“การซ้อมรบนี้จะช่วยกระชับความร่วมมือเชิงปฏิบัติ ระหว่างกองทัพเรือของประเทศที่เข้าร่วมให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น… และอัดฉีดพลังบวกสู่สันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค” กระทรวงกลาโหมจีนระบุในแถลงการณ์เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (15 มี.ค.) ทั้งนี้ กระทรวงกลาโหมจีนยังระบุอีกว่า ยังประเทศอื่นๆ ที่เข้าร่วมการซ้อมรบ “Security Bond-2023” ด้วยเช่นกัน แต่ไม่ได้มีการให้รายละเอียดใดๆ เพิ่มเติม
อิหร่าน ปากีสถาน โอมาน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ล้วนมีแนวชายฝั่งตามแนวอ่าวโอมาน ซึ่งอยู่บริเวณปากอ่าวเปอร์เซีย อันเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ
กองทัพจีนส่งเรือพิฆาตติดขีปนาวุธนำวิถีหนานหนิงเข้าร่วมการฝึกซ้อมรบในครั้งนี้ โดยมีเป้าหมายหลักอยู่ที่การค้นหาและการกู้ภัยในทะเล และภารกิจอื่นๆ ที่ไม่ใช่การสู้รบ ทั้งนี้ จีนยังคงมีฐานทัพอยู่ในต่างประเทศเพียงแห่งเดียว พร้อมท่าเรือของกองทัพเรือในประเทศจิบูตีบริเวณแหลมของแอฟริกา ซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามอ่าวโอมาน
การฝึกซ้อมรบในครั้งนี้มีกำหนดการจนถึงวันอาทิตย์นี้ (19 มี.ค.) ซึ่งเกิดขึ้นท่ามกลางความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นระหว่างสหรัฐฯ และจีนในหลายประเด็น รวมถึงการที่จีนปฏิเสธที่จะประณามการรุกรานยูเครนของรัสเซีย และการให้การสนับสนุนด้านเศรษฐกิจแก่รัสเซียอย่างต่อเนื่อง
จอห์น เคอร์บี โฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ กล่าวว่า ทางการสหรัฐฯ ไม่กังวลกับการฝึกซ้อมร่วม เนื่องจากไม่ใช่ครั้งแรกที่รัสเซียและจีนฝึกซ้อมร่วมกัน “เราจะจับตาดู เราจะเฝ้าระวัง เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีภัยคุกคามที่เกิดจากการฝึกซ้อมนี้ ต่อผลประโยชน์ด้านความมั่นคงของชาติ หรือของพันธมิตรและหุ้นส่วนของเราในภูมิภาค” เคอร์บีกล่าวกับสำนักข่าว CNN “แต่มีหลายประเทศซ้อมรบ เราทำมันตลอดเวลา เราจะเฝ้าดูอย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้”
ทั้ง 3 ประเทศจัดการฝึกซ้อมรบร่วม ที่มีลักษณะคล้ายกันเมื่อปีที่แล้ว และในปี 2562 ซึ่งเน้นย้ำถึงความสัมพันธ์ทางทหารและการเมืองที่เพิ่มขึ้นของจีน กับประเทศต่างๆ ที่สหรัฐฯ และพันธมิตรส่วนใหญ่อยู่ในขั้วตรงกันข้าม
สหรัฐฯ และพันธมิตรประณามการรุกรานยูเครนของรัสเซีย และประกาศฏารคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซีย ตลอดจนการจัดหาอาวุธป้องกันให้กับยูเครน ทั้งนี้ ความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นของจีนกับรัสเซีย ทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับความเต็มใจ ที่จีนอาจเสนอความช่วยเหลือทางทหารแก่ วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ในขณะที่อิหร่านและสหรัฐฯ เป็นศัตรูกันตั้งแต่การก่อตั้งสาธารณรัฐอิสลามในปี 2522 และการจับตัวนักการทูตสหรัฐฯ เป็นตัวประกัน
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว จีนเป็นเจ้าภาพการเจรจาระหว่างอิหร่านกับซาอุดิอาระเบีย 2 ชาติคู่อริสำคัญในภูมิภาคตะวันออกกลาง ซึ่งส่งผลให้ทั้งสองฝ่ายบรรลุข้อตกลง ในการฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเต็มรูปแบบหลังจากเกิดความตึงเครียดมา 7 ปี
ในขณะที่สหรัฐฯ และซาอุดิอาระเบียมีความสัมพันธ์ทางทหารและการเมืองมาอย่างยาวนาน แต่ความสัมพันธ์ของทั้งสองกลับร้าวฉาน จากกรณีการสังหาร จามาล คาช็อกกี ผู้สื่อข่าวที่มีฐานการทำงานอยู่ในสหรัฐฯ เมื่อปี 2561 นำมาซึ่งความขัดแย้งของรัฐบาลทั้งสอง ตลอดจนการการลดการผลิตของกลุ่มพันธมิตรน้ำมัน OPEC ที่รัฐบาลสหรัฐฯ ระบุว่าเป็นการให้ความช่วยเหลือแก่รัสเซีย
ที่มา: