เวลา 14.00 น. วันที่ 1 ก.พ. 2566 ชูวิทย์ กมลวิศิษฐ์ อดีตหัวหน้าพรรครักประเทศไทย จัดแถลงข่าวกรณีของ อันหยูชิง หรือ Charlene An ดาราสาวไต้หวันกับกลุ่มเพื่อนที่ระบุว่าถูกตำรวจตั้งด่านรีดไถเงิน 27,000 บาท โดยก่อนแถลงชูวิทย์ได้ตีปี๊บ และบอกว่าจะนำปี๊บดังกล่าวไปฝากให้ พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลคลุมศรีษะไว้ เพื่อซ่อนจากข้อเท็จจริงที่จะเปิดเผย
ชูวิทย์ กล่าวว่า การตั้งด่านของเจ้าหน้าที่มีการทำเป็นขบวนการ จัดสรรแบ่งส่วนให้กับผู้ที่ปฏิบัติงาน การตั้งด่านนี้ทำลายภาพลักษณ์ของการท่องเที่ยว โดยเฉพาะในช่วงนี้ ที่มีการเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวกลับมาอีกครั้งหลังสถานการณ์โควิด 19 เพราะแทนที่นักท่องเที่ยวจะกลัวโจรผู้ร้าย กลับต้องมากลัวตำรวจที่ควรจะดูแลความปลอดภัยของพวกเขา
“ถ้าถึงวันนี้ตำรวจต้องการจะคืนเงิน 27,000 บาทให้กลุ่มผู้เสียหายตนก็เชื่อว่าเขาจะไม่รับแล้ว เพราะทั้งหมดไม่ได้รับความเป็นธรรม อีกทั้งที่ผ่านมายังถูกเจ้าหน้าที่ใส่ร้ายมาตลอด หากเปรียบตำรวจไม่ดีเป็นนิ้วร้ายที่ต้องตัดทิ้ง เชื่อว่าวันนี้ไม่มีนิ้วเหลือให้ตัดแล้ว” ชูวิทย์ ระบุ
จากนั้น เวลา 14.20 น. ชูวิทย์ ได้เชิญ สกาย ชาวสิงคโปร์ เพื่อนของอันหยูชิง มาร่วมแถลงข่าว
โดย สกาย กล่าวว่า ถ้าไม่ไว้ใจ ชูวิทย์ ก็คงไม่เดินทางมา วันที่เกิดเรื่องตนกับกลุ่มเพื่อนรวมทั้งอันหยูชิง ไปร่วมงานวันเกิดเพื่อนอีกกลุ่ม หลังจากนั้น ระหว่างเดินทางกลับโรงแรมที่พัก ซึ่งอยู่บริเวณถนนรัชดาภิเษก เจอตำรวจตั้งด่านใช้ไฟฉายส่องเข้ามาในรถแท็กซี่ที่นั่งอยู่ โดยเจ้าหน้าที่ประจำด่าน บอกให้จอดรถเข้าข้างทางและให้ทุกคนลงจากรถ ก่อนเข้ามาจับตามตัว ค้นกระเป๋า ขอให้นำพาสปอร์ตออกมาแสดง รวมทั้งให้ถอดรองเท้าด้วย ทั้งนี้ ในวันดังกล่าวตนไม่ได้นำพาสปอร์ตออกมาจากที่พัก
สกาย กล่าวต่อว่า จากตรวจค้น เจ้าหน้าที่พบบุหรี่ไฟฟ้า 3 อัน พร้อมถามต่อว่ามาจากประเทศไหน โดยในตอนนั้น ทางกลุ่มเองเริ่มสงสัยแล้วว่า ทำไมตำรวจทำเหมือนเป็นเรื่องใหญ่ ทั้งสั่งห้ามใช้โทรศัพท์ ห้ามติดต่อใคร หรือถ่ายรูป ซึ่งในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ฝั่งตนมีเพียงตนเองที่สื่อสารภาษาไทยได้
นอกจากนี้ สกาย อ้างด้วยว่า ระหว่างที่ตนถามถึงสาเหตุของการตรวจค้น ทางเจ้าหน้าที่ตอบกลับมาว่า “อย่ากวนตีน” ซึ่งมั่นใจว่าตนและเพื่อนไม่ได้ทำผิดกฎหมายแน่นอน เพราะตามปกติแล้ว การเดินทางเข้าประเทศไทย คนสิงคโปร์ไม่จำเป็นต้องมีวีซ่ายกเว้นกรณีที่อยู่อาศัยเกินกว่า 30 วันขึ้นไป ซึ่งตนเดินทางมาเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2565 เพื่อฉลองเทศกาลปีใหม่และอยู่ต่อเนื่องมาจนถึงวันที่ 5 ม.ค. 2566 ที่เป็นวันกำหนดเดินทางกลับ
ในส่วนของพาสปอร์ตที่เจ้าหน้าที่พยายามเรียกดู ตนได้ตอบไปว่าเอกสารต่างๆอยู่ที่ที่พัก และมีรูปแสกนเก็บไว้ในโทรศัพท์ แต่เจ้าหน้าที่ไม่ฟังและพยายามแย้งว่าต้องแสดงเอกสารทันที ห้ามไปไหน และพยายามแจ้งว่าการที่พกพาบุหรี่ไฟฟ้าเป็นความผิด
สกาย จึงชี้แจงต่อไปว่า บุหรี่ไฟฟ้าซื้อมาจากร้านค้าที่วางขายย่านตลาดห้วยขวาง และไม่ทราบว่าผิดกฎหมาย เพราะเห็นวางขายโดยทั่วไป และการมาเมืองไทยครั้งนี้ เพราะต้องการออกมาพูดความจริงทั้งหมด ไม่รู้สึกกังวลในการให้ข้อมูลกับตำรวจ
เมื่ออธิบายเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าเสร็จ เจ้าหน้าที่เริ่มมีท่าทีโมโห บอกว่าทั้งหมดต้องไปสถานีตำรวจและต้องอยู่ที่ห้องขังในสน.อย่างน้อยอีก 2 วัน เมื่อเจรจาอยู่ระยะหนึ่ง เจ้าหน้าที่อีกรายที่ไม่ได้ใส่เครื่องแบบตำรวจก็เข้ามาแจกแจงให้ตนเองฟังว่า “บุหรี่ไฟฟ้า 3 อัน อันละ 8,000 บาท ส่วนที่ไม่พบพาสปอร์ต 3 คน อีก 3,000 บาท รวมเป็นเงิน 27,000 บาท”
โดย สกาย เปิดเผยว่า ขณะนั้นมีเงินติดตัวอยู่ 30,000 บาท เมื่อจ่ายเงินเรียบร้อย ตำรวจก็เรียกแท็กซี่ให้และให้บอกแท็กซี่ว่าจะไปไหนต่อ ยืนยันว่า ตำรวจกลุ่มดังกล่าวแสดงท่าทีและพูดจาในลักษณะบีบบังคับให้จ่ายเงิน และตนเองไม่ได้เสนอให้
ทั้งนี้ ตำรวจที่เข้ามาพูดคุยเรื่องเงินมี 3 นาย โดยนายแรก เป็นตำรวจนอกเครื่องแบบ สวมแจ็คเกต มีหนวดเครา ทำหน้าที่ในการเรียกและรับเงินจาก สกาย และเก็บเงินเข้ากระเป๋าตนเอง ส่วนตำรวจนายที่ 2 รูปร่างสูงใหญ่ ศีรษะล้าน ทำหน้าที่บังกล้องวงจรปิด ส่วนตำรวจนายที่ 3 เป็นคนรูปร่างผอม ใส่ผ้าคลุมหน้าเข้ามาร่วมรับฟังการพูดคุยด้วย
“ส่วนตัวคิดว่าเจ้าหน้าที่ต้องมีเหตุผล ถ้าอยากจับก็จะต้องมีเหตุผล ถ้าสงสัยอะไรก็ต้องพูดคุย แต่สิ่งที่เกิดตำรวจไม่มีเหตุผลอะไรและบอกว่าต้องไปสถานีตำรวจอย่างเดียว” สกาย ระบุ
ขณะเดียวกัน ชูวิทย์ ได้จัดทำแฟ้มรายชื่อพร้อมรูปภาพของตำรวจ สังกัดสถานีตำรวจนครบาล (สน.) ห้วยขวาง มาจำนวนหนึ่ง และเปิดให้ สกาย ดูก่อนถามว่า จดจำใครได้บ้าง ซึ่ง สกาย พยักหน้าตอบรับ พร้อมยืนยันว่าจำได้ทุกคน
ในตอนท้าย ชูวิทย์ กล่าวว่า ในนามของคนไทยต้องขอโทษถึงการกระทำของตำรวจ พร้อมเรียกร้องให้ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลลาออกด้วย
อย่างไรก็ดี เวลาประมาณ 15.30 น. สกาย ลุกออกจากบริเวณแถลงข่าว พร้อมกับที่ พล.ต.ต.อาชยน ไกรทอง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ต.อัฏธพร วงศ์ศิริปรีดา ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1 เดินทางมาร่วมสังเกตการณ์การสอบปากคำพยานคนสำคัญใน โดยได้ให้คณะกรรมการและทีมพนักงานสอบสวน 4-5 นาย ร่วมสอบปากคำพยานอย่างละเอียดและครอบคลุมทุกประเด็นต่อไป