ไม่พบผลการค้นหา
หญิงชาวญี่ปุ่นในช่วงวัย 30 ปี ผู้ทำงานอยู่ในร้านขายของเบ็ดเตล็ดที่โยโกฮามาเดินไปยังร้านสะดวกซื้อเวลาใกล้เที่ยง เธอเลือกซื้อชุดเบนโตะบนชั้นวางอย่างรวดเร็ว เธอเกือบหยิบกล่องข้าวไก่ทอดราคา 700 เยน (ประมาณ 190 บาท) อย่างไรก็ดี เธอตัดสินใจวางกล่องข้าวนั้นลง

“ฉันต้องลดค่าใช้จ่ายเพื่อประหยัดเงิน” เธอกล่าว “ฉันทนหิวได้และหาอะไรกินรองท้องแทนเอา” เธอตัดสินใจเลือกซื้อข้าวปั้นบ๊วยตากแห้งอูเมะโบชิที่ราคาถูกลงในราคาเพียง 100 เยน (ประมาณ 27 บาท) อย่างไรก็ดี หญิงรายดังกล่าวไม่ใช่พนักงานชาวญี่ปุ่นคนเดียวที่เลือกจะไม่รับประทานอาหารมื้อเที่ยงเพื่อออมเงินแทน

จากผลสำรวจล่าสุดเมื่อ ธ.ค.ที่ผ่านมาของบริษัท Edenred Japan ซึ่งมอบบริการช่วยเหลือทางอาหาร ในฐานะโครงการด้านสวัสดิการส่วนหนึ่งของทางบริษัท จากพนักงาน 600 คน ในช่วงอายุ 20 ถึง 50 ปีทั่วทั้งประเทศพบว่ากว่าเกือบ 30% ของผู้ประกอบอาชีพเป็นพนักงานในญี่ปุ่น เลือกที่จะไม่รับประทานอาหารมื้อเที่ยงในวันที่ออกไปทำงาน เพื่อประหยัดเงินในกระเป๋าแทน

พนักงานที่เลือกจะอดมื้อเที่ยงมีจำนวนกว่า 29.5% ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด โดยในจำนวนทั้งหมดมี 56.5% ที่ระบุว่า “ฉันไม่กินมื้อเที่ยงอาทิตย์ละครั้งหรือน้อยกว่านั้น” ในขณะที่ 28.2% ตอบว่า “สองถึงสามครั้งต่อสัปดาห์” กับอีกที่เหลือ 15.3% ที่ระบุว่าตนอดมื้อเที่ยง “สี่ครั้งต่อสัปดาห์หรือมากกว่านั้น” โดยเหตุผลหลักของการอดมื้อเที่ยง เป็นคำตอบของการประหยัดค่าใช้จ่ายของตนเอง

อย่างไรก็ดี กว่า 60% ของผู้ตอบแบบสอบถามตอบว่า ตนเลือกที่จะรับประทานอาหารที่ตัวเองไม่ได้อยากรับประทาน เนื่องจากเมนูที่ตัวเองอยากรับประทานมีราคาที่สูงเกินไป โดยมีคำถามในแบบสอบถามว่าอาหารมื้อเที่ยงที่เลวร้ายที่สุดของผู้ตอบแบบสอบถามคืออะไร บางรายตอบว่า “เมื่อฉันกินแค่เมนไทโกะ (ไข่ปลารสเผ็ด)” ในขณะที่อีกรายตอบว่า “แค่ดื่มน้ำกับกินขนมขบเคี้ยว”

“การปรับตัวขึ้นสูงของราคาอาหารทำให้รายรับของครัวเรือนตึงมือ ส่งผลให้คนจำนวนมากเริ่มหันมาอดอาหารกลางวันเพื่อประหยัดเงิน” ตัวแทนของ Edenred Japan ระบุ โดยหญิงในโยโกฮามารายดังกล่าวระบุว่า เธอเลือกที่จะทำเบนโตะอาหารกลางวันจากอาหารมื้อเย็นที่เหลือของเมื่อวาน เพื่อนำมารับประทานช่วงกลางวันของวันต่อไป โดยมันช่วยเธอประหยัดเงินอย่างน้อย 5 วันต่อเดือน แต่ถ้าหากเธอยุ่ง เธอมักเลือกที่จะไม่รับประหานอาหารกลางวัน หรือรับประทานเพียงแค่ข้าวปั้นเพียงก้อนเดียว

ทั้งนี้ เธอมักจะอดอาหารในมื้อเที่ยงก่อนวันจ่ายเงินเดือน เธอระบุว่าตนเริ่มออมเงินด้วยวิธีการนี้มาเมื่อ 4 ปีก่อน ด้วยการทำเบนโตะเพื่อตัวเองและคู่รักของเธอ โดยเธอจะคุมค่าใช้จ่ายค่าอาหารไม่เกินเดือนละ 50,000 เยน (ประมาณ 13,500 บาท) ทั้งนี้ เธอไม่ได้มีแผนว่าเงินที่ตัวเองประหยัดไปจะถูกนำไปใช้จ่ายกับอะไร แต่เธอเพียงแค่ออมเงินเพราะตนเองวิตกกังวลเกี่ยวกับอนาคตที่ไม่แน่นอน ซึ่งทำให้เธอต้องหันมาประหยัดเงินในท้ายที่สุด

ในปี 2562 คณะกรรมการภายใต้หน่วยงานบริการทางการเงินของญี่ปุ่นได้ออกมาเปิดเผยว่า "ผู้คนจำเป็นจะต้องประหยัดเงิน 20 ล้านเยน (ประมาณ 5.4 ล้านบาท) สำหรับค่าครองชีพหลังเกษียณ" รายงานดังกล่าวก่อให้เกิดข้อถกเถียงกันอย่างเป็นวงกว้าง และมันเป็นหนึ่งในเหตุผลที่หญิงชาวโยโกฮามารายดังกล่าวเริ่มประหยัดเงินของตัวเอง ทั้งนี้ เธอยังคงวางแผนที่จะออมเงินด้วยการอดมือเที่ยงต่อไป

“ชีวิตของฉันไม่ได้แย่เหมือนคนที่อาศัยอยู่ใกล้เส้นแบ่งความยากจน แต่ฉันต้องเตรียมตัวสำหรับอนาคต” เธอกล่าว “ราคาอาหารพุ่งสูงขึ้น ดังนั้นเงินสำหรับค่าอาหารคือสิ่งแรกที่ต้องตัด แต่ฉันก็ไม่คิดว่ามันเป็นสิ่งที่ดีต่อสุขภาพที่จะทำหรอก”

“ผู้คนมองว่าการงดอาหารกลางวัน หรืออาหารเช้าเป็นทางเลือกที่เป็นไปได้ ตราบใดที่สุขภาพของพวกเขาไม่ได้รับผลกระทบ” มาซาฮิโกะ อาริจิ ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์อาหารที่มหาวิทยาลัยคินไดระบุ ก่อนกล่าวเสริมว่า ราคาอาหารที่พุ่งสูงกับรายได้ในครัวเรือนที่ต้องรัดเข้มขัด ผู้คนกลับไม่เห็นประโยชน์ของการรับประทานอาหารมื้อกลางวัน เมื่อพวกเขาคำนึงถึงรายได้ที่ตึงตัว พนักงานหลายคนเลือกอดมื้อเที่ยงเพราะรู้สึกว่าไม่คุ้มกับเงินที่จะเสียไป เนื่องจากพวกไม่สามารถออกไปรับประทานอาหารกับคนอื่นๆ ได้ในช่วงโควิด-19 ระบาด

การรับประทานอาหารร่วมกับคนอื่นเป็นการเข้าสังคมในรูปแบบหนึ่ง อย่างไรก็ดี บริษัทต่างๆ ยังคงเรียกร้องให้พนักงานของตนเองรับประทานอาหารคนเดียว และคนที่ชอบรับประทานอาหารเย็นกับครอบครัวมักไม่ชอบนั่งรับประทานคนเดียว อาริจิกล่าวก่อนย้ำว่า หากพนักงานที่ทำงานในสำนักงานซึ่งไม่ต้องขยับร่างกายมาก พวกเขาก็มักจะไม่รู้สึกอยากอาหารไปด้วย

ราคานำเข้าสินค้าที่พุ่งสูงขึ้นของญี่ปุ่นเมื่อปีก่อน ส่งผลให้ราคาของกินของใช้ในประเทศพุ่งสูงขึ้นตั้งแต่ราวต้นปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ บริษัทผู้ผลิตสินค้าด้านอาหารประกาศว่าจะขึ้นราคาสินค้าของตน ซึ่งมักเป็นอาหารที่ต้องรับประทานในชีวิตประจำวัน เช่น โชยุ อาหารแช่แข็ง แฮม และไส้กรอก ส่งผลให้ราคาอาหารที่ร้านอาหารพุ่งสูงขึ้น จากผลสำรวจยังพบอีกว่า ผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 40% ได้รับผลกระทบจากการที่ร้านอาหารประกาศขึ้นราคาอาหารของตนเอง


ที่มา:

https://www.asahi.com/ajw/articles/14598253?fbclid=IwAR3Y2le0d5ViRJbx3bCOYkZkp9Pktq-nwV6vLf07NKv7K3pCTnYPFtUefOw