วันที่ 20 พ.ย. 2565 รังสิมันต์ โรม กล่าวถึง การสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน (คฝ.) ในการชุมนุมของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า 'ราษฎรหยุดเอเปค 2022' ที่บริเวณ ถ.ดินสอ เมื่อวันที่ 18 พ.ย. ที่ผ่านมา โดยมองว่า กลุ่มราษฎรหยุดเอเปค 2022 มีข้อเรียกร้องหลายประการ เกี่ยวข้องกันทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และได้นำไปสู่ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุม จนนำไปสู่การจับกุม 25 คน มีหลายคยได้รับบาดเจ็บ เกือบทั้งหมด โดยเฉพาะ พายุ ดาวดิน ปรากฏว่าถูกยิงด้วยกระสุนยางเข้าที่ดวงตา และมีโอกาสน้อยมากจนแทบจะเป็นไปไม่ได้ที่จะสามารถกลับมามองเห็นเหมือนเดิม
รังสิมันต์ กล่าวว่า กระสุนยางที่ถูกยิงโดยเจ้าหน้าที่ซึ่งกินเงินเดือนภาษีของประชาชน เปลี่ยนเด็กหนุ่มอนาคตไกลให้เป็นผู้พิการทางดวงตา เพียงเพราะเขาไปเรียกร้องปัญหาให้รัฐบาลแก้ไข และมีความเชื่อว่า การออกมาชุมนุมในวันนั้นเขาคงคิดว่ารัฐบาลไทยไม่กล้าทำความรุนแรงขนาดนี้ต่อหน้าสายตาชาวโลก ซึ่งรัฐบาลพยายามสื่อสารตลอดเวลาว่า ห่วงภาพลักษณ์ประเทศ คำถามสำคัญคือ การปล่อยให้มีการชุมนุมเพื่อบอกว่าปัญหาคืออะไร กลับใช้ความรุนแรง อันไหนทำลายภาพลักษณ์ของประเทศมากกว่ากัน
หลายคนไม่เห็นด้วยกับผู้ชุมนุม แต่อยากให้มองเข้าไปที่หัวใจลึกๆ ความเป็นมนุษย์ที่ยังพอมีอยู่ เขาไม่ควรได้รับการปฏิบัติแบบนั้น เราไม่สามารถอยู่เฉยได้ ยังรวมถึงสื่อมวลชนที่ถูกทำร้าย และกล่าววจาระบายอารมณ์ ทั้งที่นักข่าวสวมปลอกแขนชัดเจน สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดบรรยากาศ ที่เต็มไปด้วยความรุนแรง เป็นความรู้สึกที่ทำให้ประชาชนไม่สามารถไว้วางใจกระบวนการยุติธรรมได้ ไม่เข้าใจว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีการซักซ้อมควบคุมการชุมนุมมากี่ครั้ง มีบทเรียนไม่รู้กี่รอบ แต่ยังมีเหตุแบบนี้ขึ้นได้ ถ้าขนาดมีเอเปค 2022 มีการใช้กระสุนยาง ไม่อยากจะนึกว่า หากเหตุการณ์ไม่มีผู้นำประเทศเข้ามาร่วมงานของประเทศไทย และถ้ามีการชุมนุมประชาชนจะโดนความรุนแรงมากกว่านี้หรือไม่
รังสิมันต์ กล่าวต่อว่า ขอเรียกร้องให้มันจบแค่เคสนี้สุดท้ายได้ไหม เรียกร้องไปที่ตำรวจให้มีการสอบสวนเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการทำร้ายประชาชน การใช้กระสุนยางไปยิงจนทำให้คนตาบอด หรือทำร้ายผู้ชุมนุม ทั้งหมดนี้ล้วนมีความผิดทางอาญา เชื่อว่า นี่คือเจตนาเพื่อยิงคุณพายุให้รับอันตราย ต้องมีการหาตัว คนที่เกี่ยวข้องกับการทำร้ายประชาชน ตำรวจต้องพิสูจน์ตัวเองอย่าปล่อยให้ลอยนวล
นอกจากนี้ ต้องมีการหยุดการใช้กฎหมายเพื่อกลั่นแกล้งประชาชน ยกเลิกข้อกล่าวหาที่ดำเนินคดีกับประชาชน ไม่เฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจเท่านั้น แต่รวมถึงพนักงานอัยการทีมมีอำนาจในการสั่งไม่ฟ้อง และยืนยันว่า ผู้ชุมนุมไม่สมควรถูกดำเนินคดีแม้แต่น้อย แม้แต่การควบคุมตัวก็ไม่สมควร
รังสิมันต์ กล่าวต่อว่า อยากจะฝากเรื่องนี้ไปถึงรัฐบาล ควรแก่ปัญหาด้วยการรับฟังประชาชน ดึงพี่น้องเข้ามา ไม่ควรปล่อยให้มีอำนาจเพื่อทำร้ายประชาจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในวันนี้ ท่านอาจจะเป็นช่วงเวลาที่ความสุขในชีวิต เพราะมีไม่กี่ครั้งที่ผู้นำประเทศต่างๆ มาที่ประเทศของเราเยอะขนาดนี้ มีไม่กี่ครั้งที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม อยู่ในสปอร์ตไลท์ เพราะที่ผ่านมาทำให้ประเทศไทยตกต่ำในเวทีโลก
"อยากจะเห็นความเสียใจ อยากจะเห็นว่าท่าน ช่วยบอกสังคมได้ไหมว่า การสลายการชุมนุมไม่ควรเกิดขึ้น แม้ตัวท่านจะไม่เชื่อ แต่ช่วยเสแสร้ง ทำว่าเชื่อหน่อยได้ไหม ท่านก็คือ ทรราชดีๆ นี่เอง หากท่านปล่อยให้มีการทำร้ายร่างกาย" รังสิมันต์ กล่าว
รังสิมันต์ ระบุว่า ตนในฐานะเป็น กรรมาธิการการกฎหมาย และสิทธิมนุษยชนชน แม้อาจจะไม่ใช่ประธานที่จะสามารถบรรจุเรื่องหรือวาระ แต่ทันทีที่มีการประชุม จะเสนอให้การสลายการชุมนุมในครั้งนี้เข้าสู่การพิจารณาของกมธ. หวังว่า กมธ. จะตอบรับการพิจารณา อย่างน้อยที่สุดจะมีการแสวงหาข้อเท็จจริงว่าเกิดอะไรขึ้น ใครคือผู้ที่เกี่ยวข้อง เป็นคำสั่งโดยตรง ความใจร้อน หรือเป็นเรื่องเฉพาะตัวบุคคล โดยเราจะได้เห็นกัน
บี้ ส.ว. ลงมติเห็นชอบทำประชามติ ร่างรธน.ใหม่
ขณะที่เรื่องของสภาผู้แทนราษฎรได้มีมติในการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ โดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ซึ่งในการพิจารณาของสภาผู้แทนฯ มีมติเอกฉันท์ญัตติผ่าน และขั้นตอนต่อไปจะมีการพิจารณาโดยสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ซึ่งจะมีการพิจารณาในสัปดาห์นี้ และถ้ามีการลงมติเห็นชอบกับการทำประชามตินี้ ประเทศไทยของเรามีความก้าวหน้าในการดำเนินการจัดทำประชามติต่อไป
รังสิมันต์ กล่าวอีกว่า ตนทราบมาว่ามี ส.ว. บางคนต้องการให้การพิจารณาญัตตินี้ล่าช้าออกไป ทั้งนี้ การทำประชามติภายใต้ขั้นตอนนี้จะมีการทำพร้อมกับการเลือกตั้ง อาจมีปัญหาข้อกฎหมายระบบต่างๆ ไม่ว่าจะเรื่องการแบ่งเขต ขั้นตอนระเบียบที่ยังไม่ชัดเจนที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องรับผิดชอบ ถ้าพวกเรามีความต้องการเจตจำนงที่ชัดเจนว่าจะต้องให้มีการทำประชามติเพื่อให้รัฐธรรมนูญเป็นของประชาชน
โฆษกพรรคก้าวไกล หวังว่า การพิจารณาของสว.จะดำเนินการอย่างรวดเร็ว หมดเวลาแล้วที่จะเตะถ่วงกระบวนการให้ล่าช้า หลายท่านที่เคยลงมติวาระ 1-2 ที่เปิดช่องให้มีรัฐธรรมนูญใหม่ และสามารถพิจารณาจัดทำได้โดย ส.ส.ร. นี่คือโอกาสว่า สิ่งที่ท่านพูดในวันนั้นคือความจริงใจว่าท่านต้องการให้จัดทำประชามติ ส่วนตัวยืนยันว่า รัฐธรรมนูญ 2560 ไม่มีความชอบธรรม เพราะเกิดขึ้นภายใต้การดำเนิคดีของคนที่ไม่รับร่าง แต่หลายครั้งที่เราพยายามแก้ไข เราจะพบว่า ส.ว. หลายท่านชอบอ้างว่า มันได้ผ่านประชามติมาแล้ว ถ้าท่านเชื่อมั่นในเรื่องนั้นอย่างจริงจัง นี่คือโอกาสได้ถามประชาชนอีกครั้ง ว่าประชาชนต้องการจะมีรัฐธรรมนูญฉบับเดิม หรือฉบับใหม่ที่มาจากพี่น้องประชาชนอย่างแท้จริง