ไม่พบผลการค้นหา
เปิดแนวคิด F.U.N.D. 'ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายพรรคเพื่อไทย' มองงบปี 66 สอบตก ตีบตัน ตึงตัว และส่อวิกฤต

เผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย และผู้อำนวยการศูนย์นโยบายพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นที่ประชุม ครม. เห็นชอบรายละเอียดงบปี 66 ว่า ขอเสนอแนวคิด F.U.N.D. เพื่อประเมินงบประมาณ ซึ่งจะพบว่างบปี 66 นั้นสอบตก ตีบตัน ตึงตัว และส่อวิกฤต ดังนี้

1. “Flexible” หรือ งบประมาณต้องยืดหยุ่น เผื่อเหลือเผื่อขาด แต่งบปี 66 กลับตึงตัวมาก ขาดดุลสูงชนเพดาน สำหรับงบปี 66 พ.ร.บ.หนี้สาธารณะให้ขาดดุลได้ 7.17 แสนล้านบาท งบปี 66 ก็ตั้งขาดดุลถึง 6.95 แสนล้านบาท นั่นคือเหลือช่องว่างเพียง 22,000 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งตึงตัวมาก หากเก็บภาษีไม่เข้าเป้าก็ชนเพดาน ถึงทางตันทันที นอกจากนั้น งบลงทุนก็ยังต่ำสุดติดพื้น ตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง งบลงทุนต้องไม่น้อยกว่างบขาดดุล งบปี 66 ตั้งงบลงทุน 6.95 แสนล้านบาท เท่ากับงบขาดดุลที่ 6.95 แสนล้านบาทพอดี คือต่ำสุดเท่าที่เป็นไปได้ ถ้าเก็บภาษีไม่เข้าเป้าแม้แต่บาทเดียว ก็จะขัดต่อ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังทันที

2. “Up to Date” หรือ งบประมาณที่ทันต่อสถานการณ์ เข้ากับสภาวะปัจจุบัน งบ 66 ถูกตั้งไว้ที่ 3.185 ล้านล้านบาท ซึ่งน้อยกว่างบ 64 ซึ่งอยู่ที่ 3.285 ล้านบาท ที่เป็นช่วงก่อนโควิด งบในช่วงวิกฤตกลับน้อยกว่างบในช่วงปกติ ทั้งๆที่ประเทศเสียหายและต้องซ่อมครั้งใหญ่จากโควิด แต่งบที่มีกลับลดลง เกิดจากการบริหารผิดพลาด ศก.หดตัว รายได้จากภาษีทรุดหนัก จึงตั้งงบประมาณได้น้อย นอกจากนั้น งบ 66 ถูกตั้งภายใต้สมมติฐานว่า GDP จะโตที่ 3.7% ซึ่งตัวเลขเมื่อปลายปีที่แล้ว ตอนนั้นยังไม่มีเรื่องราคาน้ำมัน เงินเฟ้อ สงครามรัสเซีย-ยูเครน และโอไมครอนที่ยืดเยื้อ ตัวเลข GDP นี้จึงไม่เป็นปัจจุบัน เมื่อ GDP น้อยกว่าคาด รายได้ภาษีก็จะต่ำกว่าคาด นั่นคือขาดดุลเพิ่ม ปัญหาคือขาดดุลเพิ่มไม่ได้แล้ว จะชนเพดานอยู่แล้ว และยังมีเรื่องงบลงทุนน้อยกว่าที่ขาดดุลไม่ได้อีก 

3. “No Boundary” หรืองบประมาณต้องไร้พรมแดน ไม่ถูกตีกรอบ ซึ่งประเด็นนี้งบ 66 ก็เป็นปัญหาอีก เพราะกรอบยุทธศาสตร์งบประมาณถูกตีกรอบไว้ด้วยยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี รธน.เขียนไว้ว่าต้องปฏิบัติตาม ไม่ทำก็ผิด ทั้งๆที่ในวันที่เขียนยุทธศาสตร์ชาติ โลกยังไม่รู้จักคำว่าโควิด ยังไม่ได้คิดเผื่อว่างบประมาณต้องออกแบบอย่างไรในวันที่ประเทศเสียหายหนัก งบ 66 จึงเป็นงบที่ถูกตีกรอบ เดินตามโลกไม่ทัน

4. “Debt Concern” หรือ งบที่รับผิดชอบต่อความมั่นคงทางการคลัง รัฐบาลยิ่งลักษณ์ขาดดุลลดลงต่อเนื่องทั้ง 3 ปี จาก 4 แสนล้าน เป็น 3 แสนล้าน และ 2.5 แสนล้าน และจะเป็นงบประมาณสมดุลในปี 60 แต่จากแผนการคลังระยะปานกลางของรัฐบาลปัจจุบันตั้งเป้าขาดดุลพุ่งขึ้นทุกปีจากนี้ ปี 66 ขาดดุล 6.95 แสนล้านบาท ปี 67 ขาดดุล 7.1 แสนล้านบาท ปี 68 ขาดดุล 7.23 แสนล้านบาท และปี 69 ขาดดุล 7.36 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นภาพที่ตรงข้ามกันโดยสิ้นเชิง และนี่ยังไม่นับการก่อหนี้จากเงินกู้นอกงบประมาณของรัฐบาลปัจจุบันอีกด้วย

พรรคเพื่อไทยจึงเห็นว่า งบปี 66 นั้นสอบตกทั้ง 4 เกณฑ์ ตึงตัว ล้าหลัง ถูกตีกรอบ และไม่รับผิดชอบต่อภาระทางการคลังของประเทศ