการทำงานเมื่อไหร่ สมองเราก็จะฝ่อ เหมือนมีดที่ไม่ได้ใช้ ตั้งไว้เฉยๆ ไม่ฟัน ไม่อะไร ก็จะขึ้นสนิม

เพราะฉะนั้น ถ้าร่างกายเราแข็งแรง สมองเรายังดีอยู่ เราก็ไม่ควรจะอยู่เฉยๆ อะไรที่ช่วยเหลือประชาชนได้ ก็คิดว่าเป็นการกำหนดที่พระเจ้าจะให้เราทำ แต่เราต้องทำงานที่เป็นประโยชน์กับประชาชนและประเทศชาติ ไม่ใช่ทำงานเพื่ออำนาจของตัวเองและพวกพ้อง

"ในฐานะที่เป็นผู้แทนฯ เก่า เป็นรุ่นพี่ก็ได้ ผมอยากให้ประชาชนได้ช่วยกันกลั่นกรองและสั่งสอนคนที่จะเป็นผู้แทนฯ ของท่านว่าอย่าทำอย่างนี้ ด้วยการอย่าเลือกคนประเภทนี้เข้ามาในสภา"
  • หมายความว่ายังไม่มีความคิดจะวางมือในเวลานี้ จำเป็นต้องทำงานการเมืองต่อไปก่อน

ก็ในระยะเวลาหนึ่ง

วันมูหะมัดนอร์ ประชาชาติ DSC4457.jpg

ภาพ : วิทวัส มณีจักร, ณปกรณ์ ชื่นตา

ชยพล มาลานิยม
18Article
0Video
0Blog