ไม่พบผลการค้นหา
คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) รับข้อเสนอกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย เลื่อนพิจารณาการออกใบอนุญาตโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 61 เมกะวัตต์ ของ บริษัท มิตรผลไบโอ เพาเวอร์ (อำนาจเจริญ) จำกัด พร้อมรับข้อเสนอให้คณะกรรมการ กกพ.ลงพื้นที่รับฟังข้อมูลจากชาวบ้าน

กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ซึ่งเป็นการรวมตัวของชาวบ้านใน จ.ยโสธร และ จ.อำนาจเจริญ จำนวน 200 คน เดินทางไปยังสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2561 เพื่อยื่นหนังสือเรียกร้อง กพพ. ให้ยกเลิกการพิจารณาการออกใบอนุญาตโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 61 เมกะวัตต์ ของ บริษัท มิตรผลไบโอ เพาเวอร์ (อำนาจเจริญ) จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ที่ ต.น้ำปลีก อ.เมืองอำนาจเจริญ จ.อำนาจเจริญ

ข้อเรียกร้องของตัวแทนชาวบ้านมีด้วยกัน 2 ประเด็น คือ 1. ให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานยกเลิกการพิจารณาการออกใบอนุญาตโรงไฟฟ้าชีวมวล เพราะผลการศึกษาจากคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงชี้ชัดในประเด็นที่ชาวบ้านไม่มีส่วนร่วมและไม่เคยรับรู้ข้อมูลข่าวสารมาก่อน 2. ให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานลงพื้นที่มารับฟังข้อมูลความเป็นจริงจากชาวบ้าน

“เพื่อแสดงความจริงใจของ กกพ. และรัฐบาล หากไม่ต้องการจะเห็นความขัดแย้ง และกระแสคัดค้านโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมต่างๆ ในภาคอีสานที่จะถูกคัดค้าน และลุกลามออกไปทั่วทั้งภาคอีสาน พวกเราจะกำหนดอนาคตตนเอง” แถลงการณ์ของตัวแทนชาวบ้าน ระบุ

ตัวแทนกพพ.รับหนังสือกลุ่มต้านโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลลำน้ำเซบาย

วันเดียวกัน นายประเทศ ศรีชมภู ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะตัวแทน กกพ. เข้ารับหนังสือเรื่องให้ยกเลิกพิจารณาออกใบอนุญาตโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 61 เมกกะวัตต์ จากกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย กล่าวว่า ทางสำนักงาน กกพ. ได้รับเอกสารจากกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายหลายครั้ง ทั้งยังมีการรับฟังความคิดเห็นตลอดมา กระทั่งเข้าสู่กระบวนการในส่วนของการพิจารณาใบอนุญาต แต่วันนี้เลื่อนการพิจารณาออกไปตามข้อเสนอจากกลุ่มฯ

“วันนี้ยังไม่มีการพิจารณาการออกใบอนุญาตโรงไฟฟ้าชีวมวล ในพื้นที่ จ.อำนาจเจริญ ทั้งนี้ทาง กกพ. รับข้อเสนอของพวกเราในการลงพื้นที่เพื่อแลกเปลี่ยน พูดคุย ซึ่งเป็นเจตนาของพวกเราที่เดินทางมาในวันนี้ คือการบอกว่าให้ กกพ. ลงพื้นที่ จากนี้จะมีการพูดคุยในรายละเอียดการลงพื้นที่ว่าจะเป็นเมื่อไหร่ แล้วลงไปในวิธีไหน พร้อมทั้งเอาข้อห่วงกังวลต่างๆ มาพูดคุย” นายประเทศ กล่าว

นายประเทศ กล่าวอีกว่า การลงพื้นที่รับฟังข้อมูลจะสามารถแก้ไขข้อห่วงกังวลของกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายที่กำลังเกิดขึ้น รวมทั้งข้อห่วงกังวลในอนาคตร่วมกัน ทั้งยังมองว่าเป็นจุดเสนอความคิดเห็นที่จะสามารถเอาปัญหาของคนในพื้นที่มาพูดคุยได้อย่างสะดวก ส่วนการนัดหมายรวมถึงเงื่อนไขต่างๆ จะแจ้งให้ทางกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายทราบในเร็วๆ นี้