การสูบกัญชาเพื่อประโยชน์ด้านการแพทย์และสันทนาการได้รับอนุญาตให้เป็นกิจกรรมถูกกฎหมายในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงสหรัฐฯ แต่ประเทศต่างๆ เหล่านั้นยังไม่มีกฎหมายควบคุมการสูบกัญชาในที่สาธารณะ ต่างจากการสูบบุหรี่ในที่สาธารณะซึ่งกลายเป็นสิ่งต้องห้ามในหลายประเทศไปแล้ว นักวิจัยในสหรัฐฯ จึงได้เสนอให้มีการควบคุมและป้องกันการสูบกัญชาในที่สาธารณะเช่นเดียวกับการสูบบุหรี่
คณะนักวิจัยจากสถาบันหทัยวิทยาและผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรศาสตร์โรคหัวใจในสหรัฐฯ ร่วมกันทดสอบและสรุปผลที่เกิดจากจากควันกัญชามือสอง และงานวิจัยดังกล่าวถูกเผยแพร่ลงในฐานข้อมูลงานวิจัยด้านสุขภาพของสหรัฐฯ เมื่อวานนี้ (19 มี.ค.) โดยการทดลองใช้วิธีเผากัญชารมควันหนูทดลอง และพบว่าหลอดเลือดของหนูทดลองมีการขยายตัวนานกว่า 90 นาทีหลังจากสูดดมควันกัญชา ขณะที่การสูดดมควันบุหรี่ทำให้หลอดเลือดของหนูทดลองขยายตัวอยู่ประมาณ 30 นาทีเท่านั้น
แมตต์ สปริงเกอร์ หัวหน้าคณะนักวิจัย ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมกับสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติสหรัฐฯ (NPR) โดยสรุปว่า ผู้สูดดมควันกัญชามือสองจะได้รับผลกระทบไม่ต่างจากผู้สูบกัญชาด้วยตัวเอง และกรณีที่ผู้สูดดมควันกัญชามือสองมีปัญหาด้านสุขภาพ ก็จะได้รับผลกระทบที่รุนแรงยิ่งกว่าการสูดดมควันบุหรี่ ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลในแต่ละรัฐซึ่งอนุญาตให้มีการจำหน่ายและเสพกัญชาอย่างถูกกฎหมาย จึงต้องพิจารณาควบคุมหรือป้องปรามเรื่องผลกระทบที่จะเกิดจากการสูบกัญชาในที่สาธารณะด้วย
ขณะที่ ลี โครว์ พนักงานประจำร้านคาเฟ่กัญชาในเมืองโอ๊กแลนด์ รัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้สูบกัญชา ยอมรับกับเอ็นพีอาร์ว่าเขาไม่เคยคิดถึงผลกระทบที่เกิดจากควันกัญชามือสองมาก่อน แต่ที่ผ่านมาก็เคยสูบกัญชาในที่สาธารณะอยู่บ้าง เพราะต้องการใช้กัญชาเป็นสื่อในการสร้างบทสนทนาและทำความรู้จักผู้คน
นอกจากนี้ยังมีสิ่งที่ต้องระวังในการสูบกัญชาเพิ่มเติม เนื่องจากสื่อท้องถิ่นสหรัฐฯ เคยรายงานว่ามีผู้ล้มป่วยจากการสูบกัญชาปนเปื้อนยาฆ่าแมลงและเชื้อรามาก่อน แม้จะไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่ก็ไม่อาจแน่ใจได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะการลอบปลูกกัญชามีจำนวนเพิ่มขึ้น และยังไม่มีมาตรการควบคุมอย่างทั่วถึง ทำให้กัญชาที่ไม่ได้มาตรฐานปะปนอยู่ในตลาดผู้บริโภค
อ่านเพิ่มเติม: