ไม่พบผลการค้นหา
วงเสนา รุมสับ ม.44 ปลดล็อกพรรคการเมืองซ่อนเงื่อน หวังล้างไพ่ ส.ส. หน้าเก่า ปูทางให้ คสช. สานอำนาจต่อไป

เมื่อวันที่ 24 ธ.ค. ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 ร่วมกับเครือข่ายองค์กรภาคประชาชนจัดเสวนาโต๊ะกลมสาธารณะ ครั้งที่ 2/1 หัวข้อ “บ้านเมืองมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร” ตอน "รัฐธรรมนูญ-การเลือกตั้งครั้งแรกสู่ประชาธิปไตย"

นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า พรรคที่มีสมาชิกมากก็จะมีภาระมากหากสมาชิกพรรคตอบมาแค่ไม่กี่คน ก็จะถูกครหาว่าเป็นสมาชิกที่เหลือสมาชิกเก๊ กลายเป็นปัญหาทางการเมืองได้ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่พรรคใหญ่ต้องไปคุยกัน อาจจะทำแค่จำนวนตามที่กฎหมายกำหนดก่อนเพื่อให้ทันการเลือกตั้งหรือไม่

ทั้งนี้เห็นว่าเผลอๆ อาจจะต้องมีทางแก้ด้วยการตั้งพรรคใหม่ เพราะการปฏิบัติตามเรื่องนี้เป็นไปได้ยาก ควรต้องถามกลับไปยัง คสช.ว่าในทางปฏิบัติจริงๆ แล้วทำได้จริงหรือไม่ และเรื่องที่น่าสนใจคือการเซ็ตซีโร่ ส.ส.เก่า ให้สามารถเปลี่ยนพรรคได้ตามอัธยาศัย เพียงแค่ไม่ส่งหนังสือยืนยันการเป็นสมาชิกพรรคก็ย้ายไปอยู่พรรคใหม่ได้แล้ว เป็นการล้างไพ่

ทั้งนี้หากมีเจตนาล้างไพ่เซตซีโร่ ส.ส. จะไม่มีปัญหาหากไม่มีการตั้งพรรคใหม่ที่ประกาศเชียร์ คสช. เพราะหากเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้น คสช.จะถูกมองว่าทำเรื่องนี้โดยหวังผล และถือเป็นเรื่องที่อันตรายมากในช่วงการเมืองที่กำลังจะเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบประชาธิปไตย

“แม้ในด้านหนึ่งจะมองได้ว่า คสช.กำลังเตรียมการให้มีการเลือกตั้ง แต่อีกด้านหนึ่งก็ต้องดูว่าหากมีการเซตซีโร่ ส.ส.แล้วจะเกิดอะไรขึ้น ซึ่งจะเกิดให้การแบ่งข้าง ส.ส.ขึ้น ว่าจะเชียร์ คสช.ต้องอยู่พรรคนี้ ไม่เชียร์ คสช.ต้องอยู่พรรคนั้น เพราะหาก สส.เก็งว่า คสช.มีแนวโน้มจะได้เป็นรัฐบาลต่อ ส.ส.ก็อาจจะไปอยู่กับพรรคใหม่ที่สนับสนุน คสช.หรือไม่ เพราะ ส.ส.ส่วนใหญ่ จะต้องเลือกพรรคที่สามารถเป็นรัฐบาลได้อยู่แล้ว”นายปริญญากล่าว.

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การเลือกตั้งยังอยู่อึมครึม แม้รัฐธรรมนูญบังคับใช้แล้ว และกฎหมายประกอบอื่นๆ เสร็จไปหลายฉบับแล้วก็ตาม คนส่วนใหญ่ยังเชื่อว่าไม่มีความแน่นอน หากมีการเลือกจริงก็จะเป็นการเลือกตั้งภายใต้บริบทประชาธิปไตยครึ่งใบ โดยเห็นได้จากรัฐธรรมนูญอยู่ภายใต้กำกับของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มองว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นการแข่งขันทางการเมืองระหว่างพรรคเดิมและพรรคการเมืองที่กำลังจะเกิดใหม่ เพราะมีสัญญาณให้เห็นจากคำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 ซึ่งคำสั่งนี้จะเพิ่มภาระให้สมาชิกพรรคการเมืองเดิม ต้องทำเป็นหนังสือยืนยันการเป็นสมาชิกพรรคและจ่ายค่าสมาชิกซึ่งมีกระบวนการขั้นตอนมากพอสมควร จึงเป็นเสมือนการฆ่าตัดตอนสมาชิกพรรคการเมืองในปัจจุบัน

สมาชิกพรรคการเมืองเป็นเรื่องสำคัญแม้จะไม่ใช่หลักประกันการแพ้-ชนะเลือกตั้ง แต่เป็นหลักประกันสู่ความเป็นสถาบันทางการเมือง

ทั้งนี้การเป็นสมาชิกพรรคการเมืองเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญแต่การกำหนดให้มีผลยกเลิกสมาชิกภาพถือเป็นการรอนสิทธิรูปแบบหนึ่ง ในฐานะผู้ปฏิบัติก็คงต้องปฏิบัติตามผู้มีอำนาจอยู่แล้ว แต่อยากตั้งคำถามว่าประชาชนจะได้อะไรจากคำสั่งดังกล่าว เพราะนายกฯเพิ่งออกมาพูดเรื่องการสนับสนุนระบอบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม แต่คำสั่งดังกล่าวกลับมีผลตรงกันข้าม

 ส่วนเรื่องการเกิดพรรคใหม่นั้นตนไม่แปลกใจ เพราะเกือบทุกสมัยหลังการยึดอำนาจจะเกิดพรรคใหม่ขึ้นเสมอ ทั้งพรรคที่ประกาศว่าเป็นพรรคทหารโดยตรง และพรรคที่เป็นนอมินี ส่วนครั้งนี้จะมีการตั้งพรรคใหม่หรือไม่ก็คงจะชัดเจนเร็วๆ นี้

“การที่นายกฯบอกไม่ตั้งพรรคให้เหนื่อยนั้น ผมคิดว่านายกฯ พูดจากความรู้สึกจริงๆ เพราะการเป็นนายกฯคนนอกไม่จำเป็นต้องตั้งพรรคเองก็ได้ และขณะนี้ก็มีคนประกาศตั้งพรรคและพร้อมสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ให้เห็นแล้ว หรือกลไกตามรัฐธรรมนูญเองก็เอื้อให้มีนายกฯคนนอก นอกจากนั้นยังมีพรรคใหญ่ที่เกิดขึ้นโดยคสช.ก็คือพรรค ส.ว. จำนวน 250 คน ซึ่งหากอีกเพียง 126 เสียง ก็สามารถเป็นรัฐบาลได้แล้ว”นายจุรินทร์กล่าว

ด้าน นายชวลิต วิชยสุทธิ์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การให้สมาชิกพรรคการเมืองต้องยืนยันสมาชิกใหม่นั้นเป็นการฝืนประชาชน โดยสมาชิกหลายพรรคฯ รวมกว่า 5 ล้านคน ทำผิดอะไร เขาเคยใช้สิทธิเลือกตั้งหลายครั้ง การออกคำสั่งดังกล่าวเป็นการลิดรอนสิทธิของเขา เป็นการรีเซตสมาชิกพรรคโดยอ้อม หรือรีเซตแบบซ่อนรูป ซึ่งไม่เป็นธรรม

และเป็นการดูถูกประชาชนไม่ได้มองในสิ่งที่ประชาชนเข้ามาเป็นสมาชิกพรรคการเมืองโดยความบริสุทธิ์ใจ ที่น่าวิพากษ์วิจารณ์ที่สุดคือการลงพื้นที่ประชุมครม.สัญจร ที่มีการถามนำประชาชนว่าจะให้อยู่ต่อหรือไม่ ทำให้มองว่าอนาคตการเมืองยังอึมครึม ดังนั้นรัฐบาลควรสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชน จัดการเลือกตั้งด้วยความเป็นกลางเพื่อให้ประเทศเดินหน้าไปสู่ประชาธิปไตยในที่สุด

ขณะที่ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวว่า ในคำสั่ง คสช.จะเห็นว่าหลายๆ เรื่องนั้น หากจะเลือกตั้ง พ.ย.61 ทำตามประกาศนี้ไม่ได้ ที่น่าสนใจคือข้อ 8 ของคำสั่งกล่าวนั้นกำหนดว่าหากมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.แล้ว ให้ ครม.รายงาน คสช.เพื่อพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติม หรือยกเลิกประกาศ คสช.ที่อาจจะเป็นอุปสรรค์ต่อการดำเนินการของพรรคการเมือง รวมทั้งการทำแผนและขั้นตอนการดำเนินการทางการเมืองเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้ง หมายความว่าหากถึงเวลาใดเวลาหนึ่ง จะสามารถเรียกประชุมพรรคการเมืองและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดโรดแม็พใหม่ได้

 ซึ่งเชื่อว่าในหากมีการประชุมเกิดขึ้นขณะที่พรรคการเมืองไม่ได้เตรียมตัว จะทำให้มีพรรคการเมืองเล็กบอกในที่ประชุมว่าทำไม่ทัน และขอเลื่อนการเลือกตั้งออกไปในที่สุด ซึ่งเรื่องนี้ไม่ทำให้ คสช.เสียหาย เพราะการเลื่อนเลือกตั้งเป็นการขอจากพรรคการเมืองเอง ส่วนเรื่องการรีเซ็ตสมาชิกพรรค ไม่รู้สึกว่าพรรคการเมืองเก่าเดือดร้อน เพราะสมาชิกพรรคของไทยคือจำนวนแค่ตัวเลข ไม่ได้บ่งบอกว่าจะชนะเลือกตั้งหรือไม่ เป็นแค่มายาคติ

ดังนั้นพรรคการเมืองไม่ควรไปติดยึดกับจำนวน ส.ส. ตนคิดว่าพรรคที่จะอยู่รอดได้ในกติกาที่ไร้สาระ กติกาที่เป็นภาระนี้ คือพรรคที่มีสมาชิก 10,000 คน โดยอาจจะมีสมาชิกจังหวัดละ 100 คน ซึ่งสามารถส่งสมาชิกลงเลือกตั้งได้ทุกเขตอยู่แล้ว

 “ด่านแรกในการเลือกตั้งพรรคการเมืองควรยอมเสียหน้าจากการเป็นพรรคใหญ่ เพื่อให้เป็นพรรคเล็กที่คล่องตัว และไปสู้ที่เรื่องนโยบายในการเลือกตั้งดีกว่า เพราะเรื่องสมาชิกพรรคเท่าที่ดูจะต้องมีการส่งเอกสารยืนยันการเป็นสมาชิกพรรคและเรื่องที่เกี่ยวข้องกว่า 20 เรื่องต่อสมาชิก 1 คน ที่สำคัญคือพรรคการเมืองมีเวลาแค่ 1 เดือน ตนจึงมองว่าพรรคการเมืองไม่ควรเอาเวลาไปเสียกับเรื่องเหล่านี้”นายสมชัยกล่าว