รายการ คิดเล่นเห็นต่างกับคำผกา ประจำวันอาทิตย์ ที่ 28 เมษายน 2556
จากงานวิจัย การพัฒนาอุตสาหกรรมไหมไทย รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ของ นิติ กสิโกศล ได้กล่าวถึงการทอผ้าของคนไทย ว่ามิได้ทอเพื่อขาย แต่เป็นการทอใช้ภายในครอบครัว ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี มีหลักฐานบันทึกว่า กรุงศรีอยุธยาเป็นศูนย์กลางการค้าผ้าใหญ่ที่สุดในเอเชียอาคเนย์ สินค้าที่หาซื้อขายได้ที่เมืองอยุธยา ได้แก่ไม้แดง หนังกวาง ไหม ตะกั่ว หวาย นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งที่เหมาะจะขายผ้าของอินเดีย และยังมีสินค้าจำพวกไหม ที่หาซื้อได้ในอยุธยา ที่สั่งเข้ามาขายจากเมืองจีน จากกวางตุ้ง หมาเก๊า นอกจากนี้กรุงศรีอยุธยา ยังมีการติดต่อ เปอร์เซีย ฮอลันดา ฝรั่งเศส อังกฤษ จึงมีผ้าลวดลายหลากสีแปลกตา เข้าสู่ตลาดกรุงศรีอยุธยามากมาย และราษฏรเองก็ชอบผ้าสีสดใส ทำให้ตลาดผ้าคึกคักยิ่งนัก
ในสมัยรัชกาลที่ 5 สยามกำลังเผชิญกับการคุกคามจากมหาอำนาจตะวันตก 2 ชาติ คือ อังกฤษและฝรั่งเศส ดังนั้นจึงมีพระวิเทโศบายสัมพันธไมตรีกับประเทศมหาอำนาจอื่นๆเช่น รัสเชีย เยอรมัน และญี่ปุ่น เพื่อเป็นการถ่วงดุลอำนาจ ทำให้สยามเองได้รับอิทธิพลจากญี่ปุ่นในหลายด้านรวมไปถึงการเลี้ยงไหม ที่ว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญจากญี่ปุ่น ดร. โทะยะมะ คะเมะทะโระ (Tayama Kametaro)มาเป็นที่ปรึกษาการเลี้ยงไหม
การเลี้ยงไหมสมัยนั้นล้มลุกคลุกคลานมาตลอด จนกระทั่งพระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงษ์ อธิบดีกรมช่างไหม ได้ตั้งโรงเรียนการทำไหมขึ้น และต่อมามีเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นโรงเรียนวิชาการเพาะปลูก และโรงเรียนกระทรวงเกษตราธิการในเวลาต่อมา แต่ในที่สุดราษฏรก็หันไปซื้อผ้าต่างประเทศที่มีราคาถูกกว่า
มีพระราชนิพนธ์ ของรัชกาลที่ 6 เรื่อง"เมืองไทยจนตื่นเถิด"..."ผ้าเป็นต้นไม้ที่เราปลูกได้ในเมืองไทยโดยแน่นอน คนปั่นฝ้ายและทอผ้าของเราก็มีไม่น้อย แต่กระนั้นก็ดีของที่เราเอามาใช้เป็นผ้าคาดพุง หรือผ้านุ่ง โดยมากล้วนเป็นของต่างประเทศทั้งสิ้น การทำไหมก็เกือบจะสูญ ด้วยเหตุที่สู้ราคาของต่างประเทศไม่ได้"...
ผ้าไหมไทยที่มีชื่อเสียงในปัจจุบันเกิดจาก จิม ทอมป์สัน ซีไอเอจากสหรัฐอเมริกา ที่มีความสนใจเรื่องผ้าไหม และได้รู้จักช่างทอผ้าฝีมือดี ในชุมชนบ้านครัว ริมคลองแสนแสบซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่ของชาวมุสลิม จากนั้นมีการผลักดันสู่ตลาดโลก และผ้าไหมไทยก็ขึ้นหน้าปกนิตยสาร Vogue อย่างสง่างามจนผ้าไหมไทยเป็นที่เลื่องลือ และเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ธุรกิจผ้าไหมไทยสดใสขึ้น