ไม่พบผลการค้นหา
กมธ.ความมั่นคงฯ ลงพื้นที่ด่านเจดีย์สามองค์ จ.กาญจนบุรี แก้ปัญหา ‘ยางพารานำผ่าน’ ส่งกลิ่น-กระทบการจราจรสังขละบุรี ‘ปิยรัฐ’ เผย ศุลกากร-กรมวิชาการเกษตร เถียงวุ่นนำผ่าน ‘น้ำยาง’ ได้หรือไม่ คาดเชิญอธิบดีหารือ 21 ธ.ค.นี้

เมื่อวันที่ 17-18 ธ.ค. 66 คณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย และการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ลงพื้นที่ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี ตามข้อร้องเรียนของประชาชน นำโดย รังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธาน กมธ., ประยุทธ์ ศิริพานิชย์ สส.พรรคเพื่อไทย, ยูนัยดี วาบา สส.พรรคประชาธิปัตย์, ปิยรัฐ จงเทพ สส.กรุงเทพฯ พรรคก้าวไกล และ ชุติพงศ์ พิภพภิญโญ สส.ระยอง พรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการ ร่วมเดินทางไปด้วย

โดยในวันที่ 17 ธ.ค. กมธ.ความมั่นคงฯ ได้ลงพื้นที่บริเวณด่านเจดีย์สามองค์ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี ซึ่งปัจจุบันเป็นด่านผ่อนปรนชั่วคราวที่เดิมที่เคยเปิดให้นักท่องเที่ยวเดินทางข้ามไปมาได้ระหว่างไทย-เมียนมาร์ แต่ในช่วงสองปีหลังการรัฐประหารในเมียนมาร์ ด่านพรมแดนนี้ถูกปิดไปแต่ยังสามารถนำเข้า-ส่งออกสินค้าสำคัญ สำหรับการอุปโภคบริโภคที่เป็นข้อตกลงระหว่างกลุ่มประเทศอาเซียนโดยไม่เสียภาษี ซึ่งมีประชาชนร้องเรียนมาว่า มีการลำเลียง “ยางพารา” ผ่านแดนโดยไม่เป็นการนำเข้า เรียกว่า “การนำผ่าน“ หมายความว่าไม่ใช่การนำเพื่อเข้ามาใช้ในประเทศไทยแต่เป็นการนำเข้ามาผ่านไทยและไปออกอีกด่านหนึ่งของไทยเพื่อไปยังประเทศที่สามโดยประเทศไทยไม่ได้นำมาใช้ โดยมีการนำผ่านยางพาราส่งต่อไปยังประเทศมาเลเซีย

ปิยรัฐ ในฐานะโฆษก กมธ.ความมั่นคงฯ เผยว่า การนำผ่านลักษณะนี้ ประเทศไทยไม่ได้อะไรเลยนอกจากค่าธรรมเนียม 650 บาทต่อรถบรรทุก 1 คัน ถนนพังเสียหายอีกเรื่องหนึ่งเพราะเป็นข้อตกลงภายในอาเซียน นอกจากนี้ ประชาชนได้ร้องเรียนมาว่า มีการลักลอบสำแดงปริมาณยางพาราเท็จ ทำให้เกิดยางพาราเถื่อนที่ราคาถูกกว่าเข้ามาในประเทศไทย กระทบต่อตลาดยางในประเทศไทยโดยเฉพาะจังหวัดกาญจนบุรีมีปัญหา แต่ยังมีผลกระทบมากกว่านั้นคือเรื่องกลิ่นของน้ำยางสด ที่มีกลิ่นรุนแรงมาก

“จากการเห็นสภาพหน้างานจริง เห็นว่าตรงลานจอดรถนักท่องเที่ยวเดิมที่ด่านฯ ถูกแปลงเป็นลานจอดรถเทรลเลอร์ รถบรรทุกสิบล้อ จำนวนนับสิบๆ คันต่อวัน เพื่อที่จะมาถ่ายน้ำยางจากรถบรรทุกฝั่งเมียนมาร์ให้รถบรรทุกฝั่งไทย เป็นการ transit ยาง แล้วขับไปส่งที่ประเทศมาเลเซีย เกิดความ แออัดของด่านเต็มไปด้วยรถบรรทุกและเกิดกลิ่นน้ำยางสด จนภายหลังไม่อนุญาตให้ส่งน้ำยางสด เปลี่ยนเป็นยางแผ่นรมควัน และกระทบต่อช่องทางเดินรถของประชาชนและนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปสังขละบุรี เพราะเป็นทางขึ้นเขาลงเขาที่มีเพียง 2 ช่องจราจร รถติด นักท่องเที่ยวไม่อยากมา จึงเป็นปัญหาสะสมของชาวสังขละบุรีที่เดิมมีรายได้หลักจากการท่องเที่ยว” ปิยรัฐกล่าว

ปิยรัฐ กล่าวต่อไปอีกว่า เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. หลังลงพื้นที่ กมธ.ได้เรียกประชุมหน่วยงานท้องที่ที่เกี่ยวข้องกับกรณีนี้ ประกอบด้วย รณภพ เวียงสิมมา รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี, พ.อ.สุรเดช เมฆานุวงศ์ รอง ผบ.ฉก.ลาดหญ้า, อิศเรศ รุ่งเรืองชนบท นายด่านศุลกากรสังขละบุรี, ตัวแทนกรมวิชาการเกษตร จ.กาญจนบุรี ร่วมประชุมเพื่อพูดคุยหาทางออก ซึ่งในที่ประชุมมีการถกเถียงกันในประเด็นการนำผ่านยางพารา 

โดยผู้แทนกรมวิชาการเกษตร จ.กาญจนบุรี ยืนยันว่าอนุญาตให้นำเข้าเพียงยางแผ่นรมควันเท่านั้น ไม่สามารถนำน้ำยางสดเข้ามาได้ แต่ในขณะเดียวกัน นายด่านศุลกากรก็ยืนยันว่าไม่ว่ายางประเภทอะไรก็สามารถนำเข้ามาได้เพราะเป็นเพียงแค่การผ่านแดนไม่ได้เป็นการนำเข้า มีการถกเถียงเรื่องข้อกฎหมายว่าด้วย พ.ร.บ.กักพืช พ.ศ.2507

ซึ่ง กมธ. มีความเห็นว่าศุลกากรมีอำนาจในการตรวจสินค้าทุกชนิดที่มีการผ่านแดนเข้ามาในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นการนำเข้าหรือนำผ่าน ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 จะละเว้นเพราะเป็นความร่วมมือระหว่างประเทศไม่ได้ และไม่สามารถอ้างหลักความบริสุทธิ์ใจได้ เพราะกรมศุลกากรมีหน้าที่ตรวจตราแทนพี่น้องประชาชน ซึ่งเรื่องนี้เป็นประเด็นที่ กมธ.ยังคาใจ จะมีการเรียกสอบถามไปยังอธิบดีกรมศุลกากรอีกครั้ง ว่ามีอำนาจบังคับใช้ พ.ร.บ.ศุลกากร ในกรณีนี้ได้หรือไม่ รวมถึงสอบถามไปยังกรมวิชาการเกษตรว่า สามารถนำผ่านน้ำยางพาราได้หรือไม่ ตาม พ.ร.บ.กักพืช คาดว่าจะมีการประชุมกับระดับอธิบดีในวันที่ 21 ธ.ค.นี้

ทั้งนี้ ได้ข้อสรุปการแก้ปัญหาเบื้องต้นจากทางนายอำเภอสังขละบุรีว่า ได้มีการระงับการนำเข้าหรือผ่านแดนยางสดแล้วเนื่องจากส่งกลิ่นเหม็นกระทบต่อประชาชน ซึ่ง กมธ. ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบอีกครั้งก็พบว่าไม่มีการขนย้ายยางสดแล้ว ส่วนเรื่องปริมาณรถบรรทุก ที่จากเดิมสามารถขนส่งได้ไม่จำกัดจำนวนต่อวันเป็นการจำกัดที่ 30 คันต่อวัน และไม่อนุญาตให้เดินรถในช่วงเวลาเร่งด่วน โดยอนาคตอาจจะมีการพิจารณาให้ขนส่งรถบรรทุกได้เฉพาะเวลากลางคืนเพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนและนักท่องเที่ยว รวมถึงการพิจารณาจุดผ่อนปรนผ่านแดนจุดอื่น ซึ่งจะมีการเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

นอกจากนั้น ปิยรัฐ ยังเล่าให้ฟังอีกด้วยว่า ลักษณะชายแดนบริเวณใกล้กับด่านเจดีย์สามองค์นั้น มีความเสี่ยงต่อการขนสิ่งของผิดกฎหมายและการค้ามนุษย์ เพราะมีบ้านเรือนประชาชนจำนวนหลายหลังที่มีทะเบียนบ้านของไทย แต่เมื่อเข้าทางหน้าบ้านแล้วทะลุออกหลังบ้านเป็นเขตแดนของประเทศเมียนมาร์ แม้ลักษณะบ้านจำพวกนี้จะไม่หรูหรา แต่มีราคาสูงหลักสิบล้านบาท กมธ.ได้ลงพื้นที่ไปดูมาแล้วและได้ถามไปในที่ประชุมแต่ยังไม่ได้รับคำตอบ มีการยอมรับว่ามีบ้านลักษณะนี้จริง ยากต่อการจัดการของเจ้าหน้าที่เพราะเป็นบ้านที่มีโฉนดที่ดิน มีบ้านเลขที่ถูกต้องตามกฎหมายไทย