ไม่พบผลการค้นหา
เปิดเบื้องหลัง ร่าง 'สมรสเท่าเทียม' ฉบับรัฐบาล 'เศรษฐา' ก่อนดันเข้าสภาฯ สมัยหน้า มั่นใจผ่านฉลุยทุกวาระ

ภายหลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่..) พ.ศ. …. หรือ สมรสเท่าเทียม โดยมีสาระสำคัญในการแก้ไขเพื่อให้บุคคล 2 คน ไม่ว่าเพศใดสามารถทำการหมั้น และสมรสกันได้ รวมทั้งแก้ไขบทบัญญัติอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะทำให้บุคคลนั้นมีสิทธิ หน้าที่ และสถานะทางครอบครัวเท่าเทียมกับคู่สมรสชายหญิง ซึ่งจะเปลี่ยน จาก ’ชาย-หญิง‘ เป็น ‘บุคคล-บุคคล‘ , ’ผู้หมั้น-ผู้รับหมั้น‘

นอกจากนี้ ยังเพิ่มเหตุเรียกค่าทดแทน และเหตุฟ้องหย่าให้ครอบคลุมกรณีที่คู่สมรสฝ่ายหนึ่งไปมีความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น ไม่ว่าจะเป็นเพศใดก็ตาม และเพิ่มเหตุฟ้องหย่าให้สอดคล้องกับลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างคู่สมรส 

อย่างไรก็ตาม ร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ไม่ได้สางผลกระทบต่อหลักการสำคัญบางประการ เช่น บุคคลทั้งสองฝ่ายสามารถรับบุตรบุญธรรมร่วมกันได้ รวมทั้งการจัดการทรัพย์สินในบางกรณีต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสอีกฝ่าย ซึ่งเป็นไปตามหลักการของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ รวมถึงการเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อตามเพศวิถีของบุคคลนั้นๆ 

แต่ถึงอย่างนั้น การเข้าถึงสิทธิประโยชน์ และสวัสดิการของรัฐที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายอื่นๆ เช่น การจ่ายเงินบำเหน็จตกทอดตามกฎหมายว่าด้วย บำเหน็จบำนาญข้าราชการ กำหนดให้จ่ายเงินแก่ ‘สามี หรือ ภริยา’ แต่เมื่อมีการแก้ไขกฎหมายแล้วนั้น ต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการให้สอดคล้องกับร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 

แหล่งข่าวยังเปิดเผยอีกว่า ในที่ประชุม ครม. ชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้มีข้อกังวลเกี่ยวกับผู้ที่นับถืออิสลามในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่ง ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้ให้ความเห็นว่า 3 จังหวัดชายแดนใต้ มีการใช้ ‘กฎหมายชะรีอะฮ์’ หรือ ’กฎหมายอิสลาม’ โดยเฉพาะกฎหมายครอบครัวหรือมรดก (Personal Law) เป็นเฉพาะอยู่แล้ว

สำหรับพื้นที่ชายแดนใต้ในกรณีที่โจทก์ และจำเลย เป็นมุสลิมต้องใช้กฎหมายอิสลาม จะใช้กฎหมายแพ่งไม่ได้ แต่ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้เป็นชาวมุสลิมก็ต้องใช้กฎหมายของแผ่นดิน ซึ่งกฎหมายอิสลามจะใช้ใน 4 จังหวัด ได้แก่ ปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสงขลา 

ด้าน คารม พรพลกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แสดงความมั่นใจว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวจะผ่านที่เห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรอย่างแน่นอน เนื่องจากได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นตาม ม.77 ของรัฐธรรมนูญ มาเป็นระยะเวลา 15 วัน ตั้งแต่วันที่ 31 ต.ค. - 14 พ.ย. 2566 ผ่านทางเว็บไซต์ law.go.th และระบบ Google Form บนเว็บไซต์ของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ โดยพบว่า มีประชาชนเห็นด้วยกับร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวกว่า 97% 

ทั้งนี้ รัฐบาลจะส่งร่างกฎหมายดังกล่าวไปให้กฤษฎีกาพิจารณา ก่อนส่งไปยังกระบวนการของรัฐสภา พร้อมยืนยันว่า จะดันเข้าที่ประชุมสภาฯ ในวาระแรก ตั้งแต่การเปิดประชุมสภาฯ สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2 ในวันที่ 12 ธ.ค. 2566