ไม่พบผลการค้นหา
การเลือกตั้งทั่วไปของอิตาลีในสัปดาห์ที่ผ่านมาจบลงด้วยชัยชนะของ จิออร์เจีย เมโลนี นักการเมืองหญิงสายขวาจัดจากพรรคพี่น้องแห่งอิตาลี (FdL) ซึ่งก่อตั้งพันธมิตรทางการเมือง ร่วมกับพรรคลีกา ของมาเตโอ ซัลวินี และพรรคฟอร์ซา อิตาเลีย ของอดีตนายกรัฐมนตรี ซิลวิโอ แบร์ลุสโกนี ด้วยคะแนนเสียง 44% จากผลโหวตทั้งหมด รัฐบาลร่วมสายขวาจัดของเมโลนีจะถือเสียงข้างมากในทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา และเธอจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปของอิตาลี

‘วอยซ์’ ชวนจับตามองทิศทางความเปลี่ยนแปลง ที่จะเกิดขึ้นในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านของอิตาลีที่เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในตัวแสดงที่สำคัญของสหภาพยุโรปนี้ รวมถึงสำรวจความท้าทายของการเมืองอิตาลีซึ่งมีลักษณะเฉพาะตัว

 

อนาคตของอิตาลีและยุโรปภายใต้ ‘เมโลนี’

การเข้าดำรงตำแหน่งของเมโลนี ซึ่งมีแนวคิดแบบขวาจัด จะส่งผลกระทบต่อทิศทางนโยบายของอิตาลีทั้งในประเทศและนอกประเทศหลายประการ แม้ในปัจจุบันเมโลนีจะยังไม่ได้จัดตั้งรัฐบาลและแถลงนโยบายในสมัยของเธออย่างเป็นทางการ แต่ในเคมเปญหาเสียงของเธอ รวมถึงจุดยืนที่เธอเคยแสดงในอดีต บ่งชี้ว่าเธอมีความคิดที่ต่อต้านนโยบายทางสังคมที่ก้าวหน้า เช่น การสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ 

นอกจากนี้ เมโลนียังกล่าวหลายครั้งว่า ทิศทางการดำเนินนโยบายของเธอจะเป็นไปในแนวทางที่ “อิตาลีต้องมาก่อน” ซึ่งหมายถึงเธอจะให้ความสำคัญกับผลประโยชน์แห่งชาติ มากกว่ายุโรปและคุณค่าสากล อาทิ การปกป้องสิ่งแวดล้อม

ในนโยบายด้านสหภาพยุโรป มีแนวโน้มอย่างยิ่งที่อิตาลีจะมีนโยบายที่ตีตัวออกห่างจากสหภาพยุโรปมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเที่ยบกับสมัยก่อนหน้าของนายรัฐมนตรี มาริโอ ดรากี ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งประธานของธนาคารกลางยุโรป

“ผมคิดว่าเราน่าจะได้เห็นจุดยืนทางการเมืองของรัฐบาลอิตาลี ที่ตั้งคำถามกับสหภาพยุโรปมากขึ้นในหลายประเด็น อิตาลีอาจขยับจุดยืนของตัวเองให้ใกล้เคียงกับโปแลนด์มากขึ้น” ลูกา โตมินี นักรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเสรีบรัสเซลส์กล่าว โดยเขาพูดถึงกรณีที่ประเทศบางประเทศในยุโรปตะวันออก โดยเฉพาะโปแลนด์และฮังการี เริ่มมีนโยบายที่ไม่สอดคล้องกับสหภาพยุโรปมากขึ้น

ในสมัยก่อนหน้าของรัฐบาลดรากี ซึ่งมีความสัมพันธ์เหนียวแน่นกับสหภาพยุโรป อิตาลีมีบทบาทนำในการหารือบนเวทีสหภาพยุโรป ในเรื่องแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังวิกฤติโควิด-19 และการตอบโต้ของยุโรปต่อสงครามรัสเซีย-ยูเครน การเข้าดำรงตำแหน่งของเมโลนี มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงบทบาทดังกล่าวของอิตาลีอย่างมาก

อิตาลีอาจใช้อำนาจยับยั้งมติบ่อยครั้งขึ้นในสหภาพยุโรป ซึ่งอาจส่งผลกระทบอย่างมากต่อมติที่ต้องการเสียงเอกฉันท์จากสมาชิก เช่นนโยบายที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณและนโยบายต่างประเทศ หากพิจารณาโปแลนด์และฮังการีซึ่งเป็นประเทศที่ได้วางตัวออกห่างจากสหภาพยุโรปดังที่กล่าวไป จะพบว่าทั้ง 2 ประเทศเคยขู่ว่าจะใช้อำนาจยับยั้งนโยบายของสหภาพยุโรปที่สำคัญบางนโยบายเพื่อแลกกับผลประโยชน์ของชาติ อิตาลีเองก็มีแนวโน้มที่จะดำเนินรอยตามทั้ง 2 ประเทศเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม เมโลนีอาจไม่ได้ต่อต้านสหภาพยุโรปไปเสียทั้งหมด โดยในประเด็นการรุกรานยูเครนของรัสเซีย โรแบร์โต ดาลิมอนเต นักรัฐศาสตร์ชาวอิตาเลียนกล่าวว่า เมโลนีได้ประกาศตนอย่างชัดเจนว่าจะสานต่อนโยบายของดรากีในการสนับสนุนยูเครน จึงมีความเป็นไปได้ที่นโยบายดังกล่าวจะยังคงดำเนินต่อไปในสมัยของเธอ 

นอกจากนี้ เมโลนียังเคยเผยว่า อิตาลีภายใต้เธออาจมีการพิจารณาการรับงบประมาณ 200 ล้านยูโร (ประมาณ 7.3 พันล้านบาท) จากสหภาพยุโรป เพื่อแลกกับการปฏิรูปโครงสร้างการบริหารประเทศ และระบบยุติธรรมตามแนวทางของยุโรปอีกด้วย แม้อิตาลีอาจจะมีการต่อรองในเงื่อนไขของสหภาพยุโรปก็ตาม

“อาจมีการเปลี่ยนแปลงในวิธีการคิดของอิตาลี ต่อนโยบายการปฏิรูปที่ยุโรปเรียกร้อง เพื่อที่จะได้งบประมาณ” เลลา ทาลานี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการเมืองอิตาลีในมหาวิทยาลัยคิงส์คอลเลจ ประเทศอังกฤษ ให้ความเห็น

ส่วนในด้านนโยบายเกี่ยวกับผู้อพยพ เมโลนีเคยแสดงความเห็นเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว ผ่านการโพสต์วิดีโอลงบนทวิตเตอร์ในเดือน ส.ค. เธอกล่าวในวิดีโอว่า เธอจะจัดตั้งหน่วยลาดตระเวน และปิดล้อมชายฝั่งเพื่อขัดขวางการเข้ามาของผู้อพยพที่ผิดกฎหมายจากแอฟริกาเหนือ

“สิ่งที่สำคัญไม่ใช่แค่นโยบาย แต่เป็นคำพูดของเธอ” ลอเรนโซ คาสเตลลานี อาจารย์มหาวิทยาลัยจากโรมให้ความเห็น “เธอกำลังนำเสนอตัวเองในฐานะผู้ป้องกันชายแดน สิ่งนี้ฟังดูเป็นแนวทางที่ ‘ทรัมป์’ มากๆ ในความเห็นของผม”

 

รัฐบาลที่ 70 ในรอบ 77 ปี: ทำไมอิตาลีเปลี่ยนรัฐบาลบ่อยครั้ง

การเลือกตั้งในสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งจบลงด้วยชัยชนะของเมโลนี ถือเป็นการเลือกรัฐบาลชุดที่ 70 ในระยะเวลา 77 ปี ตั้งแต่อิตาลีเปลี่ยนแปลงการปกครองเข้าสู่รูปแบบสาธารณรัฐในปี 2489 โดยเฉลี่ยแล้ว รัฐบาลอิตาลีแต่ละชุดมีวาระดำรงตำแหน่งประมาณหนึ่งปีครึ่ง ซึ่งน้อยกว่าวาระที่ระบุไว้ตามรัฐธรรมนูญอิตาลีที่สมัยละ 5 ปีอย่างมาก แต่เพราะเหตุใดอิตาลีจึงมีการเปลี่ยนรัฐบาลบ่อยครั้ง เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในยุโรป หรือแม้กระทั่งในโลก

เหตุผลประการหนึ่งของความไม่มั่นคงของรัฐบาลอิตาลี มีที่มาจากบทเรียนทางประวัติศาสตร์ของประเทศ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 อิตาลีมีผู้นำเป็นเผด็จการฟาสซิสต์ คือ เบนิโต มุสโสลินี ผู้นำพาอิตาลีเข้าร่วมสงครามในฝ่ายอักษะพร้อมกับเยอรมนีและญี่ปุ่น มุสโสลินีรวบอำนาจการปกครองไว้ที่ตนและมีนโยบายที่เป็นเผด็จการ ริดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนชาวอิตาลีเป็นอย่างมาก 

ทั้งนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้มีนายกรัฐมนตรีคนใด สามารถรวบอำนาจการปกครองไว้ที่ตนเองได้เหมือนมุสโสลินีอีก รัฐธรรมนูญของอิตาลีจึงถูกออกแบบมาเพื่อให้ฝ่ายบริหารมีอำนาจที่ค่อนข้างอ่อนแอ กล่าวคือ นายกรัฐมนตรีของอิตาลีต้องใช้เสียงข้างมากในทั้ง 2 สภา คือ สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาในการบริหารประเทศ

การทำเช่นนั้นเป็นเรื่องยาก ในบริบทการเมืองอิตาลีที่มีลักษณะสำคัญ ซึ่งประกอบด้วยพรรคเล็กพรรคน้อยมากมายนับไม่ถ้วน ส่วนมากพรรคที่จะจัดตั้งรัฐบาลเป็นรัฐบาลจำเป็นจะต้องสร้างพันธมิตรทางการเมืองขึ้นก่อนการเลือกตั้ง และเป็นภารกิจของพรรคผู้นำฝ่ายรัฐบาลที่จะต่อรองทางอำนาจ และควบคุมพรรคเล็กเหล่านั้น ซึ่งมีอุดมการณ์แตกต่างหลากหลาย หากพรรคใดพรรคหนึ่งถอนตัวออกจากพันธมิตรและการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ก็อาจส่งผลกระทบให้สภาล่มได้ แม้ว่าพรรคนั้นจะเป็นพรรคเล็กก็ตาม

ระบบการเลือกตั้งของอิตาลีเอง ก็ส่งผลต่อโครงสร้างทางการเมืองที่ไม่แน่นอนเช่นกัน แม้จะมีการแก้ไขกฎหมายเลือกตั้งหลายครั้ง โดยการเปลี่ยนแปลงใหม่ครั้งล่าสุดเกิดขึ้นในปี 2560 โดยใช้ระบบการเลือกตั้งที่เรียกว่า โรซาเตลลัม (Rosatellum) ซึ่งตั้งตามชื่อของ เอทตอเร โรซาโต สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นผู้ริเริ่มการแก้ไขกฎหมาย

กฎหมายเลือกตั้งฉบับนี้ของอิตาลี เอื้อให้มีการตั้งพันธมิตรระหว่างพรรคการเมืองก่อนเลือกตั้งอย่างมาก โดยในการเลือกตั้ง ชาวอิตาลีจะต้องกาบัตรเลือกตั้งสำหรับสมาชิกผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา สภาละ 1 ใบ โดยกฎหมายระบุให้ 37% ของที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา มาจากการเลือกตั้งแบบเสียงข้างมากธรรมดา (First-past-the-post system) กล่าวคือ ในการเลือกสมาชิกสภาประจำเขต ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่มีคะแนนนำสูงสุดในเขตนั้น จะได้รับที่นั่งในสภาของเขตนั้นไป โดยไม่จำเป็นต้องได้รับเสียงข้างมากโดยเด็ดขาดก็ได้ ระบบการเลือกตั้งเช่นนี้ส่งผลดีต่อพรรคใหญ่หรือพรรคที่มีฐานเสียงในท้องถิ่นต่างๆ มาก และจะช่วยจูงใจให้พรรคเล็กๆ เข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับพรรคการเมืองใหญ่เพื่อที่จะได้มีโอกาสได้รับเลือกมากขึ้น

นอกจากนี้ แรงจูงใจในการสร้างพันธมิตรระหว่างพรรคยิ่งเพิ่มขึ้นไปอีก เพราะอิตาลีใช้ระบบการเลือกตั้งแบบบัตรเลือกตั้ง 1 ใบ ต่อ 1 สภา ทำให้เมื่อกาชื่อผู้สมัครเลือกตั้งเขตจากพรรคใดไปแล้ว พรรคของผู้สมัครคนนั้นก็จะถูกนำไปคำนวณในที่นั่งจากระบบสัดส่วนอีก 61% ของที่นั่งที่เหลือ พรรคเล็กที่เข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับพรรคใหญ่ ก็จะได้รับอานิสงส์จากการมีชื่อผู้สมัครในบัญชีรายชื่อของพันธมิตรไปด้วย ในขณะที่พรรคเล็กที่ไม่มีพันธมิตร หรือพันธมิตรเล็กอาจไม่ถูกนำมาคำนวณอีกด้วยหากคะแนนเสียงไม่ถึงขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนด

กล่าวโดยสรุป ระบบที่เอื้อกับการสร้างพันธมิตรซึ่งทำให้พรรคที่ต้องการจัดตั้งรัฐบาลต้องสร้างพันธมิตรที่ประกอบด้วยพรรคเล็กๆ มากมายที่มีอุดมการณ์ และจุดยืนแตกต่างกันสร้างความยากลำบากอย่างยิ่งต่อรัฐบาลที่จะกุมอำนาจเอาไว้

นอกจากนี้ วัฒนธรรมทางการเมืองของอิตาลียังมีส่วนทำให้สถานการณ์ยากขึ้นไปอีก การลาออกและย้ายพรรคของสมาชิกสภาเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งมาก ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2018 จากจำนวน ส.ส.และ ส.ว. 945 คนที่ได้รับการเลือกตั้งมา มี 322 คนที่ย้ายพรรคการเมืองไปแล้วภายในปีนี้ วัฒนธรรมการย้ายพรรคซึ่งกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาของอิตาลีนี้ เป็นสิ่งที่ปฏิบัติมานานตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 และสร้างความท้าทายให้ผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้ารัฐบาลอย่างเมโลนีเป็นอย่างมาก

“เธอเป็นคนเดียวที่เรายังไม่ได้ลอง นั่นหมายถึงเธอยังไม่เคยล้มเหลว” ฟรานซิสโก เตรวิกี ชาวอิตาลีจากเมืองเลชเช ให้ความเห็นเกี่ยวกับเมโลนี แน่นอนว่าเมโลนีไม่ใช่นักการเมืองหน้าใหม่ และการเมืองฝ่ายขวาก็ไม่ใช่เรื่องในอิตาลี แต่การเลือกเมโลนีผู้ซึ่งถูกขนานนามว่า “เอียงขวาที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2” ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ย่อมเป็นปรากฏการณ์ที่สำคัญต่อทิศทางการเมืองอิตาลีทีเต็มไปด้วยความวุ่นวายในปัจจุบัน

เป็นที่น่าจับตามองอย่างยิ่งว่าเมโลนีจะสามารถ “คุมบังเหียน” ม้าพยศที่เรียกว่าการเมืองอิตาลีท่ามกลางวิกฤตการณ์ทางการเมืองในภูมิภาคยุโรปที่ปั่นป่วนจากภัยสงครามและวิกฤติการณ์ด้านพลังงานได้หรือไม่


เรียบเรียงโดย ภีมพศ สีมาวุธ

 

ที่มา:

https://www.npr.org/2022/09/24/1124685476/giorgia-meloni-italy-election

https://www.euronews.com/my-europe/2022/09/26/heres-what-a-meloni-government-in-italy-could-mean-for-the-eu

https://www.politico.eu/article/how-giorgia-meloni-thinks-brothers-of-italy-election-salvini-mario-draghi-silvio-berlusconi/

https://www.economist.com/the-economist-explains/2021/01/31/why-does-italy-go-through-so-many-governments

https://www.economist.com/the-economist-explains/2013/04/24/why-is-it-so-hard-to-form-a-government-in-italy

https://www.thelocal.it/20220921/italian-ballot-papers-what-they-look-like-and-how-to-vote/