ไม่พบผลการค้นหา
โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าวถึงความสัมพันธ์กับสหราชอาณาจักรว่า "แข็งดั่งหิน" ระหว่างการพูดคุยในกรุงลอนดอนกับ ริชี ซูนัค นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร

ไบเดนกล่าวถึงสหราชอาณาจักรว่า เขา "ไม่สามารถพบปะกับเพื่อนสนิทและพันธมิตรที่ยิ่งใหญ่กว่านี้ได้" ในขณะที่ซูนัคยกย่องสหราชอาณาจักรและสหรัฐฯ ว่าเป็น "สองพันธมิตรที่แน่นแฟ้นที่สุด" ในองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO)

ไบเดนและซูนัคยังได้หารือถึงความเคลื่อนไหวของสหรัฐฯ ในการมอบระเบิดลูกปรายให้กับยูเครน ซึ่งเป็นข้อขัดแย้งกันในบรรดาชาติพันธมิตร เพื่อให้ยูเครนใช้ในการป้องกันตัวเองจากการรุกรานของรัสเซีย 

นอกจากนี้ การประชุม NATO ยังจะมีการประชุมระดับสูงถึงวาระการขอเป็นสมาชิก NATO ของยูเครนในวันอังคาร (11 ก.ค.) ทั้งนี้ สมาชิก NATO ทั้ง 31 ชาติที่เข้าร่วมการประชุมสุดยอดในกรุงวิลนีอุส ประเทศลิทัวเนีย เห็นพ้องกันว่า ยูเครนไม่สามารถเข้าร่วมเป็นพันธมิตรทางทหารได้ในช่วงสงคราม ท่ามกลางความวิตกว่ากรณีดังกล่าวจะนำไปสู่ความขัดแย้งโดยตรงของ NATO กับรัสเซีย

โวโลดีเมอร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน กล่าวว่า เขาไม่คาดหวังว่ายูเครนจะเข้าร่วม NATO จนกระทั่งหลังสงครามสงบลง แต่เขาต้องการให้ที่ประชุม NATO ให้ "สัญญาณที่ชัดเจน" เกี่ยวกับข้อเสนอของยูเครน 

ทั้งนี้ สมาชิก NATO หลายชาติในยุโรปตะวันออก กำลังเร่งรัดให้มีการอนุมัติสมาชิกภาพแบบด่วนแก่ยูเครน แต่สมาชิก NATO ชาติอื่นๆ รวมถึงสหรัฐฯ กลับดูลังเลมากขึ้น เนื่องจากเกรงว่าการให้สถานะสมาชิก NATO แก่ยูเครนจะนำไปสู่ความขัดแย้งโดยตรงกับรัสเซียที่มีอาวุธนิวเคลียร์ ในขณะที่ไบเดนให้สัมภาษณ์กับ CNN ว่า การขอเป็นสมาชิก NATO ของยูเครนนั้น “ยังไม่ถึงกำหนดวาระ”

อย่างไรก็ดี จากคำมั่นสัญญาของสหรัฐฯ ในการมอบระเบิดลูกปรายให้กับยูเครน ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้พันธมิต NATO รู้สึกไม่สบายใจ โฆษกอย่างเป็นทางการของซูนัคกล่าวว่า กรณีดังกล่าว "เป็นทางเลือกที่ยากสำหรับสหรัฐฯ" แต่ระบุเสริมว่า การตัดสินใจดังกล่าว “บังคับพวกเขา (ให้ตัดสินใจ) โดยสงครามรุกรานของรัสเซีย”

ปัจจุบันนี้ มีชาติที่สั่งห้ามการใช้ระเบิดลูกปรายกว่า 100 ประเทศ รวมถึงสหราชอาณาจักร เนื่องจากอาวุธดังกล่าวเป็นอันตรายต่อพลเรือน โดยโฆษกของซูนัคกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรกำลังสนับสนุนข้อกำหนดของสหราชอาณาจักร ภายใต้อนุสัญญาระหว่างประเทศที่ห้ามการใช้ระเบิดลูกปราย อย่างไรก็ดี สหรัฐฯ ระบุว่า พวกเขาได้รับคำรับรองจากยูเครนว่า ระเบิดลูกปรายที่จะมีการมอบให้นั้น จะไม่มีใช้ในรัสเซียหรือในเขตเมือง

ทั้งนี้ ในการเยือนสหราชอาณาจักร ไบเดนยังได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร ณ ปราสาทวินด์เซอร์ ซึ่งเป็นการพบกันครั้งแรกของทั้งสองประมุข นับตั้งแต่สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ขึ้นเสวยราชสมบัติในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ไบเดนได้รับคำถวายพระพรจากราชวงศ์ และการบรรเลงเพลงชาติสหรัฐฯ โดยกองทหารรักษาพระองค์แห่งเวลส์ ก่อนที่จะเข้าไปยังปราสาทเพื่อการพูดคุย


ที่มา:

https://www.bbc.com/news/uk-66156581?fbclid=IwAR2bgOhh0leko8szctWA9WCy3hTXejTJQmPMBVcm-Q2GbHJYP3E8uQUmvAU