แคมเปญ 'เดิน...มิตรภาพ' โดยเครือข่าย 'People GO network' แม้ว่าเริ่มต้นได้เพียง 2 วัน แต่อุปสรรคเริ่มปรากฎชัดขึ้นระหว่างเส้นทางที่พวกเขากำหนดเดินจากกรุงเทพไปขอนแก่น สะท้อนถึงการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนที่มีขีดจำกัด ภายใต้คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) และพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ
ในห้วงเวลา 3 ปีที่ผ่านมายุคคสช. 'วอยซ์ ออนไลน์' พบว่าเครือข่ายภาคประชาชนได้ใช้วิธีการ 'เดินเท้า' เคลื่อนไหวในพื้นที่ นอกเหนือจากการจัดเวทีเสวนาที่หน่วยงานความมั่นคงมักจะขอความร่วมมือให้งดจัด ด้วยเหตุผลว่าขณะนี้ 'เหตุการณ์บ้านเมืองไม่ปกติ' รวมถึงการใช้อำนาจประกาศฉบับที่ 7/2557 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป
ก้าวเดินเล่าปัญหา
เริ่มที่การรณรงค์ต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน พื้นที่อ.เทพา จ.สงขลา ในปี 2560 ที่นำไปสู่การเผชิญหน้ากันของชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ตำรวจ หลังจัดกิจกรรมเดินเท้าเพื่อเข้ายื่นหนังสือคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน ต่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. ระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร ที่จ.สงขลา โดยมีการควบคุมตัว 16 ผู้ร่วมชุมนุม ซึ่งพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ระบุว่า 'เป็นพวกฮาร์ดคอร์ เป็นพวกใจร้อน" ต่อมาทำให้เกิดการเคลื่อนไหวในทวิตเตอร์ ด้วยการติดแฮชแทร็ก #เทใจให้เทพา ซึ่งส่วนมากเป็นติ่งเกาหลีที่เคลื่อนไหว และมีส่วนในการกดดันจนนำไปสู่การเจรจาของกลุ่มผู้คัดค้านและรัฐบาล
ขณะที่การเคลื่อนไหวในภาคอีสาน 'ขบวนการอีสานใหม่' ได้จัดแคมเปญ "Walk For Rights" เดินเพื่อสิทธิคนอีสาน เมื่อปี 2559 เดินเท้าเพื่อถามไถ่และพูดคุยปัญหาจากการพัฒนาโดยรัฐ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาที่ดินและการขุดเจาะปิโตรเลียม ซึ่งการจัดกิจกรรมตลอด 29 วัน พวกเขาถูกจับตาจากหน่วยงานความมั่นคงและตำรวจในเครื่องแบบและนอกเครื่องแบบ ที่ติดตามตลอดเส้นทาง ด้วยการอ้างว่าดูแลความปลอดภัย แต่พวกเขาก็สามารถดำเนินกิจกรรมจนสำเร็จ และยืนยันว่าจะสู้จนกว่าประชาชนในภาคอีสานจะมีอำนาจกำหนดชีวิตตัวเอง
เดินด้วย 'สิทธิเสรีภาพ' ไม่ควรใช้อำนาจขัดขวาง
“ การเดิน” ถือเป็นวิธีการต่อสู้ที่เครือข่ายภาคประชาชนใช้เป็นยุทธวิธีในการนำเสนอปัญหาของตัวเองเพื่อสื่อสารให้กับสังคมและภาครัฐรับรู้ถึงปัญหามาโดยตลอด
นาย ศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ผู้มีประสบการณ์ เดินเท้าในปี2556 ในช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ จากป่าสู่เมืองเพื่อคัดค้าน EHIA เขื่อนแม่วงก์ จากหอศิลป์ฯ กรุงเทพฯ ถึงเขื่อนแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ ด้วยระยะ 388 กิโลเมตร นายศศิน กล่าวกับวอยซ์ ออนไลน์ ถึงการเลือกวิธีการเดินเพื่อสะท้อนปัญหา เพราะการเดินเท้าเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของมนุษย์ ที่จะแสดงออกถึงความตั้งใจที่ง่ายที่สุด เพื่อให้ประชาชนหรือ รัฐเข้าใจถึงปัญหา
นอกจากนี้รูปแบบการเดินเท้าเป็นแนวทางที่ใช้กันมานานแล้ว ในสมัย มหาตมะ คานธี เคยประท้วงรัฐบาลอังกฤษเรื่องเหมืองเกลือด้วยรูปแบบนี้เช่นกัน ไม่แตกต่างจากประเทศไทย รูปแบบการเดิน การวิ่ง คือ แนวทางที่จะแสดงออกเพื่อให้สาธารณะให้ความร่วมมือเพื่อผลักดันบางอย่าง เช่นการวิ่ง ของ ตูน บอดี้สแลม ก็เพื่อระดมทุนในการแก้ไขปัญหาโรงพยาบาล ทั้งนี้เห็นว่าเครือข่าย People Go Network เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่สามารถทำได้ตราบใดที่ไม่ผิดกฏหมาย ดังนั้นรัฐบาลควรจะปล่อยให้มีการแสดงออกและรับฟังในสิ่งที่เครือข่ายออกไปด้วยเช่นกัน
"แม้ว่าผมจะไม่รู้รายละเอียดวัตถุประสงค์การเดินในครั้งนี้ และไม่ว่าผมจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องในการเดินเท้าครั้งนี้ แต่ผมเห็นว่าพวกเขามีสิทธิ์ที่จะเดินและรัฐบาลก็ไม่ควรขัดขวาง แต่ควรจะฟังความตั้งใจของพวกเขามากกว่า" ศศิน ระบุ
อย่างไรก็ตามนายศศิน บอกว่าการเดินจากป่าสู่เมืองของเขาในครั้งนั้น บรรลุเป้าหมายโดยรัฐบาลยอมถอยและระงับการศึกษา EHIA เขื่อนแม่วงก์ แต่การทำงานของยังไม่จบ โดยขณะนี้ได้ลงไปทำงานในพื้นที่ในเรื่องการบริหารจัดการน้ำ ทั้งน้ำท่วมและน้ำแล้งร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่
"ประเทศไทยนี่ก็แปลก ออกรัฐธรรมนูญมาแล้ว แต่ยังยึดมั่นในคำสั่งคสช. ซึ่งหลายคำสั่งเป็นคำสั่งเพื่อค้ำจุนอำนาจคสช. ไม่ได้เป็นคำสั่งเพื่อให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพอะไรหรอก" โคทม ระบุ
เช่นเดียวกับนายโคทม อารียา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี ให้ความเห็นกับวอยซ์ออนไลน์ว่าการแสดงออกของประชาชน คือสิทธิตามรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ 2560 และฉบับ 2550 อย่างไรก็ตามประเทศไทยถือว่าแปลก ที่มีการออกรัฐธรรมนูญมาแล้ว แต่ยังยึดมั่นในคำสั่งของคสช. ซึ่งหลายคำสั่งมีไว้เพื่อค้ำจุนอำนาจคสช. แต่ไม่ให้สิทธิเสรีภาพต่อประชาชน โดยเฉพาะการตีความตามรัฐธรรมนูญควรเอื้อประโยชน์ต่อประชาชน และควรคืนความสุขให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินการของรัฐ และเปิดกว้างให้ประชาชนแสดงออก
การแสดงภายใต้สิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ แต่กลับถูกโฟกัสผ่านสายตาของเจ้าหน้าที่รัฐ ทำให้เกิดการตั้งถามว่าที่รัฐบาลคสช.ประกาศว่า 'สิทธิมนุษยชน' เป็นวาระแห่งชาติ มันเกิดขึ้นจริงหรือ..
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม