ในสุนทรพจน์ ณ ทำเนียบขาวเมื่อวันอังคาร (10 ต.ค.) ไบเดนกล่าวว่าสหรัฐฯ จะให้ความช่วยเหลือทางทหารเพิ่มเติมแก่อิสราเอล ซึ่งประกาศสงครามกับกลุ่มฮามาสนับตั้งแต่การโจมตีเมื่อวันที่ 7 ต.ค.ที่ผ่านมา นอกจากนี้ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยังเน้นย้ำถึงความโหดร้ายของการโจมตีเมื่อวันเสาร์ ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายร้อยคน และผู้คนอีกจำนวนมากที่ถูกจับเป็นเชลย พร้อมกันนี้ ไบเดนได้เปรียบเทียบกลุ่มฮามาสกับกลุ่มรัฐอิสลาม ISIL (ISIS) และกล่าวหาว่ากลุ่มฮามาสกระทำการอันเป็น “การก่อการร้าย”
“นี่คือสิ่งที่พวกเขาหมายถึงโศกนาฏกรรมของมนุษย์ ความโหดร้ายในระดับที่น่าตกใจ” ไบเดนกล่าว “เราจะยืนหยัดเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันต่อไป สนับสนุนประชาชนอิสราเอลที่กำลังเผชิญกับความสูญเสียที่ไม่อาจบรรยายได้ และต่อต้านความเกลียดชังและความรุนแรงของการก่อการร้าย” อย่างไรก็ดี ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไม่ได้ให้รายละเอียด เกี่ยวกับสงครามอิสราเอลในฉนวนกาซาหรือเป้าหมายของอิสราเอล เพียงแต่กล่าวสนับสนุน “หน้าที่ของอิสราเอลในการตอบสนองต่อการโจมตีอันเลวร้ายเหล่านี้”
ไบเดนให้คำมั่นว่า สหรัฐฯ จะให้ความช่วยเหลือทางทหารเพิ่มเติมแก่อิสราเอล ซึ่งได้รับความช่วยเหลือทางทหารจากสหรัฐฯ ไปแล้วกว่า 3.8 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 1.38 แสนล้านบาท) “เรากำลังเพิ่มความช่วยเหลือทางทหารเพิ่มเติม รวมถึงกระสุนและเครื่องสกัดกั้น เพื่อเสริมระบบป้องกันทางอากาศไอรอนโดม” ไบเดนกล่าวถึงระบบต่อต้านขีปนาวุธของอิสราเอล “เราจะทำให้แน่ใจว่า อิสราเอลจะไม่ขาดยุทโธปกรณ์สำคัญเหล่านี้ เพื่อปกป้องเมืองและพลเมืองของตน”
ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เรียกร้องให้รัฐสภาสหรัฐฯ “ดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อให้ทุนแก่ข้อกำหนดด้านความมั่นคงแห่งชาติของพันธมิตรที่สำคัญของเรา” ซึ่งอาจหมายถึงทั้งการมอบงบความช่วยเหลือด้านการทหารแก่ทั้งอิสราเอล และยูเครนซึ่งกำลังป้องกันการรุกรานเต็มรูปแบบจากรัสเซีย “นี่ไม่เกี่ยวกับพรรคหรือการเมือง มันเกี่ยวกับความปลอดภัยของโลกของเรา ความมั่นคงของสหรัฐอเมริกา” ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าว พร้อมระบุเสริมว่าฝ่ายบริหารของเขาอยู่ใน “การสื่อสารที่แทบจะมีอยู่ตลอดเวลา” กับพันธมิตรอิสราเอล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล
ไบเดนยืนยันว่า มีพลเมืองสหรัฐฯ ที่เป็นหนึ่งในกลุ่มเชลย ซึ่งกลุ่มฮามาสควบคุมตัวไปโดยไม่ได้ระบุจำนวน นอกจากนี้ ไบเดนยังกล่าวด้วยว่ามีพลเมืองสหรัฐฯ 14 คนถูกสังหารในการโจมตีครั้งนี้ “ผมกำลังกำกับทีมของผม ในการแบ่งปันข่าวกรองและจัดผู้เชี่ยวชาญเพิ่มเติมจากทั่วทั้งรัฐบาลสหรัฐอเมริกา เพื่อปรึกษาและให้คำแนะนำแก่ฝ่ายอิสราเอล เกี่ยวกับความพยายามในการช่วยเหลือตัวประกัน เพราะในฐานะประธานาธิบดี ผมไม่มีความสำคัญสูงกว่าความปลอดภัยของชาวอเมริกันที่ถูกจับเป็นตัวประกันในทั่วโลก” ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าว
แม้ยอดผู้เสียชีวิตในฉนวนกาซาจะมีเพิ่มขึ้น ในขณะที่เครื่องบินไอพ่นของอิสราเอลได้ทำการทิ้งระเบิดใส่ดินแดนในฉนวนกาซาที่มีประชากรหนาแน่นอย่างไม่ลดละ ไบเดนไม่ได้กล่าวถึงการบาดเจ็บล้มตายของชาวปาเลสไตน์ แต่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ มุ่งความสนใจไปที่เหยื่อชาวอิสราเอลจากการโจมตีของฮามาสแทน
ทั้งนี้ มีการกล่าวเพียงครั้งเดียวที่ไบเดนพูดถึงชาวปาเลสไตน์ ด้วยการวิจารณ์กลุ่มฮามาส “กลุ่มฮามาสไม่ยืนหยัดเพื่อสิทธิของชาวปาเลสไตน์ ที่จะมีศักดิ์ศรีและการกำหนดชะตากรรมตัวเอง” ไบเดนกล่าว “จุดประสงค์ที่ระบุไว้ คือการทำลายล้างรัฐอิสราเอลและการสังหารชาวยิว” นอกจากนี้ ไบเดนไม่ได้ระบุถึงต้นตอของความขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์แต่อย่างใด
ผู้นำฮามาสกล่าวว่าพวกเขาเปิดฉากการโจมตีอิสราเอลในครั้งนี้ เพื่อตอบโต้การละเมิดของอิสราเอลที่กระทำในมัสยิดอัลอักซอในกรุงเยรูซาเล็ม พร้อมกันกับการใช้ความรุนแรงที่เกิดขึ้นเกือบทุกวันต่อชาวปาเลสไตน์ในเขตเวสต์แบงค์ และการปิดล้อมฉนวนกาซาเกือบ 20 ปี นอกจากนี้ กลุ่มสิทธิมนุษยชนกล่าวหาว่า อิสราเอลวางระบบการแบ่งแยกเชื้อชาติต่อชาวปาเลสไตน์ภายใต้การยึดครอง
ไบเดนยังกล่าวอ้างไปถึงอิหร่านและกลุ่มฮิซบุลเลาะห์ของเลบานอน โดยประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าวเตือนฝ่ายอื่นๆ ในภูมิภาคไม่ให้ “ฉวยโอกาส” จากสงครามในฉนวนกาซา “สำหรับประเทศใดๆ องค์กรใดๆ ใครก็ตามที่คิดจะฉวยโอกาสจากสถานการณ์นี้ ผมบอกได้คำเดียวว่า อย่าทำ… ใจของเราอาจจะแตกสลายแต่ความตั้งใจของเราชัดเจน” ไบเดนกล่าว
พร้อมกันนี้ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าวอีกว่า สหรัฐฯ ได้ “ปรับปรุงท่าทีของกำลังทหาร” ในภูมิภาคตะวันออกกลางเพื่อ “เสริมสร้างการป้องปราม” ในขณะที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ได้ประกาศแผนการที่จะส่งเรือและเครื่องบินทหารเพิ่มเติม ไปยังทะเลเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออก หลังการโจมตีของกลุ่มฮามาสต่ออิสราเอล
“เราพร้อมที่จะเคลื่อนยุทโธปกรณ์เพิ่มเติมตามความจำเป็น” ไบเดนกล่าวเมื่อวันอังคาร อย่างไรก็ดี สหรัฐฯ ไม่ได้มีส่วนร่วมโดยตรงในการโจมตีฉนวนกาซาโดยอิสราเอล และโฆษกทำเนียบขาวกล่าวเมื่อวันจันทร์ว่า รัฐบาลสหรัฐฯ "ไม่มีความตั้งใจที่จะส่งกำลังภาคพื้นของสหรัฐฯ ลงไปภาคพื้นดิน (อิสราเอล)"
ไบเดนเสนอการสนับสนุนทางการเมืองอย่างไม่มีเงื่อนไข ต่อการตอบโต้ทางการทหารของอิสราเอล แม้ว่าจะมีผู้คนมากกว่า 2.2 ล้านคนที่อาศัยอยู่ในฉนวนกาซา ซึ่งกำลังตกอยู่ในความหวาดกลัวก็ตาม ทั้งนี้ ผู้นำอิสราเอลได้ประกาศ “การปิดล้อมอย่างสมบูรณ์” ในเขตปกครองปาเลสไตน์แล้ว โดยอิสราเอลให้คำมั่นว่าพวกเขาจะปิดกั้นไม่ให้มีการส่งอาหารและสิ่งของจำเป็นอื่นๆ เข้ามาในดินแดนฉนวนกาซา ซึ่งคำประกาศดังกล่าวก่อให้เกิดความกังวล จากผู้สนับสนุนด้านสิทธิมนุษยชนและองค์การสหประชาชาติ
“เช่นเดียวกับทุกประเทศในโลก อิสราเอลมีสิทธิ์ตอบโต้ และมีหน้าที่ตอบโต้การโจมตีอันโหดร้ายเหล่านี้จริงๆ” ไบเดนกล่าว “ไม่ต้องสงสัยเลย สหรัฐฯ คอยหนุนหลังอิสราเอล เราจะทำให้แน่ใจว่ารัฐยิวและประชาธิปไตยของอิสราเอล สามารถปกป้องตัวเองได้ทั้งวันนี้ พรุ่งนี้ เหมือนที่เราทำอยู่เสมอ มันเข้าใจได้ง่ายๆ อย่างนั้นเลย”
นอกจากนี้ ไบเดนกล่าวว่าเขาบอกกับเนทันยาฮูว่า หากสหรัฐฯ ประสบกับการโจมตีที่คล้ายกัน การตอบสนองของสหรัฐฯ จะ "รวดเร็ว เด็ดขาด และท่วมท้น" พร้อมกันนี้ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าวอีกว่า “เรายังพูดคุยกันว่าประชาธิปไตย เช่นอิสราเอลและสหรัฐอเมริกาจะแข็งแกร่งและปลอดภัยมากขึ้นอย่างไร เมื่อเราปฏิบัติตามหลักนิติธรรม”
ที่มา: