แต่ ส.ส.อนาคตใหม่ที่เดิมมีเสียงในสภาฯ หลังยุบพรรค 65 เสียง ยังจะต้องเสียสมาธิจากข่าวพลังดูด-ทุ่มเงินเพื่อดูด ส.ส.ไปร่วมซีกรัฐบาล และก็ทำให้ต้องเสีย ส.ส. 9 เสียงไปให้กับพรรคภูมิใจไทย เติมเต็มเป็นรัฐบาล 273 เสียง ทิ้งห่างพรรคฝ่ายค้านไปถึง 58 เสียง
ส่งผลให้รัฐบาลไม่ต้องกังวลเรื่องเสียงปริ่มน้ำในสภาฯ ไม่ว่าจะเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจอีกครั้งก็ตามในสมัยประชุมรัฐสภาปีที่ 2 หรือแม้แต่การผ่านร่างกฎหมายสำคัญก็ไม่ต้องกังวลว่าจะแพ้เสียงฝ่ายค้านอีกครั้ง
นั่นทำให้ วิปรัฐบาลไม่ต้องเข้มงวดกับเสียง ส.ส.ซีกตัวเองมากขึ้นกว่าแต่ก่อน
ศึกซักฟอกยกแรก ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แม้จะผ่านพ้นไปอย่างสบาย ทั้ง 1 นายกฯ และ 5 รัฐมนตรีได้ไปต่อ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าแรงกระเพื่อมภายในพรรคร่วมรัฐบาลยังมีอยู่
เห็นได้ชัดจากคะแนนเสียงไว้วางใจที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ ได้รับเสียงไว้วางใจในหมู่พรรคร่วมรัฐบาลน้อยที่สุดคือ 269 เสียง
หลังจบศึกซักฟอก สิ่งที่ตามมาคือการปรับคณะรัฐมนตรีในไม่ช้า เพราะแผลที่เกิดขึ้นและความไม่ไว้วางใจของพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง ขณะที่อำนาจต่อรองของพรรคภูมิใจไทยยังเพิ่มขึ้นด้วยจำนวน ส.ส.ที่ดูดมาจาก ‘อนาคตใหม่’
กลับมาดูที่ความไม่นิ่งของกลุ่ม ส.ส.อนาคตใหม่ ช่วงอภิปรายไม่ไว้วางใจ ส.ส.อนาคตใหม่ ที่ยังยึดอุดมการณ์อนาคตใหม่ไม่ทรยศหักหลังเพื่อนด้วยกัน
ต่างพากันแถลงข่าวแฉถึงขบวนการฮุบ-ดูด ส.ส.อนาคตใหม่
‘เบญจา แสงจันทร์’ ส.ส.บัญชีรายชื่อ อดีตพรรคอนาคตใหม่ ต้องแฉด้วยคลิปเสียงสนทนาของ ส.ส.ในซีกพรรครัฐบาลว่ามีการติดต่อมาเสนอด้วยตัวเลขผลประโยชน์ หากรวบรวม ส.ส.ได้ถึง 9 คน ก็สามารถนำไปต่อรองเก้ารัฐมนตรีที่คาดว่าจะเกิดขึ้นหลังจบศึกซักฟอก
“ผู้ชายคนหนึ่ง ซึ่งชายปริศนามีการพูดจาชักชวนให้มาร่วมพรรครัฐบาล โดยระบุว่า ขยายเวลาให้ถึงวันจันทร์ แล้วจะมากี่คนก็ได้ 8-9 คน ซึ่งถ้าหากชักชวนมาได้มากก็จะได้รับตำเเหน่งรัฐมนตรีช่วยกระทรวงหนึ่ง เเละนอกจากนี้ยังมีเสนอเงินให้ ส.ส.ที่จะย้ายมาร่วม จำนวน 23 ล้านบาทต่อคน“ เบญจา แถลงต่อสื่อมวลชน
ทันทีที่การเปิดโต๊ะแถลงข่าวหักดิบกระบวนการซื้อตัว ส.ส.เกิดขึ้น
‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ตอบโต้กระบวนการดูด ส.ส.ที่เป็นลูกพรรคว่า “เหตุผลคือผู้ยื่นข้อเสนอต้องการรวบรวม ส.ส. ให้ครบจำนวนหนึ่งเพื่อต่อรองรัฐบาลให้ตนได้ตำแหน่งรัฐมนตรี ผมสงสัยว่าหาก ส.ส. คนใดมีพฤติกรรมเช่นนี้ หากได้เป็นรัฐมนตรี ย่อมต้องการถอนทุนคืน ด้วยภาษีประชาชน เราเคยพูดในหลายครั้งหลายโอกาสว่าเรามีหลายคลิปของหลายคน นี่เป็นส่วนหนึ่งเท่านั้น“
“นี่คือการทำลายระบบรัฐสภาโดยใช้อำนาจเงินเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว นี่คือการกระทำที่ไร้ยางอายที่พร้อมทำลายเสียงของประชาชนเพื่อประโยชน์ส่วนตน นี่คือการแสวงหาความมั่นคงในสภาโดยไม่สนใจเจตนาของประชาชน”
‘ธนาธร’ ยังยกความผิดการที่พรรคการเมืองให้ผลประโยชน์เพื่อให้เข้าเป็นสมาชิกพรรคการเมือของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 30 “ห้ามมิให้พรรคการเมืองหรือผู้ใดให้ เสนอให้ หรือสัญญาว่าจะให้เงินทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อมเพื่อจูงใจให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดสมัครเข้าเป็นสมาชิก ทั้งนี้ เว้นแต่สิทธิหรือประโยชน์ซึ่งบุคคลจะพึงได้รับในฐานะที่เป็นสมาชิก”
และ มาตรา 31 “ห้ามมิให้ผู้ใดเรียก รับ หรือยอมจะรับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดจากพรรคการเมืองหรือจากผู้ใดเพื่อสมัครเข้าเป็นสมาชิก”
ขณะที่ ‘อนุทิน ชาญวีรกูล’ รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ออกมาดับข่าวทุ่มซื้อตัว ส.ส.เข้าพรรคว่า ไม่มีเรื่องเงินเข้ามาเกี่ยวข้องกับการย้ายพรรคของ 9 ส.ส. อดีตพรรคอนาคตใหม่ที่เข้ามาสังกัดพรรคภูมิใจไทย ไม่เป็นไปตามที่ออกมาแถลงและเปิดคลิปเสียงว่าการย้ายไปสังกัดภูมิใจไทย มีเรื่องเงินมาเกี่ยวข้อง พร้อมทั้งยังกล่าวว่าคนเหล่านี้ไม่ใช่งูเห่า เพราะไม่มีพรรคสังกัดแล้ว และพร้อมเปิดรับ หากใครคิดว่าจะมาทำงานช่วยงานพรรค
ล่าสุด ‘ศรีสุวรรณ จรรยา’ เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย รวบรวมพยานหลักฐานทั้งคลิปเสียงและเอกสารถอดเทปบันทึกเสียง ที่ ส.ส.อดีตพรรคอนาคตใหม่ นำมาเปิดเผยถึงกระบวนการที่สมาชิกพรรคการเมืองหนึ่ง ต่อรองผลประโยชน์ซื้อขายตัวนักการเมือง หลังจากยุบพรรคอนาคตใหม่ ยื่นให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) วินิจฉัยส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง ดำเนินการเอาผิด
หากเปิดดู พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 92 กำหนดให้ กรณี กกต.มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองใดกระทําการ ตาม (3) ให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคการเมืองได้
โดย มาตรา 92 (3) กำหนดความผิดที่เป็นเหตุให้ยุบพรรคการเมืองได้หากกระทำการตามมาตรา 30
และเมื่อศาลรัฐธรรมนูญดําเนินการไต่สวนแล้ว มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองกระทําการ ตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมือง และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้น
การกระทำความผิดมาตรา 30 และ มาตรา 31 ยังมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 109 ไว้ว่าต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกําหนดห้าปี
หากความผิดดังกล่าวเป็นการกระทําเพื่อให้ลงหรือขอลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น
คลิปเสียงที่ ส.ส.อดีตพรรคอนาคตใหม่ได้ออกแฉ หากเป็นจริงและพิสูจน์ได้ว่ามีพรรคการเมืองใดหรือผู้ใดทำความย่อมเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 30 และกระบวนการต่อไปก็ต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเพื่อยุบพรรคการเมืองนั้นได้
เพียงแต่การไต่สวนของ กกต. จะมีดุลพินิจและการวินิจฉัยที่เพียงพอจะให้พรรคการเมืองนั้นถูกยุบพรรคหรือไม่
ในเรื่องการทุ่มเงินซื้อตัว ส.ส.เพื่อเข้าร่วมรัฐบาลยังมีมุมมองจากนักกฎหมายมหาชนที่สอนในมหาวิทยาลัยชื่อดังของประเทศ ที่มองเบื้องต้นว่า กกต.จะเชื่อให้พยานหลักฐานของอดีตพรรคอนาคตใหม่หรือไม่ เพราะหาก กกต.เห็นว่าการกระทำไม่ใช่ของกรรมการบริหารพรรคก็อาจตัดตอนว่าไม่ใช่ความผิดของพรรคการเมืองนั้นอาจ และมีความเป็นไปได้ที่ กกต. จะยกคำร้อง หากดูจากการไต่สวนของ กกต.ที่ผ่านมาที่จะมักเป็นคุณต่อพรรครัฐบาล
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: