ไม่พบผลการค้นหา
ประธานคณะกรรมการพิจารณากระบวนการจัดหาโครงการธีออส - 2 เผย ไม่พบผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างบุคคลกับบริษัทที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับธีออส - 2 และไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงวงโคจรของดาวเทียมขนาดเล็กผิดไปจากข้อกำหนดตามที่ถูกกล่าวหา

นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมด้วย ศ.พิเศษ หิรัญ รดีศรี ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณากระบวนการจัดหาโครงการระบบดาวเทียมสำรวจเพื่อการพัฒนา (ธีออส 2) ร่วมกันแถลงข่าวผลการพิจารณากระบวนการจัดหาโครงการธีออส - 2 

นายสุวิทย์ กล่าวว่า ตามที่ตนได้ร่วมแถลงข่าวกับองค์การต่อต้านคอร์รัปชั่น เมื่อวันที่ 17 ส.ค. 2561 ที่ผ่านมา กรณีคณะผู้สังเกตการณ์มีความกังวลเรื่องการจัดหาโครงการธีออส - 2 นั้น ตนได้แจ้งต่อสื่อมวลชนว่าจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการกลางโดยความเห็นพ้องขององค์การต่อต้านคอร์รัปชั่น เพื่อมาพิจารณากระบวนการจัดหาโครงการธีออส - 2 และได้ขอทราบผลภายใน 1 เดือนนั้น เนื่องจากโครงการนี้มีรายละเอียดจำนวนมาก มีความซับซ้อน และจำเป็นต้องหาข้อมูลอื่นมาเทียบเคียง คณะกรรมการพิจารณาฯ จึงขอขยายเวลาไปอีก 1 เดือน ซึ่งได้ผลการตรวจสอบเพื่อนำมาเปิดเผยต่อสาธารณะและสื่อมวลชน โดยผลการพิจารณาไม่พบประเด็นการทุจริต และยังคงไว้ซึ่งประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ 

ด้าน ศ.พิเศษ หิรัญ รดีศรี เปิดเผยผลการตรวจสอบกระบวนการจัดหาโครงการธีออส - 2 ว่า ผลการพิจารณาในประเด็นข้อกังวลของคณะผู้สังเกตการณ์ 4 ประเด็น ได้แก่ 

1.ประเด็นการประเมินและให้คะแนน 

2.ประเด็นขั้นตอนการดำเนินงานของคณะกรรมการจัดหาฯ 

3.ประเด็นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงวงโคจรของดาวเทียมขนาดเล็ก

4. ประเด็นเกี่ยวกับผลประโยชน์ร่วมกันนั้น 

โดยขอชี้แจงว่า ประเด็นที่ 1. และ ประเด็นที่ 3. ประเด็นการประเมินและให้คะแนนทางเทคนิคพบว่า ยังอยู่ในกรอบของข้อกำหนดและหลักเกณฑ์ที่วางไว้ ใน ITB หรือ Instructions To Bidders (ITB) ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับวิธีการและขั้นตอนในการจัดซื้อจัดจ้าง ส่วนประเด็นวงโคจรของดาวเทียมขนาดเล็ก ข้อกำหนดใน ITB ระบุความต้องการวงโคจรดาวเทียมขนาดเล็กเป็นแบบวงโคจรเอียง (Orbit Inclination) โดยมิได้มีการระบุเป็นวงโคจรระนาบมุมศูนย์สูตร (Equatorial Orbit) ตามที่เป็นข่าวแต่ประการใด ดังนั้น จึงไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงวงโคจรของดาวเทียมขนาดเล็กผิดไปจากข้อกำหนด

นอกจากนี้ บริษัท Airbus Defense & Space SAS ได้เสนอวงโคจรดาวเทียมขนาดเล็กเป็นแบบสัมพันธ์กับดวงอาทิตย์ (Sun Synchronous Orbit: SSO) ประเภทวงโคจรผ่านขั้วโลก (Polar Orbit) มาตั้งแต่ต้น ซึ่งคณะกรรมการจัดหาฯ ยอมรับข้อเสนอนี้ เนื่องจากสามารถดำเนินการได้ตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้เช่นกัน

โดย ศ.พิเศษ หิรัญ กล่าวต่อว่า สำหรับประเด็นที่ 2 ขั้นตอนการดำเนินงานของคณะกรรมการจัดหาโดยปกติทั่วไปจะปฏิบัติตามระเบียบว่าด้วยการพัสดุของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ สทอภ. กรณีใดที่ระเบียบฯ มิได้กำหนดไว้ ต้องเสนอขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหาร สทอภ. เนื่องจากอำนาจสูงสุดเป็นของกรรมการบริหาร สทอภ. ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กร สทอภ. และจากการตรวจสอบพบว่าการดำเนินงานทุกขั้นตอนได้รับการเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหาร สทอภ. แล้ว ประกอบกับก่อนการตรวจสอบมีการลงนามในสัญญาแล้ว คณะกรรมการจึงไม่มีข้อสรุปเกี่ยวกับความถูกต้องหรือคลาดเคลื่อนในการปฏิบัติตามระเบียบ เนื่องจากได้ผ่านพ้นขั้นตอนที่อาจพิจารณาได้ 

ส่วนประเด็นที่ 4. ผลประโยชน์ร่วมกัน Mr. Andy Witts กับ Surrey Satellite Technology (UK) นั้น ในชั้นนี้คณะกรรมการฯ ได้พิจารณาเอกสารที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่าไม่สามารถระบุความสัมพันธ์ของบริษัท Surrey Satellite Technology (UK) กับ Mr. Andy Witts ได้ เนื่องจากไม่มีหลักฐานปรากฏ ประกอบกับบริษัท Surrey Satellite Technology (UK) ได้มีหนังสือยืนยันการไม่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับ Mr. Andy Witts ในด้านผลประโยชน์ใดๆ อีกด้วย อย่างไรก็ดี หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบตามกฎหมายโดยตรงก็ยังมีดุลพินิจที่จะดำเนินการตามที่เห็นสมควรในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปได้

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการฯ ได้มีข้อเสนอแนะที่ควรดำเนินการต่อไป เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและป้องกันความความเข้าใจไม่ตรงกัน ในอนาคต ดังต่อไปนี้ 

1. สทอภ. ควรมีการระบุคุณสมบัติและความเชี่ยวชาญเฉพาะทางในการแต่งตั้งคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับการจัดหาในโครงการขนาดใหญ่ และมีมูลค่าสูง และควรจะใช้ประโยชน์จากที่ปรึกษาที่ช่วยร่าง TOR เพื่อทำความเข้าใจในความหมายของเงื่อนไขที่มีข้อกำหนดเป็นภาษาต่างประเทศ 

2. สทอภ. ควรทำความเข้าใจกับคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับการจัดหาโครงการที่มีความซับซ้อนสูงและเป็นภาษาต่างประเทศ เพื่อให้เข้าใจในสาระสำคัญและรายละเอียดของโครงการ 

3. สทอภ. ควรเปิดเผยข้อมูลและรายละเอียดต่างๆ ต่อผู้สังเกตการณ์ในข้อตกลงคุณธรรม เนื่องจากมีข้อกำหนดเรื่องการรักษาความลับในข้อตกลงคุณธรรมอยู่แล้ว และควรมีการประชุมหารือกับผู้สังเกตการณ์ระหว่างการดำเนินกระบวนการทางพัสดุ เพื่อให้กระบวนการดำเนินการไปได้อย่างราบรื่น

นายสุวิทย์ กล่าวด้วยว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ น้อมรับคำแนะนำของคณะกรรมการฯ และจะตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการบริหารโครงการ THEOS-2 ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และผู้บริหาร สทอภ. ทั้งนี้เพื่อให้มีการกำกับติดตามการดำเนินงานโครงการตามขั้นตอนต่างๆ ที่ปรากฏในสัญญาระหว่าง สทอภ. กับบริษัท Airbus Defense & Space SAS และรายงานต่อสาธารณะต่อไป


ข่าวที่เกี่ยวข้อง