โดย พล.อ.อภิรัชต์ ได้แจ้งความ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ในนามส่วนตัวหลังหมิ่นประมาทวิจารณ์ผ่านบทสัมภาษณ์สื่อเรื่องเครื่องหมายทหารบนชุดทหาร ด้วยข้อความไม่เหมาะสม ทำให้เกิดความเสียหาย ถือเป็นการดูหมิ่น เหยียดหยาม และเตรียมเอาผิด พ.ร.บ.คอมฯ หลังนำข้อความลงเพจด้วย รวมทั้งให้ คสช. แจ้งความกรณีดูหมิ่นเจ้าพนักงาน กรณีต่อว่านายทหารขณะลงพื้นที่หาเสียง ทั้งนี้ พ.ท.ปกิจ พร้อมนายทหารพระธรรมนูญ ได้ไปแจ้งความต่อ สภ.เมืองปราจีนบุรี ข้อหาดูหมิ่นเจ้าพนักงานในขณะปฏิบัติหน้าที่ โดย พ.ท.ปกิจ ระบุว่า เพื่อปกป้องศักดิ์ของทหารและตนเอง
ล่าสุด พล.อ.อภิรัชต์ ยิ้มแทนคำตอบกรณีแจ้งความ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ปมวิจารณ์เครื่องหมายทหาร แต่ตอบสั้นๆ ถึงกรณีการให้ทีมกฎหมาย คสช. ฟ้องหมิ่นเจ้าพนักงานว่า “เป็นห่วงหมด เป็นห่วงกองทัพบก เป็นห่วงกำลังพลทุกคน เป็นหน้าที่ผู้บังคับบัญชาอยู่แล้ว” ด้าน ‘บิ๊กป้อม’ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรมว.กลาโหม ได้กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.อภิรัชต์ ฟ้องดำเนินคดี พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เพียงสั้นๆ เช่นกันว่า “ผบ.ทบ.เป็นเจ้าของกองทัพบก เมื่อไปด่าเขา เขาก็แจ้งความเป็นเรื่องธรรมดา”
“ไม่กังวลเรื่องคดีความ เรื่องนี้ต้องว่าไปตามกฎหมาย หากฝ่ายที่ฟ้องมีพยานหลักฐานก็ดำเนินการไป ตอนนี้ขอหาเสียงเลือกตั้งก่อนไว้เสร็จการเลือกตั้งเมื่อไหร่ค่อยมาว่ากัน” พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กล่าว
“ผมถูกคุกคามเสรีภาพในการหาเสียง เพราะในช่วงนี้กฎหมายหลายอย่างได้ถูกปลดล็อกแล้วและอีกไม่ถึง 20 วัน แล้วมีสิทธิอะไรมาคุกคามสิทธิเสรีภาพ” พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ แจง
ทั้งหมดนี้เป็นแอคชั่นช่วง 3 สัปดาห์ผ่านมา ที่กองทัพตกเป็นเป้านิ่งทางการเมือง นับตั้งแต่หลังเหตุการณ์ ‘บิ๊กเซอร์ไพรส์’ 8ก.พ.ที่ผ่านมา ที่แต่ละพรรคการเมืองหาเสียงกับนโยบาย ‘ผ่าตัด-ปฏิรูปกองทัพ’ ทั้งยกเลิกเกณฑ์ทหาร-ตัดงบกลาโหม ทำให้เหล่าทัพต้องออกมาชี้แจงผ่านระบบ ‘ทีมโฆษก’ รวมทั้งการเปิดเพลงหนักแผ่นดินและเพลงปลุกใจต่างๆในรั้ว ทบ. ในฐานะเหล่าทัพที่ถูกโจมตีหนักที่สุด เพื่อให้ทหารตระหนักถึงหน้าที่และสำนึกความเป็นทหาร หลังกองทัพใช้ ‘วิธีการนิ่ง’ มาก่อนหน้านี้ เพราะเป็นห้วงการเลือกตั้งอาจถูกโจมตีเรื่องความเป็นกลางและเหมาะสมได้
ซึ่งการใช้ระบบทีมโฆษกแทนเพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับฝ่ายการเมือง โดยล่าสุดคือการแจ้งความดำเนินคดีแทน ถือว่าเป็นมาตรการตอบโต้ที่เข้มข้นขึ้น และก่อนหน้านี้ พล.อ.อภิรัชต์ เคยระบุว่า ‘อย่าล้ำเส้น’ มาแล้วด้วย
ล่าสุด พล.อ.อภิรัชต์ เตรียมนำประชุมหน่วยขึ้นตรง ทบ. วาระพิเศษ ระดับผู้บังคับกองพัน-ผู้บังคับการกรม ที่ บก.กองทัพบก ราชดำเนิน ถือเป็นการประชุมในช่วงโค้งเกือบสุดท้ายในการหาเสียง ท่ามกลางสถานการณ์กองทัพตกเป็นเป้าทางการเมือง อย่างไรก็ตามมีรายงานว่า พล.อ.อภิรัชต์ จะนำนายทหาร ‘ผู้บังคับกองพัน-ผู้บังคับการกรม’ กล่าวปฏิญาณตนเบื้องหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 5 ก่อนนำประชุมด้วย
อีกความเคลื่อนไหวที่ชัดเจนแล้ว ‘บิ๊กตู่’พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. ปฏิเสธไม่ขึ้นเวทีปราศรัยให้พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะที่ตนเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรค หลังมีกำหนดการที่ จ.นครราชสีมา 10มี.ค.นี้ โดยระบุเพียง “ผมไม่ได้ไปช่วยหาเสียงให้ใคร ยังคงทำงานเหมือนเดิม”
โดยก่อนหน้าที่ พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ในสภาวะ ‘แบ่งรับแบ่งสู้-ชั่งใจ’ พอสมควร เพราะเกรงในเรื่องข้อกฎหมาย ที่อาจทำให้ ‘สะดุดขาตัวเอง’ ได้เช่นกัน เพราะมีความเสี่ยงไม่น้อยจากสายตาที่จับจ้อง รวมทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ ยอมรับว่าเปรียบเหมือน ‘ขึ้นเขียง’ แล้ว
ทั้งนี้มีการมองว่าฟากฝั่งพรรคพลังประชารัฐ ก็ต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์ ขึ้นเวทีปราศรัยและช่วยหาเสียง เพื่อเรียกเรตติ้งโค้งสุดท้ายในการหาเสียง 2 สัปดาห์สุดท้าย แต่ทีมงานของ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ระมัดระวังในเรื่องข้อกฎหมาย เพราะยังมีเรื่องที่สังคมกำลังตั้งคำถามอยู่คือ พล.อ.ประยุทธ์ เป็น ‘เจ้าหน้าที่รัฐ’ หรือไม่ ในตำแหน่ง หัวหน้าคสช. เพราะอาจทำให้ขาดคุณสมบัติในการเป็นแคนดิเดตนายกฯด้วย และยังไม่เคลียร์ในเวลานี้
การขึ้นเวทีปราศรัยและการช่วยพรรคพลังประชารัฐหาเสียงจึงมี ‘ความเสี่ยง’ ไม่น้อย ในแง่หนึ่งถ้าลงสู่สนามการเมืองเต็มๆตามที่พรรคต้องการก็มีทั้งได้กับเสียไปเลยไม่ฝั่งใดก็ฝั่งหนึ่ง แต่ถ้าไม่ลงสนามก็มีแต่จะเท่าทุนในเวลานี้ แต่อาจเสียโอกาสบางอย่างไปเท่านั้น ในการปลุกฐานเสียง-เรตติ้งครั้งสุดท้าย แน่นอนว่า พล.อ.ประยุทธ์ คงชั่งน้ำหนักอย่างดีแล้ว
แต่สูตรทางการเมืองสามารถ ‘ส่งกระแสจิต’ แทน เช่น การลงพื้นที่ต่างๆในนาม นายกฯ แต่ห้ามพูดถึงพรรคและนโยบายต่างๆ ซึ่งประชาชนก็ทราบกันดีอยู่แล้วว่า พล.อ.ประยุทธ์ เป็นแคนดิเดตนายกฯ พรรคพลังประชารัฐ ดังนั้นคำท้าทายให้ไปดีเบตหรือหาเสียง-ปราศรัย อาจเป็น ‘หลุมพราง’ ที่คู่แข่งทางการเมืองขุดไว้และอาจ ‘สะดุดขาตัวเอง’ ด้วย
โค้งสุดท้ายอีก 2 สัปดาห์ กับผลโพลที่ตรงกันในเวลานี้ ที่มาอันดับ 1 ยังคงเป็นพรรคเพื่อไทย ตามมาด้วยพรรคประชาธิปัตย์และพรรคพลังประชารัฐ แต่โพลครั้งนี้ ส.ส.350 เขต ว่ากันว่าพรรคเพื่อไทยได้ที่ 140 ที่นั่ง ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ได้อยู่ราว 80 ที่นั่ง และพลังประชารัฐราว 60 ที่นั่ง ยังไม่นับรวม ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่แต่ละพรรคก็หวังคะแนนเทน้ำทิ้งจากผู้สมัคร ส.ส.เขต
ดังนั้นผลโพลจึงยังไม่นิ่ง ซึ่งต้องดูกันอีกครั้งหลังวันที่ 7 มี.ค. ที่ศาลรธน.จะวินิจฉัยว่าจะยุบพรรคไทยรักษาชาติหรือไม่ด้วย รวมทั้งสถานการณ์ทางการเมืองต่างๆ จนไปถึงวันเลือกตั้ง 24 มี.ค.นี้ และหลังเลือกตั้งว่าจะเป็นอย่างไร เพราะ ‘เซอร์ไ���รส์’ ใช่ว่าจะมีแค่ครั้งเดียว
อย่าได้กระพริบตา !!