ไม่พบผลการค้นหา
หัวหน้าคณะก้าวหน้า แนะทุกฝ่ายยอมรับปัญหา ปรับท่าที พูดคุยด้วยวุฒิภาวะและเหตุผลเหนืออารมณ์ หาจุดร่วมภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าคณะก้าวหน้า อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ให้สัมภาษณ์ ดนัย เอกมหาสวัสดิ์ และ อมรรัตน์ มหิทธิรุกข์ ผ่านรายการเจาะลึกทั่วไป ที่นี่ ... ไม่เป็นกลาง แต่เป็นธรรม ในประเด็นการชุมนุมของนักศึกษาและทางออกประเทศไทย  

ธนาธร ระบุว่า เราเห็นสัญญาณการเรียกร้องและความไม่พอใจของนักศึกษา คนรุ่นใหม่ มาตั้งเเต่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ หลังจากพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบแล้ว เริ่มมีแฟลชม็อบให้หลายจังหวัด จนกระทั่งหยุดชะงักไปเพราะการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19

"เราเห็นสัญญาณมาก่อนอยู่เเล้ว" อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ บอก

อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ บอกว่า สิ่งที่ นศ.แสดงออกในปัจจุบันเป็นปฏิกิริยาหลังจากที่รัฐบาลไม่ตอบสนองความต้องการของเขาก่อนหน้านี้ หากตอบสนองก่อนหน้านี้ ข้อเรียกร้องคงไม่ไปไกลเหมือนกับที่เป็นในปัจจุบัน

เมื่อถูกถามถึงข้อเรียกร้องที่ 4 ซึ่งเกินไปจาก 3 ข้อ ก่อนหน้าของแฟลชม็อบ

ธนาธร บอกว่า อาจเรียกว่าเป็นข้อเรียกร้องที่ 4 หรือข้อเสนอที่ 0 ก็ได้ เนื่องจากเราเห็นมาก่อนหน้านี้แล้วจากป้ายข้อความต่างๆ และเห็นว่าการหยิบนำเอาสิ่งที่ไม่เคยมีใครกล้าพูด หรือพูดกันในแต่ที่ลับมากล่าวในที่สาธารณะถือเป็นความกล้าหาญ

เมื่อถูกถามว่ากลุ่มผู้ชุมนุมจะเสียแนวร่วมไหม หลังจากเพิ่มเติมข้อเรียกร้องที่ข้องเกี่ยวกับสถาบัน

ธนาธร บอกว่า หลังจากการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 ส.ค. เราเห็นว่ามีเหล่าอาจารย์ คนในวงการศิลปะ ตลอดจนคนรุ่นใหม่ในวงการบันเทิง ออกมาแสดงจุดยืนที่ชัดเจนมากขึ้น เพราะฉะนั้นอาจจะเสียแนวร่วมเล็กน้อย แต่ถือเป็นการยกระดับความจริงที่กระอักกระอ่วนที่อยู่ในสังคมให้มาอยู่ในที่สาธารณะ

ข้อเสนอที่ 4 ไม่ใช่อาชญากรรม พวกเขาไม่ได้เรียกร้องให้มีการโค่นล้มสถาบัน แต่สิ่งที่เรียกร้องคือการทำให้สถาบันอยู่กับประชาธิปไตยได้อย่างมั่นคงสถาพร ฉะนั้นเราต้องกลับมายืนจุดนี้ให้มั่นเพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า โดยมองปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างมีวุฒิภาวะ


ใช้เวลาแต่ต้องเริ่มพูด

เมื่อถูกถามว่า สังคมไทยยังเป็นสังคมอนุรักษนิยม หลายคนบอกว่ายังไม่ถึงเวลาที่จะชูธงที่ 4

"ผมยืนยันว่า ข้อเสนอ 10 ข้อ ถึงเวลาไม่ถึงเวลาไม่เป็นไร แต่ขอให้เเลกเปลี่ยนอย่างเสรีและปลอดภัยได้ นั่นคือพื้นฐานของการเดินต่อไปข้างหน้า" ธนาธร กล่าว

เขากล่าวต่อว่า เมื่อจินตนาการต่อคำว่าระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ของแต่ละคนมีแตกต่างกัน การจะทำให้เหมือนกันได้ ต้องเริ่มจากการพูดคุุยและยอมรับกับปัญหา

"การพูดถึงปัญหาอย่างเปิดเผยไม่ใช่อาชญากรรม การพูดคุยเปิดเผยต่างหากนำไปสู่ไปการเเก้ไขปัญหาอย่างสันติ คือคุณสมบัติของสังคมที่มีวุฒิภาวะ"


แนะ นศ.ปรับท่าที - ผู้มีอำนาจยอมรับปัญหา

หัวหน้าคณะก้าวหน้า กล่าวว่า นักศึกษาต้องยอมรับความจริงว่ามีคนกลุ่มหนึ่งในสังคมรู้สึกว่าการพูดคุยเรื่องนี้ เป็นการทำร้ายจิตใจพวกเขา ขณะเดียวกันกลุ่มอนุรักษนิยมก็จำเป็นต้องยอมรับและพร้อมคุยด้วยเหตุผล อย่าให้ความรุนแรงหรือเรียกร้องการปราบปราม

"เราต้องเรียกร้องตัวเองด้วยว่า เราต้องไม่กระทำด้วยอารมณ์ การเสียดสี การแซะ มาดร้ายให้อีกฝ่ายเกิดอารมณ์ เเต่ต้องพูดคุยด้วยเจตนาที่ดีให้ประเทศเดินไปข้างหน้า ถ้าพูดคุยด้วยอารมณ์เมื่อไหร่ จะทำให้อีกฝ่ายออกมาต่อต้านเเละไม่พร้อมเปิดใจรับฟัง ดังนั้นการพูดคุยเรื่องนี้จำเป็นอย่างยิ่งท่ี่ต้องไม่ใช้อารมณ์"

ธนาธร กล่าวว่า ตนเชื่อว่าผู้ชุมนุมจะเรียนรู้ด้วยตัวเองและเติบโตจากการมองย้อนกลับไปมองท่าทีของตัวเอง เมื่อวันที่ 10 ส.ค.


รับ 3 ข้อเสนอ สู่ทางออกประเทศ

อดีตแคนดิเดตนายกฯ กล่าวว่า ทางออกของผู้มีอำนาจในเวลานี้คือการยอมรับ 3 ข้อเสนอของกลุ่มผู้ชุมนุม แก้รัฐธรรมนูญ ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ และยุบสภาเลือกตั้งใหม่

ส่วนข้อเสนออีก 1 ความฝันของผู้ชุมนุม ถือเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาและพูดคุย แต่ไม่ใช่เวลาที่จะมาปราบปรามกัน

"มันคือเวลาของการบอกกับสังคมทั้งสังคมว่าเราต้องเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น ยอมรับความจริง และมีวุฒิภาวะในการเผชิญกับปัญหาด้วยเหตุผลและสติ"

ธนาธร บอกว่า ถือเป็นเรื่องเสี่ยงมาก หากผู้มีอำนาจยังคิดแบบแข็งขืน ไม่ประนีประนอม รวมถึงเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจหรือเสาหลักของบ้านเมืองออกมาแสดงความคิดเห็น ยอมรับความจริงและหาทางออกให้กับประเทศ

เมื่อถามว่า ยุทธวิธีกินข้าวทีละคำ คอยเป็นคอยไป

"ขึ้นอยู่สถานการณ์ครับ บางสถานการณ์กินสองคำก็พอไหว" ธนาธร ตอบและยืนยันว่า ไม่ได้เป็นคนอยู่เบื้องหลังหรือมีส่วนในการสั่งการผู้ชุมนุม และทำได้เพียงแค่แนะนำให้ดูปฏิกิริยาของสังคมหลังจากวันที่ 10 ส.ค. ซึ่งอาจไม่ค่อยเป็นบวกเท่าไหร่ ในเชิงของท่าที แต่ไม่ได้มีปัญหาในตัวข้อเสนอ 10 ข้อ