วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณี ผลการวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ภายหลังว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม จะเป็นนายกฯได้แค่อีก 2 ปี ถึงปี 2568 ข้อเท็จจริงจะเป็นเช่นนั้นหรือไม่ โดย วิษณุ ย้อนถามสื่อว่า “แล้วทำไมจะไม่ยุติ”
เมื่อถามว่า มีนักกฎหมายระบุว่าเมื่อถึงเวลานั้นอาจตีความได้เกิน 2 ปี วิษณุ กล่าวว่า ไม่มีอะไรจะตีความแล้ว ในเมื่อศาลบอกว่าเริ่มต้นเมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ เหตุที่เริ่มวันนั้นอธิบายชัดเจน ศาลไม่ได้บอกว่าจะไปหมดเมื่อไหร่ แต่ศาลบอกว่าเริ่มเมื่อใด และเมื่อระบุจุดเริ่มต้นก็จะเข้ามาตรา 158 วรรค 4 ที่ระบุว่า นายกรัฐมนตรีจะดํารงตําแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดํารงตําแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตําแหน่ง ถือว่าเป็นข้อยุติโดยสิ้นเชิง
เมื่อถามต่อว่า หากพล.อ.ประยุทธ์ สามารถกลับมาเป็นนายกฯได้อีกครั้ง พอถึงปี 68 ไม่จำเป็นต้องตีความอีกใช่หรือไม่ วิษณุ กล่าวว่า “ไม่ต้องร้องแล้ว แต่ก็อาจจะมีการร้องกันอีก คือผมหาเรื่องพูดเพราะว่าในมาตรา 158 เขาบอกว่า 8 ปี ไม่ได้นับเวลารักษาการ สมมติว่ามีการรักษาการ 5 เดือน 8 เดือน 10 เดือน แต่บางคนอาจบอกว่าต้องออกเลยหากครบ 8 ปี จากที่ศาลบอกให้เริ่มนับ ขณะที่อีกฝ่ายบอกไม่ออกยังไงก็ต้องอยู่"
เมื่อถามว่า นักกฎหมายบางคนยังอ้างมาตรา 159 ที่ระบุถึงกระบวนการได้มาของนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ 60 อาจทำให้ตีความให้อยู่ต่อไปอีกได้ วิษณุ กล่าวว่า ใช่ แต่ตนมองว่าเป็นประเด็นเล็กๆ ไม่ใช่เรื่องใหญ่ พอแล้วไม่ต้องอยู่ได้แล้ว
วิษณุ กล่าวถึงกรณี ครม.มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงการได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของคนต่างด้าว ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดคนต่างด้าวที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้กลุ่มคนต่างชาติ ที่มีศักยภาพสูง 4 ประเภท เข้ามาซื้อที่ดินได้ไม่เกิน 1 ไร่ ที่กำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ ว่า แม้ ครม.จะมีมติอนุมัติในหลักการไปแล้ว แต่ยังสามารถมีการทบทวนร่างกฎกระทรวงดังกล่าวได้ จากนี้ ครม.จะต้องส่งไปให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา และเมื่อตรวจสอบเสร็จแล้วต้องส่งกลับมาที่ ครม.อีกครั้ง ส่วนที่มีการเสนอความคิดเห็นต่างๆเข้ามา ก็สามารถเสนอเข้ามาได้
วิษณุ กล่าวว่า เมื่อใดก็ตามที่มีการพูดถึงเรื่อง การให้คนต่างชาติเข้ามาซื้อที่ดินในประเทศไทย จะเป็นปัญหามาตลอด ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยรัฐบาล พล.อ.ชาติชายชุณหะวัน ปี 2531 ต่อมาปี 2545 ก็ได้มีการร่างกฎกระทรวงออกมาในรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งกำหนดให้คนต่างชาติที่มีเงินลงทุน 40 ล้านบาทขึ้นไปสามารถเข้ามาซื้อที่ดินได้คนละไม่เกิน 1 ไร่ เพื่อการอยู่อาศัย รวมถึงมีการกำหนดหลักเกณฑ์ต่างๆ ตั้งแต่ปี 2545 มาจนถึงปัจจุบันนี้ก็เป็นเวลานานพอสมควร หลักเกณฑ์เดิมที่เคยมีในตอนนั้นบางเรื่องถือว่าตึงเกินไป แต่บางเรื่องก็หละหลวมเกินไป เราจึงอยากจำกัดหลักเกณฑ์ผู้ที่มาซื้อที่ดินในประเทศ ว่าไม่ใช่ให้ใครก็ได้เพียงแค่มีเงิน 40 ล้านบาท จึงได้กำหนดกลุ่มคนต่างชาติ 4 ประเภท เพื่อกำหนดคนผู้ได้รับสิทธิ์ให้วงแคบลง
วิษณุ กล่าวว่า ขณะเดียวกันมีการเพิ่มเงื่อนไข หรือปรับบางอย่างก็ได้ อย่างไรก็ตามที่ออกมาแสดงความคิดเห็นกันในขณะนี้ บางคนก็เสนอให้มีการเติมเงื่อนไข ซึ่งรัฐบาลยินดีรับไว้พิจารณา อาทิ ข้อเสนอที่ห้ามมีการนำไปขายต่อ ห้ามมิให้ผู้ซื้อที่ดินนำที่ดินมาต่อรวมกัน
เมื่อถามว่า มีบางฝ่ายเสนอให้ปรับหลักเกณฑ์ จาก 40 ล้านบาทให้เป็น 100 ล้านบาท วิษณุ กล่าวว่า ตนไม่ทราบ ต้องให้ผู้ที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาอีกครั้ง รัฐบาลหวังเพียงอยากให้มีคนที่มีศักยภาพเข้ามาลงทุน และคิดว่าข้อกำหนดเรื่องจำนวนเงิน 40 ล้านบาท ก็คิดว่าน่าจะมากพอหากเป็นเรื่องของการก่อสร้าง แต่ถ้าจะไปนับรวมที่ดินกับสิ่งปลูกสร้าง ก็อาจจะมีการกำหนดโดยแยกรายละเอียดอีกครั้ง ว่าแต่ละส่วนนั้นต้องมีมูลค่าเท่าไหร่อย่างไร
เมื่อถามว่า หลักเกณฑ์ที่กำหนดว่าจะต้องเป็นผู้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยไม่ต่ำกว่า 3 ปี ที่ลดลงมาจาก 5 ปีแล้วนั้น คิดว่าจะต้องกลับไปเป็นตามหลักเกณฑ์เดิมได้หรือไม่ วิษณุ กล่าวว่า กำลังดูแนวโน้มจากกรณีของต่างประเทศว่าเขามีการลดหย่อนกันอย่างไร
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีนักธุรกิจบางรายเสนอให้ใช้สกุลเงินดอลล่าร์สหรัฐ แทนเงินบาท วิษณุ กล่าวว่า ตนไม่ทราบ
เมื่อถามว่า บางฝ่ายแสดงความกังวลเรื่องใช้นอมินี หรือบางคนปลอมแปลงคุณสมบัติตัวเองเพื่อให้เข้าหลักเกณฑ์ เพื่อมีสิทธิ์ซื้อที่ดินในประเทศไทยตามหลักเกณฑ์ของกฎกระทรวงดังกล่าว วิษณุ กล่าวว่า เรื่องนอมินี มีมาตั้งแต่ปี 2470 จึงทำให้เกิดปัญหา อาทิ กรณีหญิงไทยมีสามีเป็นชาวต่างชาติ แล้วสามีให้ภรรยาชาวไทยเป็นผู้ซื้อที่ดินแทนด้วยเงินของสามี อย่างนี้ก็เรียกว่า นอมินี ชนิดหนึ่ง
ผู้สื่อข่าวถามว่า กฎกระทรวงฉบับปี 2545 มีชาวต่างชาติที่เข้าหลักเกณฑ์มาซื้อที่ดินในไทย เพียง 8 ราย วิษณุ กล่าวว่า อันที่จริงมีชาวต่างชาติเข้ามาซื้อมากกว่านั้น แต่ที่พบเป็นชิ้นอันรวมแล้ว 100 กว่าตารางวา ส่วนกรณีที่มีการพูดกันว่ามี 8 ราย เป็นกรณีที่มีผู้ซื้อรายละ 1 ไร่ แต่ผู้ที่มาซื้อที่พักอาศัยอยู่ในบ้านจัดสรรพื้นที่เป็น100ตารางวานั้น มีจำนวนมากมายเหลือเกิน และที่สำคัญเรื่องของคอนโดมิเนียมก็มีชาวต่างชาติเข้ามาซื้อตั้งนานแล้ว
ผู้สื่อข่าวถามว่า เกณฑ์ปัจจุบันที่อยู่ในร่างกฎกระทรวงมหาดไทย จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องนอมินีได้หรือไม่ วิษณุ กล่าวว่า เขายังต้องมีการพิจารณาอีกมาก เพราะร่างดังกล่าวเป็นเพียงร่างแรก ทุกครั้งที่เราพูดถึงกันเรื่องขายที่ดินให้ชาวต่างชาติ ก็มักจะมีการพูดถึงเรื่อง ขายชาติ และจะมีอีกฝ่ายออกมาตอบโต้ว่าไม่ใช่การขายชาติ เพราะ คนต่างชาติเหล่านั้นก็ไม่สามารถนำที่ดินหนีบรักแร้กลับไปประเทศของเขาได้ จึงมีการเถียงกันอย่างนี้มาตลอด ตนอยู่มาตั้งแต่สมัย พล.อ.ชาติชาย ที่เสนอเรื่องนี้ แต่ในตอนนั้นทำไม่สำเร็จจึงได้เลิกไป จนกระทั่งมาถึงรัฐบาล ทักษิณ ก็ทำได้สำเร็จ และบังคับใช้เรื่อยมา การปรับเกณฑ์ก็เพราะอยากให้เพิ่มจำนวนคนซื้อ มากขึ้น
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากรัฐบาลเปลี่ยนใจให้พักเรื่องนี้ไปก่อน จะส่งผลอย่างไรหรือไม่ เนื่องจากขณะนี้มีกระแสต่อต้านมาก วิษณุ กล่าวว่า ถ้ามีกระแสต้านเข้ามามาก รัฐบาลก็จะนำมาพิจารณา แต่อย่างไรก็ตาม มีทั้งเสียงเรียกร้องและเสียงคัดค้านเรื่องดังกล่าว