คดีเพชรสีน้ำเงินและความสัมพันธ์ไทย-ซาอุดิอาระเบียถูกนำกลับมาพูดถึงอีกครั้ง หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีกำหนดการเดินทางเยือนซาอุดิอาระเบียอย่างเป็นทางการ จากคำเชิญของเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีช อัลซะอูด มกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของซาอุดิอาระเบีย ในวันที่ 25-26 ม.ค.นี้
ความขัดแย้งดังกล่าวทำให้ความสัมพันธ์ของทั้งสองชาติขาดสะบั้นลง ส่งผลกระทบมาถึงตลาดแรงงานจากเดิมในช่วงก่อนทศวรรษที่ 2530 ที่มีแรงงานไทยเดินทางไปทำงานในซาอุดิอาระเบียกว่า 300,000 คน สร้างเม็ดเงินให้แก่ไทยได้กว่า 9,000 ล้านบาท จนหลังการตัดความสัมพันธ์นั้น เหลือแรงงานไทยในซาอุดิอาระเบีย ณ ปัจจุบันเพียงแค่ 16,900 คน
การเดินทางเยือนซาอุดิอาระเบียของ พล.อ.ประยุทธ์ ในครั้งนี้ สร้างคำถามให้แก่คนไทยทั้งประเทศว่า เดินทางไปเยือนเพื่ออะไร และความสัมพันธ์ของไทยกับซาอุดิอาระเบียพัฒนาขึ้นในแง่บวกจากปัจจัยอะไร วอยซ์ขอพาคุณไปทบทวนเรื่องราวดังกล่าวตลอดระยะเวลา 32 ปีที่ผ่านมา เพื่อปูทางไปสู่การทำความเข้าใจความสัมพันธ์ของทั้งสองชาติในอนาคต
ซาอุดิอาระเบียสถาปนาคาความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทยตั้งแต่ปี 2500 ผ่านการที่ไทยตั้งสถานกงสุลใหญ่ที่เมืองเจดดาห์ และซาอุดิอาระเบียเปิดสถานกงสุลใหญ่ที่กรุงเทพฯ ระหว่างนั้น ไทยกับซาอุดิอาระเบียมีการแลกเปลี่ยนอุปทูตกันมาโดยตลอด จนกระทั่งในปี 2518 ไทยจึงได้มีการแต่งตั้งเอกอัครราชทูตประจำซาอุดิอาระเบีย และในกรุงริยาดหลังการย้ายเมืองหลวงเป็นต้นมา
ก่อนหน้านี้ ความสัมพันธ์ของไทยกับซาอุดิอาระเบียนั้นมีขึ้นอย่างไม่เป็นทางการมานานนับศตวรรษแล้ว หลังจากที่ซาอุดิอาระเบียได้ก่อตั้งประเทศขึ้นโดยสมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลอะซีซ อัลซาอูด ในปี 2475 ทั้งนี้ มีเมืองศักดิ์สิทธ์ทางศาสนาอิสลามสองเมือง ได้แก่ เมกกะ และเมดินา ที่มีที่ตั้งอยู่ในซาอุดิอาระเบีย ราชวงศ์ซาอุดิอาระเบียจึงกลายเป็นผู้พิทักษ์เมืองศักดิ์สิทธิ์ทั้งสองไปโดยปริยาย
มุสลิมทั่วโลกรวมถึงชาวมุสลิมในไทยต่างเดินทางไปแสวงบุญกันที่เมืองศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนาอิสลาม ที่ตั้งอยู่ในประเทศซาอุดิอาระเบีย อาทิ การประกอบพิธีฮัจญ์ในเมืองเมกกะ ทำให้ไทยมีความสัมพันธ์ผ่านการเดินทางไปมาหาสู่ระหว่างชาวมุสลิมไทยกับซาอุดิอาระเบียมาตั้งแต่ราวศตวรรษก่อนอยู่แล้ว
6 ส.ค. 2532 เกรียงไกร เตชะโม่ง แรงงานไทยในซาอุดิอาระเบียที่ถูกว่าจ้างให้เป็นพนักงานทำความสะอาดในพระราชวังของกษัตริย์ ได้ลงมือกระทำการโจรกรรมเครื่องเพชรน้ำหนัก 91 กิโลกรัม ขณะเจ้าชายไฟซาล บิน ฟาฮัด บิน อับดุล อาซิส แปรพระราชฐานไปพักผ่อนแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
การขโมยเครื่องเพชรในครั้งนั้น รวมถึงการลักลอบนำเพชรสีน้ำเงินกับอัญมณีอื่นๆ รวม 50 กะรัตไปด้วย ถูกกระทำโดยพนักงานทำความสะอาดอย่างเกรียงไกร ที่ดูทางทีไล่มาโดยตลอด เกรียงไกรอาศัยการแอบนำถุงกระสอบขนาดใหญ่เข้าไปในพระราชวังเพื่อขดมยนำเพชรดังกล่าวในช่วงเวลากลางคืน การขโมยทรัพย์สินในซาอุดิอาระเบียนั้นเสี่ยงต่อโทษการประหารชีวิต อย่างไรก็ดี เกรียงไกรทำการโจรกรรมสำเร็จ
เกรียงไกรอาศัยการแอบลักลอบนำเพชรจำนวนกว่า 91 กิโลกรัม ซุกซ่อนปะปนไปกับเสื้อผ้าและของใช้ส่วนตัว ที่ถูกจัดส่งมาพร้อมกันล่วงหน้าผ่านบริการขนส่งสินค้าทางอากาศ ด่านศุลกากรของทั้งสองประเทศไม่สามารถตรวจพบเครื่องเพชรที่ถูกซุกซ่อนมาด้วยได้ เกรียงไกรตัดสินใจเดินทางกลับประเทศไทยทันทีหลังจากที่พัสดุที่มีเพชรซุกมาด้วยถึงไทยอย่างปลอดภัย
หลังจากการโจรกรรมและหนีกลับมายังไทยของเกรียงไกร เจ้าชายไฟซาลได้เสด็จกลับมายังพระราชวังก่อนพบว่าเครื่องเพชรประจำพระราชวงศ์ได้หายสาบสูญไปพร้อมกับคนงานทำความสะอาดที่เหลือสัญญาทำงานอีก 2 เดือน ทางการซาอุดิอาระเบียได้ติดต่อทางการไทยในทันที เพื่อขอให้รัฐบาลไทยติดตามเครื่องเพชรที่ถูกขโมยไปกลับคืนมา
เกรียงไกรได้ส่งเครื่องเพชรที่ขโมยไปมายังจังหวัดลำปาง ก่อนทำการขายเครื่องเพชรเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย โดยเครื่องเพชรจำนวนมากถูกขายให้แก่ สันติ ศรีธนะขัณฑ์ ช่างทำเพชรในกรุงเทพฯ ตำรวจได้ตามจับกุมเกรียงไกรและสืบหาปลายทางเพชรที่หายไปต่อ เกรียงไกรถูกศาลตัดสินจำคุก 7 ปีฐานลักทรัพย์ ก่อนได้รับการลดโทษเหลือ 3 ปี 6 เดือน แทนการส่งตัวไปดำเนินคดีที่ซาอุดิอาระเบีย
หลังจากการดำเนินคดีเกรียงไกร ทางการไทยได้ทำการส่งมอบเครื่องเพชรคืนไปยังซาอุดิอาระเบีย อย่างไรก็ดี เพชรสีน้ำเงินซึ่งเป็นเพชรขนาดใหญ่ที่สุดกลับหายไป และเครื่องเพชรจำนวนกว่าครึ่งที่ถูกส่งคืนนั้นเป็นของปลอม ในช่วงเวลานั้น มีข่าวลือในไทยพบภาพภรรยาข้าราชการหลายคนสวมสร้อยคอเพชรลักษณะคล้ายที่ถูกขโมยไปจากซาอุดิอาระเบียจำนวนมาก ทำให้ทางการซาอุดิอาระเบียสงสัยว่าตำรวจไทยอาจยักยอกเพชรเอาไว้เอง อย่างไรก็ดี ข่าวลือดังกล่าวยังไม่ได้รับการยืนยัน
โมฮัมหมัด ซาอิค โคจา อุปทูตซาอุดิอาระเบียประจำประเทศไทย ได้ว่าจ้างชุดสืบสวนพิเศษเพื่อแกะรอยหาเพชรที่หายไปอย่างลับ ๆ ในขณะที่ทางการไทยมี พล.ต.ท.ชลอ เกิดเทศ หัวหน้าชุดเฉพาะกิจติดตามเพชรที่หายไป ในอีกทางหนึ่ง ทางการซาอุดิอาระเบียได้ส่ง โมฮัมหมัด อัลรูไวลี นักธุรกิจที่เป็นเครือญาติของราชวงศ์เข้ามาเพื่อสืบสวนเรื่องเพชรที่หายไปอย่างลับๆ ด้วยเช่นกัน
ก่อนการเดินทางมาไทยในปี 2533 ของอัลรูไวลีนั้น ในไทยกลับเกิดเหตุการเกิดสังหารนักการทูตชาวซาอุดิอาระเบียสามคน เงื่อนไขทางเหตุการณ์และเวลาทำให้ทางการซาอุดิอาระเบียเกิดความสงสัยในเงื่อนงำว่าอาจมีความเกี่ยวข้องกันกับตำรวจไทย อย่างไรก็ดี หลักฐานในภายหลักเชื่อมโยงว่าคดีการฆ่านักการทูตทั้งสามในไทย เป็นส่วนหนึ่งจากความบาดหมางระหว่างซาอุดิอาระเบียกับกลุ่มติดอาวุธเลบานอนฮิซบุลลอฮ์
อัลรูไวลีที่เดินทางเข้ามาสืบสวนกรณีเพชรของชาติตนเองที่หายไป กลับถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจไทยจับตาและสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับการตายของนักการทูตซาอุดิอาระเบียเกี่ยวพันกับผลประโยชน์ทับซ้อนในเรื่องการจัดส่งแรงงานไทยไปซาอุดิอาระเบีย เจ้าหน้าที่ตำรวจไทยทำการอุ้มอัลรูไวลี เพื่อบีบให้รับสารภาพจนเกิดความผิดพลาดขึ้น ปัจจุบันไม่มีใครทราบชะตากรรมของอัลรูไวลี แต่มีข้อสันนิษฐานอย่างแน่ชัดแล้วว่า อัลรูไวลีอาจเสียชีวิตลงจากการอุ้มหายโดยทางการไทย
การหายตัวไปของอัลรูไวลียิ่งสร้างความบาดหมางของซาอุดิอาระเบียที่มีต่อไทยมากยิ่งขึ้น ทางการซาอุดิอาระเบียได้ประกาศตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทย และไม่อนุญาตให้วีซ่าแก่แรงงงานไทยไปในตัว แรงงานไทยที่เดินทางไปยังซาอุดิอาระเบียจากเดิมกว่าหลายแสนคน ลดลงมาเหลือไม่กี่พันคน ซาอุดิอาระเบียยังประกาศไม่ให้ประชาชนของตนเองเดินทางมายังประเทศไทยด้วยเช่นกัน
"ถ้าเรื่องไม่เกี่ยวข้องกับผู้มีอำนาจในประเทศไทย เรื่องก็จะไม่ใหญ่ขนาดนี้" คือคำให้การของเกรียงไกรในภายหลังจากคดีได้ผ่านมานานหลายปี ทั้งนี้ จากคำให้การของเกรียงไกรเดิม เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ติดตามไปยังผู้รับซื้อเพชรอย่างสันติ โดนสันติยืนยันว่า เขาได้คืนเครื่องเพชรทั้งหมดไปให้แล้ว
จนกระทั่งปี 2537 เจ้าหน้าที่ตำรวจไทยได้ทำการลักพาตัวภรรยาและลูกของสันติเพื่อบีบให้เขาคืนเครื่องเพชรให้ ถึงแม้จะมีการยืนยันจากตัวสันติเองว่าตนได้คืนเครื่องเพชรทั้งหมดไปแล้ว ในเวลาต่อมา ภรรยาและลูกของสันติกลับถูกพบว่าเสียชีวิตด้วยการจัดฉากว่าเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ ทั้งๆ ที่ร่างกายเต็มไปด้วยบาดแผลถูกซ้อมอย่างรุนแรง คดีเพชรซาอุดิฯ ที่ไม่สามารถหาเครื่องเพชรคืนให้แก่ต้นทางได้ ไหลวนลงสู่ปริศนาที่ยังหาคำตอบไม่ได้ และแลกไปด้วยการสังเวยชีวิตผู้บริสุทธิ์ถึง 3 ราย
คดีการอุ้มหายของสองแม่ลูกศรีธนะขัณฑ์ ทำให้ พล.ต.ท.ชลอ ถูกตัดสินจำคุก 20 ปี ก่อนจะได้รับการปล่อยตัวมาเมื่อไม่กี่ปีก่อน ในขณะที่คดีการอุ้มฆ่าอัลรูไวลีนั้น ทางการไทยได้ตั้งข้อกล่าวหาแก่ พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม ผบช.ภาค 5 และพวกอีก 4 คน ก่อนที่ศาลฎีกาจะพิพากษายกฟ้องเมื่อปี 2562 ส่งผลให้มีการคาดการณ์ว่า คดีที่ยังมืดมัวกับผลตัดสินที่ซาอุดิอาระเบียข้องใจ อาจส่งผลให้ความสัมพันธ์ของทั้งสองชาติตกต่ำลงไปกว่าเดิม
ก่อนหน้านี้ กระทรวงการต่างประเทศไทยตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ 2530 เป็นต้นมา ได้มีความพยายามในการรื้อฟื้นความสัมพันธ์ที่มีแก่ซาอุดิอาระเบีย ชาติที่ครองอิทธิพลเหนือชาติมุสลิมอื่นๆ กว่า 50 ประเทศ ผ่านการตั้งคณะสอบสวนและส่งเจ้าหน้าที่ทางการทูตพยายามเจรจาหารือมากว่าหลายทศวรรษ และความพยายามดังกล่าวของกระทรวงการต่างประเทศได้เพิ่งมาผลิดอกออกใบในยุคสมัยของ พล.อ.ประยุทธ์
การสานสัมพันธ์เริ่มเกิดขึ้นในปี 2559 ขณะรัฐบาลคณะรัฐประหารของ พล.อ.ประยุทธ์ ยังคงครองอำนาจ หลังมีการพบหารือ 3 ฝ่าย ในช่วงการประชุมสุดยอดกรอบความร่วมมือเอเชีย (เอซีดี) ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 9-10 ตุลาคม ที่กรุงเทพฯ ระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เจ้าชายเคาะลีฟะฮ์ บิน ซัลมาน อัลเคาะลีฟะฮ์ นายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรบาห์เรนในขณะนั้น และ อาดิล บิน อะหมัด อัลณูบีร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศซาอุดิอาระเบียในขณะนั้น
การมาเยือนไทยครั้งแรกในรอบหลายสิบปีของเจ้าหน้าที่ระดับสูงซาอุดิอาระเบีย ด้วยการอาศัยความช่วยเหลือจากบาห์เรนเป็นตัวกลาง เป็นโอกาสในการหารือกับไทยถึงแนวทางฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างทั้ง 2 ประเทศ การพูดคุยเจรจาเพื่อรื้อฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับซาอุดิอาระเบียยังคงเดินหน้ามาเรื่อยๆ
จนเมื่อเดือน ม.ค. 2563 ที่ผ่านมา ดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้รับคำเชิญจากเจ้าชายไฟซาล บิน ฟัลฮาน อัลซาอูด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศซาอุดิอาระเบีย เพื่อเข้าหารือแนวทางการฟื้นฟูความสัมพันธ์ในอีกระยะ นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ได้พบกับเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ในการประชุม G20 เมื่อปี 2562 ที่นครโอซากาที่ผ่านมาด้วยเช่นกัน
จากความพยายามที่ยาวนานของกระทรวงการต่างประเทศไทย สอดรับเข้ากับจังหวะการเปลี่ยนแปลงระบอบการเมืองภายในซาอุดิอาระเบียในปี 2558 หลังเจ้าชายโมฮัมเหม็ดขึ้นครองตำแหน่งมกุฎราชกุมาร และกลายเป็นผู้ปกครองประเทศในเชิงพฤตินัย แทนพระบิดาอย่างสมเด็จพระราชาธิบดีซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัล ซาอูด กษัตริย์แห่งซาอุดิอาระเบียพระองค์ปัจจุบันที่มีอายุมากแล้ว
มีการคาดการณ์จากนักวิชาการหลายฝ่ายว่า ด้วยความที่เจ้าชายโมฮัมเหม็ดเป็นคนรุ่นใหม่ และไม่ได้มีความทรงจำร่วมกับเหตุการณ์คดีเพชรซาอุดิฯ เท่ากับผู้บริหารประเทศชุดก่อนที่มักเป็นผู้อาวุโสของราชวงศ์ ทำให้ซาอุดิอาระเบียภายใต้การนำของเจ้าชายโมฮัมเหม็ดเดินหน้านโยบายต่างประเทศที่เปิดโอกาสและความเป็นไปได้ของตนเองที่มากขึ้น รวมถึงการเปลี่ยนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคนใหม่ จากการมีรัฐมนตรีต่างประเทศคนเดิมมานานกว่า 40 ปี
หลังจากการขึ้นสู่อำนาจของเจ้าชายโมฮัมเหม็ด ซาอุดิอาระเบียได้ประกาศ ‘วิสัยทัศน์ซาอุดิ 2030’ วิสัยทัศน์ดังกล่าวเป็นการวางนโยบายปฏิรูปซาอุดิอาระเบียไปสู่ความเป็นสมัยใหม่ และการกำหนดเป้าหมายให้ซาอุดิอาระเบียกลายเป็นประเทศที่ไม่พึ่งพาแต่การส่งออกน้ำมัน แต่วางโครงสร้างพื้นฐานไปสู่การพัฒนาด้านสาธารณสุข การศึกษา โครงสร้างพื้นฐาน สถานพักผ่อน และการท่องเที่ยว
การเปิดความสัมพันธ์กับไทยของซาอุดิอาระเบียจึงมองเป็นแค่เหตุการณ์เดียวไม่ได้ เพราะถึงแม้ว่าซาอุดิอาระเบียจะยังปกครองด้วยระบอบการเมืองแบบอำนาจนิยม แต่เจ้าชายโมฮัมเหม็ดพยายามปรับเปลี่ยนโครงสร้างประเทศใหม่ เช่น การยกเลิกการแบนโรงภาพยนตร์ การแสดงคอนเสิร์ต ที่ถูกแบนมาอย่างยาวนานจากกลุ่มหัวอนุรักษ์นิยมอิสลาม
เช่นเดียวกันกับการมอบสิทธิสตรีให้แก่พลเมืองมุสลิมหญิงในประเทศที่เพิ่มมากขึ้น โดยซาอุดิอาระเบียเริ่มให้เด็กนักเรียนชายและหญิงสามารถเรียนหนังสือในชั้นเรียนเดียวกันได้ตั้งแต่ปี 2560 รวมถึงการอนุญาตให้ผู้หญิงสามารถขับรถเองได้ตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา เหล่านี้ล้วนเป็นความพยายามของซาอุดิอาระเบียในการเปิดความเป็นไปได้ใหม่ๆ ให้แก่ชาติของตน ไม่เว้นแม้แต่เรื่องการฟื้นฟูความสัมพันธ์กับไทย
ภาพลักษณ์ของซาอุดิอาระเบียในเวทีโลกตกต่ำลงมากยิ่งขึ้น หลังจากที่ในปี 2561 เกิดกรณีลอบสังหาร จามาล คาช็อกกี ผู้สื่อข่าวที่วิพากษ์วิจารณ์ราชวงศ์ซาอุดิอาระเบียมาอย่างยาวนาน โดยคาช็อกกีถูกลักพาตัวหลังจากเดินทางเข้าไปรับเอกสารในสถานกงสุลซาอุดิอาระเบีย ณ กรุงอิสตันบูล ประเทศตุรกี หลังจากนั้น คาช็อกกีหายตัวไปอย่างลึกลับ ก่อนมีหลักฐานว่าเขาถูกสังหารด้วยผู้ลงมือที่เดินทางมาจากซาอุดิอาระเบียเอง
หลักฐานหลายอย่างบ่งชี้ไปที่เจ้าชายโมฮัมเหม็ดว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการสังหารนักข่าวดังรายนี้ สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในซาอุดิอาระเบียที่ย่ำแย่มาแต่เดิมทุนกลับตกต่ำลงกว่าเดิม ในทางตรงกันข้าม ขั้วพันธมิตรที่ซาอุดิอาระเบียมีมาแต่เดิมกับชาติตะวันตกกลับตกต่ำลงไปด้วยเช่นกัน ทั้งจากแนวนโยบายของประเทศที่มีความก้าวร้าว ประกอบกับปัญหาสิทธิมนุษยชน
ซาอุดิอาระเบียเองถูกกดดันอย่างหนักจากสหรัฐฯ และประเทศพันธมิตรตะวันตก หลังจากเกิดเหตุการณ์วินาศกรรม 9/11 ประกอบกับในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ราคาน้ำมันโลกกลับตกต่ำลงเรื่อยๆ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเมืองและเศรษฐกิจของซาอุดิอาระเบีย ที่เคยพึ่งพาชาติตะวันตกตลอดจนการส่งออกน้ำมันมาโดยตลอด ทั้งนี้ เมื่อไม่กี่ปีก่อน ซาอุดิอาระเบียประกาศงบประมาณขาดดุลกว่า 98,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 3 ล้านล้านบาท) สะท้อนภาพวิกฤตที่ซาอุดิอาระเบียกำลังประสบอย่างชัดเจน
ซาอุดิอาระเบียเริ่มพยายามปรับตัวผ่านการประกาศวิสัยทัศน์ซาอุดิ 2030 และเริ่มดำเนินนโยบายหันหน้าสู่ตะวันออกมากยิ่งขึ้น ทางออกหนึ่งของซาอุดิอาระเบียเองจึงหนีไม่พ้นประเทศเผด็จการในแถบเอเชียที่ไม่ได้สนใจปัญหาสิทธิมนุษยชน นักวิชาการหลายฝ่ายวิเคราะห์ว่า ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ซาอุดิอาระเบียเริ่มมีความใกล้ชิดกันกับจีนมากยิ่งขึ้นอย่างน่าจับตามอง
เมื่อปี 2564 จีนเองประกาศว่าตนให้ความสำคัญแก่ซาอุดิอาระเบียเป็นอันดับต้นๆ ในการดำเนินนโยบายทางการทูตกับชาติตะวันออกกลาง ในขณะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของซาอุดิอาระเบียระบุว่า “จีนเป็นพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์ที่น่าเชื่อถืออย่างแท้จริง” ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าซาอุดิอาระเบียกำลังจะลดการพึ่งพาทางเศรษฐกิจจากการส่งออกน้ำมัน แต่เชื้อเพลิงดังกล่าวคือสิ่งที่จีนสนใจ ในฐานะตัวช่วยเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของจีนที่ยังไม่ได้มีแนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ตอบรับกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก
ไทยเองที่มีแนวนโยบายใกล้ชิดกับจีน และความพยายามอย่างหนักในการรื้อฟื้นความสัมพันธ์กับทางซาอุดิอาระเบียจึงพลอยได้ประโยชน์จากแนวนโยบายที่ซาอุดิอาระเบียพยายามหันหน้าเข้าหาระบอบเผด็จการตะวันออกอย่างจีน ที่มีการปกครองไม่แตกต่างกันไปมากนักด้วยเช่นกัน
ผลประโยชน์ที่ไทยจะได้จากการสานสัมพันธ์กับซาอุดิอาระเบียอีกครั้งคงหนีไม่พ้นภาคแรงงาน ความสัมพันธ์ระดับประชาชนกับประชาชน สังเกตได้จากการที่คณะเดินทางของ พล.อ.ประยุทธ์ มี สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเดินทางติดตามไปด้วย พร้อมกันนี้ ยังมี สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเดินทางเข้าหารือพร้อมกันกับ พล.ประยุทธ์ และ ดอน
การเปิดวิสัยทัศน์ 2030 ของซาอุดิอาระเบียกำลังจะทำให้ประเทศมหาอำนาจมุสลิมในภูมิภาคตะวันออกกลางแห่งนี้ มีโครงการก่อสร้างและปรับปรุงประเทศ ผ่านการเปิดรับการลงทุนจากต่างชาติให้ได้มากที่สุด เพื่อหลีกหนีการพึ่งพาน้ำมันให้ได้มากที่สุด โครงการต่างๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในซาอุดิอาระเบีย และการเปิดประเทศสู่ธุรกิจภาคการท่องเที่ยวจะทำให้ซาอุดิอาระเบียต้องการแรงงานเพิ่มขึ้นจำนวนมาก และคงหนีไม่พ้นการแสวงหาแรงงานจากไทยเข้าไปทำงานในประเทศตนเอง
ในทางกลับกัน ก่อนหน้านี้นักธุรกิจของซาอุดิอาระเบียที่ต้องการจะลงทุนในประเทศไทยนั้นยังทำได้ลำบาก เนื่องจากอุปสรรคจากความสัมพันธ์ที่ซาอุดิอาระเบียมีกับไทยนั้นห่างเหินกันมาเป็นเวลากว่า 30 ปี ผลประโยชน์ที่สอดคล้อง กับระบอบการเมืองที่ไม่แตกต่างกันของทั้งไทยและซาอุดิอาระเบีย ประกอบกับผู้นำรุ่นใหม่ของชาติมุสลิมแห่งนี้ อาจเพียงพอที่จะทำให้ทั้งสองชาติกลับมามีความสัมพันธ์ทวิภาคีที่แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม ประชาชนคงต้องจับตาดูกันต่อไปว่า หลังจากการเดินทางกลับมาของ พล.อ.ประยุทธ์และคณะในที่ 26 นี้ ไทยเองจะมีอะไรติดไม้ติดมือกลับมาบ้าง
ที่มา:
http://content.time.com/time/world/article/0,8599,1969920,00.html
https://news.thaipbs.or.th/content/278636
https://www.bbc.com/news/world-asia-49824325
https://www.mfa.go.th/th/content/5d5bcc1c15e39c3060009fd4?cate=5d5bcb4e15e39c3060006870
https://www.prd.go.th/th/content/category/detail/id/33/iid/71540