การประเมินสถานการณ์ในครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากที่รัสเซียและยูเครนต่างโทษกันไปมาว่า ต่างฝ่ายต่างมีส่วนต่อการถล่มยิงโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป ซึ่งตั้งอยู่ทางบริเวณตอนใต้ของยูเครน ส่งผลให้หน่วยงานเฝ้าระวังด้านนิวเคลียร์ของสหประชาชาติออกมาแสดงความกังวลต่อการโจมตีดังกล่าว ว่าอาจส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อภูมิภาคและโลก
“กองทหารรัสเซียเกือบจะรวมตัวกันได้ในทางใต้อย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นไปเพื่อรอการตอบโต้จากยูเครน หรือการเตรียมโจมตี ขบวนรถบรรทุก รถถัง ปืนใหญ่ และยุทโธปกรณ์อื่นๆ ของกองทัพรัสเซียยังคงเคลื่อนตัวจากดอนบาสไปทางตะวันตกเฉียงใต้” กระทรวงกลาโหมของสหราชอาณาจักรกล่าว พร้อมกับการยืนยันเบื้องต้นจากทางรองหัวหน้าหน่วยข่าวกรองทางทหารของยูเครน
หน่วยข่าวกรองทางทหารของยูเครนระบุว่า กองกำลังรัสเซียยิงถล่มตามแนวรบด้านหน้าในภูมิภาคเคอร์ซอนที่ถูกยึดครองอยู่ในตอนนี้ เพื่อหยุดกองกำลังยูเครนจากการผลักดันออกนอกที่ตั้งของตน อีกทั้งยังเพิ่มกองกำลังของตนในเมืองมีโคไลฟ์ และภูมิภาคดนิโปรเปทรอฟสก์ทางตอนใต้ของยูเครน รวมถึงการลาดตระเวนทางอากาศในพื้นที่ด้วยโดรน นอกจากนี้ ในพื้นที่ซาปอริซเชียของยูเครนที่ถูกรัสเซียยึดครองนั้น รัสเซียกำลังทำการโจมตีกองทหารยูเครนอย่างรุนแรง พร้อมกับการส่งกองกำลังเข้าไปเสริมในพื้นที่ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง
เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (6 ส.ค.) ยูเครนระบุว่ารัสเซียทำการโจมตีโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ของซาปอริซเชียอีกครั้ง ซึ่งเป็นโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป ในขณะที่ โวโลดีเมอร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน ออกมาประณามว่า การถล่มยิงโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์โดยรัสเซียเป็นอาชญากรรม และ “การก่อการร้าย” ทั้งนี้ เซเลนสกีเรียกร้องไปยังสหภาพยุโรปให้มีการประกาศคว่ำบาตรอุตสาหกรรมนิวเคลียร์และเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ของรัสเซีย เพื่อเป็นการตอบโต้การโจมตีดังกล่าว ในขณะที่ทางการรัสเซียกล่าวหาว่ายูเครนเองเป็นผู้มีส่วนรับผิดชอบจากการโจมตีโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ดังกล่าวเสียเอง
ยูเครนกล่าวว่ารัสเซียได้เปลี่ยนโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งนี้ให้กลายไปเป็นฐานทัพทหาร ทำให้ยากต่อการเข้าโจมตีกองกำลังและยุทโธปกรณ์ของรัสเซียภายในโรงงาน โดยจากรายงานของ The New York Times ระบุว่า รัสเซียได้ใช้โรงงานแห่งนี้เป็นที่เกาะกำบัง เพื่อยิงตอบโต้ใส่กองกำลังของยูเครนรอบนอกโรงงานตั้งแต่กลางเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา โดยนักวิเคราะห์มองว่า รัสเซียได้ใช้โรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์มาเป็นเครื่องมือ เพื่อสร้างความกังวลให้แก่ยุโรป ซึ่งรัสเซียคาดว่าจะช่วยให้ยุโรปลดความช่วยเหลือที่ส่งไปยังยูเครน
ทั้งนี้ หน่วยเฝ้าระวังนิวเคลียร์ของสหประชาชาติ เรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายยุติปฏิบัติการทางทหารทั้งหมด ซึ่งเกิดขึ้นอยู่ใกล้กันกับโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์โดยทันที โดย ราฟาเอล มาเรียโน โกรสซี ผู้อำนวยการทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศออกมาระบุว่า การล้อมโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ “ตอกย้ำถึงความเสี่ยงอย่างร้ายแรงจริงจัง ของภัยพิบัตินิวเคลียร์ที่อาจคุกคามสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อมในยูเครนและสถานที่อื่นๆ”
กระทรวงกลาโหมสหราชอาณาจักรคาดการณ์ว่า สงครามของยูเครนในยูเครนจะเข้าสู่ “ระยะใหม่” ในเวลาอันใกล้นี้ และเชื่อว่าการรบพุ่งจะเปลี่ยนจากภูมิภาคดอนบาส ไปยังแนวรบยาว 350 กิโลเมตร ตลอดพื้นที่ตะวันตกเฉียงใต้ จากบริเวณตอนเหนือของซาปอริซเชียยาวไปจนถึงเคอร์ซอน โดยในตอนนี้ รัสเซียสามารถครอบครองพื้นที่ลูฮานสก์ทั้งหมดได้แล้ว และยังเหลือพื้นที่ของโดเนตสก์อีกครึ่งหนึ่งที่รัสเซียกำลังทำการยึดไปจากยูเครน
ปัจจุบันนี้ รัสเซียกำลังทำการโจมตีเมืองสองแห่งอย่างบากฮ์มุตและอัฟดิฟกาในยูเครน และกำลังเดินหน้าในการยึดครองพื้นที่ทางตอนใต้ของพิสกี หมู่บ้านในภูมิภาคโดเนตสก์ ใกล้กันกับอัฟดิฟกา รวมถึงนิคมทราฟเนเว ซึ่งตั้งอยู่ห่างออกไปไม่ไกลจากบากฮ์มุต
ที่มา: