ไม่พบผลการค้นหา
'วิญญัติ' จี้ ป.ป.ช. เร่งคดีโรงพักร้าง พร้อมส่งข้อมูลสำคัญเพิ่มเติม ย้ำต้องมีคนรับผิดชอบความเสียหาย หากละเลยจะร้องต่อประธานรัฐสภาเพื่อเสนอประธานศาลฎีกาตั้งคณะผู้ไต่สวนอิสระเอาผิดคณะกรรมการ ป.ป.ช.

นายวิญญัติ ชาติมนตรี เลขาธิการสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิเสรีภาพ(สกสส.) พร้อมคณะทำงาน ได้เข้ายื่นหนังสือถึงพล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. และในฐานะประธานคณะกรรมการไต่สวนฯ กรณีทุจริตอนุมัติการก่อสร้างอาคารสถานีตำรวจทดแทน 396 แห่ง เป็นสัญญาเดียวโดยฝ่าฝืนมติ ครม. ที่มีผู้กล่าวหานายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในฐานะรองนายกรัฐมนตรี ได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) ได้กระทำความผิดต่อกฎหมาย โดยอนุมัติสั่งการให้ยกเลิกการประมูลจัดจ้างโครงการก่อสร้างโรงพักทดแทนและอาคารพักอาศัยข้าราชการตำรวจ แบบแยกการเสนอราคาเป็นรายภาค (ภาค 1 - 9) เป็นให้หน่วยงานจัดจ้างก่อสร้างทุกอาคารรวมกันในครั้งเดียว เป็นการขัดมติ ครม.

โดยนายวิญญัติ ได้ตั้งข้อสังเกตในคดีดังกล่าวว่า คดีนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวน 5 ปีแล้ว ไม่มีความคืบหน้า ขณะที่พยานหลักฐานมีความชัดเจน และแน่นหนาที่จะดำเนินการหาตัวผู้รับผิดชอบและเอาผิดดำเนินคดีได้ เพราะ สตช.เสนอให้จัดจ้างก่อสร้างเป็นรายภาค และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติอนุมัติงบประมาณ 5,848 ล้านบาทแล้ว ซึ่งหากจะเปลี่ยนวิธีการก่อสร้างหรือจัดจ้าง ก็ต้องนำเสนอ ครม.เพื่อพิจารณาอนุมัติก่อน แต่ปรากฏว่านายสุเทพ รองนายกฯกำกับดูแล สตช. กลับลงนามอนุมัติการเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดจ้างก่อสร้างมีผู้รับจ้างเพียงรายเดียว และไม่มีการเสนอให้ ครม. อนุมัติให้เปลี่ยนแปลงวิธีการ ส่งผลให้โครงการไม่แล้วเสร็จเกิดความเสียหายต่อ สตช. และราชการ

ในขณะที่คณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์(กวพ.อ.) กรมบัญชีกลาง มี นางสาวสุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลังในขณะนั้น เป็นประธาน กวพ.อ.ด้วย เนื่องจากในส่วนของการดำเนินการจัดจ้างก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีอาคารตำรวจ(ทดแทน) ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จำนวน 396 หลัง คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบตามความเห็นของสำนักงบประมาณและให้สำนักงานตำรวจฯรับความเห็นของสำนักงบประมาณไปดำเนินการ

โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้มีการกระจายการจัดซื้อจัดจ้างไปยังหน่วยงานตามพื้นที่ที่จะดำเนินการก็จะทำให้โครงการสำเร็จได้เร็วยิ่งขึ้น แต่กรณีนี้ไม่ปรากฏว่า สำนักงานตำรวจฯได้ดำเนินการตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนดไว้ จึงเป็นการปฏิบัติที่ไม่เป็นไปตามมติของคณะรัฐมนตรี ปัจจุบันนางสาวสุภามาเป็นกรรมการป.ป.ช. ที่ทราบมาตลอดว่ามีข้อวินิจฉัยดังกล่าว เหตุใดป.ป.ช.จึงล่าช้า มา 5 ปีกว่าแล้ว ซึ่งเรื่องอื่นเร่งรีบสรุปชี้มูลได้ทั้งที่ความเสียหายก็ไม่ชัดเจน แต่เรื่องนี้ข้อเท็จจริงเป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาของตำรวจทั้งประเทศ ความเสียหายเกิดขึ้นชัดเจนและมีพฤติการณ์การกระทำที่ขัดหรือไม่ปฏิบัติตามมติครม.ตามที่เคยชี้ไว้แล้วทั้ง กวพ.อ. และอนุกรรมการป.ป.ช.ว่าเข้าข่ายเป็นความผิด หรือว่าคำตอบเปลี่ยนไปแล้ว

อย่างไรก็ตามประธาน ป.ป.ช. เป็นอดีตนายตำรวจใหญ่ เติบโตจากองค์กรตำรวจจะทำเรื่องนี้อย่างไร ซึ่งประชาชนคาดหวังว่าท่านกรรมการ ป.ป.ช.ทั้งหลายที่ได้รับการต่ออายุจะทำหน้าที่แข็งขันอย่างคดีอื่นๆหรือไม่ เพราะองค์กรอิสระต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญกฎหมายและหลักนิติธรรม ท่านประธานและกรรมการ โดยเฉพาะนางสาวสุภาฯ จะทำหน้าที่ตรวจสอบการทุจริตนี้อย่างมีประสิทธิภาพ สุจริต เที่ยงธรรม ไม่เลือกปฏิบัติได้หรือไม่ ท่านต้องเห็นแก่เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติ และบุญคุณที่ต้องทดแทนองค์กรเดิมที่ทำให้ประธานเจริญก้าวหน้ามาถึงทุกวันนี้ 

ทั้งนี้ตนจะติดตามเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องจนกว่าป.ป.ช.จะมีมติ และขอให้พี่น้องข้าราชการตำรวจทั้งประเทศได้ร่วมกันติดตามไปด้วยกัน เพราะคดีนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนมา 5 ปี กว่าแล้วไม่มีความคืบหน้า ซึ่งตนจะมาติดตามคดีนี้ ทุก 2 เดือน หากสิ้นปีนี้ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ตนจะขอรายชื่อประชาชนจำนวน 20,000 ชื่อ ร้องต่อประธานรัฐสภาเพื่อเสนอประธานศาลฎีกาตั้งคณะผู้ไต่สวนอิสระ ตามรัฐธรรมนูญฯ 2560 มาตรา 236 ในข้อหาคณะกรรมการ ป.ป.ช. กระทำผิดจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายหรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตราฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ต่อไป 

สำหรับคดีดังกล่าวสืบเนื่องจาก ป.ป.ช.ได้รับเรื่องไว้ไต่สวนตั้งแต่ ปี 2556 จนกระทั่งอนุกรรมการไต่สวนฯที่มีนายวิชา มหาคุณ เป็นประธาน ได้มีมติแจ้งข้อกล่าวหานายสุเทพฯว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ต่อมาปรากฏว่านายสุเทพฯได้ร้องต่อประธาน ป.ป.ช.ขอให้เปลี่ยนอนุกรรมการไต่สวน ซึ่ง ป.ป.ช.ก็ดำเนินการให้ตามที่นายสุเทพฯร้องขอ